เอามือทุบต้นไม้ สร้างบ้านดิน ขุดเหมือง สู้กับครีปเปอร์ เดินตกลาวา แย่งบ้าน Villager ทำเรดสโตน เหล่านี้คือตัวอย่างกิจกรรมที่เหล่าผู้เล่นเกม ‘Minecraft’ (มายคราฟต์) ต่างคุ้นเคยกันดี
แต่นอกเหนือจากโหมดเอาชีวิตรอด (Survival) ที่เป็นเหมือนสตาร์ทเตอร์แพ็กของชาวเกมเมอร์ ในเกมยังมีโหมด ‘สร้างสรรค์’ (Creative) ที่อนุญาตให้ผู้เล่นสร้างและทำลายสิ่งก่อสร้างและกลไกต่างๆ ได้อย่างอิสระ นี่จึงเป็นเหมือนหลุมหลบภัยให้กับสายครีเอทีฟได้ระเบิดพลังสร้างโลกและสิ่งปลูกสร้างในเกมเป็นของตัวเอง

คอลัมน์ Art Attack ขอพามาบุกแมปเทพๆ ของ ‘ณัฐ-ณัฐวุฒิ เอื้อธีรมงคล’ และ ‘น้ำมนต์-ศิวัช สุขเลิศกมล’ 2 ตัวแทนแอดมินจากเพจ ‘Aa kaan-อาคาร’ ที่แม้จะเปลี่ยนชื่อเพจมาแล้วถึง 2 ครั้งจาก ‘Minecraft สถาปัตยกรรม’ และ ‘Minecraft Architecture’ แต่ยังคง DNA ของการลงงานสถาปัตยกรรมไทยในเกมอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อคุยถึงเบื้องหลังการสร้างสถาปัตยกรรมไทยในเกมมายคราฟต์ที่ทำเอาลูกเพจอ้าปากค้างทุกครั้งที่เห็น
เริ่มตั้งแต่เด็ก ไม่เล็กประสบการณ์
“แต่ละคนเริ่มเล่นเกมมายคราฟต์กันตั้งแต่เมื่อไหร่” คำถามแรกที่ไม่ถามคงไม่ได้เมื่อเริ่มบทสนทนากับชาวเกมเมอร์
ณัฐวุฒิและศิวัชบอกกับเราว่า เพจ Minecraft สถาปัตยกรรม (ชื่อเดิม) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว จากการรวมตัวกันของชาวเกมเมอร์ที่สร้างสิ่งปลูกสร้างในเกม ซึ่งแม้แต่ละคนจะมีช่องทางการลงงานของตัวเอง แต่ก็ยังคงมองหาการรวมกลุ่มเป็นคอมมูนิตี้อยู่
ด้วยเหตุนี้ทำให้นอกจากณัฐวุฒิและศิวัชแล้ว ภายในเพจในยังมีแอดมินที่ดูแลและสร้างสรรค์ผลงานอยู่อีกหลายชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ฟิวส์-หฤษฎ ถาวรกิจ, บุ๊ค-พงศ์ภัค ทาปัญญา, พ็อต-สุกฤษฎิ์ ศรีพุทซา, ไอซ์-พสิษฐ์ พุทธิธนาเศรษฐ์, แชมป์-ราชันย์ คำภีร์,โต้ง-วณิช เมืองเรือง, ดัช-เดชาธร หิมานันโต, ต้น-ญาณวิทย์ ไชยสวัสดิ์, นัด-อัควัฒน์ จิรากุลนพวัฒน์, หมี-วีรภัทร์ ประดิษฐ์วัฒนกิจ, ณนนท์-นนท์ สงคะกุล, เคน-โรจกร ลิ่มถาวรกุล, ทอง-ถิรวัฒน์ ลอยลม,พี-จำรัส อาจหาญ และเอ็ม-วชิรวิทย์ สิทธิอาษา
แต่กว่าจะมาถึงจุดที่ตัดสินใจเปิดเพจเอาไว้เป็นแหล่งรวบรวมผลงาน ทั้งสองคนก็ใช้เวลาท่องยุทธภพอยู่ในเกมเหลี่ยมนานกว่านั้นพอสมควรเลยทีเดียว

“ถ้านับจริงๆ ผมเริ่มเล่นมาตั้งแต่ ม. 2 รวมๆ ก็สิบกว่าปีได้แล้ว” ณัฐวุฒิ อดีตนักศึกษามัณฑนศิลป์ผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยววัดไทยย้อนความหลังให้ฟัง
“ส่วนผมเริ่มเล่นเกมมายคราฟต์ตั้งแต่ ป. 3 แต่ตอนนั้นเป็นการเล่นกับเพื่อนในโหมดเอาชีวิตรอดแบบปกติ จนกระทั่ง ป. 5 ถึงเริ่มสร้างวัดในโหมดสร้างสรรค์” ศิวัช หนึ่งในแอดมินเพจที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับเรา

จากแค่ความชอบ สู่การสร้างจริงในเกม
ส่วนที่มาที่ไปของการสร้างสถาปัตยกรรมไทยในเกมนั้น ของณัฐวุฒิเกิดจากการที่ตนเองชอบเที่ยววัดเพื่อดูงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาเจอเกมมายคราฟต์ที่เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์พื้นที่และสถาปัตย์ได้ตามใจ จึงเริ่มสร้างบ้านทั่วๆ ไป และอัปเกรดมาเป็นการสร้างวัดแบบทุกวันนี้ตามลำดับ
“ตอนนั้นโปรแกรม 3D อื่นๆ ยังไม่ค่อยมี ในขณะที่เกม The Sims™ ก็ไม่ได้ให้อิสระในการออกแบบขนาดนั้น แต่เกมมายคราฟต์ให้อิสระในการออกแบบและสร้างสรรค์ได้มากกว่า” เขาเล่าถึงข้อดีของเกมมายคราฟต์ในขณะที่เกมหรือโปรแกรมอื่นๆ ไม่สามารถตอบความต้องการในช่วงเวลานั้นได้

ส่วนศิวัชเป็นการรวมความสนใจทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นงานอดิเรกใหม่ขึ้นมา “ผมมีความสนใจในสถาปัตยกรรมไทยในช่วงเดียวกับที่เริ่มเล่นเกม เลยอยากจำลองสถานที่ต่างๆ ขึ้นมาในเกม เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและประหยัดทรัพยากรที่สุด ณ ตอนนั้น”
ไม่ใช่แค่สองคนนี้ที่เริ่มสร้างงานในเกมด้วยจุดเริ่มต้นแบบนี้ เพราะจุดร่วม 2 ข้อ อันได้แก่ หนึ่ง เล่นเกมมายคราฟต์อยู่เดิม และสอง ชื่นชอบสถาปัตยกรรมไทย นับเป็นจุดร่วมของคนในกลุ่มที่ทำเพจนี้เลยก็ว่าได้
จำลอง-สันนิษฐาน แบบไหนก็สถาปัตย์ไทยเหมือนกัน


แม้จะเป็นการออกแบบในเกม แต่กว่าจะได้มาสักงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แอดมินเพจทั้งสองคนเล่าว่า ชิ้นงานในเพจ Aa kaan-อาคาร มีทั้งโปรเจกต์ส่วนตัวของแอดมินกว่า 20 ชีวิต และโปรเจกต์ที่คนภายในกลุ่มหยิบเอาความถนัดของตัวเองมาช่วยเติมนิดผสมหน่อยให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์แบบมากขึ้น อีกทั้งรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่แอดมินแต่ละคนสนใจก็แตกต่างกันออกไป
“ภายในกลุ่มเราแบ่งการทำงานออกเป็นสองแบบคือ การสร้างแบบจำลองและการสร้างแบบสันนิษฐาน” ศิวัชอธิบายรูปแบบการทำงานให้เราเข้าใจง่ายๆ
ถ้าพูดถึงการสร้างแบบจำลองให้นึกถึงโปรเจกต์ ‘วัดพระแก้ว’ ของณัฐวุฒิ ส่วนการสร้างแบบสันนิษฐานคือโปรเจกต์ ‘พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท’ ของศิวัช

โดยกระบวนการสร้างแบบจำลองของณัฐวุฒิ เขาจะเทียบตัวบล็อกในเกมเข้ากับสเกลของพื้นที่จริง เป็นการซ้อนภาพ 3 แบบเข้าด้วยกัน ได้แก่ ภาพจาก Google Maps ภาพแปลนของอาคารนั้นๆ และภาพจากเกมมายคราฟต์
แต่ถึงอย่างนั้น โปรเจกต์ของเขาที่ตอนแรกทำวัดพระแก้วก่อนก็ได้ต่อขยายไปยังส่วนอื่นอย่างส่วนของพระบรมมหาราชวังที่เขาอยากสร้างด้วยในอนาคต ทว่าบางอาคารกลับไม่สามารถหาแปลนได้

“มีแบบบางอาคารในวังที่ไม่มีใครทำแปลนออกมา เลยต้องอาศัยทาบจาก Google Maps เอา ซึ่งความยากของมันคือ เราต้องเดาว่าตำแหน่งผนังที่โดนหลังคาบังมันอยู่ตรงไหน ต้องดูว่าหลังคายื่นออกมาเท่าไหร่ ทำให้เสี่ยงสร้างออกมาไม่ตรงอยู่เหมือนกัน
“ที่เหลือก็ใช้การอ่านหนังสือกับดูสถานที่จริงเอามาทาบมุมตามเพิ่ม แต่สุดท้ายเรื่องรายละเอียดเครื่องยอดกับบางส่วนที่เป็นเส้นจอมแหก็ต้องให้คนที่เรียนสถาปัตย์มาช่วยตบดีๆ ถึงจะได้แบบเป๊ะๆ” ณัฐวุฒิเล่าถึงโปรเจกต์ที่ใช้เวลาทำมากกว่า 6 ปี และยังคงดำเนินต่อไป


กลับกันการสร้างแบบสันนิษฐานของศิวัชคือ การสร้างงานจากซากโบราณสถานในปัจจุบัน แล้วสันนิษฐานไปถึงเมื่อครั้งที่สถานที่นั้นเคยรุ่งเรือง ส่งผลให้เขาต้องหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งมาประกอบรวมกันมากกว่าการสร้างแบบจำลอง
“หลักๆ ที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็น Photogrammetry ที่ทำเชิงวิชาการ ร่วมกับแปลนของกรมศิลป์ หรือไปเก็บ Photogram ด้วยตัวเอง” ชายหนุ่มอธิบายวิธีการทำงาน
จากนั้นเขาจึงจะนำข้อมูลสภาพโบราณสถานปัจจุบันที่ได้ไปสืบค้นข้อมูลต่อในหนังสือหรือเอกสารเก่าอย่างเอกสารพระราชวังหลวงอยุธยา เอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารพรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา ทั้งแบบร่วมสมัย เก่า และใหม่ประกอบกัน อีกทั้งยังจำเป็นต้องดูสถาปัตยกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย

และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แบบจำลองพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทมีการแก้ไขอยู่หลายต่อหลายครั้ง
“ถ้าไปเจอข้อมูลว่ายอดจะต้องมีเก้ายอดก็ต้องแก้ยอดใหม่ หรือไปเจอข้อมูลว่าหลังคาควรจะเป็นวัสดุนี้ก็ต้องแก้สีใหม่ โครงสร้างเสาไม่มีก็ต้องตัดเสาออก เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
“แค่พระที่นั่งสรรเพชญฯ องค์เดียวก็แก้มาสิบห้าครั้ง ตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์ตอนมัธยมฯ ต้นจนถึงปัจจุบันก็ยังแก้ไปเรื่อยๆ ถ้าพูดถึงวิวัฒนาการผมคิดว่ามันก็คงจะมีการแก้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ” ศิวัชพูดพร้อมหัวเราะ
เล่นจนได้เรื่อง
“การเล่นมายคราฟต์ทำให้เราได้มุมมองและกระบวนการคิด รู้ว่าเริ่มตรงไหนถึงจะทำงานง่ายที่สุด ซึ่งส่งผลต่อวิธีการทำโมเดลส่งอาจารย์ด้วยเหมือนกัน มันได้ทั้งวิธีคิดและมุมมองใหม่ๆ ต่องานสถาปัตยกรรมไทย อย่างการวัดสัดส่วนต่างๆ ก็ได้มายคราฟต์นี่แหละมาช่วยในการฝึกฝีมือ” นิสิตคณะสถาปัตย์เล่าถึงทักษะที่ได้รับจากการเล่นมายคราฟต์ และนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนได้เป็นอย่างดี


ในขณะที่ณัฐวุฒิแชร์ให้ฟังในฐานะคนที่เรียนจบมาแล้วว่า การเล่นและสร้างสถาปัตยกรรมไทยในมายคราฟต์มาหลายปีช่วยขัดเกลาให้เขาชื่นชมสถาปัตยกรรมในสถานที่จริงได้มีอรรถรสมากขึ้น
“มันทำให้เราคิดถึงสถานที่อื่นๆ ที่อยากจะไปอีก จนรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นนักสะสมวัดในรูปแบบคอลเลกชันส่วนตัวเรื่อยๆ ไปแล้ว”
แอดมินเพจอาคารเล่าต่อว่า ในช่วงนี้ที่ใกล้วันครบรอบ 100 ปี วันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 จริงๆ ทางณัฐวุฒิและทีมคนทำเพจเองมีแผนที่จะสร้างวังอื่นๆ ของรัชกาลที่ 6 อย่างพระราชวังพญาไท พระราชวังสนามจันทร์ รวมไปถึงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ก่อนที่ในอนาคตจะขยับไปสร้างสถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์และวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ มากขึ้น

ในขณะที่ศิวัชผู้มีความสนใจในเมืองเก่าอยุธยาก็ยังคงสานต่อโปรเจกต์พระราชวังหลวงอยุธยาต่อไป โดยตั้งใจว่าจะเก็บรายละเอียดพระที่นั่งอื่นๆ ให้เสร็จ ก่อนจะไปต่อที่วัดอื่นๆ ในอยุธยา

และแม้ว่าเพจนี้จะตั้งต้นและเป็นที่รู้จักมาจากการสร้างสรรค์ในเกมมายคราฟต์ ทว่าในเวอร์ชันเพจที่ชื่อ Aa kaan-อาคาร จะเริ่มแชร์งานที่หลากหลายมากขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่แต่เกมมายคราฟต์อย่างเดียว
“ผมมองว่าพอเปลี่ยนมาใช้ชื่อเพจว่าอาคารแล้ว หลังจากนี้ก็อาจมีการแชร์งานจากเกมอื่นๆ บ้าง ขอแค่อยู่ในส่วนที่เป็นสถาปัตยกรรมไทย เพื่อเป็นการเปิดกว้างมากขึ้น เพราะเกมในโลกนี้ไม่ได้มีแค่มายคราฟต์อย่างเดียว” ณัฐวุฒิอธิบายเสริมถึงจุดยืนปัจจุบันของเพจ

อย่างไรก็ตาม ใครที่ติดตามเพจมาตั้งแต่สมัย Minecraft สถาปัตยกรรม หรือ Minecraft Architecture ก็ยังเอนจอยกับ DNA แบบเดิมๆ ได้ที่ YouTube ชื่อ Minecraft สถาปัตยกรรม และ TikTok ในชื่อ Minecraft Architecture