“เป็นไปได้จริงหรือที่คนเราจะสามารถใช้ชีวิตหนึ่งวัน
โดยไม่สร้างขยะเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ??”
นี่คือสิ่งที่เราสงสัยมาตลอดเมื่อได้ยินคนพูดถึงการใช้ชีวิตแบบ Zero Waste หรือการใช้ชีวิตโดยสร้างขยะศูนย์ชิ้นในแต่ละวัน ในระยะหลังเราได้ยินแนวคิดการใช้ชีวิตแบบ Zero Waste มากขึ้น สลับกับข่าวปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีให้เห็นรายวัน ตามมาด้วยคำถามมากมายอย่างความเป็นไปได้ที่แนวคิดนี้จะทำได้จริง โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนทุกอย่างจะเอื้ออำนวยให้การดำเนินชีวิต ทิ้งร่องรอยการสร้างขยะได้ทุกเมื่อ
เพื่อตอบคำถามนี้ เราจึงลองออกไปตามติดชีวิตหนึ่งวันของสองสาวชาว Zero Waste อย่าง ‘พลอย-นิรมัย ชัยหัง’ และ ‘ลิลลี่-พูนสิน หาญยืนยงสกุล’ ว่าในหนึ่งวัน พวกเขากินอะไร และใช้ชีวิตอย่างไรให้สร้างภาระแก่โลกน้อยที่สุด พร้อมตอบข้อสงสัยว่าในแต่ละวันชาว Zero Waste ต้องเจอกับความลำบากอะไรบ้าง หรือจริงๆแล้วเรื่องที่ดูไกลตัวแบบนี้กลับใกล้กว่าที่คิดและง่ายนิดเดียว
What’s in the bag?
พลอยกับลิลลี่มาถึงพร้อมกับกระเป๋าผ้าคนละใบ ทุกครั้งที่ทั้งสองคนขยับตัว เราจะได้ยินเสียงก๊องแก๊งดังออกมาเบาๆ จนอดถามไม่ได้ว่าในกระเป๋าของทั้งคู่มีอะไรอยู่ พวกเขายิ้มพร้อมกับค่อยๆ หยิบของแต่ละอย่างออกมาให้เราดู
พลอย : ทุกวันเวลาเราออกไปข้างนอกจะมีขวดน้ำเปล่ากับแก้วกาแฟอีกใบเพราะติดกาแฟมาก หรือปกติก็ใช้ขวดเลยแล้วไปเปลี่ยนแก้วที่ทำงานอีกที นอกจากนี้จะมีกล่องที่ใส่ช้อนส้อม ตะเกียบ และหลอด อีกอันคือผ้า แล้วแต่ว่าจะใช้เช็ดหน้า เช็ดโต๊ะ หรืออันไหนยาวๆ ก็เอามามัดผมก่อนก็ได้ เป็นการลดการใช้กระดาษชำระไปในตัวด้วย
ลิลลี่ : ของเราเองก็คล้ายๆ กัน เพิ่มมาคือจะมีหลอดชานมไข่มุกกับที่ล้างหลอดด้วย ช้อนส้อมมีอย่างละหนึ่งแต่ตะเกียบมีอย่างละสอง เผื่อให้คนที่ไปด้วยกันเป็นการ Sharing ไปในตัว อย่างไปกินอาหารจีน ทั้งโต๊ะไปกันสี่คน มีเราคนเดียวที่ใช้ตะเกียบใช้ซ้ำเลยให้เพื่อนยืมอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง หลังจากนั้นเพื่อนคนนั้นเลยเริ่มพกของแบบนี้บ้างเพราะเขาได้ลองแล้วเขาชอบ
พลอย : เดี๋ยวนี้อุปกรณ์แต่ละอย่างมีการออกแบบและใช้วัสดุที่ต่างกันไป แค่หลอดอย่างเดียวก็หลายแบบ ทั้งแก้ว ซิลิโคน สแตนเลส เดี๋ยวนี้หลอดไม้ไผ่หรือหลอดกระดาษก็มี บางคนเอาสปาเก็ตตี้มาใช้แทนหลอดก็มีให้เห็นอยู่ ถ้าถามเราก็แล้วแต่ความสะดวกและความชอบของแต่ละคนเลยนะ เพราะวัสดุแต่ละอย่างจะมีข้อดีและข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป อย่างเราใช้หลอดแสตนเลสเพราะทนทานที่สุดแล้ว ถ้าเป็นแบบแก้วคือแตกแน่นอนเพราะเราซุ่มซ่ามมาก
Eat Responsibly
เมื่อแวะเติมพลังกันที่ร้านอาหาร เราเลยถือโอกาสถามทั้งสองคนว่าชาว Zero Waste มีวิถีการกินอย่างไรให้ไร้ขยะจากแต่ละมื้ออาหารบ้าง
พลอย : วันที่ไม่เกิดขยะเลยคือวันที่เตรียมตัวว่าจะซื้ออะไรและกินอะไร วันไหนที่เราตั้งใจว่าจะออกไปซื้อของ เราก็จะรู้แล้วว่าเราต้องเตรียมอะไรไปบ้าง เตรียมปิ่นโต เตรียมถุงผ้า เตรียมกล่องใส่อาหาร เตรียมแก้วน้ำ เตรียมหลอดออกไป
ลิลลี่ : มันไม่ใช่ว่าทุกวันเราจะพกปิ่นโต อย่างวันนี้เราออกมาเรากินข้าวมาก่อนแล้ว ฉะนั้นเราไม่ต้องเอาปิ่นโตมา แต่พกกระติกน้ำกับหลอดมาเพราะเราคิดว่าเราจะมานั่งร้านกาแฟ แล้วเผื่อร้านกาแฟเป็นแก้วกับหลอดพลาสติก พกช้อนพกตะเกียบมาเผื่อได้ใช้ มันคือการวางแผนว่าวันนี้เราทำอะไรบ้าง เราต้องใช้อะไรบ้าง การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ต้องสังเกตให้เก่ง อย่างวันนี้สังเกตตอนที่เดินเข้ามาว่าเขาใช้หลอดพลาสติกทุกโต๊ะ ก็จะรีบบอกว่าไม่เอาหลอด เพราะมีหลายครั้งเลยนะที่บอกร้านอาหารไม่ทันว่าขอน้ำไม่เอาหลอด
พลอย : ส่วนใหญ่ร้านอาหารจะมีแค่เรื่องขวดพลาสติกกับหลอดพลาสติกที่เขาใส่มาให้ ส่วนเรื่องอาหารที่เหลือก็แล้วแต่ร้านว่าจะจัดการยังไง ตัวเราแค่เลือกว่าจะกินอะไรแล้วเตรียมอุปกรณ์ไป สร้างขยะให้น้อยที่สุดโดยทานไม่ให้เหลือเศษอาหาร ถ้าเหลือก็ใส่กล่อง ห่อกลับ อย่างเรารู้ว่าเราพกอะไรบ้าง ไปร้านไหนก็ไม่ได้เป็นปัญหาอยู่แล้ว
Bubble tea time
หลังมื้ออาหาร เราเดินเล่นไปพลางมองหาของหวานไปพลาง อากาศร้อนๆ อย่างนี้ อดไม่ได้ที่จะแวะซื้อชานมไข่มุกสักแก้ว ซึ่งทั้งสองคนก็เล่าให้ฟังว่า บางครั้งก็เลี่ยงการใช้พลาสติกจากการดื่มชานมไข่มุกได้ค่อนข้างลำบาก แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากสื่อสารกับทางร้านให้ดี
พลอย : เวลากินชานมไข่มุก เราก็บอกเขาว่าเราเอาแก้วมาเอง แล้วถามเขาว่าเขาต้องนับแก้วหรือเปล่า ถ้าเรามีแก้วไปแล้วขอให้เขาเอาใส่แก้วให้ได้ อันนี้ไม่มีปัญหาเลย อีกปัญหาหนึ่งของการกินชานมไข่มุกคือหลอด เพราะหลอดชานมไข่มุกแสตนเลสมันไม่สามารถเจาะฝาที่ซีลไว้ได้ ถ้าเราไม่ได้เอาแก้วไปแต่เอาไปแค่หลอดชานมไข่มุก เราก็ต้องหาอะไรเจาะไปก่อนเลย เราจะเอาพวกเข็มกลัดที่เรามีหรืออะไรก็ตามที่แหลมๆ มาเจาะไปก่อนแล้วค่อยเอาหลอดลงไป
Street food & Shopping
ลิลลี่ : มีครั้งหนึ่งเราไปเยาวราช เดินผ่านทุกคนก็ เฮ้ย พลาสติกทั้งนั้นเลย บางอย่างอยากกินมากๆ แต่มันใส่จานโฟม อยากกินหมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง แต่มันมีไม้อีก บางทีข้าวเหนียวก็อยู่ในถุงพลาสติกอยู่แล้ว เป็นอะไรที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนั้นเลยไปจบที่ยำลูกชิ้น ซื้อใส่ถุงซิลิโคนไปเลย บัวลอยน้ำขิงที่ทุกคนจะใส่แก้วพลาสติกแล้วเอาโฟมมารองกันร้อน เราก็เอาใส่แก้วซิลิโคนที่พกไป สรุปมื้อนั้นไม่สร้างขยะเลยแม้แต่ชิ้นเดียว มันทำได้นะ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกกินอะไร
พลอย : แม่ค้าหลายคนก็เข้าใจ พอไปซื้อของแล้วใช้ภาชนะของตัวเองเขาก็ชมเราด้วยว่าน่ารักแล้วแถมให้ ไปซื้อครั้งต่อไปเขาก็ทัก เฮ้ย จำน้องคนนี้ได้ เหมือนเป็นการเริ่มบทสนทนาบางร้านก็ลดราคา ไม่คิดค่าแก้ว ไม่คิดค่าถุง เป็นการสนับสนุนเรา อุปสรรคคือเราจะอดกินอะไรหลายอย่างที่มันอร่อยไปเยอะมาก เพราะมันต้องเลือกระหว่างเราจะกินอันนี้แล้วสร้างขยะหรือเราจะยอมไม่กิน แต่มันดีนะ ตั้งแต่เรามาลองใช้ชีวิตแบบ Zero Waste เราคิดก่อนซื้อและลดความโลภลงไปได้เยอะเลย เราเลือกที่จะกินสิ่งที่ดีกับเรามากขึ้น ถามตัวเองว่าเราอยากกินหรืออยากได้มันจริงๆ หรือเปล่า
พลอย : แต่อย่างใบเสร็จบางทีเราเลี่ยงไม่ได้ หรือไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะมีสินค้าที่ซีลพลาสติกมาอยู่ดี บรรจุภัณฑ์พลาสติกมันผลิตออกมาตอบสนองความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของคนเลยเกิดคำว่า ‘สะดวกซื้อ’ ‘สะดวกใช้’ ขึ้นมา บางคนอยู่ในเมืองหรือไม่ได้อยู่ใกล้ตลาดสด มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตต่างกัน แต่เราก็พยายามไม่เอามาเป็นข้ออ้าง จะคิดเสมอว่าทำได้ มีคนทำ
After Meal Routine
ก่อนออกเดินต่อ ทั้งสองคนหายไปครู่หนึ่งก่อนจะกลับมาพร้อมกับภาชนะที่สะอาดเหมือนก่อนใช้อีกครั้ง
พลอย : ภาชนะที่ใช้เสร็จแล้วให้หาที่เทเศษอาหารออก จากนั้นก็ล้างน้ำประปาตามปกติแล้วเช็ดเก็บกลับ หาก๊อกในห้องน้ำบ้างหรือจะถามที่ร้านว่าขอล้างหน่อยได้มั้ย ก็ทำได้เหมือนกัน วันหนึ่งเรารู้แล้วว่าจะใช้อะไรกี่ครั้งก็เตรียมตัวไป เพื่อนเราบางคนเอ็กซ์ตรีมมากนะ ตัดฟองน้ำสำหรับล้างจานให้เป็นชิ้นขนาดพกพาได้กับพกน้ำยาล้างจานขวดเล็กๆไปด้วย
ลิลลี่ : การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ต้องมีวินัยจำนวนหนึ่งเลย ของทุกอย่างต้องล้างทำความสะอาดให้ดี ถ้าวันไหนเหนื่อยมากๆ ทิ้งกระเป๋า ล้มตัวลงนอนเล่นมือถือ เช้าขึ้นมาเปิดภาชนะออกมาอีกที โห เน่าแล้ว ต้องแกะมาทำความสะอาดทีละชั้นเลยนะ ต้องดูทุกซอกทุกมุม ไม่งั้นสกปรกก็ส่งผลเสียต่อร่างกายอีก วิธีการของเราเวลาทำความสะอาดคือ เราจะแงะตัวซิลิโคนออกมาเพื่อล้างและเช็ดทีละอันเลย ให้มันสะอาดที่สุด
Shower Time
พลอย : เราลองสั่งของอย่างสบู่ก้อนหรือแชมพูก้อนจากร้านค้าออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง ทุกครั้งที่สั่งจะขอให้ส่งแบบไม่ห่อพลาสติก ช่วงหลังมีร้านรีฟิลเยอะขึ้นซึ่งเป็นร้านที่เราสามารถไปซื้อผลิตภัณฑ์อาบน้ำด้วยการเติมในภาชนะที่นำไปเอง ก็เริ่มนำภาชนะไปเติม อาจต้องทำใจเรื่องราคาเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ออแกนิก ไม่ใช้สารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์จึงมีต้นทุนในการทำมากขึ้น ถ้าจำเป็นต้องซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตจริงๆ ก็จะพยายามเลือกแบบที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษหรือแก้วมากกว่า
ลิลลี่ : เราใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำแบบ Head to toe wash แทนที่จะใช้สองอัน เราก็ซื้อเป็นอันเดียวไปเลย ส่วนยาสีฟันก็ใช้แบบเม็ด ไม่ต่างกับยาสีฟันแบบหลอดเลยนะ วิธีใช้คือบ้วนปาก เคี้ยวๆ เหมือนนมอัดเม็ดแต่ไม่ต้องกลืนนะ แปรงไปเลยแล้วฟองจะขึ้นเอง แนะนำให้เทออกมาก่อนแล้วค่อยบ้วนปาก ถ้าเทออกมาเกิน พอโดนมือที่เปียกแล้วมันจะเก็บกลับไม่ได้ แล้วก็มีแปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่ซึ่งจะย่อยสลายเร็วกว่าแปรงสีฟันด้ามพลาสติก แต่ต้องตากให้แห้งและโดนแดด ไม่งั้นมันจะชื้นแล้วลดอายุการใช้งาน
ลิลลี่ : เราเคยคิดว่าแค่เอาขวดมากดแชมพูก็รักโลกแล้ว แต่เปล่าเลย เราได้คุยกับพี่อีกคนที่ใช้ชีวิต Zero Waste เหมือนกัน เขาชี้ให้เราเห็นว่าหลังจากที่เราใช้น้ำยาทำความสะอาดพวกนี้แล้ว เรายังทิ้งอะไรไว้ในท่ออีก เหตุผลที่แชมพูตัวนี้ต้องแทนอีกตัวหนึ่งก็เพราะเวลาที่เราใช้ตัวนี้ เมื่อไหลลงไปในท่อ มันจะไม่ไปสร้างมลพิษให้แหล่งน้ำ เราไม่เคยคิดถึงส่วนนี้เลย ไม่ใช่เพราะเราไม่ทำนะแต่เพราะเราไม่รู้ เลยมาคิดว่ามันมีอะไรอีกบ้างนะที่เราทำไปโดยไม่รู้
Not That Scary
ลิลลี่ : ก่อนมาใช้ Organic Cup ก็ไปดูรีวิวในยูทูบ ศึกษาอยู่นานเหมือนกัน ตอนแรกลองเริ่มจากใส่นอนก่อน สรุปคือมันดีนะ ถอดออกมาแล้วไม่เปื้อน ไม่มีกลิ่นเลย อันนี้คือใส่ได้ประมาณ 8-12 ชั่วโมง ตอนใส่ก็ล้างมือให้สะอาด เราต้องทำให้ Organic Cup เป็นรูปตัวซีแล้วใส่เข้าไป ต้องรู้จักร่างกายตัวเองนิดนึง มันจะไหลเข้าไปกางข้างในแล้วเหลือแค่เกลียวที่โผล่ออกมา เวลาเคลื่อนไหวก็ไม่รู้สึกอะไรเพราะมันปรับไปตามสรีระร่างกาย จะดำน้ำ ปั่นจักรยาน ต่อยมวย วิ่ง ได้หมดเลย เวลาถอดออกให้ยืนท่าเดิม แล้วเอานิ้วจับเข้าไปตรงที่มีเกลียวออกมา กดตรงกลางให้มันเป็นตัวซีเหมือนตอนที่มันเข้าไป แล้วมันจะออกมาเป็นถ้วยที่มีประจำเดือนอยู่ ซึ่งไม่เจ็บขนาดนั้น มันมีหลายไซส์มากเลยนะ วัยแรกแย้ม วัยเกษียณอายุหรือมีน้องแล้ว ใช้เสร็จก็ให้เอาน้ำร้อนมาทำความสะอาด หรือถ้าจะใช้ต่อโดยที่ไม่ต้องต้มก็ให้ล้างทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำก่อน
พลอย : ของเราใช้ผ้าอนามัยแบบผ้า ตัวผลิตภัณฑ์ไม่ใช่แค่ผ้าสองชิ้นเย็บประกบกันนะ แต่เป็นตัวผ้าอนามัยที่มีการทำให้เป็นช่องๆ แล้วซึมซับดีมาก ไม่เสียดสี ไม่อับ เนื้อผ้าซักได้สะอาดไม่เหลือคราบทิ้งไว้ เคยเห็นพี่คนหนึ่ง เขาใช้แบบผ้านี่แหละแล้วพกกล่องที่พับได้หรือซองซิลิโคน พอใช้เสร็จก็ใส่น้ำแล้วเก็บไว้ในกระเป๋า นำไปซักที่บ้าน จะมีความลำบากเวลาออกไปข้างนอกก็ต้องเตรียมไปดีๆ ต้องคิดแล้วว่าเราจะมีประจำเดือนช่วงนี้ เป็นมาก เป็นน้อย ใช้ยังไงดี จัดการของเราให้ดี เรื่องประจำเดือนเป็นอีกอย่างที่ขึ้นอยู่กับบุคคล แล้วแต่วิถีชีวิตของแต่ละคน อันนี้เราก็ใช้เวลานานเหมือนกันในการตัดสินใจ
There’s a First Time for Everything
ก่อนจากกันวันนั้น เราถามทั้งสองคนว่าถ้าเราจะลองใช้ชีวิตแบบ Zero Waste บ้าง ต้องเริ่มจากตรงไหน
พลอย : เริ่มที่ดูถังขยะของตัวเองก่อนว่าอาทิตย์หนึ่งหรือเดือนหนึ่ง เราใช้และทิ้งผลิตภัณฑ์อะไรมากที่สุด ให้เริ่มจากหาสิ่งที่มาทดแทนผลิตภัณฑ์หรือของอันนั้นว่า จะใช้อะไรทดแทนได้บ้างที่ไม่ใช่การใช้แล้วทิ้ง แต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งจะจำเป็นสำหรับทุกคนนะ ไม่จำเป็นต้องซื้อแก้วกาแฟแค่เพราะว่าเห็นเขาขายกันแล้วจะซื้อ ถ้าเราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ก็ไม่ต้อง ถ้าซื้อมาแล้วไม่ใช้มันก็คือขยะที่ถูกวางไว้ตรงนั้นแหละ
ลิลลี่ : มันเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตมากกว่าซึ่งไม่ได้หมายความว่าไลฟ์สไตล์ทุกคนจะต้องเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าวิถีชีวิตของแต่ละคนถนัดแบบไหน
“เราเองก็ยังมีข้อผิดพลาด ทุกคนทำผิดพลาด
แต่ใจความสำคัญคือทำให้น้อยที่สุด ใช้ให้น้อยที่สุด”
พลอย : หัวใจของการใช้ชีวิตแบบไม่ผลิตขยะ คือต้องซื้อแล้วใช้จริงๆ ใช้จนมันพัง แล้วของที่ซื้อมา ไม่ใช่ว่าซื้อมาใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งมันต้องสามารถรีไซเคิลได้ และรู้ว่าถ้ามันกลับไปในกองขยะหรือขยะที่เราสร้างมันสามารถนำไปผลิตซ้ำใหม่ หรือสามารถเอาไปละลายวัสดุแล้วกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งได้ ขยะทุกประเภทสามารถนำไปจัดการได้ อยู่ที่ว่าคุณจะทิ้งลงพื้นเลยหรือเปล่า หรือเอาไปจัดการในรูปแบบไหนต่อมากกว่า
“คำว่า Zero Waste สำหรับเราคือวิถีชีวิตมากกว่า
มันแล้วแต่คนเลยว่าจะเริ่มลองใช้ชีวิตแบบนี้เพราะอะไร และเพื่ออะไร”