คราฟต์เบียร์ออสเตรเลียสู้โลกร้อน - Urban Creature

เบียร์ไม่ได้เป็นภัยกับซิกซ์แพ็ก หรืออาการปวดหัวในวันถัดมา แต่เครื่องดื่มสีอำพันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกันจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่เกิดจากกระบวนการผลิต ทว่าสิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อ Young Henrys ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย สามารถคิดค้นกระบวนการผลิตเบียร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการดื่มเบียร์อาจจะช่วยโลกได้จริง! 

ตามปกติแล้วปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากฮอปส์ในการผลิตเบียร์จะต้องใช้เวลาดูดซับมากถึง 2 วัน เมื่อตระหนักว่ากระบวนการตามธรรมชาติใช้เวลามากเพียงใด Young henrys จึงหันไปขอความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์เพื่อคิดค้นวิธีในการเร่งกระบวนการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ให้ไวขึ้น จนกระทั่งพบวิธีในการติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพขนาด 400 ลิตร จำนวน 2 เครื่อง ที่อัดแน่นไปด้วยสาหร่ายขนาดเล็กนับล้าน ที่จะทำหน้าที่ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วเปลี่ยนเป็นออกซิเจน โดยสาหร่ายเหล่านี้สามารถผลิตออกซิเจนได้มากเท่ากับพื้นที่ป่าดิบชื้น 2 เฮกตาร์ 

Oscar McMahon ผู้ร่วมก่อตั้งของ Young Henrys กล่าวติดตลกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าที่จริงพวกเขาจะยุบโรงเบียร์ ทุบตึกและอาคารทิ้งเพื่อนำพื้นที่มาปลูกต้นไม้ก็ได้ แต่กระบวนการนี้จะใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างออกซิเจนในปริมาณที่เทียบเท่ากับเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพนี้ 

นี่อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเฉลิมฉลองแต่ Young Henrys ไม่ได้หยุดแค่นั้น โดยเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงาน Meat and Livestock Australia (MLA) หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปศุสัตว์ในการวิจัยเกี่ยวกับความสามารถของสาหร่ายในการลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ด้วย เมื่อชาวออสเตรเลียร้อยละ 35.6 บริโภคเบียร์ และร้อยละ 90 ของครัวเรือนแดนจิงโจ้บริโภคเนื้อวัวเป็นประจำ จึงไม่มีเวลาไหนและอุตสาหกรรมไหนที่จะเหมาะกับการเผยแพร่เทคโนโลยีนี้อีกแล้ว 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.