สามนักออกแบบรุ่นใหม่จากเวที ASDA 2023 - Urban Creature

เมื่อพูดถึงห้องน้ำภายในบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นในหัวไว ๆ มักเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก หน้าตาธรรมดา ๆ ดูเป็นห้องที่เหมาะแก่การใช้งานสำหรับทำธุระส่วนตัวและชำระล้างทำความสะอาดร่างกายเท่านั้น

แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘American Standard Design Award (ASDA) 2023’ เวทีการแข่งขันประกวดออกแบบพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ำ เพราะมีความสร้างสรรค์มากกว่าห้องน้ำทั่วไปที่เราคุ้นเคย

ASDA จัดขึ้นโดย ‘ลิกซิล’ ผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำและที่อยู่อาศัย โดยเวทีนี้เป็นเวทีที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดพื้นที่ให้นักออกแบบรุ่นใหม่จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้แสดงความสามารถในการออกแบบผลงานที่ตอบโจทย์และใช้งานได้จริง ผ่านส่วนเล็ก ๆ ของพื้นที่อยู่อาศัยที่คนหลายช่วงวัยใช้งานร่วมกัน

‘A Home to Love, A Space for Everyone’ คือโจทย์การประกวดในปีนี้ที่เปิดโอกาสให้เหล่านักออกแบบได้จินตนาการ สร้างสรรค์ และดีไซน์ภาพห้องน้ำของแต่ละคน โดยต้องการสะท้อนให้เห็นความเกี่ยวข้องของการใช้ชีวิตร่วมกันของคนหลายช่วงวัย กับการออกแบบที่จะช่วยสร้างสมดุลทั้งด้านสุขอนามัย การยศาสตร์ ความปลอดภัย และความสะดวกสำหรับผู้ใช้งานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก พ่อแม่ ไปจนถึงปู่ย่าตายาย ที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน

การออกแบบห้องน้ำที่ดีจะช่วยรองรับคนทุกช่วงวัยอย่างเหมาะสม และเป็นพื้นที่ที่สะท้อนการใช้ชีวิตร่วมกันของคนในบ้านได้อย่างไร Urban Creature พาไปคุยกับสามนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลจากเวที ASDA 2023 จากการออกแบบห้องน้ำที่ตอบโจทย์ตามความต้องการอย่างแท้จริง

ห้องน้ำที่เป็นมากกว่าห้องน้ำ

การแข่งขัน ASDA ในระดับประเทศของไทยได้เฟ้นหานักออกแบบที่มีความมุ่งมั่นและความสามารถ จนได้ผู้ชนะทั้งสามลำดับจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ ‘จ๋า-มาริษา ชนประชา’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ, ‘ตุ่น-พรรวษา น้อยธรรมราช’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 รองชนะเลิศอันดับ 1 และ ‘พีท-วุฒิชัย โคตรชา’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 รองชนะเลิศอันดับ 2

ASDA2023

จากโจทย์ A Home to Love, A Space for Everyone ทำให้ทั้งสามคนเลือกที่จะมองถึงการเปลี่ยนห้องน้ำที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวให้เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้ในเวลาเดียวกัน โดยที่ยังคงคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวในพื้นที่การใช้งาน

ห้องน้ำ ‘Love Through’ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของมาริษามาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘Space and Interaction’ ที่อยากให้ห้องน้ำเป็นเหมือนพื้นที่ห้องนั่งเล่นที่ทุกคนในครอบครัวเข้ามาใช้งานร่วมกันเพื่อเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องแค่เข้ามาทำธุระส่วนตัวแล้วก็ออกไป

ASDA2023

“เรามองว่าหลายครอบครัวขาดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น จึงออกแบบห้องน้ำให้เป็นส่วนหนึ่งในการดึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านพื้นที่ส่วนกลางและการใช้ช่องเปิดในการเปิดรับมุมมองจากภายนอก เพื่อลดความทึบตันของพื้นที่

“นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มฟังก์ชันเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ของการใช้ห้องน้ำ และอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยไม่ลืมเรื่องของความสะอาดที่ถือเป็นส่วนสำคัญไปด้วย” มาริษาอธิบายถึงแนวคิดการออกแบบ

ส่วนห้องน้ำ ‘A Space that is more than a bathroom’ ของพรรวษาที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาในคอนเซปต์ ‘Learn & Relax’ เนื่องจากมองว่าในยุคปัจจุบันผู้คนใช้เวลาไปกับงานจนลืมที่จะดูแลตัวเอง ลืมที่จะให้ตัวเองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ทำให้เธออยากออกแบบให้ห้องน้ำเป็นพื้นที่พักผ่อนในระหว่างการใช้งาน และยังเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

ASDA2023

“เราออกแบบห้องน้ำให้เป็นพื้นที่ที่คนในครอบครัวสามารถทำกิจกรรมพร้อมกัน ใช้เวลาเรียนรู้ระหว่างกัน ใช้ผ่อนคลายความเครียดจากช่องที่เปิดให้มองวิวด้านนอก รวมถึงเพิ่มฝ้าสกายไลต์ที่ทำให้เกิดลายน้ำด้านบน เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายจากผิวเงาของน้ำที่สะท้อนลงมา แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม”

ในขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ‘Lao-reuang’ ของวุฒิชัยนั้นอยากนำเสนอความเป็นห้องน้ำผ่านวิถีชีวิตของชาวอีสานที่คนในครอบครัวมักจะใช้เวลาร่วมกันอยู่เสมอ และใช้ชีวิตในพื้นที่ด้านนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ “เราอยากลบภาพห้องน้ำที่ถูกปิดล้อมด้วยกำแพงทั้งสี่ด้าน ให้เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นที่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้ด้วย

ASDA2023

“เราออกแบบให้ห้องน้ำเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ใช้งานที่เป็น Semi Outdoor ซึ่งมองเห็นกันได้โดยไม่มีกำแพงทึบกั้น เพิ่มช่องเปิดในห้องน้ำ หรือมีอ่างล้างมือสองอ่างสำหรับการใช้งานพร้อมกัน เพื่อเพิ่มการสนทนาระหว่างการใช้งานและสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการเข้าห้องน้ำของคนในครอบครัว นอกจากจะเปลี่ยนภาพห้องน้ำแบบเดิมได้แล้ว ยังเป็นการออกแบบที่พยายามอนุรักษ์ความเป็นอีสานให้คงอยู่กับบ้านตลอดไปด้วย” วุฒิชัยเสริม

การใช้งานที่สอดคล้องกับผู้ใช้งานและไม่ลืมเรื่องสิ่งแวดล้อม

แต่ละคนย่อมมีสไตล์การออกแบบเป็นของตัวเอง แต่ปัจจัยที่ทั้งสามคนต้องคำนึงถึงเมื่อได้รับโจทย์ในการออกแบบห้องน้ำคือ User หรือตัวผู้ใช้งานเป็นหลัก แล้วตามมาด้วยปัจจัยอื่น ๆ อย่างพรรวษาเองก็ให้ความสำคัญถึงเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานที่ทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้

ส่วนมาริษามองว่าพฤติกรรมของคนแต่ละช่วงวัย รวมถึงความปลอดภัยและสัดส่วนของแต่ละคนเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกสุขภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน โดยการเลือกใช้โปรดักต์แต่ละชิ้น เธอจะเน้นที่ดีไซน์ที่ล้อไปกับภาพรวมของห้องน้ำและตามมาด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมกับตัวผู้ใช้งาน

เช่นเดียวกันกับวุฒิชัยที่มองเรื่องความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของการออกแบบให้แสงเข้าถึงตลอดทั้งวันเพื่อให้ตัวห้องน้ำแห้งอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการป้องกันอันตรายจากการลื่นล้ม และไม่ทำให้ห้องน้ำเกิดความอับชื้นจนกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ตามมาด้วยการดีไซน์ที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวใช้งานได้อย่างสะดวกสบายกันถ้วนหน้า

ASDA2023

นอกจากดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมกับคนทุกกลุ่มแล้ว สิ่งที่นักออกแบบทั้งสามคนไม่ลืมที่จะนำมาเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบครั้งนี้คือ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่แทรกซึมอยู่ในการออกแบบและการเลือกใช้งานองค์ประกอบต่าง ๆ ในห้องน้ำ ยกตัวอย่างพรรวษาที่เลือกใช้กระเบื้องหรือวัสดุกรุผนังเป็นแบบทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อลดการใช้สารเคมีในการทำความสะอาดห้องน้ำ เช่นเดียวกับวุฒิชัยที่เลือกใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ รวมถึงพยายามลดการทำความสะอาดด้วยสารเคมีจากน้ำยาล้างห้องน้ำผ่านการถ่ายเทของอากาศตามที่ได้ออกแบบช่องเปิดให้อากาศหมุนเวียน

“ส่วนเรานำวัสดุรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบในการออกแบบห้องน้ำ และสุขภัณฑ์บางอย่างที่ทั้งเหมาะสมกับการใช้งานและช่วยลดการใช้น้ำ รวมถึงออกแบบให้แสงและลมถ่ายเทได้อย่างปลอดโปร่ง เพื่อลดการใช้เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ” มาริษาบอกกับเรา

ภาพจำห้องน้ำที่เปลี่ยนไป

การประกวด ASDA ครั้งนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้จินตนาการในการออกแบบและสร้างสรรค์ห้องน้ำในรูปแบบใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโลกกว้างให้พวกเขาได้เห็นและเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากการศึกษาค้นคว้าเพื่อเติมเต็มจินตนาการและผลงานของตัวเอง รวมถึงเห็นมุมมองใหม่ ๆ ในการออกแบบจากคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมประกวด

ASDA2023

มาริษาบอกกับเราว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เธอได้ประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ และภาพจำห้องน้ำที่เปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิม “ยกตัวอย่าง ห้องน้ำไม่จำเป็นต้องมีช่องเปิดช่องเดียวในการระบายอากาศ หรือมีฟังก์ชันรองรับแค่การขับถ่าย อาบน้ำ หรือล้างหน้าเท่านั้น แต่เราสามารถทำให้ห้องน้ำมีฟังก์ชันอื่น ๆ ที่จะเพิ่มความสนุกให้กับผู้ใช้งานและใช้เวลาในห้องน้ำได้ดีขึ้น”

ส่วนพรรวษาก็ได้ภาพจำห้องน้ำที่เปลี่ยนไปจากเดิม “โครงการนี้ทำให้เรารู้ว่าห้องน้ำมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายได้ ไม่จำเป็นต้องมีแค่ขับถ่าย อาบน้ำ ล้างหน้า และยังได้เรียนรู้ถึงการออกแบบห้องน้ำ รวมถึงมุมมองห้องน้ำที่ผู้เข้าประกวดแต่ละคนมองเห็น”

ทิ้งท้ายกับคำตอบของวุฒิชัยที่บอกกับเราว่า เขาได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดที่แปลกใหม่และก้าวข้ามความคิดของตัวเอง อย่างการเปลี่ยนภาพของห้องน้ำธรรมดาให้กลายเป็นห้องที่มีพื้นที่กลมกลืนกับตัวบ้านได้มากขึ้น

ASDA2023

การประกวด ASDA จะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ใครที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ และเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบในวงกว้าง ติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook: facebook.com/AmericanStandardThailand หรือ Website: americanstandard.co.th  โดยผู้ได้รับรางวัลที่หนึ่งจากแต่ละประเทศจะได้เข้าสู่รอบการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังมีโอกาสเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลที่ทางบริษัท ลิกซิลจัดขึ้น รวมทั้งมีโอกาสได้เยี่ยมชมศูนย์การออกแบบลิกซิล (LIXIL Design Centre) ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับทีมออกแบบระดับโลก

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.