พิมพ์พาพ์ นักวาดภาพประกอบที่จดบันทึกหลังพบมะเร็ง - Urban Creature

หากวันหนึ่งไปหาหมอแล้วพบว่า มีก้อนบางอย่างอยู่ในร่างกาย ไม่ว่าใครก็คงกังวลกับความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา หรือไม่ก็หูอื้อนึกอะไรไม่ออก แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนสาวที่น่ารักสดใส ‘เจิ้ล’ หรือ แองเจิ้ล – ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์ ในตอนนั้นเธออายุ 24 เพิ่งเรียนจบและกำลังเดินบนเส้นทางนักวาดภาพประกอบ โดยใช้นามสกุล ‘พิมพ์พาพ์’ เป็นนามปากกา

เจิ้ลรู้ผลว่าตัวเองเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หลังจากหมอตรวจเจอก้อนขนาด 11 เซนติเมตรบริเวณปอด จากนั้นก็รักษามาเรื่อยๆ กินยาสเตียรอยด์ ทำคีโมไป 6 ครั้ง แต่ก้อนเนื้อดันโตขึ้นมาอีก แถมดื้อยาจนต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีฉายแสง ช่วงเวลาปีกว่าที่เจิ้ลต่อสู้กับมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่หายขาดเสียทีเดียว เสียงพูดของเจิ้ลห้าวกว่าปกติ เพราะยังเหลือก้อนเล็กๆ กดเส้นเสียงอยู่ ถึงอย่างนั้นก็ผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้ว เจิ้ลกลับมาใช้ชีวิตปกติเพียงแต่ระมัดระวังมากขึ้น และหาวิธีอยู่ร่วมกับมันอย่างเข้าใจ

นี่ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ใครจะมีกันได้ง่ายๆ เจิ้ลเลยจดบันทึกช่วงชีวิต 30 วัน หลังจากที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ให้เพื่อนๆ ได้แอบอ่านไดอารี่เด็กหน้าแมว ซึ่งสิ่งที่ทำเราแปลกใจคือลายมือยุกยิก และภาพวาดกระจุกกระจิกของเจิ้ล กลับไม่มีความคิดลบๆ เลยสักนิด แม้เจิ้ลจะเผชิญกับอุปสรรคก้อนใหญ่อยู่ หากแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวขบขันและทัศนคติสีเหลือง ส่งต่อไปถึงคนอ่านที่อาจกำลังท้อ ผิดหวัง หรือเสียใจ ให้มีกำลังใจเดินต่อ

เจิ้ลมาถึงคาเฟ่ที่นัดกับเราไว้ย่านเอกมัย ‘Yellow Spoon’ เหตุผลที่เจิ้ลเลือกร้านนี้เดาไม่ยาก เพราะโทนร้านสีเหลืองสีโปรดของเจิ้ล แม้แต่ของที่พกในกระเป๋าเจิ้ลก็มีแต่สีเหลือง วันนี้แดดสดใสหลังจากฝนทิ้งช่วงมาหลายวัน เจิ้ลหน้าตายิ้มแย้มกางร่มสีเหลืองเดินมาแต่ไกล พร้อมสั่งชาร้อนกับเค้กมานั่งโซฟาตัวที่สบายที่สุด

ทำไมถึงชอบสีเหลือง ?

พิมพ์พาพ์ : เราไม่ใช่คนหวานแล้วก็ไม่ได้แมนมาก เลยรู้สึกว่าสีเหลืองเป็นสีกลางๆ ที่สดใส

ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

พิมพ์พาพ์ : เราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก แต่มาเริ่มจริงจังตอนขึ้นปี 1 พอมีงานกิฟท์ที่คณะก็เริ่มหัดขายของ ทำโปสการ์ด พอมีคนสนใจเลยวาดจริงจังขึ้น เพราะคิดว่ามันน่าจะหาเงินจากการวาดรูปได้

เราเรียนคณะครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา ที่จุฬาฯ คนที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่จะอยากเป็นครูสอนศิลปะ แต่เราไม่ได้อยากเป็นครู แค่ชอบวาดรูป แล้วแม่ไม่อยากให้เรียนศิลปะล้วนๆ เพราะเขาคิดว่าศิลปะไม่น่าจะหาเงินได้ เราเลยเลือกสาขานี้เป็นจุดกึ่งกลาง และตอนนั้นยังหาตัวเองไม่เจอด้วยว่าชอบทางไหน สุดท้ายก็รู้ว่าตัวเองชอบอะไรมาตั้งแต่แรก แค่เรียนรู้ว่าอันนี้ชอบหรือไม่ชอบกันแน่

เด็กหน้าแมวมีที่มาอย่างไร ?

พิมพ์พาพ์ : ตอนอยู่ ม.ปลาย เราชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ไปเจอการ์ตูนเล่มหนึ่งชื่อ ‘หง่าวซ่า คุโรโกะ’ เป็นแมวดำจรจัดที่มีคนเก็บมาเลี้ยงในบ้าน ก็จะเล่าเรื่องทั่วไป วันนี้อึ วันนี้ฉี่ เจอแมวเจ้าถิ่น มีการต่อสู้กัน ก็เลยชอบแมว และอยากเลี้ยงแมวแต่แม่ไม่ให้เลี้ยง อีกอย่างเราชอบวาดรูปก็เลยเอาหน้าแมวไปใส่ตัวคน เด็กหน้าแมวก็เลยเกิดขึ้นมาตอนนั้น ตอนนี้แม่ให้เลี้ยงแมวแล้ว แถมรักแมวมากกว่าลูกด้วย

ที่มาของไดอารี่เล่มนี้ ?

พิมพ์พาพ์ : เราชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก ยังมีหลักฐานตอน 9 – 10 ขวบ อยู่เลย แต่พอโตขึ้นเข้ามหาลัยแล้วยุ่งๆ ก็เริ่มไม่ค่อยได้เขียน เพิ่งกลับมาบันทึกช่วงที่ป่วย เพราะรู้สึกอยากบันทึกเรื่องราวเอาไว้เฉยๆ หลังๆ มาก็ไม่ค่อยได้เขียนแล้ว เพราะชีวิตเริ่มกลับมาในลูปที่โอเค

หลังจากที่รู้ว่าเป็นมะเร็งประมาณปลายเดือนกุมภา ช่วงต้นเดือนมีนาก็อยู่โรงพยาบาลประมาณ 10 วัน พอกลับมาอยู่บ้านรู้สึกคึกมากเพราะยาสเตียรอยด์ ในหัวจะคิดตลอดว่าอยากทำโน่นทำนี่ เลยคิดว่าจะบันทึกเรื่องนี้ไว้เป็นเวลา 30 วัน

ตอนที่รู้ว่าป่วยศิลปะช่วยเรื่องจิตใจอย่างไรบ้าง ?

พิมพ์พาพ์ : เราจะเป็นเด็กสมาธิสั้นนิดๆ จะโดนดึงความสนใจง่าย แต่เวลาทำงานศิลปะเราจะอยู่กับมันได้นาน มันก็ทำให้เราคิดมากน้อยลง ไม่คิดไปไกลเกิน อยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถวาดรูปได้อีกต่อไปแล้ว เราก็คงหาทางอื่นที่ทำได้ดู ศิลปะสำหรับเรามันมีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่วาดรูป ทำกับข้าว ฟังเพลง มันก็เป็นศิลปะ

ทุกคนจะพูดว่า ทำไมรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ถึงยังมีความสุขได้อยู่ ยังพูดเล่นได้อยู่ อย่างวันที่เราไข้ขึ้นสูงมากก็วาดรูปตัวเองเป็นบะหมี่เหลืองนอนซมควันฉุย จริงๆ เราเป็นคนไม่ค่อยตลกนะ เป็นคนตลกฝืดๆ

“เราชอบมองเห็นเรื่องตลกในความตลกร้าย รู้สึกว่ามันทำให้มู้ดดีขึ้นแทนที่จะแย่ลง”

จากที่เคยไปไหนมาไหนได้ พอป่วยแล้วต้องอยู่แต่บ้านรู้สึกอย่างไร ?

พิมพ์พาพ์ : ตอนแรกเราก็อึดอัด ทะเลาะกับแม่ เพราะแม่ไม่อยากให้ออกจากบ้าน ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เวลาออกจากบ้านแม่ก็จะบ่นๆ เราเคยรู้สึกว่า ความสุขของเรามันเกิดจากการได้ออกมาข้างนอก เจอเพื่อน เจอสิ่งแวดล้อมอื่นๆ บ้าง อยู่แต่บ้านมันเจอแต่อะไรเดิมๆ ความสุขในชีวิตหลายอย่างมันก็หายไป แต่เราก็ต้องอดทนให้ผ่านช่วงนี้ไป เรารู้ตัวเองว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องพักก่อน มันอาจจะต้องพักยาวกว่าคนอื่นหน่อย แต่ก็มีความหวังในใจว่าพอเราดีขึ้นก็จะกลับมาอยู่ตรงนี้

การออกมาข้างนอกมันได้เติมความกุ๊กกิ๊กในชีวิตบ้าง อยู่บ้านก็เจอแต่แม่ อยู่แต่กับตัวเอง มีแต่ความคิดตัวเอง แต่อยู่บ้านมันก็ดี เพราะเราจะไม่มีข้ออ้างแล้วว่าไม่มีเวลาทำในสิ่งที่อยากทำ มีแค่เมื่อไหร่ร่างกายมันแย่ก็พักก่อน แต่ถ้าร่างกายเราดีขึ้นแล้ว เราจะอ้างเหมือนทุกวันที่ออกไปทำงานไม่ได้ว่า กลับบ้านมาก็เหนื่อยแล้ว พออยู่บ้านก็มีเวลามากขึ้น อยู่กับตัวเองเยอะมาก ได้ถามตัวเองว่าอยากทำอะไรกันแน่

ช่วงเวลาที่ป่วย มีวิธีมองหาความสุขเล็กๆ ใกล้ตัวอย่างไร ?

พิมพ์พาพ์ :  เราชอบอะไรที่เรียบง่าย เดินผ่านบ้านคนก็ชอบมองความน่ารักหรือสีที่เราชอบ เราคิดว่าความสุขเป็นเรื่อง ธรรมดามากๆ คนมักจะชอบมองผ่านเลยไป เพราะมันเป็นเรื่องที่เราเคยชิน ลองสมมติว่าเราไม่สบาย เป็นหวัด น้ำมูกไหล ไปทำงานไม่ได้ แค่เราขอให้หายหวัด น้ำมูกหยุดไหล ได้กลับไปทำงานก็แฮปปี้แล้ว หรือแค่ตื่นมาแม่ทำกับข้าวให้ ทั้งที่แม่ก็ทำไม่อร่อย แต่มันคือความสุขนะ

ถ้าเราเคยชินกับมันแล้วลืมให้ค่ากับมันไป แล้วอยากจะเพิ่มเลเวลให้มันพิเศษขึ้นอีกนิด ให้เป็นความสุขของทุกๆ วัน เราอาจต้องออกไปทำอะไรที่ไม่เคยทำบ้าง ฟังเพลงที่ไม่เคยฟังบ้าง อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า มันยังมีเพลงที่เราชอบอยู่อีก หรือบางทีเราไปเจอเพลงที่เราไม่ชอบ เราก็อาจจะกลับมาฟังเพลงเดิมๆ แล้วรู้สึกว่านี่คือแนวที่เราชอบ แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว

“ฟังเพลงที่ไม่เคยฟังบ้าง อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า มันยังมีเพลงที่เราชอบอยู่อีก”

นอกจากวาดรูปแล้วชอบทำอะไร ?

พิมพ์พาพ์ : เราชอบดูหนังฟังเพลง หนังเรื่องโปรดคือ ‘Amelie’ กลับมาดูอีกกี่รอบก็ยังชอบอยู่ เรารู้สึกว่าเป็นตัวละครที่มีมุมมองชีวิตที่ดี มีความไม่สมบูรณ์แบบบ้าง แล้วก็เป็นคนที่มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ คล้ายเรา ชอบเวลาเขาจีบผู้ชายด้วย ดูเขินๆ แต่ก็น่ารัก

ส่วนเพลงเนี่ยยาก มันจะมาในช่วงเวลาเราอินเลิฟ เราอกหัก หรือเรามีความสุขในชีวิต ถ้าถามว่าตอนนี้ชอบเพลงอะไร เรานึกถึงเพลง ‘ความสุข – นภ พรชำนิ’ มีประโยคหนึ่งที่ร้องว่า “ใช้ชีวิตให้มีความสุข ด้วยวันและเวลาที่เธอมี” เรารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ มันไม่ได้แฮปปี้ตลอดเวลาขนาดนั้น แต่โดยรวมก็โอเค

ในวันที่แย่ที่สุด ทำอย่างไรเพื่อออกจากความทุกข์นั้น ?

พิมพ์พาพ์ : เราว่าทุกคนมีโมเมนต์ที่รู้สึกแย่หรือกังวล เราก็ยังมีคิดมากอยู่นะ แต่ถ้าเรารู้จักตัวเองมากขึ้น เราจะยอมรับกับสิ่งที่เจอมากขึ้น อย่างเรารู้ว่าเราเศร้า แล้วเราจะอยู่กับความเศร้านี้ไปถึงเมื่อไหร่วะ 

มีวันหนึ่งที่เราขยับตัวไปไหนไม่ได้เลย ปวดไปหมด กินข้าวก็ไม่ได้ ต้องนอนเฉยๆ รู้สึกแย่มาก ก็พยายามนอนแล้วคิดว่าไม่เป็นไร ถ้าวันนี้ยังขยับไม่ได้ก็ให้ร่างกายได้พักที่สุดไปก่อน ถ้าอีกวันมันดีขึ้นค่อยกลับมาเริ่มใหม่ ในเมื่อเราต้องอยู่กับมันก็ต้องยอมรับมันให้ได้

เหมือนเพลงของนภ พรชำนิ ที่ร้องว่า “แต่สุดท้ายแล้วมันก็ผ่านไป เกิดขึ้นมาก็มีวันจบไป” ทุกอย่างเวลาเราเจ็บปวดเดี๋ยวก็ดีขึ้น เวลาเราทุกข์ก็เหมือนกัน เวลาเราเศร้าใจที่สุด อีกวันสองวัน หรือหนึ่งอาทิตย์ มันก็จะจบไป อยู่ที่เราสามารถปล่อยมันไปได้เมื่อไหร่ 

“เราต้องเลือกว่าจะอยู่กับความเศร้า หรือจะเข้าใจมันแล้วก็ปล่อยแม่งไปบ้าง”

ฟังแล้วได้กำลังใจมากเลย จริงๆ เป็นคนมองโลกในแง่ดีไหม ?

พิมพ์พาพ์ : มันก็มีบางครั้งที่เราหงุดหงิดกับโลกนะ ไม่ใช่ว่าเราแฮปปี้กับทุกอย่างขนาดนั้น แต่เรารู้จักมองมุมอื่นๆ มากขึ้น อย่างเป็นมะเร็งถ้ามองในแง่ร้าย ทุกคนก็จะคิดว่าฉันต้องตาย ฉันต้องรักษาไม่หายแน่ๆ นั่นคือการมองว่าตัวเองไม่มีหนทางแล้ว 

แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง มันก็ยังมีหนทางรักษา ถ้าไม่มียารักษาก็ยังมีทางอื่นหรือเปล่า เราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกที่จะไม่ป่วยก็ไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าจะอยู่กับมันยังไง จะอยู่กับมันแบบเศร้าๆ หรือจะอยู่แบบแฮปปี้

“Everything happens for a reason” ประโยคนี้มีความหมายอย่างไรกับเจิ้ล ?

พิมพ์พาพ์ : เราเพิ่งมาเชื่อจริงๆ ก็ตอนป่วยนี่แหละ พอมันเกิดขึ้นแล้วเราผ่านมันมาได้ มันทำให้เราเห็นว่า เราจะสามารถผ่านมันมาได้ยังไง เราเรียนรู้บางอย่างจากการที่เราป่วย อย่างแรกคือเรารู้ว่าชีวิตตัวเองมีค่ามากขึ้น 

ช่วงหนึ่งที่หนังเรื่อง ‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ เราเป็นแบบยุ่นเลยอะ รู้สึกว่าถ้าจะตายตอนนี้กูก็ยอมตาย เพราะตัวเองใช้ชีวิตคุ้มแล้ว มันอาจจะถึงเวลาของเราแล้ว แต่พออยู่จุดนั้นจริงๆ กลายเป็นว่ามันยังมีอะไรที่เราอยากทำอยู่นี่หว่า ยังมีคนรอบข้างที่เราอยากอยู่ด้วย ถ้าถามว่ามันเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไร มันคงเป็นการที่เราได้เรียนรู้ว่า ชีวิตที่ผ่านมาเรายังอยากมีมันต่อ ไม่ได้อยากทิ้งไปอย่างที่คิด

อีกอย่างคือสิ่งที่เราเจอมันทำให้เราไปอีกจุดหนึ่งได้ เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่มั่นใจหลายๆ อย่าง แต่เราเพิ่งไปเรียนขับรถมา เกิดมาเราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะขับรถได้ เป็นเด็กขี้กลัว ไม่มั่นใจ แค่คิดว่าจะเลี้ยวรถออกไปเราจะกล้าทำหรอวะ พอเราป่วยปุ๊บเรารู้สึกว่า ไม่มีอะไรให้ต้องกลัวอีกแล้ว

“มันก็เหมือนเวลาอกหัก สอบไม่ติด มันจะมีความทุกข์เกิดขึ้น แต่พอผ่านมันไปได้ เราก็จะเข้มแข็งเหมือนสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง”

จุดเปลี่ยนครั้งนี้ทำให้เรารักตัวเอง และคนรอบข้างมากขึ้นไหม ?

พิมพ์พาพ์ : เราเห็นคุณค่าชีวิตตัวเองมากขึ้น ถ้าสมมติเราตายไปก่อนหน้านี้ เราก็จะไม่ได้เจอความสุขที่ผ่านมา การรักตัวเองมันเป็นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์เลยนะ เวลาเรารักใครคนหนึ่งเราก็อยากรู้จักคนๆ นั้นใช่ไหม มันก็เหมือนการที่เรารักตัวเอง เราก็อยากรู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วก็อยากทำให้คนๆ นั้นมีความสุข ถ้าเรารู้ว่าอะไรที่ทำให้เราไม่มีความสุข เราจะไม่เอามันเข้ามาในชีวิต

ท้ายที่สุดคนเราอยู่คนเดียวยากมากเลยนะ แม้เราจะคิดว่าตัวเองเข้มแข็งแค่ไหน ก็ต้องมีวันที่เราอ่อนไหว ต้องการคนซัพพอร์ท หรือคนที่บอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันโอเคแล้ว คนรอบข้างเลยสำคัญที่ช่วยให้เราเดินในทางที่เราต้องการได้ดีขึ้น

มองอดีต – ปัจจุบัน – อนาคต เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?

พิมพ์พาพ์ : เราพยายามอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเจอในตอนนี้มากกว่า อยู่กับเพื่อนก็คืออยู่กับเพื่อนจริงๆ พยายามเก็บเกี่ยวความรู้สึกที่ได้รับ เพื่อที่เราจะไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง มันอาจต้องเสียใจอยู่แล้ว แค่รู้สึกว่าตอนนี้แฮปปี้ก็โอเคแล้ว นี่คือจุดที่เราทำได้เต็มที่แล้วในช่วงเวลานั้น 

แต่เราก็มีความหวังในอนาคตเหมือนกัน อย่างตอนนี้บางสิ่งเราก็ยังทำได้ในกรอบของคนเป็นมะเร็ง ไปต่างจังหวัดมากไม่ได้ โดนฝนมากก็ไม่ได้ เราเลยมองว่าในอนาคตอยากจะแข็งแรงมากกว่านี้ เดินทางได้มากขึ้น หรือทำอะไรได้มากขึ้น ส่วนอนาคตที่ไม่แน่นอนเรากลัวอยู่แล้ว ลึกๆ เรายังมีความกังวลว่ามะเร็งจะกลับมาอยู่ตลอด แต่ก็ต้องรู้จักยอมรับความจริง พอถึงหน้างานเราจะรู้เองว่าต้องทำอย่างไรต่อไป

ความฝันของพิมพ์พาพ์คืออะไร ?

พิมพ์พาพ์ : คาเฟ่ก็เป็นหนึ่งในความฝันนะ อยากขายงานศิลปะของตัวเองได้ก็เป็นความฝัน อยากจัดนิทรรศการก็เป็นความฝันที่ไม่ได้ไกลมาก น่าจะทำได้ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตวัยรุ่นอยู่ ความฝันเราก็คล้ายๆ เดิมนะไม่ได้เปลี่ยนไปมาก 

สิ่งที่เปลี่ยนคืออยากใช้ชีวิตให้สมดุลมากขึ้น ไม่ทำงานหนักเกินไป เรื่องเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญทั้งกับคนรอบข้าง รวมถึงตัวเองด้วย ร่างกายก็ยังเป็นปัจจัยที่เราต้องให้ความสำคัญที่สุด เวลาเราเจอเพื่อนกลับบ้านดึกก็บอกตลอดว่า รักษาสุขภาพด้วยนะ เพราะตอนที่เราทำงานหนัก นอนดึกเยอะๆ มันทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง โอกาสที่จะมีโรคอะไรเข้ามาก็ง่ายขึ้น 

ตอนนี้ทำโปรเจกต์อะไรอยู่บ้าง ?

พิมพ์พาพ์ : ตอนนี้มีซีนที่ยังสั่งได้อยู่ จะเอาไปวางงานหนังสือด้วย แล้วก็มีเซรามิกที่ตอนนี้อยู่ที่บ้านยังไม่มีใครซื้อไป ซึ่งเรากะว่าจะทำเพิ่ม อีกอย่างเราจะพัฒนาคาแรกเตอร์ตัวหนึ่งชื่อ ‘ไอเจ้าดื้อ’ มันยังไม่มีตัวแต่เดี๋ยวเราจะสร้างตัวขึ้นมา มันมีที่มาจากตัวเราที่เป็นเด็กดื้อ นิสัยซนๆ ซื่อๆ ดื้อๆ ขี้น้อยใจบ้าง แต่จะเป็นเด็กสดใส คิดบวกนิดๆ อาจจะแตกเป็นโปรดักท์มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เริ่มสนใจการใช้ผ้าหรือวัสดุเก่าๆ อย่างเสื้อมาอแดปต์เป็นสินค้าช่วยโลกลดขยะ

ติดตามผลงานของพิมพ์พาพ์ได้ที่ IG : anotherpimpa / FB : พิมพ์พาพ์

เชื่อว่าหลายคนอ่านแล้ว คงได้รับพลังบวกและเรียนรู้ว่าความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามักมองข้าม ก็เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้มีแรงเดินต่อไปในวันที่ท้อ ต่อให้เจออุปสรรคก็จะสามารถก้าวผ่านมันไปได้ จากคำพูดของผู้หญิงที่ครั้งหนึ่งเคยบันทึกว่า 

“ชีวิตทุกวันนี้ที่แค่ตื่นมาแล้วยังหายใจได้ ยังยิ้มหัวเราะไปกับคนรอบๆ ข้างได้ เป็นชีวิตที่มีความสุข มีค่า และมีความหมาย”

Content Writer : Angkhana N.
Photographer : Napat P.
Graphic Designer : Sasisha H.
Illustrator : PIMPA

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.