ใกล้เข้ามาแล้วกับการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอย่าง ‘เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19’ หรือ ‘Hangzhou 2022 Asian Games’ ที่ปีนี้ได้เมืองหางโจว ประเทศจีน เป็นเจ้าภาพอย่างยิ่งใหญ่จนมีประเทศเข้าร่วมกว่า 45 ประเทศ ชิง 482 เหรียญทองใน 40 ประเภทกีฬา
โดยระหว่างการจัดการแข่งขันที่เข้มข้น หางโจวยังมุ่งเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม และพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ หรือเปลี่ยนพิธีงานแบบเดิมๆ ที่ใช้พลุมาเป็นการแสดงด้วยโดรนบนท้องฟ้าแทน
นอกจากนี้ หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการที่หางโจวเลือกใช้ ‘สนามกีฬา’ หลากหลายรูปแบบ ทั้งที่มีอยู่เดิมและออกแบบใหม่เพื่อส่งเสริมให้การแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงสอดแทรกวัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองหางโจวไว้ในสเตเดียมเหล่านี้ได้อย่างลงตัว
ก่อนการแข่งขันเอเชียนเกมส์จะเริ่มต้นขึ้น คอลัมน์ Re-Desire ขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 6 สนามกีฬาดีไซน์สวย ตอบโจทย์การใช้งาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เหล่านักกีฬานานาประเทศจะใช้เป็นสถานที่แข่งขันในวันที่ 23 กันยายน – 8 ตุลาคมที่จะถึงนี้
China Hangzhou E-sports Center
ศูนย์กีฬาอีสปอร์ตที่รวมกีฬาและสวนสีเขียวไว้ด้วยกัน
เริ่มกันที่ศูนย์กีฬามาตรฐานแห่งแรกสำหรับการแข่งขัน E-sports อย่าง ‘China Hangzhou E-sports Center’ ที่ตั้งอยู่ในสวนระบบนิเวศ ‘Beijingyuan’ ทางตอนใต้ของภูเขา Gaoting เมืองหางโจว ประเทศจีน โดยทางเอเชียนเกมส์เลือกใช้ที่นี่เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ด้วย
ถ้ามองจากภายนอกจะเห็นได้ว่าศูนย์กีฬาแห่งนี้มีรูปทรงเหมือนจานบินขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนสาธารณะสีเขียวชอุ่มได้อย่างกลมกลืน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักออกแบบตั้งใจรวมสถานที่เล่นกีฬาและสวนสาธารณะเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ลานกว้างและสนามหญ้ารอบๆ กลายเป็นสถานที่สำหรับการจัดแสดงกลางแจ้งและพื้นที่สำหรับพบปะสื่อสารกันระหว่างผู้ชมการแข่งขัน
ในขณะที่ส่วนหนึ่งของตัวอาคารศูนย์กีฬาถูกออกแบบให้อยู่ลึกลงไปใต้พื้นดิน เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับรองรับผู้ชมการแข่งขันและเพิ่มพื้นที่จอดยานพาหนะให้มากขึ้น รวมถึงช่วยลดการจราจรที่ติดขัดบริเวณโดยรอบในช่วงเวลาการแข่งขันด้ว
ส่วนหลังคาของสเตเดียมยังมีช่องเปิดรับแสงขนาดเล็กและใหญ่ที่เป็นตัวนำแสงธรรมชาติเข้ามาภายในห้องโถง อีกทั้งเมื่อมองขึ้นไปยังให้ความรู้สึกเหมือนมองเห็นกลุ่มดาวที่หมุนรอบใจกลางเนบิวลา เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ชมการแข่งขันทุกคน
Sources :
ArchDaily | t.ly/RI2v1
The 19th Asian Games | t.ly/NiGwM
Gongshu Canal Sports Park Gymnasium
สนามกีฬาในร่มที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ
ถัดมาคือ ‘Gongshu Canal Sports Park Gymnasium’ สถานที่จัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิส เบรกแดนซ์ และฮอกกี้ของเอเชียนเกมส์ปีนี้ ที่ได้รับความสนใจจากการออกแบบที่มีเอกลักษณ์อย่างมากนับตั้งแต่เปิดตัวสู่สาธารณะ
ด้วยภาพลักษณ์ที่สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น ทั้งในส่วนของผนังอาคารโดยรอบที่ถูกออกแบบให้มีรูปร่างคล้ายเกล็ดปลา และสนามฮอกกี้ภายในอาคารที่ให้ความรู้สึกเหมือนร่มกระดาษทาน้ำมัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมของเมืองหางโจว
นอกจากรูปลักษณ์ของอาคารที่มีความน่าสนใจแล้ว การใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะสนามกีฬาในร่มแห่งนี้มีพื้นที่ชุ่มน้ำรอบๆ ที่ให้ความเย็นตามธรรมชาติ ทำให้อาคารเย็นขึ้นและประหยัดการใช้พลังงานได้มากขึ้นด้วย
Sources :
The 19th Asian Games | t.ly/sAs6Q
Zhejiang China | t.ly/RFYHh
Huanglong Sports Centre Swimming & Diving Centre
ศูนย์กีฬาทางน้ำที่ใช้โครงเหล็กระบายอากาศและควบคุมแสง
‘Huanglong Sports Centre Swimming & Diving Centre’ เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ ‘ทะเลสาบตะวันตก’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทะเลสาบซีหู’ ใจกลางเมืองหางโจว ภายในประกอบด้วยสระว่ายน้ำและสระดำน้ำสำหรับการแข่งขัน รวมไปถึงสระสำหรับฝึกซ้อม ที่ทั้งหมดต้องอยู่ในอาคารที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้การออกแบบเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก
ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งนี้ก่อสร้างด้วยการยึดพื้นที่โดยใช้โครงสร้างเหล็กที่มีความยาว 74 เมตร เสาคอนกรีตรูปตัววี 6 เสา คานยาว 12 เมตร และโครงถักคอนกรีตอัดแรงแบบคานขวาง เพื่อให้สามารถรองรับสระน้ำน้ำหนัก 36,400 กิโลนิวตันไว้ได้โดยที่พื้นที่โดยรอบไม่เสียหาย
นอกจากนี้ การออกแบบตัวโครงสร้างเหล็กในแนวตั้งให้คล้ายซี่ลูกกรงเสมอกันตลอดทั้งตัวอาคาร ยังเป็นตัวช่วยให้ Huanglong Sports Centre Swimming & Diving Centre สามารถระบายอากาศและควบคุมแสงแดดธรรมชาติที่จะเข้ามาภายในอาคารได้เป็นอย่างดี
Source :
ArchDaily | t.ly/beI43
Hangzhou Olympic Sports Center Stadium
สนามกีฬารูปทรงดอกบัวที่ลดการใช้เหล็กในการก่อสร้าง
สนามกีฬารูปทรงเด่นที่ใครเห็นก็ต้องนึกถึง ‘ดอกบัว’ แห่งนี้มีชื่อว่า ‘Hangzhou Olympic Sports Center Stadium’ เป็นศูนย์กีฬาอเนกประสงค์ตรงข้ามย่านธุรกิจใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าของเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ที่ออกแบบให้จุผู้คนได้ถึง 80,000 คน บนพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร (650,000 ตารางฟุต)
แถมการออกแบบยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและมุ่งเน้นไปที่พื้นที่สาธารณะ ทำให้บริษัทออกแบบ ‘NBBJ’ มองหาวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้างให้ได้มากที่สุด
จนพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการผลิตเหล็กทุกๆ 1 ตัน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 2 ตัน ดังนั้นการจะทำให้สนามการแข่งขันแห่งนี้ยั่งยืนขึ้น จึงจำเป็นต้องลดการใช้เหล็กตั้งแต่การก่อสร้างให้ได้มากที่สุดด้วย
Hangzhou Olympic Sports Center Stadium แห่งนี้จึงออกแบบให้ตัวอาคารมีลักษณะเป็นกลีบดอกบัว ซึ่งลดการใช้เหล็กได้มากกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสนามกีฬาแห่งชาติของปักกิ่งที่มีรูปทรงเป็นรังนก
Source :
ArchDaily | t.ly/doN99
Hangzhou Olympic Sports Center Gymnasium
สนามกีฬาในร่มที่เปลี่ยนสนามบาสฯ เป็นลานสเก็ตน้ำแข็ง
‘Hangzhou Olympic Sports Center Gymnasium’ เป็นอีกหนึ่งสนามกีฬาในร่มที่ใช้ในการแข่งขันบาสเกตบอลของเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ที่อยู่ถัดติดกับ Hangzhou Olympic Sports Center Stadium ก่อนหน้านี้เพียงแม่น้ำกั้น
โดยความพิเศษของสนามกีฬาในร่มแห่งนี้คือการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในการก่อสร้าง กล่าวคือ ภายในกำแพงรอบสนามจะมีท่อทำน้ำแข็งที่มีเอทิลีนไกลคอลเป็นสารทำความเย็นซ่อนตัวอยู่ภายใน ทำให้พื้นที่อาคารสามารถเย็นตัวลงได้อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันสั้น
เปลี่ยนให้สนามบาสเกตบอลภายในโรงยิมกลายเป็นลานสเก็ตน้ำแข็งสำหรับแข่งกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งได้ภายใน 6 – 8 ชั่วโมง เป็นวิธีเปลี่ยนพื้นที่เดียวให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น
Sources :
CGTN | bit.ly/48drM3q
The 19th Asian Games | t.ly/AvEv5
Zhejiang Normal University Xiaoshan Gymnasium
สนามกีฬาของมหา’ลัยที่สว่างไสวในเวลากลางคืน
มาถึงสนามกีฬาแห่งสุดท้ายอย่าง ‘Zhejiang Normal University Xiaoshan Gymnasium’ ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย Zhejiang Normal เมืองจินหัว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ซึ่งอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติถ้ำซวงหลง และมีพื้นที่รวมมากกว่าหนึ่งล้านตารางเมตร
สนามการแข่งขันแห่งนี้ได้นำการออกแบบพิเศษมาใช้เพื่อทำให้ผู้ชมได้เห็นมุมมองที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงสัมผัสประสบการณ์การรับชมการแข่งขันแฮนด์บอลในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ได้ดียิ่งขึ้น
เพราะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเพียงแห่งเดียวที่สร้างขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยรอบนอกถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นเหมือน ‘ม่านน้ำ’ จำนวน 308 เส้น ที่ในช่วงเวลากลางคืนจะสว่างขึ้นทีละดวงจนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะที่จะเห็นได้แค่ที่นี่เท่านั้น
Source :
CGTN | t.ly/Jt5rq