แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ถูกนิยามขึ้นครั้งแรกโดยศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2549
7 ธุรกิจต้นแบบที่คืนกำไรให้สังคม
คำว่า ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และการเงินไปพร้อมๆ กัน โดยใช้การบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกกับความรู้และนวัตกรรมสังคม มีความยั่งยืนทางการเงิน โดยที่มาของรายได้สามารถอยู่ในรูปแบบการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ การระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน ไปจนถึงการขอรับบริจาค
01 | อภัยภูเบศร พลังสมุนไพรไทยเพื่อคนไทย
‘อภัยภูเบศร’ หรือ สมุนไพรอภัยภูเบศร ชื่อนี้คุ้นหูคุ้นตาคนไทยยิ่งนัก เพราะเลื่องชื่อลือชาเรื่องการใช้สมุนไพร อภัยภูเบศรลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมเมื่อ พ.ศ. 2561 ซึ่งนอกจากขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรไทยแล้ว ยังมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมาใช้ในการดูแลสุขภาพของคนไทย อีกทั้งในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และผลกำไรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ถูกนำกลับไปลงทุนซ้ำ เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือคืนประโยชน์ให้แก่สังคม
ปัจจุบัน อภัยภูเบศรยังทำงานร่วมกับเกษตรกรและหมอยาพื้นบ้าน ซึ่งในปีล่าสุดมีการรับซื้อสมุนไพรจากเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรนับ 500 ราย รวมกว่า 80 ล้านบาทอีกด้วย
02 | Greenery องค์กรที่อยากให้ทุกคนได้กินอาหารดีๆ
ในยุคที่การสื่อสารมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตเรามากนั้น ‘Greenery’ มองเห็นช่องทางที่จะใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคม ผ่านข้อมูลความรู้ แนวคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับโลกรอบตัว
โดยหน้าที่ของ Greenery คือการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคอาหารปลอดภัย ผ่านการสื่อสารอย่างเข้าใจง่ายบนพื้นที่ออนไลน์ คอยนำเสนอเรื่องราวหลักที่นิยามได้ด้วยวลีสั้นๆ ว่า ‘Eat Good. Live Green.’ เพราะพวกเขาเชื่อว่าท่ามกลางข้อจำกัดของชีวิตที่หลากหลาย เราทุกคนควรใส่ใจเลือก ‘กิน’ อาหารที่ดี ปลอดสารพิษ ปรุงอย่างตั้งใจ ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับตัวเรา เพื่อสร้าง ‘สุขภาพชีวิต’ ที่ดีเท่าที่ทำได้ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่เล็กๆ ที่อยากให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น
03 | Local Alike การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
‘Local Alike’ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวชุมชน ที่มุ่งสร้างและสนับสนุนชุมชนด้วยการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นตัวเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวกับชุมชนเข้าด้วยกัน โดยหน้าที่หลักคือสร้างแพลตฟอร์มระบบการจอง การตลาด และการประเมินผล เพื่อเชื่อมระหว่างการให้บริการของชุมชน อย่างที่พัก ทัวร์ไกด์ และกิจกรรมต่างๆ เข้ากับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจ และสร้างจุดขายให้ชุมชน รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง
การเที่ยวแบบ Local Alike จะเน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินป่าเรียนรู้ธรรมชาติ นั่งเรือชมวิถีชีวิต หรือทำอาหารพื้นถิ่น นั่งกินข้าวกับชาวบ้าน เป็นต้น
04 | KIDKID เพราะคิดที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั้งโลกหยิบขึ้นมาพูดคุยและหาแนวทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง รวมถึง ‘KIDKID’ ของนักแสดงหนุ่มหัวใจรักโลกอย่าง คุณท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ คุณนุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา
KIDKID คือธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาโดยคำนึงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยครั้งแรกเริ่มต้นจากการเปิดร้านขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมจ้างพนักงานที่เป็นผู้พิการ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้งานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อนก่อตั้งกลุ่ม ECO DESIGN THAI THAI เพื่อรวบรวมผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม
ในขณะเดียวกันได้ตั้ง ‘บริษัท คิดคิด จำกัด’ เพื่อทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “เราสามารถเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่มากขึ้นด้วยการออกแบบ”
05 | Blind Experience เปลี่ยนความมืดให้กลายเป็นจินตนาการ
‘Blind Experience’ คือธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย ‘หลุยส์–กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์’ ร่วมมือกับ Lido Connect และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการสร้างสรรค์ให้ทุกคนได้พบกับประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ อย่างเสียง กลิ่น รส สัมผัส เวลา สถานที่ และจินตนาการ แทนการมองเห็น
เริ่มต้น Blind Experience ทำละครเวทีร่วมกับผู้พิการทางสายตา ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘Volunteer For ME’ เกิดเป็นละครเวที ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงนิทานหิ่งห้อย ของศิลปินเฉลียง และภาพยนตร์ Animation เรื่อง Grave of The Fireflies
โดยรายได้หลักนอกจากการขายบัตรละครเวทีแล้ว Blind Experience ยังให้บริการครอบคลุมไปถึงการจัดอบรม การจัดการความรู้ในประเด็นต่างๆ และจากรายได้ละครเวทีเรื่องเล่าจากหิ่งห้อยล่าสุด ทางองค์กรได้นำรายได้ส่วนหนึ่งไปสร้าง ‘โครงการพัฒนาศักยภาพเรียนรู้ในความมืด’ ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ เพื่อสร้างสรรค์หลักสูตรและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต
06 | พรรณนา แอปฯ ดูหนังสำหรับผู้พิการทางสายตา
ในวันที่ดวงตามืดบอด จะดีสักแค่ไหนถ้าได้กลับไปดูหนังได้อีกครั้ง ‘พรรณนา’ (PANNANA) แอปพลิเคชันเสียงบรรยายภาพสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่จะมาคอยสร้างอรรถรสในการรับรู้เหตุการณ์ สีหน้า อารมณ์ของนักแสดง พัฒนาแอปพลิเคชันโดย ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล CEO บริษัท กล่องดินสอ จำกัด
โดยภายในแอปพลิเคชันพรรณนาจะมีรายการเสียงบรรยายภาพของภาพยนตร์ ละคร รายการโทรทัศน์ต่างๆ เมื่อผู้พิการทางสายตาต้องการชมสื่อบันเทิงต่างๆ ก็เพียงแค่เปิดใช้งานแอปพลิเคชันพรรณนา พร้อมกับเปิดไฟล์เสียงบรรยายภาพ (AD) ของรายการไปพร้อมกัน สามารถดาวน์โหลดได้ที่ Google Play หรือ App Store
07 | CareerVisa Thailand สตาร์ทอัปเพื่อคนรุ่นใหม่ ที่ปรึกษาทางอาชีพ
ปัจจุบันอัตราการลาออกจากองค์กรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีสาเหตุหลักมาจากผู้สมัครขาดความเข้าใจในสภาพการทำงานจริง ‘CareerVisa Thailand’ สตาร์ทอัปสัญชาติไทยจึงเกิดขึ้นมาเพื่อคอยให้คำปรึกษาทางด้านอาชีพกับนักเรียนและนักศึกษา เพื่อให้ทุกคนสามารถค้นหาและรู้จักตัวเอง รวมถึงได้ทำงานที่เหมาะสมกับทักษะของตัวเองจริงๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘CareerVisa’
นอกจากให้บริการคำปรึกษาทางด้านอาชีพผ่านออนไลน์แล้ว CareerVisa Thailand ยังมีการจัดทำแบบประเมินอาชีพที่เก็บสำรวจข้อมูล 5 ด้าน (ทักษะและสิ่งที่สนใจ บุคลิกภาพและสังคม เงื่อนไขในการทำงาน วิถีชีวิต คุณค่าที่ยึดถือ) จากผู้ทำงานหลายสาขาอาชีพ เพื่อนำมาเทียบเคียงกับผลลัพธ์ของผู้ทดสอบ
พร้อมกันนี้ยังมีคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหรือบทความต่างๆ จากโค้ชแต่ละคนมาให้ความรู้ ให้ผู้สนใจเข้าไปติดตามได้ฟรีๆ https://web.careervisathailand.com/