สัตว์ก็ Social Distancing - Urban Creature

ตอนนี้ Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ดูเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยกันไปแล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่มันคือกระบวนการป้องกันเชื้อโรคตามธรรมชาติที่สัตว์หลายชนิดทำกันอยู่แล้ว

โชคดีหน่อยที่มนุษย์มีตัวช่วยทางด้านเทคโนโลยี ทั้งการตรวจหาเชื้อและรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งเทคโนโลยียังทำให้การสื่อสารที่ห่างไกลกันเป็นเรื่องง่าย แถมยังเป็นช่องทางเพื่อช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาค หรือการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ตรงกันข้ามกับเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่พวกมันต้องเรียนรู้การเอาตัวรอดจากโรคระบาดด้วยสัญชาตญาณของพวกมันเอง

มด : มดตัวไหนป่วย ต้องเว้นระยะห่างเข้าช่วย

ช่วง COVID-19 แบบนี้ รู้กันดีว่าเราต้องทำ Social Distancing สัตว์อย่าง ‘มด’ ก็เช่นกัน ซึ่งการอยู่รวมกันยั้วเยี้ยสไตล์พวกมันก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่กระจายโรคไม่ต่างอะไรกับมนุษย์

โดยมดจะมีหลายชนชั้นวรรณะ อย่าง ‘ราชินีมด’ และ ‘มดงาน’ ที่ทำหน้าที่ออกหาอาหาร โดยมดงานนี่แหละที่เป็นตัวนำเชื้อโรคเข้ามาสู่รัง พวกมันแก้ปัญหาโดยการให้มดที่ป่วยแยกตัวออกจากรัง และมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าญาติมิตรน้อยลง

ส่วนมดที่แข็งแรงดีส่วนหนึ่งก็จะไปใช้เวลาข้างนอกรัง เพื่อช่วยกันดูแลรักษามดตัวที่กำลังรักษาตัวอยู่ ด้วยการใช้กรดในตัวเองมากำจัดพวกเชื้อราที่ติดมา และอีกส่วนหนึ่งจะต้องคุ้มครองราชินีมด โดยพยายามเว้นระยะห่างจากตัวมดงานที่อาจนำเชื้อจากข้างนอกเข้ามานั่นเอง

ลิง : ลิงตัวไหนป่วย ก็ไล่มันออกจากฝูง!

สัตว์กลุ่มไพรเมต (Primates) เป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยและห้อยโหนอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ อย่างลิงลม ชะนี อุรังอุตัง กอริลลา ชิมแปนซี ซึ่งปกติพวกมันจะกักกัน (Quarantine) ลิงแปลกหน้าไม่ให้เข้ามาในฝูง เพื่อป้องกันเชื้อโรคโดยพื้นฐานอยู่แล้ว

ไม่ใช่แค่กักกัน แต่มีถึงเวอร์ชั่นกีดกัน ! อย่างเมื่อปี ค.ศ. 1966 Jane Goodall นักสัตววิทยาชื่อดังได้ศึกษาพฤติกรรมชิมแปนซีที่ติดเชื้อโปลิโอในอุทยานแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าลิงตัวนั้นก็โดนเพื่อนๆ ทำร้ายและไล่ออกจากฝูงไปในที่สุด นั่นก็เป็นการเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคที่แทบไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เลย

ผึ้ง : ผึ้งตัวไหนติดเชื้อ ก็ออกไปซะ

สัตว์อย่าง ‘ผึ้ง’ เองก็มีโรคยอดฮิต นั่นคือ ‘โรคอเมริกันฟาวล์บรูด’ หรือ หนอนเน่าอเมริกัน เป็นโรคระบาดในตัวอ่อนผึ้งระยะที่เป็นหนอน และสามารถพบได้ในแหล่งที่มีการเลี้ยงผึ้งทั่วโลก ซึ่งตัวอ่อนผึ้งที่ติดเชื้อจะปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมา และส่งกลิ่นเหม็นเน่าจนผึ้งตัวอื่นๆ ต้องขับไล่ตัวอ่อนที่ติดเชื้อออกจากรัง ไม่เช่นนั้นเชื้อแบคทีเรีย Paenibacillus Larvae ที่อยู่ในโรคนี้จะเข้าไปทำให้ตัวอ่อนกลายเป็นของเหลวและเน่าตายในที่สุด

ค้างคาวแวมไพร์ : ใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่ขอห่างหน่อย

สัตว์ที่ผ่านมาดูจะใจร้ายกับเพื่อนร่วมฝูงไปสักนิด แต่สัตว์อย่าง ‘ค้างคาวแวมไพร์’ ยังคงออกหาอาหารให้กับสมาชิกในฝูงที่มีอาการป่วย ทั้งยังช่วยกันเลียขนเพื่อตกแต่งขนให้กัน และแบ่งปันอาหารให้กันอยู่เหมือนเดิม เพื่อดูแลเพื่อนพ้องให้กลับมาแข็งแรงเป็นปกติ

ทั้งหมดที่กล่าวมา แม้เจ้าค้างคาวแวมไพร์จะไม่ถึงกับต้องแยกตัวเองเมื่อป่วย แต่พวกมันใช้การ Social Distancing ด้วยการลดความบ่อยครั้งและมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง อย่างการแบ่งอาหารให้กัน ก็จะทำต่อเมื่อค้างคาวตัวที่ป่วยส่งสัญญาณผ่านการเลียปากตัวเอง หรืออย่างการเลียขนทำความสะอาดก็จะทำน้อยลงในช่วงที่มีสมาชิกในฝูงป่วย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.