ประสบการณ์ในชีวิตของคนเราประกอบขึ้นจากการประมวลผล 5 ประสาทสัมผัสเข้าด้วยกัน แล้วทำไมการนำเสนอสถาปัตยกรรมถึงหยุดอยู่แค่การนำเสนอผ่าน ‘รูป’ เพียงอย่างเดียว
เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่และมองหาความเป็นไปได้ในการพรีเซนต์การออกแบบสถาปัตยกรรมในอนาคต สี่พี่ติวสถาปัตย์จาก Artstudio ได้แก่ เรืองวิทย์ วีระพงษ์ (@tunascientifica), พิริยวรรษ ลันสุชีพ (@flulululuke), สิรวิชญ์ ศิริชัยพันธุ์ (@sirawich_om) และลภัสรฎา ปั้นดี (@lprdd) ได้มารวมกันในชื่อ ‘V/AD B/SUAL Team’ (อ่านว่าวิแอดไบชวล) ที่ผวนมาจากคำว่า Visual Bias
การรวมตัวกันในครั้งนี้เป็นไปเพื่อส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ASA Experimental Design Competition 2024 พร้อมๆ กับน้องติว เพื่อนำผลงานมาเป็นตัวอย่างประกอบการสอน ให้น้องๆ ได้ดูเรื่องของวิธีการคิด การตีความโจทย์ และการหาไอเดีย ไปจนถึงการวางแผนทำเพลตนำเสนอ และเทคนิคการใช้โปรแกรมต่างๆ
เกิดเป็นการปฏิวัติการนำเสนอสถาปัตยกรรมจาก Architectural Visualization แบบเดิมๆ มาเป็น Architectural Sensualisation ที่นำเสนอสถาปัตยกรรมผ่านสัมผัสทั้ง 5 จนคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันมาได้ โดยแต่ละสัมผัสจะถูกแปลงผลออกมาภาพแตกต่างกันออกไป ดังนี้
– Vision (รูป) – Natural Light & Artificial Light ที่นำเสนอแง่มุมของแสงในรูปแบบของลูกศร
– Audition (เสียง) – Human & Non-human ที่นำเสนอแง่มุมของแหล่งกำเนิดเสียงในรูปแบบของคลื่นเสียง
– Tactition (สัมผัส) – Heat Signature & Heat Print ที่นำเสนอแง่มุมของอุณหภูมิในรูปแบบของแผนภูมิความร้อน
– Gustation (รส) – Taste ที่นำเสนอแง่มุมของรสชาติในรูปแบบของรูปร่างทั้ง 5
– Olfaction (กลิ่น) – Smell ที่นำเสนอแง่มุมของกลิ่นในรูปแบบของสัญลักษณ์
และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดหรือสถาปัตยกรรมแบบไหน ก็สามารถใช้ Architectural Sensualisation ในการนำเสนอได้ ทางทีมจึงเลือกนำเสนอผลงานผ่านสถาปัตยกรรม 5 ย่านในกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดอรุณฯ เยาวราช สาทร ซอยคาวบอย และชุมชนหัวตะเข้ กับสัมผัสทั้ง 5 ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
ทีม V/AD B/SUAL บอกกับเราว่า การนำเสนอสถาปัตยกรรมภายใต้ข้อจำกัดของการเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสิ่งที่ท้าทายทีมมาก เพราะการคิดว่าจะเลือกใช้อะไรมาแทน ‘สัมผัส’ เพื่อแปลงออกมาให้เป็น ‘ระบบภาษา’ จะต้องคำนึงถึงการสื่อสารออกมาในเชิงภาพด้วย ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ตกหล่นและมีความน่าสนใจ