Active River Station สร้างสถานีเรือเพื่อทุกคน - Urban Creature

‘…แจวมาแจวจ้ำจึก น้ำนิ่งไหลลึกนึกถึงคนแจว…’

ไม่ได้เป็นเพียงเนื้อเพลงไว้สร้างเสียงหัวเราะเวลาสันทนาการเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยคที่สามารถบอกเล่าวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเห็นภาพ เพราะตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นภาพเรือลำน้อยลำใหญ่แล่นในแม่น้ำลำคลองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ยังมีคนใช้เรือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหลักในการเดินทาง ซึ่งถ้ามีเรือแล้ว จะขาด “ท่าเรือ” ไปก็คงจะไม่ได้ แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า ท่าเรือที่เห็นกันทุกวันนี้ บางที่ไม่ได้สมบูรณ์ 100% มีชำรุดบ้าง มืดไปบ้าง เล็กไปบ้าง หรือบางที่ก็ดีไซน์มาไม่ตอบโจทย์สำหรับคนทุกกลุ่ม

เราจึงมีแนวคิดดีๆ จากเหล่า “คนเข้าท่า” มานำเสนอ กับโครงการ “Active River Station – สถานีเรือเพื่อทุกคน” ที่ต้องการสร้างสถานีเรือรูปแบบใหม่ให้คนเมือง ซึ่งเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ – ที่ปรึกษาโครงการสถานีเรือเพื่อทุกคน (Active River Station) ถึงจุดเริ่มต้น และวิธีการที่จะชวนคนเมืองมาร่วมคิด ร่วมสร้าง “สถานีเรือที่เป็นของทุกคนจริงๆ”


| Active River Station คือใคร ?

“Active River Station” หรือ “โครงการสถานีเรือเพื่อทุกคน” เป็นหนึ่งในโครงการฟื้นฟูเมือง ที่เล็งเห็นโอกาสในการฟื้นฟูพื้นที่ท่าเรือให้กลับมามีบทบาท กลับมาเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีชีวิตชีวา และทำหน้าที่ ‘ประตู’ เชื่อมโยงสู่ย่านริมน้ำอีกครั้ง ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) ร่วมกับ ปั้นเมือง, Landprocess, N7A, WAY Magazine และ Spotwerk โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร, สมาคมธุรกิจการค้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการไอคอนสยาม ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัด “เวิร์คช็อปสถานีเรือเพื่อทุกคน” เพื่อทำกระบวนการร่วมหารือ แลกเปลี่ยนไอเดีย และให้ผู้ใช้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปรังปรุงท่าเรือ

“ถ้าไม่มีท่าเรือ ชีวิตพวกผมก็คงลำบาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ขึ้นมาจากเรือทั้งนั้น” วินมอเตอร์ไซค์, ท่าราชวงศ์

| ทำไมต้องยกระดับท่าเรือสู่ “สถานีเรือเพื่อทุกคน” ?

สมัยก่อนกรุงเทพฯ เป็นเมืองฐานน้ำ (water-base city) มีแม่น้ำเป็นทางสายหลักที่ใช้เดินทางกันโดยเรือ ทำให้มี ‘ท่าเรือ’ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเชื่อมย่านต่างๆ เข้าด้วยกัน ท่าเรือจึงมักตั้งอยู่ในบริเวณที่สำคัญของย่าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการปกครอง แหล่งการเงิน แหล่งอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย วัด หรือตลาด ดังนั้น ท่าเรือจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงจุดเปลี่ยนการเดินทาง แต่ยังเป็นอีกหนึ่ง “พื้นที่ทางสังคม” ที่สัมพันกับผู้คนหลายมิติ และกลายเป็นประตูที่เชื่อมให้ผู้คนเดินทางมาสัมผัสย่านต่างๆ

แต่ช่วงศตวรรษที่ 19 บ้านเราพัฒนาเมืองทางบก (land-based city) มากขึ้น ทำให้การพัฒนาหันหลังให้ ‘แม่น้ำ’ ไปสู่ ‘ถนน’ บทบาทของการสัญจรทางน้ำเลยลดลงไปพร้อมๆ กับท่าเรือบางที่ที่ถูกปล่อยร้าง คนแน่นแออัดจนทรุดโทรม หรือไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ทำให้ย่านริมน้ำหลายแห่งเสื่อมโทรมจากการเข้าถึงที่ยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวริมน้ำ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองเห็นโอกาสในการฟื้นฟูท่าเรือ เลยริเริ่ม “โครงการสถานีเรือเพื่อทุกคน” เพื่อสร้างให้ท่าเรือกลับมามีบทบาท มีชีวิตชีวา และทำหน้าที่ “ประตู” เชื่อมโยงสู่ย่านริมน้ำอีกครั้ง

| จาก ‘ท่าเรือ’ สู่ ‘ประตู’ เชื่อมโยงย่านริมน้ำ

การเป็นประตูสู่ย่านของท่าเรือ หมายความว่า จะนำนักท่องเที่ยว นำบุคลลเข้าไปในย่านที่ไม่ค่อยมีคนเข้าไปหรือเป็นย่านที่มันมีความถดถอยทางด้านเศรษฐกิจ เพราะที่จริงแล้ว พวกเขามีขนบวัฒนธรรมที่น่าสัมผัส ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไป ก็จะสามารถสร้างเศรษฐกิจให้ผู้คนในย่านนั้นได้

โดยตอนนี้ เริ่มโครงการพื้นที่นำร่องจากท่าเรือ 4 แห่ง ภายในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน ได้แก่ (1) ท่าราชนาวี (2) ท่าดินแดง (3) ท่าราชวงศ์ และ (4) ท่าสาทร เนื่องจากเชื่อมโยงกับย่านสำคัญ มีผู้โดยสาร และผู้ใช้งานจำนวนมาก ทั้งคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ

| Human of Piers คนเข้าท่า

กระบวนการที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะทำให้สถานีเรือเพื่อทุกคนเกิดขึ้นได้จริง คือ การร่วมหารือระหว่างนักวิชาการ บุคคลทั่วไป และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันออกแบบแนวคิดการปรับปรุงท่าเรือ ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปรับรู้ถึงการดำเนินโครงการฯ อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าสัมภาษณ์กับคนท้องถิ่นและผู้ใช้งานจริงก็เป็นพาร์ทที่ขาดไม่ได้ จึงเกิดกิจกรรมย่อยที่เรียกว่า “คนเข้าท่า” ขึ้น เพื่อรับฟังปัญหา และสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งจัดทำเว็บไซท์ activeriverstation.com และเพจเฟสบุ๊ก สถานีเรือเพื่อทุกคน-Active River Station เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากการลงสำรวจพื้นที่ การจัดเวิร์คชอร์ป และการพูดคุยกับผู้คน

“ในการออกแบบท่าเรือ ทุกคนต้องได้ใช้ ตัวท่าเรือสามารถเชื่อมต่อการสัญจรระบบอื่น เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมหลากหลาย มีระบบการจัดการที่ปลอดภัย ทันสมัย และส่งเสริมอัตลักษณ์ของย่านอย่างครบถ้วน”

| หนทางในการสร้างท่าเรือที่ดี

สำหรับการสร้างท่าเรือที่ดี ต้องคำนึงคือเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ ‘ความสะดวก’ และ ‘ความสามารถในการเข้าถึงของคนทุกระดับชั้น ทั้งคนทั่วไป เด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ’ นอกจากนี้ ท่าเรือที่ดี ต้องชูเสน่ห์ของย่านนั้นๆ เพื่อให้มันไม่ได้เป็นเพียงก้อนสี่เหลี่ยมให้เราไปยืนรอ แต่อาจกลายเป็นความสวยงามทางด้านสถาปัตย์ มีพื้นที่ให้คนนั่งพัก นั่งคุยกัน สร้างชีวิตรอบๆ สถานีเรือได้

| ลิงค์ท่าเรือกับระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้ข้อต่อ

ตอนนี้ โครงการสถานีเรือเพื่อทุกคน กำลังดำเนินการทางวิศวกรรมว่า จะทำอย่างไรให้คนไม่ต้องไปยืนรอบนโป๊ะระหว่างรอเรือมา หรือจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนรู้สึกว่า ยืนรออยู่บนสถานีเรือดีกว่า ซึ่งทางทีมงานทำการศึกษาว่า ‘ทำไมคนถึงต้องยืนรอในโป๊ะก่อนที่จะขึ้นท่าเรือ?’ ผลวิจัยที่ได้รับคือ ‘คนกลัวตกเรือ เพราะไม่มีเวลาบอกชัดเจน’

ทางโครงการจึงมีแพลนนำ Smart Technology มาใช้ในการคำนวณว่า จะสื่อสารกับผู้ใช้งานในเรื่องของเวลาที่ชัดเจนอย่างไร เช่น ถ้าเราต้องข้ามไปขึ้นเรืออีกฝั่ง ก็ควรจะรู้ได้ว่า จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ พร้อมรวบรวมข้อมูล และคำนวณเวลาที่ใช้เดินทางไปท่าเรือโดยระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ แล้วลิงค์ข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนรู้เวลาที่ชัดเจน และเดินทางได้อย่างไหลลื่น

| ‘สถานีเรือเพื่อทุกคน’ ส่งผลต่อ ‘การพัฒนาเมือง’

“เรามองว่าท่าเรือไม่ได้เป็นเพียงจุดถ่ายคน แต่มันเป็นสถานีริมแม่น้ำที่ประชาชนทุกคนสามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจริมน้ำ รับลมเย็นได้ในวันหยุด แล้วก็มีบริการต่างๆ ที่ทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์จากท่าเรือ มีร้านค้า มีแหล่งเอ็นเตอร์เทนเมนท์ สร้างชีวิตให้กับท่าเรือ ย่าน และผู้คน” – คุณภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ ที่ปรึกษาโครงการสถานีเรือเพื่อทุกคน (Active River Station)

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.