หลังเหตุการณ์ไฟป่าที่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เราและน้องอีกคนก็เลยตั้งใจว่าจะหาโอกาสขึ้นไปช่วยชาวบ้านปลูกป่าสักครั้ง หลังจากได้รู้ข่าวว่า กลุ่มรักษ์ไม้ใหญ่ (BIG Trees Project) ได้จัดทริปพาอาสาขึ้นดอยไปดับไฟป่าเชียงดาว (Save Our Soul) ช่วงเมษายน – ธันวาคม พ.ศ. 2562 เราก็ไม่รอช้าขออาสาขึ้นไปเปิดประสบการณ์ด้วยตนเองผ่านการลงมือทำ และเรียนรู้สายสัมพันธ์กับธรรมชาติที่มีอย่างแนบแน่น ซึ่งคนเมืองอย่างเราไม่เคยมองเห็น
‘Save Our Soul’ คือ โครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาไฟป่า ดูแลพื้นที่ป่าไม่ให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นอีก รวมทั้งฟื้นฟูป่าในระยะเบื้องต้น โดยร่วมมือกับค่ายเยาวชนอนุรักษ์เชียงดาว และชักชวนผู้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมปกป้องผืนป่าเชียงดาวอย่างยั่งยืน
| ปลูกป่า ปลูกใจ
8 มิถุนายน 2562
เช้าวันนี้ เรามารวมตัวกันที่ค่ายเยาวชนเชียงดาว และได้พูดคุยแนะนำตัวกับ ‘อ.อ้วน – นิคม พุทธา’ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง และผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว พื้นที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าแห่งความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ที่ปกป้องป่าต้นน้ำแม่ปิงแห่งนี้มาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี
อ.อ้วน บอกว่าพื้นที่ป่าที่เราจะไปปลูกต้นไม้ในวันนี้ เป็นป่าชุมชนบ้านป่าบง ที่ทำหน้าที่เป็นป่ากันชน (Buffer Zone) ให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว นอกจากนี้ ยังมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติและกำลังจัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยพื้นที่ป่าแถบนี้เป็นป่าที่น้ำไหลลงสู่แม่น้ำปิง แต่ที่ผ่านมาไฟไหม้หนักจนสร้างความเสียหายแก่ต้นไม้ไปมาก ทำให้จากป่าที่เคยหนาทึบก็โล่งโปร่งอย่างที่ได้เห็นกัน
บนรถคันโตระหว่างทางไปปลูกป่า บทสนทนาจาก อ.อ้วน ก็เริ่มขึ้นว่า พื้นที่ป่าในอำเภอเชียงดาวนั้นเป็นต้นกำเนิดสายน้ำแม่ปิง ที่เป็นแม่น้ำสายหลักซึ่งไหลไปหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ และยังเป็นแม่น้ำที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศอีกด้วย โดยพื้นที่ป่าของอำเภอเชียงดาวมีทั้งในเขตของป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถือเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นมันวิกฤต รุนแรง และลุกลามขยายไปในพื้นที่ป่าเป็นวงกว้าง ยิ่งบนดอยหลวงเชียงดาวที่เป็นป่าดิบเขามีใบไม้ร่วงหล่นสะสม เมื่อเจอไฟเข้าไป จากที่ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำ ชั่วพริบตาเดียวมันกลับกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีจนยากที่จะควบคุม
| ก่อนปลูกป่า ต้องรู้จักต้นไม้
นั่งรถมาเพียงไม่กี่อึดใจ เราก็ถึง ‘ป่าชุมชนบ้านป่าบง’ นอกจากเหล่าอาสาแล้ว ยังพบว่า อ.อ้วน พาเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และชาวบ้านอีกหลายสิบชีวิตมาช่วยกันขนกล้าไม้ ขุดหลุม และปลูกป่าด้วยกัน เสียงพูดคุยเล็กๆ สลับกับเสียงหัวเราะ ไม่น่าเชื่อว่าจะช่วยสร้างบรรยากาศในการปลูกต้นไม้ให้สนุกขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
อ.อ้วน เล่าว่า ชนิดพันธุ์ไม้ที่ปลูกเราจะเลือกเอาเฉพาะพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อธรรมชาติ สัตว์ป่า และชาวบ้าน เช่น ต้นมะม่วงป่า มะกอกป่า สมอพิเภก ขี้เหล็ก มะขามบ้าน และต้นกล้วย
เวลาเราไปปลูกป่าเรามักจะโฟกัสไปที่กิจกรรมที่ทำจนบางครั้งลืมไปว่า ชนิดพืชที่เลือกมาปลูกก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่างป่าเชียงดาวเป็นป่าพื้นใหญ่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นตัวกำหนดพันธุ์ไม้ เช่น ถ้าสูง 400 – 600 เมตร ก็จะเป็นป่าเต็งรัง หรืออย่างพื้นที่ปลูกป่าของเราวันนี้สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 เมตร เป็นป่าเบญจพรรณ ส่วนใหญ่มีต้นหว้า ไม้ดู่ ไม้แดง ไม้สัก มะกอกป่า มะม่วงป่า ไม้ไผ่ ซึ่ง อ.อ้วน บอกว่าถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ มองเห็นว่าโครงสร้างของธรรมชาติเป็นอย่างไร มันก็ง่ายกับการที่เราจะดูแลรักษาธรรมชาติ
| ‘เมล็ดพันธุ์’ ที่รอวันเจริญเติบโต
“ภาวนาให้ฝนตกลงมาสักที”
อุปสรรคของการปลูกป่าครั้งนี้ไม่ใช่ว่าคนน้อย ไม่ใช่ว่าไม่เคยปลูก แต่คือธรรมชาติที่ไม่ยอมปล่อยให้ฝนตกลงมาสักที ทำให้ช่วงบ่ายเราเปลี่ยนแผนจากที่จะไปปลูกป่า ก็ไปเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นยางแดงกันแทน
สองข้างทางบนถนนเต็มไปด้วยเมล็ดยางแดง พวกเราค่อยๆ เดินเรียบถนนเก็บกันคนละไม้ละมือ ผลกลมๆ ที่มีหางยาวสองแฉก ที่คนเรียกกันว่า ‘ยางแดง’ เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ป่าเบญจพรรณ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่อยู่ได้นานเป็นร้อยปี อ.อ้วนอธิบายว่า ในการเก็บเมล็ดพันธุ์ เราจะเริ่มเก็บกันตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝน เก็บสะสมไว้ก่อนจะมาคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และนำไปบ่มเพาะลงในแปลง ให้น้ำ ให้แดด หลังจากที่เมล็ดแทงราก ผลิใบ ก็จะขนย้ายมาลงถุงชำ และเลี้ยงไว้ ซึ่งเวลาก็ตามแต่ละชนิดของพันธุ์ไม้ บางชนิดต้องเลี้ยงไว้เป็นปี บางชนิดแค่ไม่กี่เดือนก็ปลูกได้ แต่ถ้าจะให้ดีทุกชนิดควรเพาะปีนี้และปลูกปีหน้า เพื่อให้มันแข็งแรงที่สุด
ในธรรมชาติเองก็มีระบบกลไกจัดการด้วยตัวเองเช่นกัน อย่างเมื่อถึงฤดูร้อน ความแห้งแล้ง ความร้อนแรงของสภาพดิน ฟ้า อากาศ จะทำให้เมล็ดแห้งกรอบและแตก พอถึงเดือนเมษายนที่พายุฤดูร้อนพัดผ่าน ความแรงของพายุจะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไปให้ไกลขึ้น หรือไม่ก็ไหลไปกับสายน้ำเวลาน้ำไหลบ่า สิ่งนี้เราเรียกกันว่ากระบวนการของระบบนิเวศนั่นเอง
| เข้าใจธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้และลงมือทำ
9 มิถุนายน 2562
เช้าวันที่ 9 อ.อ้วน พาเราเดินเข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติ เดินลัดเลาะไปตามสันเขา ลึกเข้าไปในพื้นที่ที่ยังมีร่องรอยของการถูกไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาลของซากต้นไม้ สีเทาของขี้เถ้า และสีดำของเนื้อไม้ที่ถูกเผา เหล่านี้ยังมีให้เราได้เห็นอยู่ตลอดเส้นทาง บางต้นตายไปแล้ว บางต้นรอด และบางต้นกำลังแตกหน่อและผลิใบขึ้นมาใหม่ เหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า แม้แต่ป่ายังรู้จักปรับตัว เรียนรู้ที่จะเยียวยาและรักษาตัวเอง
เดินมาไม่ไกล พบว่ามีชาวบ้านขนเมล็ดพันธุ์ไม้มารอ เพื่อที่จะทำกิจกรรมต่อไป คือ ‘การโยนเมล็ดพันธุ์’ ไม่ว่าจะเป็นยางแดงที่เราไปเก็บมาเมื่อช่วงเช้า สมอพิเภก รกฟ้า มะกอกป่า มะม่วงป่า มะค่า และพระเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งการโยนเมล็ดพันธุ์ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างป่า ออกไปให้กระจายตามบริเวณพื้นที่ป่าต่างๆ แล้วก็ปล่อยให้เมล็ดพันธุ์ตกลงบนพื้นดินแล้วเติบโตต่อไปตามธรรมชาติ วิธีนี้จะทำให้เรากระจายเมล็ดพันธุ์พืชไปทั่วบริเวณมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เราเข้าไปปลูกไม่ถึง
เราประทับใจประโยคหนึ่งของ อ.อ้วน ที่บอกว่า ‘ต้นไม้’ ไม่ว่าจะอยู่ในป่านอกป่า อยู่ตามขอบไร่ปลายนา ในบ้าน ในกระถาง ไม่ว่าจะอยู่ไหนมันก็ยังทำหน้าที่ของมัน ต้นไม้และผืนป่าคือธรรมชาติที่อยู่มาก่อนเรา และมันจะคงอยู่ตลอดไปแม้วันหนึ่งมนุษย์จะล้มหายตายจากไป นอกจากนั้น ‘ต้นไม้’ มันยังให้อากาศ ให้ความร่มเงาร่มรื่น เป็นบ้านของเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ เป็นโรงอาหาร เป็นโรงยา เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากในโลกกว้างใบนี้ เพราะฉะนั้นในเมื่อเราสร้างโบถส์สร้างวิหารได้ แล้วทำไมเราจะสร้างป่าไม่ได้
| ธรรมชาติยังอยู่ เราต่างหากที่เป็นฝ่ายไป
ในที่สุดก็ได้นั่งพูดคุยกับ อ.อ้วน เป็นการส่วนตัวสักที ! …
นี่คือประโยคที่ผุดขึ้นมาในใจ
ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงที่คุยกัน อาจจะบอกเล่าเรื่องราวการทำงานเป็นนักอนุรักษ์ตลอด 20 ปี ของอาจารย์ไม่หมด แต่เราก็ได้ความรู้ ได้พลังบวก และได้แรงบันดาลใจอันแรงกล้าจากอาจารย์กลับบ้านมาด้วยเต็มกระบุง
ก่อนจากลาอาจารย์บอกกับเราว่า ต่อจากนี้ขอเพียงให้ตัวเองได้มีโอกาสทำงานเป็นนักอนุรักษ์ต่อไป ขอให้ได้ใช้ความรู้ ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาไปกับผู้คน อาจารย์ตั้งความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ไวต่อข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ แต่อาจจะขาดเรื่องสภาวะทางจิตใจ ทำให้นอกจากการปลูกป่าทางค่ายจึงเพิ่มกิจกรรมเดินป่าเข้ามา เพื่อจะให้คนรุ่นใหม่ได้เชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติ โดยไม่ใช้เครื่องมือ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ใช้กล้อง ไม่ใช้สมุดบันทึก เอาแต่ตัวของเราออกไปประสบและสัมผัสกับธรรมชาติ ไปเรียนรู้ว่าธรรมชาติแท้ที่จริงแล้วมันยิ่งใหญ่แค่ไหน ไปให้เห็นว่าเราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้นในโลกนี้เราไม่ได้สำคัญที่สุด ซึ่งวิธีนี้มันจะทำให้คนเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติมากขึ้น
“ธรรมชาติยังอยู่ เราต่างหากที่เป็นฝ่ายไป ก็ขอให้คิดว่าเวลาเรามีไม่มาก เราจะมีชีวิตอยู่มันก็อยู่ได้ อยู่รอด แต่อยากให้อยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย มันต้องช่วยเหลือและแบ่งปันผู้อื่น…บางคนเกิดมาเพื่อรักษาผืนป่า บางคนเกิดมาเพื่อรักษาสายน้ำสักสายหนึ่ง บางคนเกิดมาเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือผู้คน เหล่านี้มันเป็นชีวิตที่งดงาม”
อ.อ้วน – นิคม พุทธา