ถ้าชีวิตของคุณถูกโชคชะตาเล่นตลก ชนิดที่อยู่ดีๆ ก็ถูกเลิกจ้างงาน แถมจู่ๆ มีกล่องพัสดุปริศนาที่เต็มไปด้วยเงินสดมาวางอยู่หน้าประตูห้องแบบงงๆ คุณจะรับมือกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไร
หลายๆ สิ่งอาจดูเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ อาจจะทำเอาเราหัวเราะฮือๆ แทนฮาๆ ไม่แพ้ ‘ตุ้ม’ ในเรื่อง ‘เรื่องตลก 69’ ได้เหมือนกัน
ด้วยโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘เรื่องตลก 69’ ถูกนำมารีเมกให้กลายเป็นซีรีส์ขนาดสั้น 6 ตอนที่กำลังฉายอยู่ใน Netflix โดยผู้กำกับเจ้าเดิมอย่าง ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ คอลัมน์ Urban Isekai จึงขอหยิบบางช่วงบางตอนของซีรีส์มาลองคิดในมุมกลับ ปรับมุมมองเล่นๆ ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจริงๆ วิธีการจัดการควรเป็นอย่างไร ถึงจะไม่เกิดเรื่องตลกร้ายแบบที่ตุ้มต้องเผชิญ
ถ้า…การถูกเลิกจ้างไม่แย่เท่าที่ตุ้มคิด
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจถูกเลิกจ้างเพราะพิษเศรษฐกิจไม่ต่างกับตุ้มในเรื่องตลก 69 แต่ถ้าเป็นการจับฉลากหาคนออกโดยไม่สนใจถึงผลการทำงานที่เรานั่งหลังขดหลังแข็งทำกันมาขนาดนี้ แค่คำว่าหัวร้อนคงไม่พอ นี่มันผิดกฎหมายแรงงานชัดๆ!
ในกรณีนี้ สิ่งที่ตุ้มควรทำไม่ใช่การเก็บของลาออกอย่างจำยอม แต่ต้องเป็นการแบมือขอรับเงินชดเชยก้อนใหญ่ที่เราควรได้จากการบอกเลิกจ้างทันที เพราะหากตุ้มทำงานอยู่ที่นี่มาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน เงินเหล่านี้เป็นเงินที่เธอควรได้รับตามกฎหมาย
แถมในกรณีที่นายจ้างไล่ออกทันทีโดยไม่บอกล่วงหน้า 30 – 60 วันแบบนี้ ตุ้มยังจะได้ค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้ายมากที่สุดไม่เกินค่าจ้าง 3 เดือนอีกด้วย
หรือถ้าเป็นตามในซีรีส์ที่ไม่มีการชดเชยอะไรแบบที่กล่าวมาข้างต้นเลย การเดินหน้า ‘ฟ้องศาลแรงงาน’ แบบเชิดๆ ก็เป็นสิ่งที่ตุ้มทำได้เช่นเดียวกัน เพราะตามกฎหมาย ลูกจ้างสามารถยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานโดยไม่ต้องใช้ทนายความและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
โดยในระหว่างการฟ้องศาล เราก็ยังพอที่จะมีเงินสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันอยู่บ้าง ด้วยการทำเรื่องขอ ‘เงินชดเชยประกันสังคม’ ที่ตามกฎหมายแล้วหากมีการเลิกจ้างแบบกะทันหัน เราจำเป็นต้องได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 3 เดือนต่อปีปฏิทิน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย
แล้วในช่วงนี้ก็มานั่งอัปเดตเรซูเม่ส่งสมัครงานกันใหม่ พร้อมเดินทางไป Told พระแม่ลักษมี about งานใหม่ที่ดีกว่าเดิม ให้เจ้านายเก่าอิจฉาตาร้อนกันไปเลย
ถ้า…ตุ้มมีชีวิตในหอพักแบบที่ปลอดภัย
เกิดเป็นผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอยู่ในหอพักคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งเป็นหอพักเก่าที่ไม่ได้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดในสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวมิจฉาชีพ หรือผู้ไม่ประสงค์ดีเดินตามหญิงสาวที่พักอยู่ตัวคนเดียวขึ้นหอพักหรือคอนโดฯ อยู่บ่อยๆ
ยิ่งในเรื่องตลก 69 ที่คนแปลกหน้ามากหน้าหลายตาเดินเข้าออกหอพักของตุ้มเป็นว่าเล่น อะไรที่ทำแล้วปลอดภัยก็คงต้องทำกันไว้ก่อน
เริ่มจากการซ่อมป้ายเลขห้องที่จากเลข 6 กลับหัวเป็นเลข 9 อยู่บ่อยๆ จนอาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิดได้เป็นอันดับแรก รวมไปถึงแก้นิสัยที่ตุ้มมักเปิดประตูทันทีเมื่อมีคนเคาะประตูเป็นการส่องตาแมวให้แน่ใจทุกครั้งก่อน เพื่อป้องกันคนแปลกหน้าที่อาจฉวยโอกาสเวลาเปิดประตูบุกรุกเข้ามาในห้อง
ส่วนประตูไม้ที่ใช้กลอนลูกบิดในการล็อก ถ้าหอพักอนุญาตให้ทำการปรับเปลี่ยน การติดตั้งประตูล็อกดิจิทัลแทนกลอนแบบเดิมที่สามารถสะเดาะกลอนได้ง่ายๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้
แต่ถ้าหอพักไม่อนุญาตให้ทำอะไรกับประตู อย่างนั้นก็คงต้องเบิกตัวช่วยอย่าง Travel Lock กลอนประตูแบบไม่ต้องเจาะที่ใช้ล็อกประตูจากด้านในได้มาใช้ อย่างน้อยเราจะได้อุ่นใจว่าจะไม่มีใครสามารถเข้ามาในห้องขณะที่เราอยู่ได้ถ้าเราไม่ได้เปิดประตูด้วยตนเอง
นอกจากนี้ อีกทริกเล็กๆ ที่ผู้หญิงหลายคนใช้กันคือ การแสร้งว่าเราไม่ได้อยู่ห้องนี้เพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นการเคาะประตูห้องก่อนเข้าห้องทุกครั้ง หรือการแกล้งวางรองเท้าผู้ชายไว้หน้าห้องเพื่อความสบายใจ เพราะจากข่าวที่พบเห็นผู้ร้ายมักเลือกเหยื่อเพศหญิงที่พักอาศัยอยู่เพียงลำพัง
แต่แค่คิดตามก็เศร้าแล้ว เพราะทั้งๆ ที่ตุ้มและผู้หญิงทุกคนควรได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ กลับต้องมาคอยกังวลและระวังตัวเอง เพียงเพราะคนบางกลุ่มมักหาช่องโหว่ของความไม่ปลอดภัยในการคุกคามชีวิตและทรัพย์สินของเรา
ถ้า…ตุ้มไม่ตัดสินใจเก็บเงินไว้กับตัวเอง
มาถึงประเด็นหลักของซีรีส์ที่ทำให้ตุ้มต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องต่างๆ นั่นคือ เจ้ากล่องปริศนาที่ถูกนำมาวางไว้ที่หน้าห้องของตุ้มเพราะเลขห้องจากเลข 6 กลับหัวเป็นเลข 9
ถ้าในจังหวะนั้นตุ้มเหลือบอ่านข้อมูลที่ติดอยู่บริเวณหน้ากล่องสักหน่อย หรือเอะใจสักนิดว่าน่าจะไม่ใช่ของที่ส่งถึงตัวเอง เพราะการนำมาวางไว้หน้าห้องอย่างเจาะจงอาจไม่ใช่วิสัยที่ควรจะเป็น แล้วไม่เลือกหยิบมันเข้ามาในห้องและเปิดจนเจอธนบัตรจำนวนมากอยู่ภายใน เรื่องก็คงจบง่ายกว่านี้
แต่ถ้าเราคิดว่าของภายในอาจจะส่งมาถึงเราจริงๆ ทางที่ดีอย่างน้อยตุ้มควรแจ้งนิติฯ ของหอพักไว้สักหน่อย หรือหาพยานบุคคลสัก 2 – 3 คน เพื่อเปิดดูของภายใน เผื่อเป็นวัตถุอันตรายจะได้มีคนรับรอง
แน่นอนว่าในกรณีที่ตุ้มตกงานและต้องการเงินในการใช้ชีวิต การเห็นเงินจำนวนมากขนาดนี้อาจทำให้ตาลุกวาว แต่ในฐานะพลเมืองดี การนำของที่ไม่ใช่ของเราไปส่งให้ตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งลงบันทึกประจำวันและแจ้งข้อมูลที่ทราบ เพื่อช่วยในการตามหาเจ้าของก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรทำ
เพราะนอกจากไม่เสี่ยงอันตรายแล้ว เรายังจะได้รับส่วนแบ่งเงินรางวัลกลับมาใช้ได้ด้วย เพราะตามกฎหมายแล้วหากเราเก็บเงินส่งตำรวจ กรณีเจ้าของเงินมารับคืน ผู้ที่เก็บได้จะได้รับเงินจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่เก็บได้ แต่ถ้าหากเงินที่เก็บได้มีมูลค่ามากกว่า 30,000 บาท เราจะได้เพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ โดยเจ้าของเงินจะเสียค่าธรรมเนียมอีก 2.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 1,000 บาทด้วย
ในกรณีของตุ้มที่เงินที่ได้มาเป็นเงินผิดกฎหมาย ยังไงเจ้าของเงินก็ไม่น่ากล้ามารับอยู่แล้ว และหากเจ้าของเงินไม่มารับคืนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เก็บได้ เงินจำนวนนั้นจะตกเป็นของตุ้มไปเลยนั่นเอง
อาจจะเสียเวลาหน่อย แต่อย่างน้อยก็ได้เงินมาจำนวนหนึ่งเหมือนกัน โดยในระหว่างนั้นก็ใช้เงินชดเชยจากการเลิกจ้างพร้อมหางานใหม่ไปพลางๆ แค่นี้ตุ้มก็ไม่ต้องเจอกับเรื่องตลกร้ายแบบในซีรีส์แล้ว