เมื่อเราโตขึ้นเป็นธรรมดาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนทางพฤติกรรมภายนอกที่สังเกตเห็นได้ด้วยตา หรือการเปลี่ยนแปลงภายในที่ต้องใช้ใจสัมผัส หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนสารสื่อประสาท ไปจนถึงการทำงานของเซลล์สมอง
ล่วงเลยมาจนถึงห้วงเวลาสำคัญ มนุษย์ทุกคนย่อมต้องการมีความรัก เมื่อใครสักคนเริ่มก้าวเข้ามาในชีวิต หลายครั้งที่ความผูกพันถูกพัฒนากลายเป็นความรัก แต่กับบางคนมันอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด จนทำให้บางครั้งเราสับสันและไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ และตัวตนของเขาหรือเธอคนนั้นเลย หรือจริงๆ แล้วความรักอาจไม่ใช่แค่เรื่องของหัวใจ แต่มันสามารถเข้าใจได้ด้วยหลักจิตวิทยา
Attachment Theory | ทฤษฎีความผูกพัน
ทฤษฎีความผูกพัน หรือ ทฤษฎีความผูกพันทางอารมณ์ (Attachment theory) เป็นหนึ่งในแบบจำลองทางจิตวิทยา ที่อธิบายถึงความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่โดยพื้นฐานแล้วเด็กทุกคนเมื่อเกิดมามักจะมีความผูกพันกับผู้ที่ให้กำเนิดหรือผู้ที่เลี้ยงดู แต่ลักษณะของความสัมพันธ์ของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป
โดยนักจิตวิทยา ‘จอห์น โบลบี (John Bowlby)’ ผู้สร้างทฤษฎีความผูกพัน ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า พฤติกรรมความรู้สึกผูกพันที่เกิดขึ้นนั้นมีวิวัฒนาการมาจากกระบวนการ ‘คัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural selection)’ และ ‘การปรับตัวที่สมดุลตามสภาพแวดล้อม (Adaptive value)’ ซึ่งหลักการเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เด็กมีโอกาสอยู่รอดในสภาวะสังคมได้มากกว่า เพราะมีพ่อแม่และครอบครัวอยู่ใกล้เพื่อให้การปกป้องเลี้ยงดู
โดยหลักสำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ เด็กจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงเปรียบเสมือน ‘เสาหลัก’ ในชีวิต อย่างน้อยหนึ่งคนเพื่อให้เกิดพัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งกลายเป็นทฤษฎีหลักที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อศึกษาพฤติกรรมของทารกและเด็กในด้านต่างๆ ทั้งยังขยายไปถึงความสัมพันธ์ในแบบคู่รักด้วยนะ
หลายคนอาจสงสัยว่าคนนี้ที่กำลังคุยๆ กันอยู่
หรือคู่รักที่คบกันมาหลายปี ทำไมเขาเป็นคนแบบนี้นะ ?
Secure Type | เชื่อมั่นในความรัก
ความจริงแล้วทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่มีใครเหมือนกัน 100% ไม่ว่าจะพี่น้องที่คลานตามกันมา หรือคู่แฝดที่ขึ้นชื่อเรื่องความเหมือนก็ตาม เพราะจริงๆ แล้วเราต่างเป็นตัวเอง ซึ่งการเป็นตัวเองของเราทุกวันนี้ ใครจะเชื่อว่ามันมีผลมาตั้งแต่วันแรกที่เราลืมตาดูโลก ทั้งการให้ความรัก เอาใจใส่ ดูแล ปกป้อง ทั้งหมดล้วนมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมหลายๆ ด้านของเรา รวมถึงพฤติกรรมอันเปราะบางที่ชื่อว่า ‘ความรักและความสัมพันธ์’
โดยในรูปแบบแรกที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นกลุ่มของ Secure Type ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เติบโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่นพ่อแม่เอาใจใส่อย่างเต็มที่ ไม่เคยทำให้รู้สึกขาด จนกลายเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวอย่าง การมองโลกในแง่ดี รู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง และให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก
เมื่อชาว Secure Type เริ่มมีความรักหัวใจพองโตเป็นสีชมพู เขามักจะมีมุมมองความรักในแง่บวกอยู่เสมอ เปรียบความรักคือสิ่งสวยงามรู้สึกมั่นใจ และเชื่อมั่นว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความรัก ซึ่งไม่ว่ายังไงตนเองก็จะได้รับความรักอยู่เสมอ หากใครกำลังมีความรักกับพวกเขา คุณจะต้องให้ความจริงใจ เมื่อทะเลาะกันก็ต้องคุยกันตรงๆ ซึ่งเขาหรือเธอคนนี้พร้อมจะจับมือก้าวข้ามปัญหาไปพร้อมกับคุณอย่างแน่นอน
ว่ากันว่า ‘ความคาดหวัง’ เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม
Avoidant Type | รักนะ แต่ไม่แสดงออก
เราก้าวเดินผ่านแต่ละวันคืน ด้วยความคาดหวัง หวังให้พรุ่งนี้ดีกว่าเมื่อวาน หวังให้มีอนาคตที่ดี หวังให้สิ่งที่หวังเป็นไปตามที่ใจหวัง ‘ความรัก’ ก็เช่นกัน ที่ในทุกความสัมพันธ์ต้องมีความหวังเข้ามาเป็นส่วนประกอบ
ความหวังของคนกลุ่ม Avoidant Type ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กมักเกิดจากการไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ หรือคนดูแลจนชิน ช่วงแรกเด็กเกิดความหวังให้พ่อแม่มีเวลาให้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่หวังนั้นพังลง ทำให้เด็กเริ่มไม่ร้องไห้เมื่อพ่อแม่ปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียว หรือกับคนอื่นในครอบครัว และจะไม่ให้ความสนใจเมื่อพ่อแม่กลับเข้ามา หรืออาจเป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหาใช้ความรุนแรง จนเกิดความห่างเหิน และกลายเป็นเด็กชอบอยู่คนเดียว ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง และไม่ค่อยสนใจความรู้สึกคนอื่น
เมื่อคนกลุ่ม Avoidant Type มีความรัก ก็ยังคงมีความคาดหวัง และเมื่อรักใครสักหนึ่งคน แล้วเกิด ‘ผิดหวัง’ ศรัทธาที่มีหมดลง ประกอบกับเติบโตมาอย่างไม่ค่อยได้รับความสนใจ สุดท้ายจะเชื่อว่า ตัวเองเข้มแข็งพอที่จะอยู่คนเดียวได้ ทั้งที่ลึกๆ ในใจแล้วก็ยังต้องการความใกล้ชิด และโหยหาความรัก ความสัมพันธ์กับใครสักคน เมื่อมีความรัก มักต้องการความจริงใจ ความเชื่อมั่น และความซื่อสัตย์ เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยคลายปมในใจของพวกเขาได้อย่างดี
ใครๆ ก็อยากเป็นคนที่ถูกรักนั่นคือธรรมชาติของมนุษย์
เพราะความรักเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงและชุบชีวิตให้มีชีวามากกว่าเคยแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับความรักเสมอไปมีบางคนที่โหยหาแต่คนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวไม่มีเวลาให้
Anxious Type | แค่อยากเป็นคนที่ถูกรัก
เรากำลังพูดถึงคนกลุ่มสุดท้ายในทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) นั่นคือกลุ่ม Anxious Type ที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ อยากอยู่ใกล้กับพ่อแม่ แต่บางครั้งพ่อแม่กลับถอยห่างออกไปไกล ไม่ให้ความสนใจ และไม่ได้ดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง จุดเชื่อมนี้คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มต่อต้าน ดื้อรั้น หรืออยากเอาชนะเรื่องต่างๆ
ส่งผลให้เมื่อคนกลุ่มนี้เติบโตและมีความรัก มักจะกลายเป็นคนที่เรียกร้องหาความรักอยู่เสมอ บางครั้งมากเกินไปจนดูเหมือนว่าเป็นคนเรียกร้องความสนใจ แต่สิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการขาดความรักในวัยเด็ก และเมื่อทะเลาะกับคนรัก หรือมีเรื่องผิดพลาดในความสัมพันธ์ คนกลุ่ม Anxious Type ก็จะโทษตัวเองก่อนเสมอ เป็นฝ่ายยอม เป็นฝ่ายง้อ เพราะคิดอยู่ตลอดว่า “ฉันอยากเป็นคนที่ถูกรักกับเขาบ้าง” รู้แบบนี้แล้ว ถ้าใครกำลังอินเลิฟกับคนกลุ่มนี้ เราอยากให้เข้าใจเวลาเขาอ้อน หรือต้องการความรัก และควรมีเวลาให้กับพวกเขา เพื่อพูดคุย หรือหากิจกรรมทำด้วยกัน
หากได้ลองอ่านจนมาถึงบรรทัดนี้แล้วอยากรู้ว่าตัวเอง เขาหรือเธอคนนั้นเป็นคนแบบไหน ลองทำแบบทดสอบนี้ดู บางทีอาจจะทำให้คุณเข้าใจในตัวตนของเขามากขึ้นก็ได้นะ
ทดสอบความเป็นตัวคุณได้ที่ : http://theoryoflove.space/test/attachment-style/
SOURCE :
– http://theoryoflove.space/
– https://bit.ly/2vFdaf2
– https://bit.ly/2qQ0j4C
– https://bit.ly/2UAVcWn
– https://bit.ly/2uSDDm9