หากพูดถึงการเต้นรูดเสา หลายคนคงจินตนาการไปถึงการเต้นสุดสยิว ที่เรียกว่า “A-Go-Go” ซึ่งพบเห็นได้ตามไนท์คลับ หรือที่เราคุ้นจากในหนัง มีผู้หญิงแต่งตัวโป๊เปลือยปีนขึ้นโต๊ะ รูดเสาหมุนตัวติ้วราวกับเป็นม้าหมุน และเงินแบงค์ที่ถูกโปรยว่อนแลกกับประสบการณ์สุดเร้าใจ
แล้วถ้าบอกกับเพื่อนว่ากำลังจะไปลงเรียนคลาส “Pole Dance” หรือ “การเต้นกับเสา” ที่ต้องใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น หมุนรอบเสาด้วยท่าสุดเซ็กซี่ เพื่อนก็คงทำท่าอึ้งๆ ก่อนจะถามย้ำอีกครั้งว่า “เค้ามีสอนเรื่องแบบนี้กันด้วยหรอ ?”
แว้บหนึ่งภาพเหล่านั้นอาจแล่นเข้ามาในหัว แต่เราอยากให้ลองมาทำความรู้จักกับ Pole Dance ว่าจริงๆ แล้ว มันมีต้นกำเนิดมาจากไหน ร้อยปีที่ผ่านมามีวิวัฒนาการอย่างไร และทำไมจึงกลายมาเป็นการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ที่แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ เราจะพาไปส่องเบื้องลึกเบื้องหลังของการเต้นรูดเสา และหลงใหลในโลกแนวดิ่งสุดยั่วสวาทไปพร้อมกันเลย !
-
Welcome To Burlesque
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่โลกได้รู้จักการเต้นที่ใช้เสน่ห์เย้ายวนของผู้หญิง ในยุคศตวรรษที่ 18 ที่เกาะอังกฤษ ได้มีการแสดงละครเวทีแนวล้อเลียนเสียดสี ที่เรียกว่า “Burlesque” โดยมีกิมมิคให้สาวๆ มาโชว์ทรวดทรงองค์เอวพอวับๆ แวมๆ ประกอบจังหวะดนตรี การโชว์พลังเสียง การเต้นปลุกเร้าอารมณ์ เสื้อผ้าสุดอลังการ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ บททะเล้นทะลึ่งที่ต้องเล่นตัวอย่างมีรสนิยม
ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรศที่ 19 ระบำเปลื้องผ้าก็ได้กลายมาเป็นจุดขายหลักของ Burlesque รวมถึงการมาถึงของระบำหน้าท้องจากตะวันออกกลางสู่อเมริกา ซึ่งในยุคนั้นเรียกการเต้นประเภทนี้ว่า “Hoochie Coochie” ในยุคเดียวกันนี้เองก็มีการเต้นระบำแคนแคน หรือการเต้นเตะขาสูงและเปิดชายกระโปรงลูกไม้ขึ้นมาให้เห็นกางเกงชั้นใน จากโรงละคร “Moulin Rouge” ของปารีสที่โด่งดังไกลไปทั่วอเมริกา
“การเต้นรูดเสา” ถือกำเนิดขึ้นจริงๆ เมื่อคณะละครสัตว์ได้เปิดเต้นท์การแสดงในยุค 20’s และออกเดินทางจากเมืองนั้นไปเมืองนี้ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งมีการแสดงที่น่าหวาดเสียวและน่าตื่นตาตื่นใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือการแสดงของหญิงสาวในชุดวาบหวิว ที่ห้อยโหนและหมุนควงไปรอบเสาค้ำยันเต้นท์ ท่ามกลางเสียงเชียร์จากบรรดาชายหนุ่ม
หลังจากนั้นในยุค 50’s การเต้นรูดเสาก็ได้เผยแพร่ไปสู่คลับเปลื้องผ้า ที่เรียกว่า “Gentlemen’s Club” กลายเป็นตัวชูโรงของอุตสาหกรรมกามอารมณ์ในอเมริกา แต่ธุรกิจระบำเปลื้องผ้าก็ถูกสั่งปิดไปหลายครั้งหลายคราในยุค Prohibition ที่รัฐบาลอเมริกากำหนดว่าแอลกอฮอล์ และการปาร์ตี้สังสรรค์เป็นเรื่องต้องห้าม ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจต้านทานความกำหนัดของชายหนุ่ม จึงได้มีการออกกฏหมายเพื่อจัดโซนนิ่ง และกำหนดข้อจำกัดแก่เหล่านักเต้นไม่ให้มีพฤติกรรมเกินเลย คลับเปลื้องผ้าเริ่มเป็นที่ยอมรับ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วง 60’s-70’s กระทั่งยุค 80’s แทบทุกคลับจะต้องมีเสาเงาวับตั้งอยู่กลางร้าน
-
The Origins
แม้ว่าการเต้นรูดเสาจะมีมานานกว่าร้อยปี แต่การใช้เสาประกอบการแสดงต่างๆ เกิดขึ้นในเอเชียก่อนหน้านั้นเสียอีก นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ที่อินเดียเริ่มมีหลักฐานเกี่ยวกับกีฬายิมนาสติก ชื่อ “Mallakhamb” (“Malla” สื่อถึงพลังและความแข็งแกร่ง ส่วน “Khamb” แปลว่า เสา) เป็นกีฬาที่เล่นโดยผู้ชายร่างกำยำ เพราะต้องใช้กำลังทรงตัวและทำท่ายากๆ บนเสาไม้สูง 3 เมตร โดย Mallakhamb ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในศตวรรษที่ 18 และกลายมาเป็นกีฬาประจำชาติ
หากย้อนไปไกลกว่านั้น ประมาณพันปีที่แล้ว ตามประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ก็มีการแสดงผาดโผนที่เรียกว่า “กายกรรมจีน” ซึ่งต้องปีนเสาสูง 6 เมตร นักแสดงจะต้องอาศัยทักษะและการฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อความแม่นยำในทุกท่วงท่า ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) การกายกรรมบนเสาสูงถึง 10 เมตร มีชื่อเสียงอย่างมาก และได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลกับการออกแบบท่าเต้น Pole Dance ในยุคนี้มากทีเดียว
-
A-Go-Go Girl
คำถามคาใจที่เราอยากฟังจากปากนักเต้นอะโกโก้ ที่เวลาปกติอาจเป็นพนักงานแคชเชียร์ทั่วไป แต่ตกกลางคืนต้องออกไปทำงานรูดเสา ว่าพวกเธอคิดเห็นอย่างไรต่ออาชีพนี้ ในขณะที่สังคมมองด้วยสายตาหยามเหยียด จากบทความเรื่อง Stripped: A Look Inside the Life & History of Exotic Dancing ของ Vanessa D. Fisher นักเขียนอิสระที่ชูประเด็นเรื่องเพศ บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองที่เคยก้าวสู่ฟลอร์รูดเสา
จุดเริ่มต้นของเธอไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เลือกสายอาชีพนี้นัก ในตอนนั้นเธอขัดสนเรื่องเงินจึงลองเสี่ยงเดินเข้าไปสมัครงานที่บาร์เพราะดูเป็นงานง่ายและได้ผลตอบแทนดี แต่พอทำจริงๆ เธอเล่าว่ามันเป็นงานยากที่จะต้องรูดเสาและหมุนตัวบนส้นสูง 7 นิ้ว แถมยังต้องทนเดินบนส้นเข็มทั้งคืน นอกจากจะต้องมีสกิลเต้นและเอ็นเตอร์เทนแขก อีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือการเอาใจลูกค้า แม้ว่าในแคนาดาการลวนลามในคลับถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ก็ยังมีคลับ VIP หลายแห่งที่มีข้อยกเว้นสำหรับบริการเต้น Lap Dance แบบไพรเวท ซึ่งในคืนหนึ่งอาจมีลูกค้า 25-30 คน มันจึงเป็นงานที่ค่อนข้างเปลืองตัว แต่เธอก็ยอมทนเหนื่อยเพราะมันคือแหล่งเงินชั้นดี
วาเนสซ่ามองว่าการเป็นนักเต้นรูดเสา ไม่ควรถูกเหมารวมในงานขายบริการทางเพศ เพราะมันคืองานที่ใช้ทักษะการเต้นจริงๆ และควรจะได้รับการคุ้มครองอย่างถูกกฏหมาย ถึงมันจะได้เงินเป็นตัวเลขสวยๆ แต่พวกเธอก็ไม่ได้รับสิทธิแรงงานที่ควรจะได้ ทั้งยังถูกตีตราจากสังคมกลายเป็นตราบาปไปตลอดชีวิต
“นักเต้นรูดเสาคืออาชีพที่พวกเธอควรภูมิใจมั้ย ?” จริงอยู่ที่มันเป็นงานของคนที่จนหนทาง แต่ก็มีนักเต้นบางคนที่รู้สึกมีความสุขกับการได้ออกไปเต้นโชว์ทุกคืน ผู้หญิงเหล่านี้ถูกตั้งคำถามจากสังคมมาตลอดว่า “มันเป็นการลดทอนคุณค่าของตัวเองหรือเปล่า” ไม่ผิดที่บางคนจะตอบว่า “ฉันภูมิใจที่ได้ใช้เรือนร่างของตัวเอง” Katherine Frank นักเต้นระบำเปลื้องผ้า เคยแสดงความเห็นไว้ว่า ปัญหาของธุรกิจทางเพศไม่ได้อยู่ที่เรื่องการขายบริการ แต่มันคือความไม่เท่าเทียมที่คนกลุ่มนี้ได้รับต่างหาก
การวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็น “Sex Negative” vs. “Sex Positive” เป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักหน่วงในแวดวงเฟมินิสท์ยุค 80s ทั้งฝ่ายสนับสนุนที่เห็นว่ามันคือพลังของผู้หญิงที่สามารถสะกดทุกอย่าง และฝ่ายต่อต้านที่รู้สึกว่ามันเป็นการกดขี่ทางเพศ ซึ่งแนวคิดนี้ส่งอิทธิพลกับกลุ่มเฟมินิสท์สุดขั้ว ที่มองว่างานอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเซ็กซ์ คือการที่ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบโดยสังคมชายเป็นใหญ่
-
The Rise Of Pole Dance
แม้ว่าปัญหาเรื่องค่านิยมและความเท่าเทียมจะยังมีให้เห็น แต่สังคมทุกวันนี้ก็เปิดกว้างมากขึ้น จากสตูดิโอสอนเต้น Pole Dance ที่ผุดขึ้นมากมายทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเพียงการเต้นรูดเสาเพื่อสนองนี้ดผู้ชายเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นเทรนด์ฟิตเนสรูปแบบใหม่ ที่สามารถเรียนได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และทุกเพศทุกวัย
Pole Dance เป็นการเต้นที่ผสมผสานฟิตเนสเทรนนิ่ง โยคะ และยิมนาสติกเข้าด้วยกัน จึงเป็นการออกกำลังกายที่เบิร์นแคลเลอรี่ได้เร็ว ดีต่อใจเพราะทำให้เลือดสูบฉีด ฝึกความยืดหยุ่น การทรงตัว ความอดทน และความแข็งแรงของร่างกาย กระชับกล้ามเนื้อทุกสัดส่วน ให้ผลลัพท์เป็นหุ่นที่เพอร์เฟ็คท์ ทั้งยังเพิ่มความเซ็กซี่เสริมความมั่นใจให้ตัวเอง นอกจากนี้ยังได้ปลดปล่อยร่างกายและจิตใจให้เป็นอิสระจากความเครียด
สองพ่อลูกคู่หูนักเต้นกับเสาชาวไอริช ลูกสาว Hazel Roberts วัย 24 ปี และพ่อของเธอ Dave วัย 50 ปี ให้สัมภาษณ์กับ Irish Mirror ว่า “เราไม่แคร์สายตาคนอื่นว่าจะมองเราสองคนพ่อลูกอย่างไร แต่การออกกำลังที่ดูแปลกนี้ ทำให้เราได้สนิทสนมและเชื่อใจกันมากขึ้น” พวกเขาประสานเป็นทีมเดียวกันจนชนะการแข่งขันระดับชาติ และมีโอกาสได้ไปแข่งต่อใน UK Doubles Championships ที่เบอร์มิงแฮม
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า Pole Dance จะกลายเป็นกีฬาที่เป็นจริงเป็นจัง และมีการแข่งขันระดับโลกอย่าง The International Pole Sports Federation (IPSF) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ 2012 จากผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 30 ประเทศ แบ่งการแข่งขันออกเป็นประเภทชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, คู่ผสม, ระดับเยาวชนอายุ 10-14 ปี และ 15-17 ปี จนถึงระดับมาสเตอร์อายุ 40 ปี และ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต การแข่งขัน Pole Dance จะถูกบรรจุในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอีกด้วย