รู้ตัวหรือเปล่า? ‘เจ้าพระยา’ แม่น้ำสายหลักที่คนไทยอาศัยพึ่งพิงมาแต่อดีต และมรดกของชาติที่เป็นแลนด์มาร์กดึงดูดนักท่องเที่ยว กำลังจะเปลี่ยนไป!! โปรเจ็คท์ทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลุงประยุทธผุดไอเดียและผ่านแผนโครงการตั้งแต่ปี 2558 เดิมทีจะเริ่มสร้างตั้งแต่ต้นปี 2559 แต่หลังจากที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้โครงการต้องถูกชะลอออกไป มาดูกันว่าล่าสุดแผนโครงการใหม่นี้ผ่านความเห็นชอบและดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ท่ามกลางความสงสัยต่างๆนานาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “สิ่งก่อสร้างนี้ได้ศึกษาวิเคราะห์มาดีแล้วจริงหรือ?” แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ลองมาแชร์กัน
River Project : ทำความเข้าใจภาพรวม
เริ่มจากรัฐบาลคิดโครงการทางเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเมื่อปี 2558 ออกแบบให้มีระยะทางทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร (ฝั่งพระนคร 36 กิโลเมตร และฝั่งธนฯ 21 กิโลเมตร) กว้างฝั่งละ 10 เมตร เพื่อเป็นเลนจักรยานและทางคนเดิน ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ไปจนถึงสุดเขตกรุงเทพฯ โดยตั้งงบไว้ 30,000 ล้านบาท
มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวเรือใหญ่ มอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนแม่บทและจ้างทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง รับผิดชอบงานออกแบบโครงสร้าง และมหาวิทยาลัยขอนแก่นรับผิดชอบงานศึกษาและทำรายงานเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้วงเงิน 120 ล้านบาท
วัตถุประสงค์ในการออกแบบ โดยยืดตามแนวคิด ‘Chao Phraya for All’ แม่น้ำเพื่อประชาชน
• เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน คนพิการ และนักท่องเที่ยว ให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
• ส่งเสริมการใช้พื้นที่ในรูปแบบที่หลากหลาย เป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่างๆตามบริบทของพื้นที่
• เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว วัดโบราณสถาน ลานกีฬา กิจกรรม และระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยการเดิน-ปั่น
• อนุรักษ์วิถีชุมชนริมน้ำ เกิดการปฏิสัมพันธ์ในระดับชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
• ฟื้นฟูแม่น้ำให้งดงาม พัฒนาภูมิทัศน์ เสริมภาพลักษณ์แก่กรุงเทพฯ
• แก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม และเคารพสิทธิ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
• พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วม
Current Plan : อัพเดตความคืบหน้าล่าสุด
หลังจากลงพื้นที่สำรวจและพบปะหารือกับผู้นำชุมชน ชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านเพื่อขอความร่วมมือ กทม.สั่งเดินหน้าระยะนำร่อง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวม 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 – สะพานพระปิ่นเกล้า เร่งรื้อบ้านเรือนที่รุกล้ำแม่น้ำในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตบางพลัด เขตดุสิต และเขตบางซื่อ รวมทั้งสิ้น 285 หลังคาเรือน ดำเนินการรื้อถอนไปแล้วเกือบ 50% โดยจัดสรรเงินเยียวยารวม 104.53 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2561
แต่อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี 2561 อาจจะล่าช้าออกไปอีก เพราะกทม.กำลังอยู่ระหว่างหาผู้รับเหมา และต้องรอให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เห็นชอบรูปแบบการก่อสร้างเสียก่อนซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
สำหรับผังแม่บทระยะนำร่องนี้ แบ่่งออกเป็น 12 แผนงาน ประกอบด้วย
1. พัฒนาพื้นที่ชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว
2. พัฒนาแลนด์มาร์คริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และเขตพระราชฐาน
3. พัฒนาท่าเรือ เพิ่มการสัญจรทางน้ำให้สะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น
4. พัฒนาเส้นทางให้เข้าถึงพื้นที่ เช่น ตรอกซอกซอยต่างๆ
5. พัฒนาทางเดินริมแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมทั้ง 2 ฝั่ง
6. ปรับปรุงเขื่อนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม
7. พัฒนาศาลาริมน้ำให้เป็นจุดพักผ่อน
8. พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว จุดบริการจักรยาน
9. พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน วัดวาอาราม
10. พัฒนาพื้นที่แนวคูคลอง และภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง
11. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
12. สร้างสะพานคนเดินข้ามใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูล ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี และจากห้างแม็คโครสามเสน ข้ามไปยังท่าทราย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84
Social Comments : เสียงคัดค้านจากประชาชน
ตลอดระยะเวลา 2 ปีตั้งแต่เริ่มวางแผนโครงการ ก็มีประชาชนหลายกลุ่มออกมาต่อต้าน และชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นหากรัฐไม่ศึกษาให้ดี ยกตัวอย่างกลุ่ม ‘Friends of the River’ ที่เป็นการรวมตัวของสถาปนิกและนักออกแบบ สร้างเพจเฟซบุ้คขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลและเป็นแพลตฟอร์มแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงลงพื้นที่ชุมชนและสะท้อนสิ่งที่ชาวบ้านคิด พร้อมเสนอข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐ
แม้แต่องค์กรโลก ‘World Monuments Watch’ ก็ขึ้นทะเบียนแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็น 1 ใน 28 พื้นที่ทรงคุณค่าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกังวลว่าโครงการของรัฐจะรุกล้ำทำลายพื้นที่ทรงคุณค่า โดยเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่แสดงความเห็นของทุกภาคส่วน ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ และปรับการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับบริบทก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างใดๆ
เหตุผลในการคัดค้านรูปแบบของโครงการโดยสรุป คือ
• ขาดการสำรวจความคิดเห็น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
• การก่อสร้างรุกล้ำแม่น้ำ ทำให้ลำน้ำแคบลงถึง 15-20% กีดขวางการไหลของน้ำทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯมากขึ้น เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและเป็นที่สะสมขยะใต้ทางเดิน
• บดบังทัศนียภาพ วัง วัด และวิถีชุมชนริมน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพ
• มีรูปแบบมาตรฐานเดียวตลอดสองฝั่งแม่น้ำ ประโยชน์จากพื้นที่ใช้สอยไม่มีความหลากหลาย
• ปิดกั้นการเข้าถึงจากชุมชน อาจเป็นแหล่งอาชญากรรม ซื้อ-ขายยาเสพติด แข่งมอเตอร์ไซค์ หรือที่อาศัยของคนไร้บ้าน
• ขาดการศึกษาผลกระทบที่รอบด้าน ทั้งด้านชลศาสตร์ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านภูมิทัศน์ ด้านนิเวศน์วิทยา ด้านผังเมือง และด้านสถาปัตยกรรม
• งบประมาณไม่โปร่งใส ขาดการวิเคราะห์ที่เหมาะสม โครงการขนาดใหญ่เกินความจำเป็น
Suzhou Creek : ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนเข้ากับน้ำ
คลองที่ไหลผ่านเมืองเซี่ยงไฮ้ความยาว 12.5 กิโลเมตร อดีตเคยเป็นย่านอุตสาหกรรมซึ่งมีการปล่อยน้ำเสีย กระทั่งปี 1996 ก็เริ่มมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และได้รับการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในปี 2015 ออกแบบโดย SASAKI
การออกแบบที่น่าเอามาเป็นแบบอย่าง ได้แก่การพัฒนาที่ไม่ได้มองแค่เส้นเลียบไปกับแนวคลอง แต่รวมไปถึงก้อนพื้นที่ที่อยู่ริมน้ำ โดยเพิ่มพื้นที่ Mixed-use ในชุมชนที่ขาดการพัฒนา และเชื่อมคลองเข้ากับสถานที่สำคัญๆเช่น สถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ กับย่านศิลปะ M50 Arts District มีลานกิจกรรมและสวนสาธารณะ (Node) ระยะห่างกันไม่เกิน 500 เมตรตลอดแนวคลอง มีประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย ตอบสนองการใช้งานพื้นที่แบบต่างๆ ซึ่งในแต่ละจุดได้ลงไปศึกษาสถาปัตยกรรมและอาคารเก่าแก่ในแต่ละชุมชน เพื่อคงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมก็มีพื้นที่่ชุ่มน้ำลดหลั่นจากเมืองไปสู่น้ำ ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและทำให้ผู้คนได้สัมผัสและอยู่ใกล้ชิดกับน้ำอย่างแท้จริง
Chicago Riverwalk : ต้นแบบพื้นที่สาธารณะริมน้ำที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
นอกจากโปรเจ็กท์ที่เซี่ยงไฮ้ Sasaki ยังมีอีกหนึ่งผลงานที่ร่วมออกแบบกับสถาปนิกชื่อ Ross Barney นั่นก็คือทางเท้าเลียบแม่น้ำกึ่งพื้นที่สาธารณะ ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำ Chicago เริ่มตั้งแต่ Lake Shore Drive ไล่ยาวไปจนถึง Franklin st. ใช้เวลาถึง 15 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ เปิดอย่างเป็นทางการในปี 2009 และเพิ่งผ่านการออกแบบใหม่เพื่อปรับปรุงและขยับขยายเมื่อปี 2016 โดยมีขนาดเพิ่มขึ้นถึง 6 บล็อกถนน
Chicago Riverwalk เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการออกแบบย่านอุตสาหกรรมให้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม ที่จัดการพื้นที่ใช้สอยได้อย่างคุ้มค่า ให้ชาวเมืองได้ออกมาเดินเล่นพักผ่อนวิ่งออกกำลังกาย โดยแต่ละจุดก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป เช่น ศูนย์กลางพลาซ่า ลานอาบแดด น้ำพุ ท่าเทียบเรือให้เช่า สะพานข้ามแม่น้ำ สวนลอย และบันไดสโลปให้ผู้คนมานั่งพักผ่อน พบปะสังสรรค์ หรือนั่งอ่านหนังสือ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่อยๆทั้งร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ ให้นั่งชิคๆชมวิวเมืองทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน