เข้าใจคนข้ามเพศในอัตชีวประวัติ: บันทึกกะเทยอีสาน - Urban Creature

เรามักได้ยินมายาคติที่ว่า ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของคนเพศหลากหลาย แต่เมื่อมองดูให้ลึกเข้าไปถึงค่านิยม โครงสร้าง เหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศที่ผ่านมา และคำบอกเล่าจากคนในคอมมูนิตี้ จะรู้ว่าประโยคด้านบนเป็นคำกล่าวที่เกินจริงไปมาก

หนังสือ ‘บันทึกกะเทยอีสาน’ โดย ปณต ศรีนวล ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการประจำ GendersMatter คือหนึ่งในตัวอย่างผลงานที่บอกเล่าความเจ็บปวดที่คนข้ามเพศต้องประสบเป็นอย่างดี โดยที่มาของอัตชีวประวัติเล่มนี้คือผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ Progressive Fund จากคณะก้าวหน้า ทำให้ได้รับการตีพิมพ์แบบ Hard Copy และเผยแพร่ทางออนไลน์ 

‘บันทึกกะเทยอีสาน’ พูดถึงชีวิตส่วนตัวของปณตตั้งแต่เด็กจนโต สะท้อนปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของคนต่างจังหวัด รวมถึงปัญหาความแร้นแค้นในพื้นที่ทางภาคอีสานที่รัฐไม่เคยเข้าไปจัดการอย่างจริงจัง

“พูดให้ง่ายคือ มันเล่าถึงชีวิตกะเทยอีสานใต้ที่รถทัวร์ชนกับรถขนมังคุดตั้งแต่ก่อนวันสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วดันจับพลัดจับผลูไปเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เจอ Cyberbully พักการเรียน ต้องฝ่าฟันทั้งเรื่องโรคบูลิเมีย การอยู่ในประเทศบรูไนที่เป็นเมืองมุสลิม รวมไปถึงภาพจำของคนขาวต่อคนไทย ทั้งหมดอัดรวมในหนังสือเกือบ 90 หน้านี้” ปณตสรุปถึงงานเขียนของเธอ

นอกจากภาษาที่สละสลวย อ่านเข้าใจง่ายแล้ว ในประโยคเรียบง่ายเหล่านี้ล้วนสอดแทรกความขมขื่นปวดร้าวต่อระบบและโครงสร้างของประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถาบันศาสนา ไปจนถึงสังคมภาพกว้าง หลายครั้งที่คำพูดหรือการกระทำอย่างการพูดแซว การบีบคั้นแล้วอ้างว่าเป็นความหวังดี การทำตามค่านิยมเก่าๆ ถูกมองเป็นเรื่องปกติ ทว่าเมื่อได้ลองทำความเข้าใจในมุมมองของฝั่งผู้ถูกกระทำแล้วจะรับรู้ได้ว่าการตกอยู่ในภาวะนั้นเจ็บปวดสับสนเช่นไร ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดออกมาได้กระทบใจ โดยที่ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ร่วมแบบนั้นก็ตาม

ใครที่สนใจอ่าน ‘บันทึกกะเทยอีสาน’ ดาวน์โหลดอ่านฟรีได้ที่ https://bit.ly/3HVJmuZ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.