‘ยุ๊มมาฉ่า เพื่อพี่น้องชาวอาข่า’ เป็นโครงการที่ดำเนินงานจากความร่วมมือของชุมชนบ้านป่าซางนาเงิน และโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในการก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ในชื่อ ‘อาคารพิงไผ่’ จาก ‘ไม้ไผ่’ ซึ่งมีอยู่เดิมในพื้นที่
เพื่อให้อาคารพิงไผ่กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอาข่าและพัฒนาคุณภาพทักษะการใช้ไม้ไผ่ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างแนวทางการต่อยอดสู่การสร้างรายได้ของชุมชนบ้านป่าซางนาเงิน รวมถึงสร้างพื้นที่ที่เยาวชนและคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมผ่านการคิด การออกแบบ และพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
ปัจจุบันโครงการยุ๊มมาฉ่า เพื่อพี่น้องชาวอาข่า ได้ดำเนินโครงการนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ตั้งแต่การระดมทุน ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน การศึกษาดูงานการออกแบบอาคาร และลงมือปฏิบัติจริง
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ่อยืดอายุไม้ไผ่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานในระยะยาว หรือการจัดเวิร์กช็อปฝึกอาชีพออกแบบสิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร จนในที่สุดอาคารพิงไผ่ก็เปิดใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
อาคารพิงไผ่เป็นผลงานการออกแบบร่วมกันระหว่างโครงการยุ๊มมาฉ่า เพื่อพี่น้องชาวอาข่า และ Bamboosaurus Studio ผ่านการนำคุณค่าและอัตลักษณ์ด้านไม้ไผ่ของชุมชนบ้านป่าซางนาเงินและรูปแบบของ ‘หมวกทรงสูงของชาวอาข่า’ มาพัฒนาออกแบบและต่อยอดให้ออกมาเป็นอาคารสาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อผสานประสบการณ์ที่หลากหลายจากแต่ละคน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ไม้ไผ่
และตัวอาคารจะกลายเป็นที่ทำการของ ‘วิสาหกิจชุมชนพัฒนาไผ่ดอยตุง’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำไม้ไผ่ภายในพื้นที่มาสร้างรายได้ให้คนในชุมชนต่อไปในอนาคต รวมถึงอาจมีการเปิดหลักสูตรท้องถิ่นให้เยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้บนทรัพยากรที่มี และต่อยอดทักษะความรู้ให้เห็นถึงสิ่งที่มีในชุมชน เพื่อให้อาคารพิงไผ่แห่งนี้เป็นเหมือนพื้นที่เรียนรู้ที่เชื่อมโยงโรงเรียน ชุมชน และคนนอกชุมชนที่สนใจอยากเรียนรู้บริบทในพื้นที่
หลังจากนี้ทางโครงการยังมีแผนพัฒนาโครงการด้วยการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานไม้ไผ่อย่างยั่งยืนไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายในการสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ อีกทั้งยังทำให้คนกลับมาใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงมีการสร้างเพจ ‘เมาท์เล่า Mount Laugh’ สำหรับบอกเล่าเรื่องราวของชาติพันธุ์อาข่า วิถีชีวิต ผู้คน และทรัพยากรจากภูเขาและผู้คน เพื่อสานต่อคุณค่าของชุมชนอย่างยั่งยืน