10 หญิงไทยที่ทรงอิทธิพลในสายตา Linghokkalom - Urban Creature

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีคือ ‘วันสตรีสากล’ เป็นวันสำคัญที่ซัปพอร์ตขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงทั่วโลก บ้างใช้เพื่อเป็นโอกาสในการเฉลิมฉลอง หรือบ้างก็ใช้เพื่อเป็นวาระของการขับเคลื่อนให้ผู้หญิงมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกกีดกันด้วยอคติเพราะเหตุแห่งเพศนานาประการอีกต่อไป

เนอส Linghokkalom

ไม่ต่างจาก เนอส–วิศัลย์ศยา ลอยไสว นักวาดภาพประกอบอิสระเจ้าของนามปากกา Linghokkalom ที่มองเห็นคุณค่าความสำคัญของผู้หญิงทุกๆ คน เธอตัดสินใจนำภาพวาดผลงานที่ตัวเองเคยสร้างสรรค์เอาไว้ในโปรเจกต์ The Hundred Women เมื่อปี 2021 มาเผยแพร่บนเพจ Visansaya L. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา 

The Hundred Women Project เป็นโปรเจกต์ที่นำเสนอภาพวาดผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลจากทั่วทุกมุมโลกผ่านสายตาและฝีมือของนักวาดภาพประกอบหญิงที่เป็นตัวแทนจากแต่ละประเทศ ตั้งแต่อินเดีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา โรมาเนีย ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี เวียดนาม และ แน่นอนประเทศไทยเรา มีเนอส หรือ Linghokkalom เป็นตัวแทน Illustrator ที่เข้าร่วมโปรเจกต์ 

เนอสเล่าว่า เธอได้เลือกนำเสนอผู้หญิงไทยจำนวน 10 คน จากความหลากหลายของช่วงอายุและสายอาชีพ ซึ่งผู้หญิงแต่ละคนที่คัดสรรมา กำลังทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนงานสำคัญด้านต่างๆ ในสังคมไทย ชุดภาพทั้งหมดที่เนอสสร้างสรรค์ถูกนำเสนอพร้อมกับประวัติของทุกคนแบบคร่าวๆ ทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยได้ มุกดาภา ยั่งยืนภราดร ซึ่งเรียนจบด้าน Gender จาก UCL (University College London) มาช่วยทำประวัติทั้งหมดเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษด้วย

“โปรเจกต์นี้ เขาต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก เพื่อสะท้อนให้ทุกคนได้เห็นว่า ผู้หญิงมีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อม สังคมและประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นการ Raise Awareness คนที่เข้ามาชมผลงานทุกคนด้วย

“เราลงภาพผลงานในทวิตเตอร์อีกช่องทางหนึ่ง หลายคนที่ได้เห็น ก็จะมีการรีทวีตออกไปเยอะ มีคน Mention ว่า ได้อ่านประวัติของผู้หญิงแต่ละคนแล้วรู้สึกชอบมากๆ บางคนบอกว่า ถึงแม้เขาจะรู้จักคนที่เราเลือกมาแค่ไม่กี่คน แต่ก็ทำให้อยากไปค้นหาข้อมูลต่อ หรือทำความรู้จักคนอื่นๆ ในภาพให้มากยิ่งขึ้น” เนอสกล่าว

ส่วนขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงาน เนอสเล่าให้เราฟังว่า เธอจำเป็นต้องดูเรฟเฟอร์เรนซ์ภาพของผู้หญิงทุกคนที่เลือกมา จำนวนคนละหลายๆ ภาพ ก่อนจะลงมือวาดชุดภาพทั้งหมดบน iPad โดยเลือกใช้ Brush ที่มี Texture แบบหยาบๆ เล็กน้อย แล้วใช้เทคนิคการวาดปาดเร็วๆ ซึ่งเนอสเลือกใช้สี Background ต่างๆ จากการตีความตัวตนและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนคนนั้น เพื่อใช้สื่อสารความรู้สึกออกมาให้ได้อารมณ์มากที่สุด

เมื่อปีที่แล้ว งานชุดนี้เคยเผยแพร่ผ่านช่องทาง Instagram ของโปรเจกต์ www.instagram.com/thehundredwomenproject ก่อนที่ปีนี้เนอสจะนำภาพชุดนี้มาลงทางเพจรวมผลงานภาพประกอบของเธอเองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากลที่ผ่านมาในสัปดาห์ที่แล้ว และนี่คือผู้หญิง 10 คนที่เนอสเลือกวาดเพื่อสื่อสารความทรงพลังของพวกเธอ

วรรณรญา วรรณพงษ์ นักแข่งโดรนมือวางอันดับ 9 ของโลก และเป็นแชมป์การแข่งโดรนที่อายุน้อยที่สุดในโลก

รุ้ง ปนัสยา

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษา นักเคลื่อนไหว และนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้อ่านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงชุมนุมในประเทศช่วงปี 2020

มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์ บรรณาธิการแพลตฟอร์มฟังใจ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันวงการเพลงไทย

นานา Thai Consent

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง นักออกแบบและนักเคลื่อนไหว ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเรื่องที่เกี่ยวกับเพศศึกษา ผ่านเพจ Thai Consent

ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงข้ามเพศที่มีชื่อเสียงจากการประกวดมิสอินเทอร์เนชันแนลควีน และมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส ซึ่งในปัจจุบัน เธอเป็นนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลด้วย

พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เริ่มทำงานด้าน HIV มาตั้งแต่ปี 2002 

นุชชี่

อนุชา บุญยวรรธนะ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่มีผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีผลงานหลักสองเรื่องได้แก่ อนธการ และ มะลิลา

ยิ่งลักษณ์

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักธุรกิจ และนักการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 และนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ดร.ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการยกระดับวงการขับร้องประสานเสียงของไทย 

ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินหญิงคนแรกของไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ใน พ.ศ. 2559 และเป็นผู้หญิงคนแรกที่จบปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร รวมถึงเป็นอาจารย์ผู้หญิง 1 ใน 2 คนของ ม.ศิลปากรด้วย

นอกเหนือจากเรื่องงานศิลปะ ในฐานะที่เนอสเป็นผู้หญิงไทยคนหนึ่ง เธอแชร์ว่า การใช้ชีวิตข้างนอกบ้านค่อนข้างยากลำบากเพราะอาจเกิดอันตรายกับผู้หญิงได้ตลอดเวลา อย่างในพื้นที่การทำงานระดับองค์กร เรื่องสิทธิการลาป่วยเพราะการปวดท้องประจำเดือน ก็เป็นเรื่องที่เธอเห็นว่าสำคัญมาก แต่สังคมไทยยังไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงมากนัก

“เมนส์ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ในกรณีของคนที่ปวดท้องเมนส์ น่าจะส่งผลกระทบต่อคนที่ทำงานในออฟฟิศ อย่างในแง่ทัศนคติของผู้ว่าจ้างหรือหัวหน้าบางคน เขาอาจจะมองว่า ‘ก็แค่ปวดท้องเมนส์เอง’ เราเลยอยากให้ผลักดันว่า นี่คือเรื่องสำคัญ เพราะเวลาผู้หญิงที่ปวดท้องเมนส์นั้นทรมานมาก ซึ่งส่วนตัวเราเป็นเนื้องอกมดลูก ก็จะทำให้ปวดท้องเมนส์หนักมาก

“อย่างเรื่องผ้าอนามัยฟรี ก็ควรมี เพราะมันส่งผลกระทบต่อเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้หญิง อยากให้มีการแก้ไขเรื่องนี้มากๆ ประเด็นอื่นๆ ก็ต้องมีการผลักดันกันต่อไป รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของพวกเราด้วย เพราะการเป็นผู้หญิงในประเทศนี้มันอันตรายมากๆ เลย

“เราคาดหวังให้ทั้งภาครัฐและคนในสังคมร่วมมือกัน เพราะในสังคมก็มีคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้อยู่ ยังมีการโต้แย้งกันกับฝั่งที่เป็นปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ที่มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ ดังนั้นฝั่งภาครัฐก็ต้องช่วยเหลือในภาพรวมใหญ่เพื่อให้คนได้รับการซัปพอร์ตด้านสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตด้วย”


Website : linghokkalom.com
Makersplace : makersplace.com/visansaya-loisawai
Facebook : www.facebook.com/linghokkalom
Twitter : twitter.com/linghokkalom
Instagram : www.instagram.com/linghokkalom

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.