- วิทยา ชัยมงคล เจ้าของแบรนด์ 103paper ที่หยิบตั้งแต่กระดาษนิตยสาร กระดาษลัง และกระดาษ A4 ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นดินกระดาษ แล้วใช้ความรู้ทางศิลปะที่เขาสั่งสมมาตลอดชีวิต มาเติมดีไซน์โดนใจให้กลายเป็นของตกแต่งบ้านชวนมอง
- เห็นถึงความตั้งใจในการปลุกปั้นแบบนี้ แต่จุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากความชื่นชอบในงานปั้นที่กลายมาเป็นงานอดิเรก จนเขาต้องขอเบรกความตึงเครียดจากงานกองถ่าย เพื่อมาผ่อนคลายและสนุกสนานไปกับวงการงานคราฟต์บนสายธุรกิจ
- a Next Life คือคำที่วิทยานิยามให้กับ 103paper เพราะจากกระดาษที่หมดประโยชน์ เขาทำให้มันมีชีวิตใหม่ขึ้นมา และใช้งานได้อีกครั้งในรูปแบบที่เปลี่ยนไป
เทรนด์รักษ์โลกยังคงมาแรงแซงทางโค้ง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะใส่ใจกับมัน เริ่มต้นจากสิ่งของรอบตัวอย่างกระดาษ เคยลองคิดบ้างไหมว่า พอเราใช้มันเสร็จแล้ว กระดาษเหลือทิ้งนี่มันเอาไปทำอะไรได้อีก หรือมันจะต้องหมดราคา ไร้คุณค่า และไร้ความหมายไปเลยนะ
วิทยา ชัยมงคล Art Director ของวงการโฆษณาและภาพยนตร์ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เขามองเห็นถึงคุณค่าและมูลค่าในกระดาษเหลือทิ้งรอบตัว แล้วใช้เวลาว่างจากการทำงานกองถ่ายมาลองผิดลองถูกและสนุกไปกับการปั้นดินกระดาษ จนงานอดิเรกกลายเป็นแบรนด์ 103paper ขึ้นมา และกลายเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในชีวิตของเขา
เก็บความสุขสมัยเป็นนักเรียนศิลปะ มาตั้งชื่อ 103
ตัวเลข 103 จากชื่อแบรนด์ 103paper มาจากรหัสประจำตัวนักศึกษาของพี่วิทยาเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แม้การก่อตั้งแบรนด์ในตอนนั้นจะเป็นแค่ภาพเลือนราง แต่เขาก็เคยวาดฝันว่า สักวันถ้ามีกิจการเป็นของตัวเอง ก็อยากจะใช้โมเมนต์แห่งความสุขนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์
“เราสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ตอนช่วง ม.ปลาย มีโอกาสได้อยู่กับเพื่อนที่มีฝีมือทางด้านวาดรูป เขาก็อินสไปร์เรา ทำให้เราก็อยากผลักดันตัวเองให้ได้สักครึ่งหนึ่งของเขา มันก็ค่อยๆ เขยิบตัวเอง และได้คลุกคลีกับศิลปะจนสอบติดสาขาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร”
พี่วิทยานั่งรถจากต่างจังหวัดเข้ามาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอม เขาประทับใจตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าไปเรียน และเมื่อถึงวันที่เขาเข้าไปเป็นนักศึกษาอย่างเต็มตัว พี่วิทยาบอกกับเราว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตช่วงหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะได้เจอสังคมและผองเพื่อนที่หล่อหลอมให้เขามีทุกอย่างได้แบบทุกวันนี้
“ตอนนั้นมีโอกาสไปรับจ็อบช่วยรุ่นพี่ทำงานกองถ่าย เราต้องไปเพนต์ฉากลิมโบ ไปทำท้องฟ้าในโรงถ่ายสตูดิโอ พื้นหลังส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเพนต์หรือกลิ้งสีอะไรพวกนี้ แต่เดี๋ยวนี้ยุคดิจิทัลก็จะใช้การพรินต์เอาแล้ว งานพวกนี้เรารู้สึกว่ามันสนุกดี ก็เลยทำงานต่อมาเป็นอาชีพ”
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ พี่วิทยาใช้อาชีพศิลปกรรมประจำกองถ่ายโฆษณาและภาพยนตร์ในการหาเลี้ยงชีพมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน ความเครียดและกดดันจากการเป็นตำแหน่ง Art Director ทำให้เขาต้องสร้างพื้นที่เล็กๆ เพื่อเป็นงานอดิเรกด้วยการลุกขึ้นมาปั้น!
อาร์ตไดฯ ก็ทำ นักปั้นก็ลุย
การสร้างแบรนด์สำหรับพี่วิทยาอาจจะไม่ใช่ความตั้งใจหลัก เพราะตลอดชีวิตการทำงานเขาทุ่มเทให้กับบทบาทในงานกองถ่ายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันที่คนทำงานทุกคนคงเคยเจอมาถึง นั่นคือภาวะกดดันจากการทำงาน
“ที่จริงแล้วเราทำ Art Director มาร่วมยี่สิบปี เราก็ทำงานกระดาษตัวนี้นับสิบกว่าปีเหมือนกัน ช่วงที่ทำงานในกองถ่าย เรามีความรู้สึกว่างานมันมีกรอบเวลาเป็นตัวกำหนดให้เราต้องเร่งรีบให้ทัน คืองานที่เราคิดออกไปบางทีเราคิดว่ามันดีแล้ว แต่สุดท้ายถ้ามันไม่ใช่ที่ลูกค้าคิดก็ต้องปรับเปลี่ยน มันเป็นลักษณะของอาชีพนี้
“เราเข้าใจอาชีพนะ แต่เราก็ต้องการพื้นที่หนึ่งที่เราจะไม่ต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดัน เลยหางานอดิเรกที่ไม่สร้างกรอบให้ตัวเองดู นี่เลยเป็นที่มาของงานปั้น
“คือเมื่อก่อนเราก็เป็นพนักงานประจำนี่แหละ แต่พอเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีความชอบมากกว่าหนึ่งอย่าง เลยออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อที่จะเปิดโอกาสในการเลือกรับงาน และสามารถแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นที่เราชอบได้ มันเลยเป็นที่มาของการทำสองอย่างควบคู่กันไป”
พี่วิทยารื้อสกิลงานปั้นซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานที่สมัยเป็นนักศึกษาศิลปากรขึ้นมาใช้ เสมือนเติมเชื้อไฟในการทำงานให้กลับมาลุกโชนขึ้นอีกครั้ง
กระดาษเหลือทิ้งกลายเป็นดินกระดาษ
ปกติเราเห็นงานปั้นส่วนใหญ่ตามท้องตลาดจะเป็นพวกเซรามิกดินเผา แต่พี่วิทยาลองผิดลองถูกอยู่นานจนได้วัสดุชิ้นใหม่ที่ดีต่อใจและดีต่อโลก นั่นคือ ดินกระดาษ
“เราเริ่มทำงานกระดาษช่วงก่อนน้ำท่วมกรุงเทพฯ แล้ว แต่การตั้งเป็นแบรนด์ 103paper จะเกิดขึ้นในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา ซึ่งการทำแบรนด์ไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำของ Eco อะไร แค่คิดว่าทำงานตามความสนุกของตัวเอง บังเอิญว่ากระดาษมันเป็นสิ่งของรอบตัวเราอยู่แล้ว จากออฟฟิศบ้างหรือจากกองถ่ายบ้าง เราเลยเอามาทดลองทำให้เป็นดินดู
“ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่ากระดาษจะทำเป็นดินได้ยังไง ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าเริ่มแรกเราทำงานปั้นได้แค่ไหน ซึ่งปกติงานปั้นจะเริ่มจากการปั้นขึ้นรูปด้วยดินหรือขี้ผึ้งให้เป็นชิ้นงานขึ้นมา จากนั้นเอาไปทำเป็นบล็อกหรือแม่พิมพ์ แล้วเอาไปหล่อด้วยวัสดุต่างๆ อย่างเรซิน กระบวนการเหล่านี้เรารู้ แต่ว่าเราไม่มีทักษะพอที่จะทำได้ เลยตั้งคำถามว่า ถ้างานปั้นมันไม่ต้องผ่านกระบวนการที่เราควบคุมไม่ได้ มันจะมีอะไรที่เราจัดการมันได้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องยุ่งยากบ้างไหม”
พี่วิทยาเล่าถึงความซับซ้อนของงานปั้น เขาจึงหาวิธีลัดที่จะได้วัสดุใหม่ๆ ที่ทำขึ้นมาเอง เลยหยิบเอากระดาษเหลือทิ้งรอบตัวมาสร้างสรรค์ดูสักครั้ง
“เราเริ่มทดลองจากพวกดินญี่ปุ่น ก็ค้นพบว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์รูปทรงที่เราอยากทำ เลยเป็นที่มาว่าต้องเป็นวัสดุที่เราต้องคิดขึ้นมาเอง เลยทดลองเอากระดาษจากกองถ่ายนี่แหละ เพราะกระดาษมันทำให้ละเอียดได้ และเอาไปผสมกับกาวเพื่อให้มันยึดเกาะกันได้ ซึ่งเราเอาสิ่งนี้มาพัฒนาต่อ หาส่วนผสมเพิ่มเติมและหาสัดส่วนที่พอเหมาะ ทดลองอยู่หลายปีกว่าจะได้ส่วนผสมเฉพาะตัว
“พูดง่ายๆ คือเอากระดาษมาทำให้ละเอียด เสร็จแล้วเอาไปผสมเพื่อให้มันเป็นก้อนเป็นเนื้อขึ้นมา จากนั้นเอาไปขึ้นรูป ชิ้นงานของเราใช้กระดาษหลากหลายประเภท มีทั้งกระดาษ A4 ใช้งานหน้าหลัง กระดาษลังน้ำตาล กระดาษนิตยสารที่ให้คุณสมบัติและสีแตกต่างกัน ซึ่งมันให้คาแรกเตอร์เฉพาะตัวกับชิ้นงาน”
ปั้นดินกระดาษให้เป็นของแต่งบ้าน
พี่วิทยาจำแนกงานของ 103paper เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คืออย่างแรกเป็นงานแจกัน หรืองาน Sculpture ที่เป็นภาพจำและเป็นสิ่งที่คนรู้จักแบรนด์จากตรงนี้ อย่างที่สองเป็นงานที่เขาผลิตในจำนวนที่มากขึ้นและขนาดที่เล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการขาย โดยไม่ทิ้งลวดลายจากธรรมชาติและสัมผัสจากเนื้อกระดาษที่ปั้นเองกับมือ
“ผลงานแต่ละชิ้นใช้เวลาต่างกัน อย่างแจกันจิ๋วและก้อนหินขนาดประมาณเท่ากำมือ จะตกอย่างเร็วเลยเจ็ดถึงสิบวันกว่าจะเสร็จ ช่วงเวลาที่นานคือช่วงที่ทำให้พวกเขาแห้ง มันเร่งรีบไม่ได้ ต้องปล่อยให้ค่อยๆ แห้ง แล้วมันจะออกมาเป็นผิวสัมผัสที่ดี งานเรามีคุณสมบัติและจุดเด่นอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ผิวสัมผัส ถ้าลองจับดูแล้วจะสัมผัสถึงความเรียบเนียน ตึงมือ และอย่างที่สองคือ การให้สีที่แตกต่างกันไปตามเนื้อของกระดาษ
“พอเป็นกระดาษมันก็มีข้อจำกัดในตัววัสดุอยู่เหมือนกัน คือกระดาษกับน้ำไม่ถูกกันอยู่แล้ว แต่เราจะมีการเคลือบเพื่อป้องกันน้ำ และให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน เราจะเคลือบไว้สักเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้ากันน้ำร้อยเปอร์เซ็นต์เลย คาแรกเตอร์บางอย่างมันจะหายไป เลยอยากรักษาความเป็นกระดาษตรงนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งวัสดุนี้ถ้าตกก็จะไม่แตกเหมือนกระเบื้องหรือเซรามิก แต่มันอาจจะมีบุบบ้าง”
เมื่อรู้ถึงกระบวนการ เข้าใจในผลงาน และปั้นงานจนมีจำนวนมากในระดับหนึ่งแล้ว กำลังใจสำคัญอย่างอัจฉรา ตันนี ที่อยู่เคียงข้างพี่วิทยา และ 103paper มาตั้งแต่เริ่มต้น ได้จุดประกายให้งานปั้นเหล่านี้ไปอยู่ในมือของคนอื่นบ้าง
“ตอนทำก็ทดลองไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีงานมันเริ่มมีเยอะเป็นสามสิบถึงสี่สิบชิ้น แฟนก็บอกว่างานมันเยอะแล้ว ทำไมไม่ลองเอาไปขายดู ในหัวตอนคิดเลยว่าไม่มีทางขายได้ เพราะเราไม่คิดว่าจะทำเพื่อขายตั้งแต่แรก หรืองานของเราจะเป็นดีไซน์ที่คนอื่นจะชอบ แต่ว่าก็ลองดู ไม่เสียหายอะไร งานทุกชิ้นเราผูกพัน งานทุกชิ้นผ่านมือเราหมด มันมีพลังของเราอยู่ในตัวงาน”
พี่วิทยาเล่าให้ฟังถึงวันแรกที่เขาได้ล็อกเล็กๆ ที่ตลาดหัวมุมเพื่อขายผลงานของตัวเองในช่วงวันหยุด เขารีบไปขายของต่อทันทีหลังจากที่เสร็จงานหลัก ซึ่งวินาทีที่งานชิ้นแรกถูกส่งมอบไปอยู่ในมือคนอื่น ก็แอบมีน้ำตารื้นเพราะมีความผูกพันกับงานทุกชิ้น เป็นความดีใจผสมปนเปกับความใจหาย
เป็นนักปั้นและนักเรียนไปพร้อมกัน
พี่วิทยาเป็นคนหนึ่งที่เลือกทำหลายสิ่งไปพร้อมกัน อาชีพ Art Director ก็เป็นอาชีพหลัก ส่วนงานปั้นเขาก็ไม่ละทิ้งโอกาสในการเปิดโลกธุรกิจงานคราฟต์ นั่นคือการลองสนามประกวดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเอาตัวเองลงไปอยู่ในโลกของการแข่งขัน และได้รู้จักกับคนจากวงการที่หลากหลาย
“การส่งประกวดมันเริ่มมาจากช่วงทำแบรนด์ใหม่ๆ เราพยายามหาว่ามีวิธีไหนที่คนจะรู้จักและสนใจเรามากขึ้น ในครั้งแรกที่ส่งไปเป็นของเวที DEmark ก็ไม่ได้รางวัล แค่ได้ร่วมแสดงในงานนั้นเฉยๆ แต่สิ่งที่ได้มาคือการได้รู้จักกับองค์กรต่างๆ และได้เจอกับคนที่อยู่ในสายงานเดียวกันและสายงานที่ต่างกันด้วย ทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นแม้จะไม่ได้รางวัล
“ตอนทำงานก็ไม่ได้ตั้งใจจะล่ารางวัล แต่พอได้มาก็เป็นกำลังใจสำหรับคนอื่นด้วย ซึ่ง 103paper ยังไม่เรียกตัวเองว่าประสบความสำเร็จแล้ว เราเป็นแค่แบรนด์เล็กๆ ที่กำลังก้าวเดินไป”
103paper พยายามส่งผลงานเข้าร่วมประกวดอยู่เสมอ จนสามารถคว้ารางวัลประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จาก Thailand Green Design Award 2018 และรางวัล Design Excellence Award จาก DEmark 2019 รวมไปถึงได้รับโอกาสโชว์ผลงานใน Bangkok Design Week 2020 อีกด้วย ซึ่งพี่วิทยามองว่าเหล่านี้คือแรงกระตุ้นตัวเองได้เป็นอย่างดี ทำให้อยากปั้นและสร้างสรรค์ผลงานต่อไปไม่รู้จบ
“Art Director มันขายงานบ่อย เราต้องหา Reference จากหนังสือบ้าง อินเทอร์เน็ตบ้าง เราก็ได้วิธีคิดจากการทำอาชีพนั้นมา ซึ่งงานกองถ่ายมันทำให้มีโอกาสเห็นสิ่งของและสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการซึมซับ และมีส่วนที่ทำให้เกิดเป็นผลงานขึ้นมาเช่นกัน” พี่วิทยาเล่าเสริมถึงอาชีพในกองถ่ายที่ให้มุมมองและวิธีการคิดต่อการทำแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
a Next Life
นี่คือคำที่พี่วิทยานิยามให้กับ 103paper ซึ่งหมายถึงการนำกระดาษที่หลายคนมองว่าหมดประโยชน์มาให้ชีวิตใหม่ เหมือนกับการเกิดใหม่ในรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไป และอีกความหมายหนึ่ง คือการมาทำ 103paper นั้นเป็นอีกพื้นที่ที่เขาได้จะใช้เวลาอยู่กับงานศิลปะที่เขารัก
พี่วิทยาเล่าว่า เวลาที่หายไปทำโฆษณาหลายเดือน ทุกครั้งที่กลับมาจับงานปั้นจะรู้สึกมีความสุข อีกทั้งเขายังได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น เพราะมีบางชิ้นงานอย่างแจกันจิ๋วและก้อนหิน เมื่อลูกสาวพี่วิทยาเห็นก็จะเข้ามาขอทำด้วย เสมือนเป็นกิจกรรมเล็กๆ สำหรับครอบครัวนี้เลยก็ว่าได้
“การทำแบรนด์สอนให้รู้จักรอคอย เพราะกระบวนการแต่ละอย่างมันเร่งรีบไม่ได้ สังคมเดี๋ยวนี้เร่งรีบไปหมด เลยรู้สึกว่าการทำงานตรงนี้ทำให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้น”
นอกจากได้ใช้เวลากับงานปั้นและครอบครัวแล้ว สิ่งที่ 103paper ได้มอบให้แก่พี่วิทยา คือสอนให้รู้จักการรอคอย เพราะกระบวนการปั้นแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลา จะมาเร่งเอาวันนี้หรือพรุ่งนี้ไม่ได้เด็ดขาด อีกอย่างคือการได้อยู่กับครอบครัว พี่วิทยายังได้ฟังเสียงคนใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์หรือคำแนะนำต่างๆ ทุกเสียงล้วนเป็นประโยชน์สำหรับเขาทั้งสิ้น
จากพิษ COVID-19 ที่ทำให้งานกองถ่าย งานออกเทศกาล และการติดต่อทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง การได้พูดคุยกับพี่วิทยาในช่วงนี้ทำให้เราได้เห็นถึงความทะเยอทะยานของเขาที่มากขึ้น ซึ่งพี่วิทยาใช้โอกาสที่ต้องกักตัวอยู่บ้านพัฒนาผลงานของตัวเอง และได้ทดลองเทคนิคต่างๆ ที่คิดไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเวลาที่จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ตอนนี้เราไม่ได้มอง 103paper เป็นแค่แบรนด์ที่หยิบกระดาษเหลือทิ้งมาปั้นเป็นแจกัน หรือแบรนด์ที่เกิดจากความประทับใจสมัยที่พี่วิทยาเรียนอยู่ที่ศิลปากร แต่นี่คือแบรนด์สุดคราฟต์ฝืมือคนไทยที่คิดเพื่อโลก และคอยขับเคลื่อนวงการดีไซน์ในบ้านเราให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นกว่าที่เคย