‘ซาว เอกมัย’ ร้านอาหารอีสานต้นตำรับจากอุบลฯ - Urban Creature

“อะไรคือสิ่งที่ทำให้อีฟหันมาเสนอความแซ่บของสำรับอีสาน”

“เราต้องการให้คนเปลี่ยน Perception ที่มีต่ออาหารอีสาน ว่ามันไม่ใช่แค่ของราคาถูก”

คำตอบของ อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เมื่อเราถามถึงเป้าหมายของร้าน ‘ซาว เอกมัย’ ที่เธอลงมือฟูมฟักตั้งแต่สาขาแรกในจังหวัดอุบลราชธานี จนขยับขยายสู่สาขาสองที่เพิ่งแลนดิ้งในย่านเอกมัยมาได้ไม่นาน พร้อมหยิบวัตถุดิบพื้นบ้าน กรรมวิธีการปรุง และสำรับอาหารในแบบที่คนอีสานกินแบบไหน ซาวก็เสิร์ฟแบบนั้นให้ได้ลิ้มลอง

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

อันที่จริงคุณอาจจะรู้จักอีฟจากบทบาทหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Foundisan กลุ่มคนทำงานด้านดีไซน์ที่เล่าเรื่องอีสานผ่านงานออกแบบและงานคราฟต์ร่วมสมัย ซึ่งฉีกกรอบภาพจำของสินค้าโอท็อปแบบเดิมๆ ด้วยการ Redesign โปรดักต์เพื่อสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น แน่นอนว่าวิชวลที่ออกมานั้นเต็มไปด้วยสีสัน ความสนุก และทันสมัยมากกว่าที่เคย

หลังจากลงมือทำ Foundisan มานาน 3 – 4 ปี อีฟก็เจอโจทย์หินว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าโอท็อปขายได้ แม้จะเอามายกเครื่องใหม่ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ประกอบกับการลงพื้นที่ในทุกๆ ครั้ง อีฟจะได้ชิมอาหารฝีมือแม่ๆ ซึ่งมีคัลเจอร์ที่น่าสนใจ เพราะอีสานแต่ละจังหวัดก็มีเครื่องปรุงและวัตถุดิบบางอย่างแตกต่างกัน จึงกลายเป็นจุดประกายเล็กๆ ที่อยากเล่าวัฒนธรรมอีสานให้ง่ายกว่างานคราฟต์ ซึ่ง ‘อาหาร’ คือคำตอบ

ร้านที่อยากเปลี่ยนมุมมองของคนต่ออาหารอีสาน

‘ซาว อุบลฯ’ คือซาวสาขาแรกที่อีฟได้เริ่มทำในช่วงที่ธุรกิจรถเกี่ยวข้าวของเธอกำลังจะไม่ได้ไปต่อ จึงชวนพนักงานของบริษัทลงพื้นที่ตระเวนกิน เฟ้นหาวัตถุดิบ รวมไปถึงสูตรอาหารต่างๆ โดยมีระยะเวลาเตรียมการเพียง 3 เดือนเท่านั้น สุดท้ายก็มาตั้งต้นที่สูตรอาหารของ ‘ยายจุย’ แม่นมของอีฟที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เกิด พร้อมกับสูตรอาหารของพนักงานที่มาเสริมทัพความแซ่บให้สมบูรณ์

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

“ที่เลือกสูตรจากบ้านตัวเอง เพราะเราไม่ใช่คนทำอาหารตั้งแต่แรก พอเราเริ่มก็ต้องเอาคนใกล้ตัวที่สุด แล้วยายจุยเป็นคนทำอาหารอร่อยมากๆ อยู่แล้ว ทั้งอร่อยและถูกปาก เป็นรสชาติที่เรากินมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะแจ่วยายคืออร่อยมาก ตอนไปเรียนเมืองนอกก็ให้เขาตำส่งไปเป็นกิโลฯ ขาดไม่ได้เลย

“อีกอย่างคือเวลาเพื่อนๆ มาที่บ้านจะขอกินข้าวที่บ้านเลย เพราะมันอร่อยกว่าข้างนอก แล้วยายจะทำอาหารรสชาติที่ตัวเองกิน มันจริงใจ และเป็น Soul Food ซึ่งเราว่าแต่ละบ้านก็ไม่เหมือนกัน เป็นเสน่ห์ของใครของมัน

“แต่ก่อนเรากินข้าวนอกบ้านตลอดเลยนะ กลับไปกินที่บ้านนิดหน่อย สักคำสองคำ ไม่งั้นยายงอน แต่มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อกายไล เจ้าของร้านอาหาร Tonkin Annam เขาบอกว่า โห อาหารที่บ้านพี่อีฟยิ่งกว่า Chef’s Table อีกนะ เราก็ถามว่าทำไมล่ะ เขาก็บอกต่อว่านี่คือ Soul Food มันคืออาหารที่ทำด้วยจิตวิญญาณในทุกจาน ใส่ใจ ทำให้คนที่รักกิน วัตถุดิบก็สด คนขายปลาปั่นจักรยานมาขาย ยายก็เอาไปทำเลย ส่วนผักก็เก็บจากที่ปลูกข้างบ้าน แล้วทุกมื้อเป็นสำรับเพราะยายทำสี่ถึงห้าอย่าง แล้วเขาก็บอกว่าต่อไปไม่ต้องกินข้าวที่ไหนแล้วนะ ให้กินข้าวฝีมือยายนี่แหละ”

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

อันที่จริงก่อนเปิดร้านซาว อุบลฯ อีฟได้แชร์ให้เราฟังว่า เธอเคยมีโปรเจกต์ชื่อว่า ‘ลาวดี’ เป็น Chef’s Table ที่พูดถึงเรื่อง Perception ของคนที่มีต่อปลาร้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก โดยมี ‘ยายจุย’ เป็นทั้งเชฟและเจ้าของสูตรอาหารหลักในงาน แน่นอนว่าวัตถุดิบชูโรงของยายคือ ‘ปลาร้าหอม’ ที่ลงมือหมักเอง

ทุกจานในคอร์สลาวดีล้วนใส่ปลาร้า จะมาก-น้อยขึ้นอยู่กับแต่ละเมนู โดยตอนเริ่มเปิดโต๊ะมีเพียงแค่เมนูแจ่วเท่านั้น ที่เธอเฉลยตั้งแต่ต้นว่ามีปลาร้าเป็นส่วนผสม ซึ่งอีฟเล่าต่อว่าคนที่ไม่กินปลาร้ากลับกินทุกเมนูได้อย่างเอร็ดอร่อย และไม่แตะแจ่วเลยสักนิด เพราะรู้ว่ามีปลาร้า พอเธอมาเฉลยว่าทุกจานใส่ปลาร้าก็มีคนโกรธไปเลย

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

“เรารู้สึกว่ามันแปลกเหมือนกันนะ ทำไมมนุษย์ถึงปิดกั้นอะไรได้ง่ายจัง ทำไมถึงไม่ใช้ลิ้นกิน แต่ใช้สมองกิน ทั้งๆ ที่สมองมันไม่ได้มีเอาไว้ชิม ลิ้นต่างหากที่เอาไว้เทสรสชาติ

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัด คือคนยังเข้าใจผิดอยู่เยอะ ใช้สมองในการกินอาหารมากไปหน่อย ตัดสินเร็วเกินไป พอบอกว่าอีสานปุ๊บจะมีมายด์เซตที่ไม่ดีทันที ส่วนตัวเราก่อนหน้านั้นไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้ รู้สึกเฉยๆ มาก เพราะเราอยู่กับอาหารอีสานมาจนชิน พออยู่กับคนอื่นถึงรู้ว่ามีคนกลัว มีคนไม่กล้ากิน ดังนั้นเราต้องสื่อสารให้เยอะขึ้น เพื่อให้คนเข้าใจ และเปลี่ยนภาพจำนั้น”

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

นั่นเลยเป็นที่มาของภารกิจในการเปิดร้านซาวว่าอยากเปลี่ยนมุมมองของคนที่มีต่ออาหารอีสานว่าสกปรก ไม่มีคุณค่า ให้คนเล็งเห็นถึง Value ผ่านการทำ Branding ให้น่าสนใจ ด้วยการนำทักษะการดีไซน์ของอีฟที่มีอยู่ติดตัวมาใส่ลงไปในอาหารอีสาน

“เราแค่นำมาจัดวางใหม่ให้สวย แต่คงรสชาติเดิม ไม่ต้องพูดเยอะ ถ้าเขาอยากถ่ายรูปก็มาเอง (หัวเราะ)”

จาก ‘ซาว อุบลฯ’ สู่ ‘ซาว เอกมัย

หลังจากลงมือทำสาขาแรกที่อุบลราชธานีมานานกว่า 3 ปี ก็มีคนมาติดใจรสมือยายจุยอยู่ไม่น้อย เรียกว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่ซาว อุบลฯ จะขยับขยาย เพื่อส่งต่อความแซ่บของอาหารอีสานให้คนกรุงได้รู้จัก โดยวัตถุดิบในร้านส่วนใหญ่ส่งตรงมาจากตลาดวารินชำราบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อความสดใหม่

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

ตลาดวารินชำราบ เป็นตลาดที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งซาวอุบลฯ มักเลือกใช้ของจากที่นี่ เพราะเป็นตลาดใกล้ร้าน ชาวบ้านจะนำผักหรือปลาที่จับได้มาวางขายหมุนเวียนไปตามฤดูกาล บางวัตถุดิบหาซื้อในตลาดวารินฯ ไม่ได้ อีฟก็ยังคงเลือกจากเกษตรกรหรือพ่อค้าแม่ค้าในอีสาน เพราะอยากให้พวกเขากินดี อยู่ดี

“ที่เรายังเลือกใช้วัตถุดิบจากตลาดวารินฯ มันเป็นเพราะเรารู้สึกว่าถ้าเริ่มจากตรงไหน ก็ควรทำให้คอมมูนิตี้นั้นแข็งแรงก่อน ถ้าสเกลเริ่มใหญ่ขึ้น เราค่อยขยับขยายไปสู่อีกคอมมูนิตี้หนึ่ง ซึ่งเป้าหมายของเราคืออยากให้คนอีสานอยู่ดี กินดี แต่ถ้าจะทำได้จริงก็ต้องมีการซื้อขายที่เยอะมากขึ้น ในตอนนี้เรายังไม่ได้ใช้วัตถุดิบเยอะขนาดนั้นหรอก มันต้องมีสาขาเยอะกว่านี้ เขาถึงจะปลูกได้เยอะขึ้นอีก”

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

แน่นอนว่ากรุงเทพฯ มีร้านอาหารใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ชนิดที่ต่างคนต่างประชันกันด้วยไอเดีย แล้วเหตุผลที่ซาวมาเปิดในกรุงเทพฯ เพื่อทำอาหารรสอีสานแท้ๆ ให้คนกรุงถูกใจคืออะไรกัน?

“เราว่ากรุงเทพฯ คนมันเยอะ ถ้าอยากให้คนเปลี่ยนมายด์เซตจริงๆ ก็ต้องพาอาหารอีสานมาที่คนอยู่เยอะๆ เพราะเปลี่ยนที่อุบลฯ คนก็ไม่เชื่อหรอกว่าเปลี่ยนได้ เพราะเรากินกันแบบนั้นอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าอาหารอีสานมีค่าหรือไม่มีค่า”

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

ซึ่งการย้ายมาของซาวสู่ซอยเอกมัย 10 – ปรีดี พนมยงค์ 25 ถูกจัดวางอยู่ในอาคารสถาปัตยกรรมยุคเก่า กับผนังคอนกรีตพร้อมป้ายโลโก้สีส้มที่ชวนมอง และเพิ่มความเขียวขจีให้ดูน่าหลงใหลจากต้นไม้ที่ล้อมรอบ หากมองเผินๆ อาจดูเหมือนคาเฟ่เก๋ๆ แต่ใครจะรู้ว่าที่แห่งนี้แหละ คือแหล่งรวมอาหารอีสานแท้ๆ ชนิดที่คนอีสานมากินยังเอ่ยปากว่า ‘คิดฮอดบ้านเฮา’

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

อีฟเสริมว่าพนักงานในร้านเป็นคนอีสาน ซึ่งทุกคนทำอาหารเป็นหมด และเมนูในร้านไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเขา เพราะทุกคนเติบโตมากับสิ่งนี้ เข้าใจทันทีว่า ‘ก้อย’ ‘ลาบปลาตอง’ ‘ป่นปู’ คืออะไร ไม่ต้องมานั่งท่องจำสูตรเหมือนอาหารอิตาเลียน (เธอว่าอย่างนั้น) รวมถึงบางทีก็ทำเมนูมาแข่งกันว่าของใครอร่อยกว่า และเลือกมาเป็นเมนูในร้าน

กฎเหล็กคือเปิดใจม่วนไปกับอาหารอีสานมื้อนี้

เมื่อนั่งไล่ดูเมนูซาวตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย คุณจะพบว่าบางเมนูอาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ซึ่งสำรับอีสานที่ซาวนำเสนอไม่ใช่การครีเอตเมนูขึ้นมาใหม่ แต่มันคือ ‘Authentic’ (ต้นตำรับ) คนอีสานกินแบบไหน ซาวขายแบบนั้น คนอีสานกินรสไหน ซาวขายรสนั้น และไม่ใช่เมนูหากินยากในอีสานแน่นอน

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

ก่อนเริ่มชิม เราเปิดใจสารภาพกับอีฟตรงๆ ว่าแอบเห็นเมนูแล้วไม่เคยลองกินสักอย่าง และกล้าๆ กลัวๆ จะยกซด เพราะหน้าตาดูกินยากกว่าที่คิด ซึ่งอีฟบอกทันทีว่า “เห็นไหม มันเป็นเรื่องของมายด์เซต

“ลองเปลี่ยนใหม่ ใช้ปากกิน ถ้าไม่อร่อยแค่คายทิ้ง มัน Simple มาก ไม่มีใครบังคับ แค่ต้องเปิดใจลองกินก่อน อีกอย่างเราก็ตั้งใจทำสเปซสวยขนาดนี้แล้ว จะเอาขี้หมูขี้หมามาให้กินมันก็ไม่ใช่ไง เอ้อ”

ไหนๆ เขาก็ยกความแซ่บจากอีสานมาเสิร์ฟถึงที่ก็ลองเปิดใจกินดูสักตั้ง

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

สำหรับเมนูอาหารที่ได้ซีมเบิ่งเป็นจานแรกคือ ‘ตำกวยจั๊บญวนปลาร้าหมูยอ’ รวมของดีอุบลฯ ไว้ในจานเดียว ทั้งหมูยอ เลือดหมู และเส้นกวยจั๊บ ที่มีความกรึบ หนึบ เคี้ยวเพลิน พร้อมปลาร้าหอมสูตรยายจุย เรียกว่าม่วนอีหลี ไม่เผ็ดจนน้ำหูน้ำตาไหลอย่างที่คนเข้าใจว่าอาหารอีสาน = ยิ่งเผ็ดยิ่งดี พอโรยด้วยหอมเจียวกรอบๆ ทำให้จานนี้สนุกยิ่งขึ้น เพราะความหลากหลายของเทกซ์เจอร์

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

เติมความสดชื่นด้วย ‘ตำแตงโมปลาร้าหอม’ ซึ่งเป็นเมนูที่อีฟกินมาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่ตอนนั้นยายจะผ่าครึ่ง ใช้ช้อนขูดๆ ออกมา โรยข้าวคั่ว พริกป่น หอมเจียว ปลาร้า แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน แต่เมื่อเสิร์ฟในร้านซาวอีฟได้เปลี่ยนโฉมให้ร่วมสมัยมากขึ้น ด้วยการหั่นเต๋าเป็นลูกสี่เหลี่ยม ราดน้ำปลาร้า และท็อปปิงสะระแหน่เพื่อเพิ่มความหอม

ถัดมาเป็นเมนูปลาซึ่งเป็นเนื้อสัตว์หลักที่อีฟกินตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะ ‘ปลายอนย่าง’ เนื้อหนึบ สด ส่งตรงจากแม่น้ำมูล เสียบเข้ากับไม้ไผ่ป่า ซึ่งเธอเสริมว่าเวลาคนอีสานเขาจับปลาเสร็จ ก็จะเอามาเสียบไผ่ป่าแล้วปิ้งกินแบบนี้นี่แหละ 

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

สำหรับรสชาติของเมนูนี้ปรุงแค่เกลือเท่านั้น ก่อนปลายอนจะสุกได้ที่ ก็โรยด้วยต้นหอม เท่านี้ก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว ส่วนใครอยากบีบมะนาวเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยนัวขึ้นอีก ก็ทำได้เช่นกัน

‘คางปลาส้มทอด’ ถือเป็นหนึ่งในเมนูที่ไม่มีใครทำขาย โดยซาวจะนำปลาไปหมักทำให้มีรสเปรี้ยว แล้วเอามาชุบแป้งทอด เติมเกลือลงในแป้งนิดหน่อยเพื่อเสริมรส เมื่อกัดคำแรกให้รสชาติที่สนุกมากอยู่ในปาก ทั้งความกรอบจากแป้ง ความเค็มเล็กน้อย เนื้อปลาเด้งไม่แห้ง และความเปรี้ยวของคางปลาส้ม ซึ่งเปิดโลกทัศน์ความแซ่บของสำรับอีสานได้อย่างดี

‘แจ่ว 3 อย่าง’ เมนูที่มีแจ่วพริกปี แจ่วปลาช่อน และแจ่วยายจุย เสิร์ฟพร้อมผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งสามารถกินแบบเบาๆ ท้อง หรือจะเสริมด้วยแคบหมู จกกินคู่กับข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำร้อนๆ ก็แซ่บใช้ได้

ปิดท้ายด้วย ‘ก้อยแม่เป้ง’ (แม่เป้งแปลว่านางพญาของมดแดง) ถ้าใช้ตามอง บางคนอาจรู้สึกว่ารสชาติคงเข้าถึงยาก แต่กลับผิดคาด เพราะเมนูนี้ให้ความสดชื่นเหมือนได้รีเฟรชอีกครั้ง ด้วยการยกขบวนสมุนไพร ทั้งหอมแดง ตะไคร้ พริกซอย จากนั้นปรุงด้วยเกลือ มะนาว คลุกเคล้าให้เข้ากัน เสิร์ฟคู่กับผักแนม บอกเลยว่าคอดื่มต้องได้เมนูนี้ไปแกล้มเบียร์

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

“เราเถียงกันในทีมว่าไม่มีใครกินหรอกนางพญามด เรากินเฉพาะไข่มดแดง ในทางกลับกัน เราจะเอาแค่ไข่มาทำอาหารทำไม เพราะมีไข่ก็ต้องมีนางพญาถูกไหม ซึ่งตอนลองทำกินในครัวทุกคนชอบมาก สดชื่น แต่บอกว่าอย่าเอาไปใส่ในเมนูเลย มันน่ากลัว เราบอกว่าไม่ได้ ต้องใส่ กลายเป็นว่าก้อยแม่เป้งขายดีสุด ทุกโต๊ะสั่งเมนูนี้ ยิ่งกินคู่กับเนเชอรัลไวน์ด้วย ยิ่งเข้ากันมาก”

แน่นอนว่าความแซ่บยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหลายเมนูที่เราหมายตาไว้ ไม่ว่าจะเป็นปลาวง, ตำมังคุดปลาร้าหวาน, หมกหลามปลาปึ่ง หรือป่นปูนา ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้หากินในกรุงเทพฯ ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็อยากชิมให้ครบรสอีสานแท้ๆ แบบซวดลวดเด้อ 

กินแบบไหน ทำแบบนั้น ไม่มีปลอม

ความพิเศษของอาหารอีสานที่อีฟมองเห็นคือ ‘ความซื่อ’ ที่เรียบง่ายแต่อร่อย รวมถึงคนอีสานอยู่กับธรรมชาติเก่ง มีอะไรก็เอาสิ่งนั้นมาทำเหมือนกับชื่อร้าน ‘มีอะไรก็ซาวมาเฮ็ด’ แถมคนอีสานยังกินอาหารตามฤดูกาลมาตั้งแต่เกิด ก่อนที่คำว่า ‘Seasonal’ จะเอามาตั้งอยู่บนบรรดา Chef’s Table เสียอีก

อีฟมองว่าตอนนี้ซาวเพิ่งเริ่มต้นเพียงก้าวเดียวบนเส้นทางอันแสนยาวไกล โดยเป้าหมายที่เธอและเพื่อนร่วมทีมกำลังมุ่งหน้าทำให้สำเร็จก็คือ การเปลี่ยน Perception ของผู้คนที่มีต่ออาหารอีสาน ซึ่งอีฟมองว่านี่คือโจทย์ที่ยากที่สุด

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

“มันมีลูกค้าที่เข้ามาบอกว่ากล้าขายราคานี้ได้ยังไง ซึ่งเรารู้สึกว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ให้ค่ากับสิ่งที่เราทำ อยากให้ลองดูสเปซที่เรากำลังนั่งกิน ดูสิ่งที่เราเสิร์ฟ จานในร้านก็เป็นงานคราฟต์ปั้นเอง ทุกอย่างมันถูกคิดมาหมด มีคัลเจอร์ซ่อนอยู่ในนี้ ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ Appreciate ขนาดนั้น แสดงว่าเราต้องสื่อสารเยอะขึ้น 

“สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างไก่บ้าน มันต้องเหนียว ถ้าคนไม่เคยกินเขาจะตกใจ แต่คนอีสานมากินคือชอบมาก คิดถึงบ้านมาก ซึ่งเราทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วเหนื่อยมาก อยากกินอาหารอีสานสไตล์ Homie แต่มันไม่มีเลย เพราะมันถูกดัดแปลงให้ถูกปากคนทั่วไปหมดแล้ว

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

“จริงๆ ก็มีคนมาสะกิดนะว่าปรับหน่อยไหม รสชาติ เนื้อสัมผัส อย่างเนื้อแดดเดียวอีสานมันเหนียว ซึ่งมันต้องค่อยๆ เคี้ยว ค่อยๆ อม แล้วมันไม่ใช่เนื้อหมักอะ แต่เราก็ชัดเจนว่าไม่เปลี่ยน เพราะไม่งั้นเนื้อแดดเดียวที่เรากินจะหายไป ถึงแม้จะเป็นกลุ่มน้อย แต่มันก็ชัดเจน เราต้องไม่เขว เพราะเราขายว่าคนอีสานกินยังไง เราขายแบบนั้น เดี๋ยวต่อไปจะเขียนในเมนูเลยว่า เหนียวมากกกกก (หัวเราะ)”

หลังจากเปิดบริการมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ร้านก็เต็มแทบทุกเวลา จนปากต่อปากว่าแนะนำให้จองก่อนแลนดิ้งไม่งั้นจะชวดอดกินสูตรปลาร้าหอมของยายจุย และเมนูแซ่บๆ อีกมากโข 

zao ekkamai ซาว เอกมัย อาหารอีสาน กรุงเทพฯ

ซาว เอกมัย
เวลาเปิดทำการ : วันพุธ-วันจันทร์ 11.00 – 21.00 น. (ปิดทุกวันอังคาร)
โทรศัพท์ : 06-3246-9545
ที่ตั้ง : 155 ซ.ปรีดี พนมยงค์ 25 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 | shorturl.at/hksy5
Facebook : facebook.com/zaoekkamai
Instagram : instagram.com/zaoisan

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.