วงเวียน 22 กรกฎาคม ความสร้างสรรค์ในเมืองเก่า - Urban Creature

เทศกาลแห่งการสังสรรค์ แสงสี และการรวมตัวกันของผู้คนในช่วงปลายปีใกล้เข้ามาทุกที แม้เป็นเพียงไม่กี่วันก่อนที่กรุงเทพฯ จะกลับสู่การเป็นเมืองที่มีคนเหงามากกว่าเสาไฟฟ้า ผู้คนตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตัวเองตามวิถีคนเมือง ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบจนขาดการปฏิสัมพันธ์กันก็ตาม

คงดีไม่น้อยหากเมืองฟ้าอมรแห่งนี้เป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้น มีพื้นที่ส่วนกลางให้มนุษย์กรุงเทพฯ ได้พบปะพูดคุยกันแบบเห็นหน้า พักผ่อนจากการงานที่แสนหนักหน่วง ได้วางโทรศัพท์หรืออุปกรณ์สื่อสารในห้วงยามที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการใช้ชีวิตจนคล้ายเป็นอวัยวะที่ 33 เพื่อใช้เวลาไปกับการพูดคุยกันสารพัดเรื่อง แลกเปลี่ยนสิ่งที่สนใจกับเพื่อนทั้งเก่าและใหม่ หรือรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน

แต่เดิม ‘วงเวียน 22 กรกฎาคม’ ก็เป็นเหมือนโอลด์ทาวน์ทั่วไป ยังคงความเป็นชุมชนคล้ายกับหลายย่านเก่าในเมืองหลวง โดยมีธุรกิจอย่างอู่ซ่อมรถและร้านทำป้ายโฆษณาตั้งเรียงรายเป็นภาพจำของผู้คน

ทว่าในวันนี้หากลองเดินเท้าสำรวจย่านเก่าอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้จะพบว่า นอกจากซอยนานาที่โด่งดังมาก่อนหน้าแล้ว ในมุมอื่นๆ ของย่านก็มีกิจการใหม่ในตึกเก่าที่แทรกตัวเข้ามาเป็นสมาชิกหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้คนเมืองมีกิจกรรมหลากหลายแวะเข้ามาทำมากขึ้นตั้งแต่กลางวันยันกลางคืน

คอลัมน์ Neighboroot รอบนี้ไม่ได้พาไปดูอู่รถหรือเข้าร้านป้าย แต่อยากชวนสำรวจ Creative & Community Space รอบวงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านที่วันนี้มีหลายสเปซน่าสนใจที่กวักมือเรียกผู้คนเข้ามาสัมผัสย่านในมุมมองใหม่ๆ ด้วยความตั้งใจของผู้ประกอบการที่อยากให้บ้านของเขาไม่เงียบเหงา และอยากเป็นเฉดสีอื่นๆ ที่แต้มแต่งเพิ่มเข้ามาในเมืองนี้

วงเวียน 22 กรกฏาคม ถนนไมตรีจิตต์ ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

ในแง่ประวัติศาสตร์ เมื่อศตวรรษที่แล้วมีการตัดถนนสายใหม่ 3 สาย ผ่านชุมชนของชาวจีนในตำบลหัวลำโพงที่เกิดไฟไหม้ ตรงกลางของเส้นเลือดใหม่ที่วิ่งไขว้กันไปมาทำเป็นวงเวียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามทั้งถนนและวงเวียนว่า ‘22 กรกฎาคม’ เพื่อระลึกถึงวันเดือนที่ประเทศสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ พ.ศ. 2460 โดยหากอ้างอิงความในจารึกที่แผ่นป้ายบริเวณวงเวียน ที่นี่ยังถือเป็นวงเวียนแห่งแรกของประเทศไทยด้วย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามอันไพเราะคล้องจองให้ถนน 22 กรกฎาคมสายต่างๆ ว่า ไมตรีจิตต์, มิตรพันธ์ และสันติภาพ ส่วนวงเวียนตรงกลางยังคงเรียกชื่อดั้งเดิมจนวันนี้

ความเป็นมาแบบรวบรัดของย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม ไม่ได้มีเรื่องราวซับซ้อน เบื้องหลังคือส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบและพัฒนาเมืองเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ในวันที่ศูนย์กลางชาวจีนอย่างเยาวราชเริ่มแออัด ชุมชนและร้านค้าของชาวจีนจึงค่อยๆ กระจายตัวออกมาอยู่ในพื้นที่ข้างๆ เช่น ทรงวาด หัวลำโพง และวงเวียน 22 กรกฎาคม ซึ่งขึ้นชื่อในฐานะแหล่งค้ายาจีนที่สำคัญบริเวณซอยนานาที่ปลายถนนไมตรีจิตต์

วงเวียน 22 กรกฏาคม ถนนไมตรีจิตต์ ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ
วงเวียน 22 กรกฏาคม ถนนไมตรีจิตต์ ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

หลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ภาพจำของวงเวียน 22 กรกฎาคม คือย่านอู่รถ ร้านยาง ร้านทำป้ายโฆษณา โรงแรม และย่านโคมแดง พอมีร้านอาหารอร่อยๆ ของคนท้องถิ่นแอบอยู่ตามตรอกบ้าง ก็คล้ายกับเป็น Hidden Gem ในเมืองเก่าที่รอให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเสาะหา เช่นกันกับที่มีอาร์ตแกลเลอรีซ่อนตัวในจุดต่างๆ ประปราย ขณะที่ซอยนานาเองเปลี่ยนบทบาทเป็นแหล่งรวมคาเฟ่และบาร์ ซึ่งทำให้คนหลั่งไหลมาเที่ยวและแฮงเอาต์ในช่วงหลายปีมานี้ แต่ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ ของย่านเท่านั้น

บ้านตรอกถั่วงอก : Community Space ที่เพาะความคิดและไอเดียครีเอทีฟ ในตึกเก่าอายุ 100 ปี

บ้านตรอกถั่วงอก วงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านเมืองเก่า ครีเอทีฟ

สองข้างของถนนสายต่างๆ (รวมถึงในซอยเล็กๆ ที่แยกเข้าไป) รอบวงเวียน 22 กรกฎาคม มีตึกแถวรุ่นเก่าหลายห้องที่สะท้อนความรุ่งเรืองของกิจการและย่านการค้าในอดีต

หนึ่งในนั้นคือ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ อาคารพาณิชย์สีขาวขนาด 5 คูหา สูง 4 ชั้น ริมถนนสันติภาพ ที่โดดเด่นท่ามกลางเพื่อนบ้านร้านค้ายางและอู่รถที่อยู่โดยรอบ

วิน’ ‘ซัน’ ‘แซนด์’ และ ‘ซี อัสสกุล’ คือสี่พี่น้องทายาทของตระกูลที่ลุกขึ้นมาปัดฝุ่นเพื่อเปลี่ยนโฉมของบ้านหลังใหญ่ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการตัดถนนสันติภาพและวงเวียน 22 กรกฎาคม ให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง

บ้านตรอกถั่วงอก วงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านเมืองเก่า ครีเอทีฟ

‘บ้าน’ คือบทบาทหลักๆ ที่ผ่านมาของอาคารอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้ ก่อนที่ในช่วงหลังจะเปลี่ยนเป็นเพียงสถานที่ที่ทายาทของบ้านนัดเจอกันในวันสำคัญประจำปีอย่างตรุษจีน-สารทจีน เพื่อร่วมกันเคารพบรรพบุรุษ

“จนห้าปีที่แล้ว คุณพ่อของซันมีไอเดียอยากให้ที่บ้านมาเจอกันอย่างสะดวกสบายขึ้น” จุดเริ่มต้นของการพัฒนาบ้านหลังใหญ่ของครอบครัวเริ่มต้นอย่างเรียบง่ายนับแต่นั้น

คล้ายกับเยาวราช-สำเพ็ง ที่ชื่อตรอกซอยต่างๆ ล้วนแต่บ่งบอกเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ เช่นกันกับโลเคชันของบ้านที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ‘ตรอกถั่วงอก’ (ตรงข้ามยังมีชื่อตรอกถั่วเพาะด้วย) ตรอกเล็กๆ ที่เป็นชุมชนเก่าด้านหลังบ้าน ซึ่งมาวันนี้ก็ยังคงวิถีชีวิตคล้ายในอดีต เป็นทั้งที่อาศัยของคนรุ่นเก่าและที่พักของคนที่ทำงานในเยาวราชและใกล้เคียง

ขณะที่ถนนสันติภาพด้านหน้าบ้านนั้น ซันมองว่าในหลายสิบปีที่ผ่านมา หลายคนนึกถึงถนนสายนี้ในฐานะอู่ซ่อมรถและเปลี่ยนยางรถยนต์

“ตรงนี้มีร้านมิชลินที่ไม่ใช่มิชลินอาหาร แต่เป็นร้านยางมิชลิน คนเอามอเตอร์ไซค์ เอารถมาเข้าอู่ที่นี่กันเยอะมาก มีร้านขายยาง ขายสีทำรถยนต์ ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเน็ตเวิร์กของโลคอลที่นี่ คนแถวนี้ก็รู้กันว่าต้องมาซ่อมรถที่นี่”

บ้านตรอกถั่วงอก วงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านเมืองเก่า ครีเอทีฟ

เมื่อเดินเข้ามาด้านในของอาคาร ซันเล่าว่า การรีโนเวตบ้านเก่าของครอบครัวอยู่บนฐานคิดของการรักษาโครงสร้างและเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด หากมองเพียงผิวเผินภายนอกดูเหมือนเพียงแค่ทาสีใหม่ แต่แท้จริงภายในของบ้านนั้นเปลี่ยนไปจากในอดีตมาก ด้วยการแบ่งสันปันส่วนพื้นที่ใหม่ให้พอเหมาะกับฟังก์ชันการใช้งาน ปรับโครงสร้างให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เดินระบบน้ำ-ไฟใหม่ และที่สำคัญคือในแง่ของการตกแต่งภายในที่มีหลายสิ่งเปลี่ยนไป ทั้งการเปลี่ยนผนังกั้นห้องให้เป็นกระจกใสเพื่อให้ด้านในดูกว้างและแสงลอดผ่าน ขณะเดียวกันก็ยังคงเก็บหลายอย่างที่มีความหมายกับครอบครัวไว้ เช่น ประตู หน้าต่าง และกระเบื้องพื้น

“ในเชิงดีไซน์เหมือนเราสร้างตึกใหม่ในโครงสร้างของตึกเก่า” ผู้ดูแลรุ่นปัจจุบันอธิบายแนวคิด “หลายอย่างที่เห็น เช่น ประตู หน้าต่าง กระจก พื้น กระเบื้อง เป็นของเก่าที่อยู่กับเรามาร้อยกว่าปีแล้ว มันคือการอยู่ร่วมกันระหว่างของเก่ากับของใหม่ ซึ่งการไม่เข้ากันนี้มันสร้างบรรยากาศใหม่หรือความรู้สึกแบบที่เราไม่ค่อยเจอเท่าไร”

บ้านตรอกถั่วงอก วงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านเมืองเก่า ครีเอทีฟ

ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งของการคงไว้ซึ่งรูปร่างหน้าตาของอาคารให้เหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีตคือ แม้มีกิจการหรือกิจกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นด้านใน แต่ภูมิทัศน์ของย่านยังดูเหมือนเดิม อีกทั้งเพื่อนบ้านรอบข้างก็ไม่รู้สึกว่าบ้านและย่านเปลี่ยนแปลงไปด้วย

“จริงๆ น่าสนใจด้วยซ้ำที่เขาได้เห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาในย่านนี้ แต่สิ่งที่เราทำให้บ้านตรอกฯ วิธีการก็เซนซิทีฟกับคนแถวนี้เหมือนกัน เพราะข้างหลังบ้านตรอกฯ เป็นที่พักอาศัยหมดเลย เราเป็นห่วงเรื่องเสียง ห่วงเรื่องที่จอดรถ ถ้าคนมาบ้านตรอกฯ เยอะๆ หน้าบ้านก็จะรถติดมาก และยังต้องคิดอีกว่าเราจะใช้พื้นที่ในตึกยังไงให้เก็บเสียงในตึกได้ และไม่ออกไปรบกวนเพื่อนบ้าน”

การอยู่ร่วมกันระหว่างความเก่ากับใหม่ เป็นธุรกิจทันสมัยที่เข้ามาอยู่ร่วมอาศัยในย่านเก่าที่แวดล้อมด้วยธุรกิจดั้งเดิม ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นความน่าสนใจของสเปซใหม่ในย่านเก่าแห่งนี้

“สังเกตว่าคนที่มาบ้านตรอกฯ รอบดึกเขาก็ไปกินข้าวต้มแถวนี้ มันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เป็นเสน่ห์ของเยาวราชที่มีธุรกิจครีเอทีฟสมัยใหม่ปนกับธุรกิจดั้งเดิม

“อีกทางหนึ่งผมกับพี่น้องก็เอนเกจกับพ่อค้าแม่ค้า กับชุมชนแถวนี้อย่างลึกซึ้ง เรามาทำงานที่นี่ทุกวันเลย และเราก็ซัพพอร์ตร้านอาหารแถวนี้ที่เราชอบทั้งร้านเก่าและใหม่ พยายามทำความรู้จักและสื่อสารกับเขาว่า เรามาทำอะไรที่บ้านตรอกฯ และเราเป็นร้านแนวไหน”

บ้านตรอกถั่วงอก วงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านเมืองเก่า ครีเอทีฟ

‘Creative Community Space’ คือนิยามใหม่ของบ้านตรอกถั่วงอกในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่เขามองว่าบริเวณถนนสันติภาพยังไม่ค่อยมีพื้นที่ที่เปิดรับให้ไอเดียต่างๆ และผู้คนเข้ามารวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน

“คนมาย่านนี้เขาจะฮอปไปฮอปมา อาจจะดริงก์ที่บาร์นี้ ต่อบาร์นู้น ทานอาหารเย็นที่นี่ แล้วหาของหวานที่นู่น ผมรู้สึกว่ามันคือสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างสแตนดาร์ดของคนที่มาแถวนี้ เลยคิดว่าถ้ามันเกิดขึ้นในตึกเราได้ หรือตึกเราเป็นส่วนหนึ่งของการฮอปไปฮอปมาของคนได้ มันน่าจะเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับที่นี่” ซันเล่าถึงคอนเซปต์

เรื่องแรกที่บ้านตรอกฯ โฟกัสจึงเป็นเรื่องอาหารการกิน เพราะเขามองว่า เป็นสิ่งที่น่าจะเชื่อมโยงกับคนกลุ่มใหญ่ได้ ทั้งยังสามารถเชื้อเชิญคนให้เข้ามาในย่านแห่งนี้มากขึ้น

บ้านตรอกถั่วงอก วงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านเมืองเก่า ครีเอทีฟ

ชั้นล่างของบ้านตรอกถั่วงอกเป็นร้านอาหารเม็กซิกันชื่อว่า Delia เมื่อเดินขึ้นบันไดไปยังชั้นต่อมากำลังจะเป็นร้านอาหารพม่าที่ใกล้เปิดเร็วๆ นี้ และหากกินอาหารจนอิ่มแล้ว สามารถเดินขึ้นไปแฮงเอาต์กันต่อได้ยันมืดค่ำที่ Messenger Service ซึ่งเป็นบาร์ค็อกเทลที่อยู่ชั้นถัดมา ขณะที่ด้านบนเป็นพื้นที่ให้ทางบ้านตรอกถั่วงอกเปิดคาเฟ่และจัดกิจกรรมเอง

“คนอาจมาทานอาหารเย็นแล้วขึ้นไปต่อข้างบน เรารู้สึกว่าการที่บ้านตรอกฯ มีพื้นที่เยอะ แล้วมีหลายกิจการ มันซัพพอร์ตซึ่งกันและกันได้” เจ้าของบ้านเล่า

อีกเรื่องนอกจากอาหาร คือด้วยความที่เป็นคอมมูนิตี้สเปซ บ้านตรอกถั่วงอกจึงมีพื้นที่สำหรับจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่จะหมุนเวียนไปตลอดปี พร้อมทั้งอ้าแขนรับครีเอทีฟหรือดีไซเนอร์คนอื่นๆ ที่สนใจและกำลังมองหาพื้นที่ในการปลดปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำเวิร์กช็อป ชมนิทรรศการ หรือร่วมอีเวนต์ที่ไม่เหมือนที่อื่น

บ้านตรอกถั่วงอก วงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านเมืองเก่า ครีเอทีฟ

ผ่านไป 5 ปี สำหรับหลายกิจการอาจเป็นช่วงตั้งไข่ เช่นกันกับบ้านตรอกถั่วงอกในบทบาทใหม่ ที่กำลังค่อยๆ ออกแบบและสร้างสรรค์หลายสิ่งหลายอย่างในบ้านหลังนี้ ต่อยอดออกผลควบคู่ไปกับการปฏิสัมพันธ์กับย่านรอบข้าง โดยซันหวังใจว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับครีเอทีฟสเปซหรือธุรกิจสมัยใหม่ในโอลด์ทาวน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา เพื่อให้พื้นที่รอบบ้านพัฒนาโดยไม่ละเลยอัตลักษณ์และเสน่ห์ของย่าน

“ชาเลนจ์ของบ้านตรอกฯ ที่เราพยายามจัดการให้ดีที่สุดคือ ถ้าสมมติว่าย่านนี้พัฒนาไปเป็นย่านที่มีแต่ธุรกิจสมัยใหม่เข้ามา เสน่ห์ก็จะค่อยๆ หายไป แต่อีกทางหนึ่ง ถ้าไม่มีการพัฒนาเลย เราว่าย่านนี้ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ในอนาคต เพราะโลกก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ” ผู้ดูแลบ้านตรอกถั่วงอกรุ่นปัจจุบันบอกกับเรา

คริสตจักรไมตรีจิต : คริสตจักรแห่งแรกของชาวจีนโพ้นทะเล

คริสตจักรไมตรีจิต วงเวียน 22 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ
คริสตจักรไมตรีจิต วงเวียน 22 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

จากฝั่งเยาวราช เราเดินผ่านวงเวียนน้ำพุ ข้ามถนนไปยังถนนไมตรีจิตต์ ทางฝั่งหัวลำโพง ตรงข้ามกับซอยนานา โซนยอดนิยมของนักท่องเที่ยว มี ‘คริสตจักรไมตรีจิต’ คริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งแรกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2380 ซึ่งยังเป็นคริสตจักรจีนแห่งแรกของคณะแบปทิสต์ที่ก่อตั้งขึ้นในทวีปเอเชีย และเป็นคริสตจักรจีนโพ้นทะเลแห่งแรกของโลกด้วย

เดิมทีศูนย์รวมใจของคริสต์ศาสนิกชนชาวจีนแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร หรือวัดเกาะ ย่านสำเพ็ง จึงถูกเรียกติดปากกันว่า ‘คริสตจักรวัดเกาะ’ ก่อนย้ายมาตั้งในย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม ภายหลังจากถนนสายใหม่นี้สร้างเสร็จได้ไม่นาน

อาคารของคริสตจักรแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานของพัฒนาการชุมชนชาวจีนในย่าน รวมถึงยังเป็นแลนด์มาร์กท่ามกลางอาคารพาณิชย์ ที่หากใครแวะมาซอยนานาหรือวงเวียน 22 กรกฎาคม น่าจะเคยเห็นกัน

Arai Arai : โซเชียลคลับแนวตั้งที่ชวนใครๆ มาเปิดบทสนทนา และทำให้ย่านนี้มีอะไรๆ มากขึ้น

อะไรๆ arai arai คาเฟ่ ร้านกาแฟ วงเวียน 2 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

ห่างจากคริสตจักรไมตรีจิตไม่กี่ก้าว มีตึกแถวอีกห้องหนึ่งที่น่าสนใจตั้งแต่ได้ยินชื่อ

‘Arai Arai’ คือคอมมูนิตี้สเปซเล็กๆ ที่เป็นทั้งคาเฟ่ ร้านหนังสือ ห้องสมุด บาร์ พื้นที่จัดเวิร์กช็อป เวทีดนตรี สถานที่เปิดวงสนทนา โซเชียลคลับ อัดแน่นกันอยู่ที่ชั้นล่าง เป็นสตูดิโอ Sound Healing ที่ชั้นสอง และเป็นสตูดิโอของกระบวนกร (Facilitator) ที่ชั้นสาม รวมถึงยังมีกิจกรรมอื่นๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่พาร์ตเนอร์ของบ้านจะรังสรรค์

เรานัดพบกับ ‘เต-เตชิต จิโรภาสโกศล’ และ ‘โม-ปัญญา พุฒวิเชียร’ สองสมาชิกของ Arai Arai เพื่อชวนคุยถึงอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในตึกแถวแห่งนี้ที่พวกเขาเปรียบว่าเหมือนกับชุมชนแนวตั้ง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบข้างในย่าน

“ย่านพวกนี้เราต้องยอมรับว่าเป็นย่านโคมแดง ถึงดูน่ากลัวแต่ไม่ได้อันตราย หมายความว่าย่านนี้ก็คึกคักในแบบของมัน และความเป็นย่านโคมแดงทำให้สิ่งต่างๆ ไม่แพง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มาเดินตรงนี้ได้ ย่านมันเลือกกลุ่มเป้าหมายของคนที่มา”

อะไรๆ arai arai คาเฟ่ ร้านกาแฟ วงเวียน 2 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

หากคุณเป็นคนที่เทียวไปมาในย่านเมืองเก่า น่าจะเคยเห็นภาพความเป็นย่านโคมแดงกระจายอยู่หลายซอกมุมของมหานครกรุงเทพฯ ชั้นใน

วงเวียน 22 กรกฎาคม ก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ไม่ได้ประกอบการถึงขั้นเป็นล่ำเป็นสันขนาด De Wallen เขต Red-light District อันโด่งดังของประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือคึกคักหลากหลายเท่าซอยคาวบอยหรือพัฒน์พงศ์ ย่านราตรีอื่นๆ ในไทย แต่เชื่อว่าวงเวียน 22 กรกฎาคมก็ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่คนนึกถึง

เตเล่าต่อว่า จริงๆ แล้วแต่ละมุมของวงเวียน 22 กรกฎาคม ก็มีช่วงเวลาและกลุ่มคนที่ต่างกัน อย่างตรงถนนไมตรีจิตต์เอง กลางวันจะไม่ค่อยมีอะไรมาก ส่วนกลางคืนเริ่มทยอยมีคนมามากขึ้น เพราะเริ่มมีร้านใหม่ๆ เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ของย่าน ขณะที่ถนนอีกเส้นหนึ่งอย่างมิตรพันธ์กลับตรงกันข้าม กลางคืนอาจเงียบเหงา ต่างจากช่วงเช้าที่คึกคัก คลาคล่ำไปด้วยนักชิม เพราะมีร้านอาหารเจ้าดังอย่างหอมดีหมี่เกี๊ยว

อะไรๆ arai arai คาเฟ่ ร้านกาแฟ วงเวียน 2 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

ก่อนช่วงโควิด-19 เริ่มระบาดไม่นาน หลังจากตระเวนหาที่พักในหลายย่านเมืองเก่ามาสักพัก ก็ทำให้เตตกลงปลงใจเลือกแปลงโฉมตึกแถวหน้าแคบแห่งนี้เป็นที่อาศัย ด้วยเหตุสำคัญคือใกล้กับที่ทำงานของเขาในเยาวราช และราคาค่างวดถูกกว่าย่านใกล้กัน ก่อนจะชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันทำนู่นทำนี่ด้วยกันที่ชั้นล่าง

“เพื่อนแต่ละคนก็มีของ คิดว่าถ้าเอาของมาลงกัน แต่ละคนก็น่าจะดึงดูดให้คนมาได้ คือเราไม่ได้คิดว่ากลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่จะอำนวยอะไร แต่เราเชื่อในคอนเนกชัน ในเน็ตเวิร์กของเราเอง”

และด้วยความที่สมาชิกของ Arai Arai คือคนทำงานเรื่องเมืองใน Urban Design Studio เขาจึงหวังให้ที่นี่เป็นเหมือน Third Place ที่เชื่อมร้อยคนจากต่างที่เข้าหากัน ยิ่งในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรที่ทุกตารางเมตรมีค่าดั่งทอง การจะมีพื้นที่ลักษณะนี้สักแห่งล้วนมีค่าใช้จ่ายตามมา ไหนจะความเร่งรีบของเมืองหลวง ผลคือทำให้คนเมืองขาดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างจริงจัง

“เราสนใจเรื่องเมือง ความเป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน เราทำงานลงพื้นที่ต่างจังหวัด แล้วเราเห็นคนต่างจังหวัดเขาคอนเนกต์กัน เพราะเขามีพื้นที่กลางที่มาเจอกัน” เตเล่า

“เวลาเราลงพื้นที่ เราจะเจอความว้าวของเขา เราอยากเอาความว้าวของเขามาให้คนเมืองเห็น” โมรับหน้าที่ดูแลเรื่องกาแฟของ Arai Arai ช่วยเสริม

อะไรๆ arai arai คาเฟ่ ร้านกาแฟ วงเวียน 2 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

‘A Place Where we meet.’ คือสโลแกนของบ้านที่พวกเขาวางไว้เรียบง่าย

ระหว่างที่บทสนทนาดำเนินไป มีลูกค้าผลักประตูเข้ามาในร้านอยู่เรื่อยๆ พร้อมกับคำทักทายพูดคุยอย่างเป็นกันเองอยู่เสมอ ยิ่งทำให้บรรยากาศอบอุ่นขึ้น

Arai Arai จึงเป็นอะไรก็ได้สมชื่อ บางคนอาจมองว่าที่นี่คือที่พักผ่อน แวะมานั่งอ่านหนังสือยามเหงา เป็นบ้านเพื่อนที่แวะเวียนมาหาได้อย่างสนิทใจ เป็นสภากาแฟของคนรุ่นใหม่ หรือไม่ก็เป็นโซเชียลคลับที่มีบทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้าลอยอยู่ทั่วบ้าน และหลายครั้งที่เพื่อนใหม่เกิดขึ้นในห้องแถวเล็กๆ นี้ ซึ่งมวลน่ารักเหล่านี้ช่วยทำให้ลูกค้าหน้าใหม่ของร้านกลายเป็นลูกค้าหน้าเก่าที่กลับมาเจอกันอยู่เสมอ

ในฐานะที่พวกเขาทำงานเกี่ยวกับเมือง ซึ่งกำลังสวมหมวกอีกใบคือการสร้างพื้นที่พบปะแสนยูนีกขึ้นในย่านนี้ เราเลยอดถามไม่ได้ว่า แล้วในมุมมองของพวกเขาคิดว่า “ทำไมเมืองต้องมีพื้นที่แบบ Arai Arai”

“ผมว่าการที่มีพื้นที่ให้คนได้ใช้เวลาเรื่อยเปื่อย ได้มองกัน คุยกัน ได้อัปเดตชีวิตกัน มันสำคัญกับการทำให้เมืองขับเคลื่อนแบบมีชีวิต ให้ตัวเองมีชีวิต ให้เมืองมีชีวิต ให้ย่านมีชีวิตด้วย

“ถ้าอยากมีเพื่อน อยากได้รับการสนับสนุน มองเห็นกัน ไม่อยากโดดเดี่ยว อยากมีความรัก หรือมิตรภาพ พื้นที่เหล่านี้จำเป็น เพราะในเมืองนี้เราแทบไม่เห็นกันจริงๆ เลย สุดท้ายมันอาจจะเกิดภาวะทางจิตใจ เช่น Burnout โดยไม่รู้ตัว” เตอธิบายเพิ่ม

อะไรๆ arai arai คาเฟ่ ร้านกาแฟ วงเวียน 2 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

แต่ไหนแต่ไรมา กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองโตเดี่ยวแห่งหนึ่งของโลก ต่างจากจังหวัดใหญ่อื่นๆ ในประเทศ ทั้งในแง่จำนวนประชากรและความเจริญด้านวัตถุ ส่วนหนึ่งยังผลให้เกิดการแปลงโฉมย่านเก่าที่มีคาแรกเตอร์ต่างกันให้กลายเป็นย่านที่หน้าตาคล้ายกัน ซึ่งทำให้เสน่ห์ของเมืองยิ่งลดลง และไม่มีที่ทางอันหลากหลายเป็นทางเลือกให้กับคนบางกลุ่มได้ใช้ชีวิตตามแบบของเขา

“ถ้าเมืองโตแบบเชิงเดี่ยว คนเขาก็จะอยู่แต่บ้าน เพราะเมืองไม่ฟิตกับเขา ผมเลยอยากให้เก็บความเป็นซอกหลืบที่จริงๆ มีความไพรเวต มีบาร์ต่างๆ ไว้” เตกล่าว

เพราะแต่ละย่านก็มีคาแรกเตอร์ต่างกันออกไป สิ่งนี้คือความสวยงามที่เจ้าของบ้าน Arai Arai เห็น เช่นกันกับวงเวียน 22 กรกฎาคม ที่วันนี้เริ่มมีอะไรๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้างแล้ว

“แต่ก่อนมีไฟสลัวๆ ตอนนี้เริ่มมีไฟ มีชีวิตชีวาอีกแบบหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันคงน่าเศร้าที่ย่านนี้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นย่านที่มีแพตเทิร์นเดียวกันกับทองหล่อหรือเยาวราช ผมอยากให้เมืองมีทางเลือก แค่ขอพื้นที่ให้กับ Subculture 

“การให้เวลา ค่อยๆ เติบโต คือการพัฒนาที่เหมาะกับย่านนี้ ไม่ใช่คนมาแล้วระเบิดบึ้ม กลายเป็นสีใหม่ ทุบตึก สร้างใหม่” เจ้าของบ้านเผยความในใจ

คาเฟ่ ร้านกาแฟ วงเวียน 2 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

“ผมใส่หลายหมวก แต่ถ้าให้มองในหมวกที่อยู่ตรงนี้ ผมอยากได้เพื่อนที่เป็นเหมือนกันเพิ่ม หมายถึงมีผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยที่มีแพสชัน มีตัวตน ไม่ได้รวยอะไร ค่อยๆ มาอาศัยอยู่ตรงนี้” เตพูดถึงความหวังและภาพในอนาคตของย่านที่เขาอาศัยอยู่

ส่วนในฝั่งของโมที่นั่งอยู่ข้างกัน เขาก็รู้สึกไม่ต่างกันว่า ระยะนี้รอบบ้านดูโตขึ้น ผู้ประกอบการหลายร้านเริ่มมาเปิดธุรกิจมากกว่าเดิม อย่างในซอยข้างๆ ที่มีแกลเลอรีมาเป็นเพื่อนบ้านใหม่ ร้านกาแฟอีกร้านที่อยู่ถัดไปจากบ้านอีกไม่กี่ห้อง รวมถึง Brunch of idiot ร้านอาหารเปิดใหม่ที่อยู่เยื้องๆ กัน

หากมีโอกาสแวะมาแถวนี้ ลองผลักประตู แวะทักทายพวกเขา สัมผัสกับอีเวนต์อะไรๆ ที่เวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละค่ำคืน ไม่แน่คุณอาจได้เจอเพื่อนใหม่ รวมถึงตกหลุมรัก Arai Arai และย่านนี้

ตึกเก่า อาคาร วงเวียน 2 กรกฏาคม ย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ

วงเวียน 22 กรกฎาคม ยังมีกิจการและร้านรวงน่าสนใจอีกเยอะ ไม่เพียงแต่ร้านใหม่ๆ เก๋ๆ ที่เพิ่มเข้ามาในย่าน แต่ยังรวมถึงกิจการรุ่นเก่าแต่ยังเก๋าที่เต็มไปด้วยสตอรีน่าสนใจ รวมถึงผู้คนที่ยินดีบอกเล่าเรื่องราวด้วยมิตรไมตรี แถมทำเลที่นี่ยังไม่ไกลจากรถไฟฟ้า เพราะตั้งอยู่แทบตรงกลางระหว่าง MRT 2 สถานี อย่างวัดมังกรและหัวลำโพง ทำให้การเดินทางมาย่านนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น

แน่นอนว่าคาแรกเตอร์ของย่านหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนไปตามพลวัตและกาลเวลา มีบางช่วงที่ร้างราและบางช่วงที่จอแจ แต่ด้วยเสน่ห์ของย่านที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ทั้งคนในและคนนอกต่างผลัดกันรับไม้ต่อ สร้างสรรค์กิจการให้กับย่านที่เหมือนเป็นม้านอกสายตาแห่งนี้ค่อยๆ เริ่มมีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง

ในเวลาที่เพื่อนย่านรอบข้างอย่างเยาวราชและหัวลำโพงเริ่มถูกดิสรัปต์จากนายทุนใหญ่จนหน้าตาของเมืองเปลี่ยนไป หากอยากได้พื้นที่เล็กๆ ที่ยังพอมีกลิ่นอายอดีต ได้ใกล้ชิดผู้คนในเมืองเก่า ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ให้ได้มาใช้ชีวิตพักผ่อนแบบเนิบช้า เราว่าวงเวียน 22 กรกฎาคม เป็นอีกย่านที่ตอบโจทย์และน่าแวะมาไม่น้อย

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.