อย่าไปกลัวโลกที่เราช้าลงเมื่อไหร่ คนอื่นพร้อมวิ่งแซง - Urban Creature

‘รู้สึกผิดมากเลย ที่ต้องมาเครียดเรื่องความรัก แทนที่จะไปเครียดเรื่องงาน’

สาวผู้บริหารคนหนึ่งเคยบ่นกับเรา เพราะเธอเพิ่งอกหักจากความรักที่คาดหวังไว้มาก

ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ ที่ผู้คนวัยทำงานเริ่มหันมามองการดูแลทะนุถนอมหัวใจว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา

มันคืออะไรกันแน่ที่ทำให้ ‘บทสนทนาเรื่องความรู้สึก’ ได้รับการยอมรับน้อยกว่าบทสนทนาเรื่องการลงทุน ผลกำไร หรือการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

เราขอตอบเลยว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเรานั้นล้วนอาศัยอยู่ในโลกแห่งทุนนิยม

ทุกคนพอจะเข้าใจดีว่า หน้าตาของระบบทุนนิยมคือระบบเศรษฐกิจที่เน้นการแข่งขัน เร่งผลผลิต และคืนกำไรขึ้นไปสู่นายทุน

อ่านมาถึงตรงนี้คงเริ่มคิ้วขมวดกันว่า เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับสุขภาพจิตเราด้วย

เพราะในความเป็นจริงแล้ว สุขภาพจิตที่ดีแทบสร้างได้ยากมากๆ หากมาจากเราเพียงฝ่ายเดียว เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทางจิตใจไม่ว่าในทางดีหรือไม่ดี จากสังคมที่เราอยู่หรือผู้คนที่รายล้อมเราเสมอ

สิ่งที่ระบบทุนนิยมมีอิทธิพลต่อการกระทบใจเราก็คือ

1) ชีวิตเสพติดการแข่งขัน
2) ชีวิตที่ไม่อยากคิดจะหยุดพัก
3) ชีวิตที่ไม่อยากจะสนใจเรื่องหัวใจและความรู้สึก

สุขภาพจิต ปลอบใจ ปลอบประโลม รักตัวเอง

สภาพแวดล้อมที่ดำเนินด้วยความเร็วและการแข่งขัน

การทำงานในแต่ละวันที่ต้องเร่งรีบ ยิ่งทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ยิ่งดี ไปจนถึงความเครียดจากงาน บางครั้งกลายเป็นถ้วยรางวัลแห่งความมุ่งมั่นของบางคน

หากวันไหนที่เราร่วงโรยจากการจดจ่อกับงาน เมื่อนั้นจะรู้สึกว่านี่คือบาดแผลของนักรบผู้ยิ่งใหญ่

ในขณะเดียวกัน ความเครียดเรื่องงานในจังหวะชีวิตที่เร่งรีบนี้เป็นบ่อเกิดของ Anxiety หรือก้อนความวิตกกังวลให้ใครหลายๆ คน อีกหนึ่งโรคใหม่ที่หนุ่มสาวออฟฟิศคุ้นเคยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ ‘โรคกลัวไลน์’ เพราะรู้สึกมีคนต้องการตามตัวเราไม่จบไม่สิ้น ต้องตื่นตัว พร้อมรับมือปัญหาจากงานตลอดเวลา

หลายคนไม่ใช่แค่รู้สึกถึงความจำเป็นในการเอาชนะบริษัทคู่แข่ง แต่เพื่อนร่วมงานเองก็รู้สึกอยากเอาชนะด้วยเหมือนกัน เพียงเพราะอยากหลีกหนีให้ไกลๆ กับ ‘ความรู้สึกดีไม่พอ’

เราขอยกตัวอย่างความเร็ว ความแรง ความต้องแอ็กทีฟตลอดเวลาผ่านวงการเหล่านี้

– วงการข่าว : บางสื่อขอให้แค่เร็วก่อนใคร คนจะได้มาเสพข่าวช่องตัวเองเยอะๆ แต่ลืมเช็กเรื่องข้อเท็จจริงหรือรักษาจรรยาบรรณ

– วงการโซเชียลมีเดีย : นอกจากจะแข่งกันเรื่องเนื้อหาชีวิตส่วนตัวที่ต้องโดดเด่นแล้ว ยังแข่งกันเรื่องความเร็วอีกด้วย หลายครั้งเมื่อคนโพสต์รูปหรือคลิปไปเพียงไม่กี่นาที ก็ต้องคอยหมั่นเช็กว่ายอดไลก์ไปถึงไหนแล้ว โดยความมั่นใจในตัวตนจะแปรผันไปตาม ‘จำนวนของคนที่มากดสนใจ’

– วงการ Self-care : หลายครั้งเมื่ออยากจะพักผ่อนปล่อยใจ ยังต้องคิดถึงความ Productive ของกิจกรรมนั้นๆ เช่น ระหว่างอาบน้ำก็ต้องฟังพอดแคสต์เรื่องการพัฒนาตัวเอง เมื่ออยากหาแพสชันให้ตัวเอง ก็ต้องเป็นการเรียนรู้ที่นำไปต่อยอดเป็นกำไรชีวิตให้ตัวเองได้ ทั้งๆ ที่ลืมไปแล้วว่า ‘การค้นพบความสุขที่ยั่งยืน’ ต่างหากคือกำไรชีวิต

สุขภาพจิต ปลอบใจ ปลอบประโลม รักตัวเอง

สังคมที่ไม่ใช่แค่ไม่ให้ค่า ‘ความรู้สึก’ แต่อาจเผลอไปด้อยค่าด้วยซ้ำ

บางคนไม่กล้าปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ เพราะโดนสอนมาว่านั่นคือสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ทั้งที่ความจริงแล้ว การรวบรวมพลังเปิดให้ตัวเองได้เปราะบางคือความกล้าหาญมากอย่างหนึ่งต่างหาก

และก็มีบางคนมองว่า ‘การปล่อยให้ตัวเองได้พิจารณาความรู้สึก’ ยิ่งนานเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้สึกเสียเวลาทำมาหากินมากเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ความเจ็บพุ่งตรงสู่หัวใจของเรา การเฝ้ามองตัวเองค่อยๆ ได้รับการเยียวยาคือการได้ทำความรู้จักตัวเองใหม่ในเวอร์ชันที่ลึกซึ้งขึ้น 

เมื่อตัวเองสามารถจัดการความรู้สึกหนักอึ้งหรือหมองหม่นนั้นได้แล้วต่างหาก ถึงจะทำให้การทำมาหากินในชีวิตต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

แต่ละคนมีเวลาผลิบานเป็นของตัวเอง

ถ้าเราปลูกดอกไม้ดอกหนึ่ง ทุกๆ ชั่วโมงเราคงไม่ไปจ้องดอกไม้ดอกนั้นพร้อมตะโกนเร่ง ‘โตได้แล้ว!’

เราคงจะค่อยๆ รดน้ำ พรวนดิน ให้ดอกไม้ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ และเฝ้าดูเขาเติบโตในแบบของเขาเอง

คงจะไม่ผิดอะไร หากเราหาเวลามาดูแลตัวเองเหมือนที่เราดูแลดอกไม้สักดอกบ้าง

การหยุดพักเพื่อชื่นชมสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ แต่คือสิ่งที่ต้องทำ

การหยุดพักคือการเติมน้ำมัน ให้เราขับเคลื่อนตัวเองต่อได้ในวันต่อไป

สุขภาพจิต ปลอบใจ ปลอบประโลม รักตัวเอง

อ่อนโยนกับตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนความหมายของบางอย่าง

คำพูดที่เราใช้เน้นย้ำกับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะหล่อหลอมมุมมองของความเป็นตัวตนเรา

ลองมาพิจารณาว่า ในการกระทำเดิม เราสามารถให้ความหมายมันต่างออกไปจากเก่าได้ไหม แบบไหนที่ทำให้หัวใจยิ้มได้มากกว่ากัน

จากที่เคยบอกว่ามันคือ ‘ความขี้เกียจ’ เปลี่ยนมาเป็น ‘การปล่อยให้ตัวเองได้พักบ้าง’

จากที่เคยบอกว่ามันคือ ‘การยอมแพ้’ เปลี่ยนมาเป็น ‘การโอบกอดและให้อภัยตัวเอง’

จากที่เคยบอกว่ามันคือ ‘ความช้าที่เสียเปรียบ’ เปลี่ยนมาเป็น ‘การภูมิใจและชื่นชมตัวเอง’

ลองเปลี่ยนมาใช้แนวคิดแบบนี้บ้างดูไหม

สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องหาจุดสมดุลให้เจอ

ในเมื่อความเป็นจริงของยุคนี้ แทบไม่มีใครเลยที่จะสามารถตีตัวออกห่างจากอิทธิพลของโลกแห่งทุนนิยมได้ เราก็แค่ต้องพยายามหาพื้นที่ปลอดภัย แม้จะเล็กหรือมีเวลาน้อยแค่ไหนในหนึ่งวันก็ตาม เพื่อให้ตัวเองได้ดื่มด่ำกับช่วงเวลา ณ ขณะนั้นได้บ้าง

ถามตัวเองว่า เรามีความสมัครใจจะอยู่ใต้ความทุนนิยมนี้แค่ไหน (เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มอบสิ่งที่ดี สะดวกสบายให้เราบ้างเหมือนกัน) แล้วจุดไหนของระบบนี้ที่เราไม่อยากเอามากอดเก็บไว้

ค่อยๆ ก่อร่างสร้างความเป็นตัวตนของเรา เพื่อเป็นที่อยู่ของความสบายใจ

คอนเนกต์กับส่วนนี้ของเราให้ลึกซึ้งขึ้น โดยอาจเริ่มมาจากการถามตัวเองว่า

‘ตัวตนของเราเป็นอย่างไร ในช่วงก่อนที่จะแทนคุณค่าของเราด้วยความก้าวหน้าของงานแบบนี้’

สุขภาพจิต ปลอบใจ ปลอบประโลม รักตัวเอง

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.