ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive พฤศจิกายน 2567
ผมเพิ่งอ่านเจอคำว่า ‘Material Culture’ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘วัฒนธรรมวัตถุ’ โดยในหนังสือที่ผมอ่านเจอ เขาชวนแปลให้ยาวขึ้นอีกนิดว่า ‘วัฒนธรรมที่ส่งผ่านวัตถุสิ่งของ’ เพราะ Material Culture คือการศึกษาที่ว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อเข้าใจวัฒนธรรม แนวความคิด หรือทัศนคติที่เกิดขึ้นในสังคม Material Culture นั้นมีการใช้กรอบวิเคราะห์ในการศึกษาวัตถุสิ่งของที่เรียกว่า Object-driven ที่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่นอกเหนือจากประเด็นของตัววัตถุเอง ชวนให้ตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับมนุษย์และสังคมที่ผลิตขึ้นและใช้สอยมัน เราไม่สามารถแยกอิทธิพลระหว่างมนุษย์และวัตถุที่ส่งผ่านกันกลับไปกลับมาจนเกิดเป็นพฤติกรรม ก่อรูปความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนในสังคมในแต่ละช่วงเวลาจนเป็นภาพสะท้อนสังคม เมื่อเข้าใจได้ประมาณนี้แล้ว ผมก็พบว่า คอลัมน์ ดีไซน์เค้าเจอ ที่ผมได้หยิบนำภาพสิ่งของงานออกแบบไทยๆ ริมทางท้องถนนหรือตามร้านรวงต่างๆ มาพยายามเล่าให้เพื่อนๆ ชมและอ่านกันนั้น ก็ถือว่าเป็นการทำงานทาง Material Culture ของสังคมไทยได้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่สังคมเมือง เป็นไปตามจุดประสงค์แรกของผมที่หวังว่าคอลัมน์นี้จะช่วยให้เราได้เรียนรู้พฤติกรรมและทำความเข้าใจความเป็นไปของผู้คนในเมืองมากขึ้น ผมมีข้อสังเกตหนึ่งว่า พฤติกรรมหนึ่งของคนส่วนใหญ่ในเมืองที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนมากๆ คือการ ‘ดัดแปลง’ และ ‘พลิกแพลง’ เศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ใหม่ ที่ไม่เน้นหน้าตาแต่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก หากมองพฤติกรรมนี้ภายใต้แว่นของ Material Culture แล้วนั้น เราอาจจะพบว่าสิ่งนี้คืออาการที่เป็นผลพวงจากการซ้อนทับของปัญหาและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมเมือง ไม่ว่าในเชิงเศรษฐกิจ การศึกษา […]