ถึงเวลาออกเดินทางอีกครั้ง เราอยากชวนคุณมามองมุมเมืองสไตล์ไท้ยไทย ท่ามกลางแสงแดดเจิดจ้า วันนี้โชคดีที่สายฝนไม่โปรยลงมาเลย เมื่อเราเดินทางมาถึง ‘Everyday Architect & Design Studio’ ที่แฝงตัวกลมกลืนอยู่ในย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งรายล้อมไปด้วยที่อยู่อาศัยของคนท้องถิ่นและเหล่าต้นไม้น้อยใหญ่ที่เรียกว่าอุดมสมบูรณ์มากๆ
ก้าวแรกที่ไปถึงสตูดิโอก็เจอกับพนักงานต้อนรับตัวน้อยชื่อว่า ‘น้องเหมยลี่’ ออกมาต้อนรับอย่างเป็นมิตรทำเอาเราชาวทาสหมาเผลอยกใจให้โดยไม่รู้ตัว เราเริ่มนั่งคุยกับ ‘พี่ชัช-ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์’ เจ้าของหนังสือที่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตามาบ้างแล้วกับหนังสือ ‘อาคิเต็ก-เจอ’
หากพูดถึงอาชีพสถาปนิก หลายคนคงนึกถึงความเคร่งเครียด งานร้อนพร้อมลุกเป็นไฟอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับพี่ชัช สถาปนิกคืออาชีพหลักควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือและถ่ายภาพที่เป็นอาชีพเสริมตีคู่มาไม่ห่าง
กว่าอาคิเต็ก (จะ) เจอตัวเอง
“ต้องบอกก่อนเลยว่าเราไม่ได้เป็นช่างภาพนะ เราเป็นสถาปนิกเต็มตัวเลยแหละ แต่งานที่ปล่อยออกไปมีจุดเริ่มต้นมาจากตอนที่เรียนจบ เราเฟลจากช่วงเรียนสถาปัตย์ ศิลปากร คือรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง คิดมาตลอดว่าตัวเองเหมาะที่จะเป็นสถาปนิกจริงๆ หรือเปล่า พอดีช่วงเรียนจบมันมีเวลาก็เลยลองทำอะไรตามใจตัวเองบ้าง ซึ่งตอนนั้นเลยตัดสินใจไปค่ายนักเขียนกับทางนิตยสารสารคดี ใช้เวลาอยู่ประมาณครึ่งปี เริ่มสะสมประสบการณ์ในโลกที่เราเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน มีเฟลบ้างอะไรบ้างปะปนกัน แล้วก็กลับมาคิดอีกทีว่าเออจริงๆ หรือเรามาผิดทางอีกแล้ว (ยิ้ม) แต่ก็ยังพยายามอยู่นะ ยังไม่ท้อ
“พอดีกับเรื่องสุดท้ายที่เราต้องเขียนส่งพี่ๆ ทีมงานก็เปิดกว้างให้เราเลือกเขียนอะไรก็ได้ ก็เลยมานั่งตกผลึกกับตัวเอง สุดท้ายเลยเลือกเขียนเรื่อง ‘ตี่จู่เอี้ย’ ด้วยการตั้งคำถามกับสิ่งนี้ แล้วไปตามหาคำตอบว่ามันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไร แล้วมันสะท้อนไปถึงการออกแบบไทยยังไงบ้าง จนพอจบค่ายบทความของเราได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ด้วย ซึ่งนี่แหละคือจุดเทิร์นโปรสำหรับเราเลย มันทำให้มั่นใจว่าเราสามารถทำงานเป็นนักเขียนได้แล้วนะ (ยิ้ม)”
อาคิเต็กเจอ (เมืองแล้วนะ)
“หลังจากผลงานนั้นก้าวต่อมาเราก็ได้โอกาสที่เรียกว่าเป็นภารกิจใหม่ ที่ทำให้หัวใจเต้นรัวเพราะความตื่นเต้นมากๆ กับการเป็นเจ้าของคอลัมน์ที่ The Cloud ด้วยชื่อที่มาจากคำสแลงหน่อยๆ ว่า ‘อาคิเต็กเจอ’ คือคำนี้มันตีความเป็นเราได้จบเลย คือ Architect ผสมเข้ากับคำว่า ‘เจอ’ มาต่อท้าย แปลง่ายๆ ว่าเออสถาปนิกคนนี้จะพาไปดูอะไรตามไปดูกัน (ยิ้ม)
“หลังจากนั้นเราก็พยายามไปตามหาเรื่องราวในเมืองที่คล้ายๆ กับตี่จู่เอี้ยนี่แหละ ซึ่งคิดเยอะมากจับทางอะไรไม่ถูกเลย สุดท้ายมาเจอกับของรอบตัวที่เป็นของไทยๆ มาเล่าในมุมมองของสถาปนิก เช่น ‘เหล็กดัด’ ถ้าในประเทศที่มีความปลอดภัยสูงเขาไม่มีนะ แต่บ้านเราทำเพราะอะไร โจรเยอะเหรอ หรืออย่าง ‘แท่งห้ามจอด’ เกิดขึ้นมาเพราะอะไรเหรอ เพราะที่จอดรถบ้านเรามันล้ำค่ากว่าทองหรือเปล่า ‘ร้านอาหารรถเข็น’ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแรร์ไอเทมรสเลิศของประเทศไทย มันมีขึ้นมาเพราะอะไร เพราะอาหารมันกระจายออกไปไม่ทั่วถึงหรือเปล่า
“ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นอีกมุมหนึ่งที่สถาปนิกเขาไม่ค่อยสนใจกันเท่าไหร่ พอลองสังเกตไปเรื่อยก็ทำให้มองย้อนกลับมาถึงวิธีคิดของคนไทยจริงๆ สิ่งที่หลายคนคิดว่านี่แหละมันคือเรื่องปกติธรรมดาที่เห็นกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่ถ้ามองให้ลึกจริงๆ มันสะท้อนถึงการพยายามดิ้นรนแก้ปัญหาในบริบทให้เอาตัวรอดไปได้ ซึ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันแตกต่างกันอยู่แล้วในแง่ของสภาพแวดล้อม และปัจจัยการใช้ชีวิตที่แต่ละคนต้องเจอ”
หากพูดในมุมของการออกแบบใครๆ ก็คงนึกถึงแต่ความชิกๆ คูลๆ แต่สำหรับเมืองไทยแล้วคำเหล่านั้นอาจยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
เมื่อเมืองผลักดันให้คนต้องดิ้นรน
“ถ้าพูดถึงเมืองไทยจากที่พยายามตามเก็บพวกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่คนพยายามแก้ไขและเข้าใจปัญหาอยู่ตลอดเวลานะ แล้วคือไม่ใช่การแก้ปัญหาครั้งเดียวด้วย ต้องแก้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะผิดจะถูกไม่รู้ก็ลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแบบเออ แม่งเวิร์กแล้วว่ะ (ยิ้ม) มันจะคล้ายทฤษฎีการออกแบบที่เรียกว่า Design Thinking เรียกเนิร์ดๆ ว่ากระบวนการคิดเชิงออกแบบ
“ซึ่งเมื่อเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรมในเมืองแบบนี้บ่อยๆ มันมองไปถึงระบบชุมชนได้เลย อย่างเวลาเราเดินไปในชุมชนแห่งหนึ่งแล้วเห็นไอเดียคล้ายกัน ก็จะรู้เลยว่าชุมชนนี้มีจุดร่วมกันของปัญหาแบบนี้
“เช่น ถ้ามองออกไปข้างนอกสตูดิโอเราจะเห็นพวกแท่งห้ามจอดหรือกระถางต้นไม้ที่อยู่ดีๆ มาตั้งอยู่หน้าบ้านแบบงงๆ เพราะบริบทรอบข้างเป็นชุมชนอยู่อาศัยที่ค่อนข้างหนาแน่น พื้นที่จอดรถน้อย และด้วยความเป็นชุมชนเก่าถนนก็จะแคบกว่าปกติ ซึ่งแนวคิดพวกนี้อาจจะดูตลกร้ายไปหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันสะท้อนความเป็นไทยได้ชัดเจนมากๆ สถาปัตยกรรมพวกนี้มันไม่ได้มีในเมืองอื่นนะ ซึ่งความจริงมันคือการสะท้อนปัญหาในเมืองที่มันซ่อนอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข จนคนต้องมานั่งแก้ปัญหากันเอง ถ้ามีใครสักคนหันกลับมามองและทำความเข้าใจจริงๆ มันสามารถกลับไปแก้ปัญหาพวกนี้ได้
“คือเรามองเป็นสองมุมถ้ามองว่ามันเจ๋ง ครีเอทีฟ ก็ใช่ ถ้ามองว่ามันมีปัญหา ก็ใช่ เหมือนกัน”
จากการลั่นชัตเตอร์สู่ปลายปากกาสเก็ตช์
“สำหรับเราตั้งแต่จุดเริ่มต้นสถาปนิก งานเขียน ถ่ายภาพ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนผสมที่ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ ซึ่งพอเราจบเรื่องงานเขียนในคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ไป เราก็กลับมาอยู่ในจุดที่ถามตัวเองว่า เอ๊ะ เอายังไงต่อดีวะ ยิ่งเวลาผ่านไปนานขึ้นเรารู้สึกว่าความสนใจของเรามันหายไป ก็เลยลองมานั่งย้อนดูภาพเก่าๆ มันยังมีรูปที่ตกหล่นระหว่างทางอยู่เยอะมาก พยายามจัดระบบใหม่ พยายามเข้าใจมันให้มากขึ้น
“แล้วตั้งชื่อไอ้เจ้าพวกนี้ว่า สถาปัตยกรรมที่เห็นทุกวัน หรือ Everyday Architecture เป็นคอนเซปต์ในการเล่าเรื่องสนุกๆ ในแบบเรา คือถ้ามันเป็น Everyday Architecture จริง มันก็น่าจะเป็น Everyday Documentary หรือ Everyday Sketching ได้ด้วยสิ ซึ่งการนำสิ่งที่เราพบเจอมาสเก็ตช์ดีไซน์ต่อมันคือการต่อยอดความคิดจากคำถามที่ว่า ถ้าเราไม่เล่าเรื่องด้วยตัวหนังสืออย่างที่ผ่านมา แต่เราเลือกที่จะเล่าเรื่องภายในรูปเดียว สำหรับสถาปนิกอย่างเราแล้ววิธีนี้คงง่ายที่สุดแล้วแหละ (ยิ้ม) ซึ่งเราก็ตั้งเป้าของเราไว้แล้วว่าจะสเก็ตช์วันละรูปจนครบหนึ่งปี
“คือรายละเอียดจริงๆ ของโปรเจกต์นี้มันเหมือนการคลี่คลายความคิดให้กว้างมากขึ้น เพราะบางภาพถ่ายมันไม่สามารถเล่าเรื่องได้หมด วิธีสเก็ตช์จะช่วยเพิ่มเมสเซจที่เราอย่างจะสื่อสารออกไปได้ เช่น ผ้าใบที่ถูกกางออกตามร้านค้าบางคนเห็นรูปแล้วก็เฉยๆ แต่พอเราแตกให้มันกลายเป็นสเก็ตช์ดีไซน์ มันทำให้คนเข้าใจว่าสิ่งนี้มันผ่านกระบวนการคิด การแก้ปัญหามาแล้ว ซึ่งพอมีคนเริ่มสนใจมากขึ้นเราก็คิดว่ามันคงส่งต่ออะไรออกไปบ้างแหละ จริงๆ ที่เราบอกสถาปัตยกรรมที่เราไปเจอมามันไทยมากๆ ซึ่งความเป็นไทยสำหรับเรามันคือวิธีการคิดแก้ปัญหาที่ถูกบีบคั้นจากอะไรหลายอย่าง ซึ่งทุกสิ่งมันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวิถีชีวิตประจำวันของเรา สุดท้ายผลลัพธ์ของการแก้ปัญหามันอาจถูกเอาไปต่อยอดทำอะไรสักอย่างก็ได้ เราเองก็พยายามทำให้มันเกิดขึ้นจริงอยู่เหมือนกัน (ยิ้ม)”
หลังจากพูดคุยกัน พี่ชัชก็พาเราออกไปเดินรอบๆ บ้าน สถานที่ที่คุ้นเคยตั้งแต่วัยเด็กที่เขามองมุมนี้ทุกวัน จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าสไตล์ ‘อาคิเต็กเจอ’ ที่บอกเล่าเรื่องราวอีกแง่มุมของการเจอนั่นเจอนี่ จนทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วแถวบ้านเราล่ะมีอะไรบ้าง จนตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้เลยนะ กลับบ้านไปคงต้องไปสังเกตรอบๆ บ้านให้มากขึ้นแล้วล่ะ