แสง+เทคโนโลยี สู่ Interactive Art ฉบับ YIMSAMER - Urban Creature

คุณเคยชมงาน Interactive Art แล้วรู้สึกว่า ‘โคตรสุดไหม’ ?

สุดในที่นี้ เราหมายถึงสุดทั้งตัวผลงาน แนวคิด วิธีการ ลูกเล่น ไปจนถึงสิ่งที่เอฟเฟ็กต์กลับมาเมื่อเราแวะปฏิสัมพันธ์ไปกับมัน ซึ่งเราเพิ่งรู้สึกโคตรสุดตอนไปเดินงาน Bangkok Design Week 2019 แถวเจริญกรุงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ผลงาน : TOTEM (v.2)
ผลงาน : MR.DOV(P)E

แท่นโทเท็มยักษ์ มีแสงไฟระยิบระยับแดนซ์ตามจังหวะเพลงใน Warehouse 30 จนต้องถ่ายคลิปเก็บไว้ดูต่อ และผลงานชิ้นนี้ยังได้ไปโชว์ตัวในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่กรุงโซล, เกาหลีใต้ เมื่อปลายปี 2018 แถมยังเจอนกพิราบเปล่งแสงทั่วซอยศาลเจ้าโรงเกือกย่านตลาดน้อย ที่เราได้รู้ที่หลังว่ามีเป็นพันตัว นั่นคือผลงานสุดๆ แบบฉบับ YIMSAMER (ยิ้มเสมอ) ชาวสถาปัตย์และวิศวะ ที่รวมแก๊งกันเพื่อร่วมออกแบบประสบการณ์ภายใต้คอนเซปต์ T-EXPERIENCE DESIGN ให้คนดูอย่างเราเปิดโลกไปกับงาน Installation และ Visual Effect เราเลยขอนัดพวกเขา แวะไปนั่งคุยปนขำไปแบบโคตรสุดเกี่ยวกับวันแรกที่เริ่มยิ้ม วันที่อาจไม่ยิ้ม และรอยยิ้มที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

สิริ วิวรรธนมาศ (ซ้าย) ธนพงศ์ พานิชชอบ (กลาง) แสนสิริ ศิริพรเลิศกุล (ขวา) – 3 หุ้นส่วนแห้งยิ้มเสมอ 

เขามองว่าเราเป็นเด็กไม่เอาไหน

ยิ้มเสมอ : ยิ้มเสมอเริ่มจากเด็กหลังห้อง 12 คนที่ไม่ค่อยเรียนหนังสือครับ เป็นพวกถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มไม่ค่อยเอาไหน ห้าวๆ แต่เราก็ไปหาอะไรที่เราอยากทำกัน จนไปเจอสิ่งที่เรียกว่า ‘Lighting Design’ พวกแสง สี เลยเริ่มจากจัดไฟ จัดเวทีที่มันแว๊ดๆ ลองผิดลองถูกกันไป จริงๆ แต่ละคนมันมีดีเอ็นเอที่แตกต่างกันนะครับ แต่มันมีตรงกลางคือคำว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แบบเย้วๆ ลุยๆ แว๊ดๆ แสงๆ (หัวเราะ) 

ซึ่งงานชิ้นแรกที่เราทำ คือเสาโทเท็ม “TOMTOM” ที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่พวกเราเรียนอยู่ครับ เป็นพิธีกรรมตอนรับน้อง แต่ละรุ่นก็จะมีเสาตรงกลางให้น้องมาล้อมวง มาเต้น พอถึงปีเราก็เลยคิดเล่นๆ ว่า เออ ถ้าเสามันปล่อยแสงได้ด้วยตัวมันเองจะเป็นยังไงนะ ถ้ามันสื่อคอนเทนต์ด้วยตัวเองและมีจอติดด้วยก็คงดีเนอะ เลยเอาเทคโนโลยี LED มาล้อมเสา ใส่กราฟิกเชิงพิกเซล ใส่อะไรที่เราต้องการเข้าไป สร้างให้มันมี interactive กับตัวกิจกรรม

คนกลางระหว่างงานดีไซน์กับเทคโนโลยี

จากแก๊งเด็กหลังห้องที่ลองผิดลองถูก จนวันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจก้าวลงสนามจริง ทำงาน ทดลอง สร้างสรรค์พร้อมแพชชั่นที่อยากจะออกแบบประสบการณ์ให้คนดู และไม่ขอเป็นคนสุดท้ายของการคิดงานเหล่านี้ แต่ขอเป็นคนตรงกลางระหว่างงานดีไซน์และเทคโนโลยีแทน

ยิ้มเสมอ : ด้วยความที่พวกเราจบสถาปัตย์มา ก็จะชอบและมีความเข้าใจในระดับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่หรือสิ่งของ แล้วก็ยังเป็นพวกสถาปัตย์ที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนวิชาของตัวเอง แต่ดันไปสนใจงานวิศวะ (หัวเราะ) เลยจะชอบดู tutorial ของฝรั่ง อ่านงานแนววิศวะบ้าง พอมาทำงานจริง เราก็เลยรู้ว่า ต้องมีพวกเขาอยู่ด้วย ซึ่งมันโชคดีที่วิศวกรที่ทำงานกับเราเขามีความสนใจศิลปะอยู่แล้วครับ งานของพวกเรามันเลยจะมีความเป็นวิศวะเข้าไปอยู่ข้างใน แต่ละงานกว่าจะออกมาต้องคิดโครงสร้าง คิดระบบ วางโค้ด ใส่เทคโนโลยีตรงนั้นตรงนี้ แต่สุดท้ายเราก็ทำออกมาให้มันดูกลมกลืน มีกลิ่นอายศิลปะ มีความงาม มันเลยมีความวิศวะๆ หน่อย บวกกับงานดีไซน์

ดังนั้นคำนิยามของงานเราคือ T-EXPERIENCE DESIGN จริงๆไม่มีคำนี้ในพจนานุกรมครับ เพราะมาจาก experince + technology”

มันคือการรวมการออกแบบประสบการณ์ใหม่ๆ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างงานเชิงมัลติมีเดีย และ เอนเตอร์เทนเมนต์ ออกมาในรูปแบบ Installation และ Visual Effect ที่มันดูสนุก ปล่อยแสงมันๆ

ใหญ่ เยอะ กระแทกใจ 

ยิ้มเสมอ : พวกเรามีหลักคิดการสร้างงานสามข้อครับ คือ immersive (ดื่มด่ำ) interactive (ปฏิสัมพันธ์) และ innovative (นวัตกรรม) แล้วอีกอย่างคือ ไอ้ความเป็นยิ้มเสมอเนี่ย ถ้าไม่ยากก็ต้องใหญ่ ถ้าไม่ใหญ่ก็ต้องเยอะครับ (หัวเราะ) คือด้วยความที่พวกเรายังมีแรงอยู่ ก็จะเป็นสาย maximal จัดเต็มกันทุกๆ งาน ตั้งแต่การคิดคอนเซปต์ ไปจนถึงโปรดักท์ชัน เพราะงานมัลติมีเดียและเทคโนโลยีมันสามารถเพิ่มคุณค่าและความ immersive ให้งานมันจุกอกคนดู จนแบบ หืมม ดื่มด่ำกระแทกใจ !

กระแทกใจอย่างเข้าใจคนดู

photo credit : YIMSAMER

พอพวกเขาบอกกับเราว่า งานมันต้องกระแทกใจคนดูด้วย นั่นแสดงว่า ก่อนจะกระแทกใจมันต้องผ่านการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนดูก่อน และสิ่งนั้น ยิ้มเสมอบอกว่า มันไม่ได้เข้าใจกันง่ายๆ เลย

ยิ้มเสมอ : นอกจากเทคนิคที่เป็นเรื่องสำคัญแล้ว การคิด user experiences ก็สำคัญไม่แพ้กันครับ เราจะเอาปุ่มนี้ไว้ตรงไหน สเกลเท่าไหร่ มันเป็นเรื่องละเอียดที่เราไม่ควรมองข้าม ซึ่งมันยากมากนะครับ เพราะพวกเราไม่ได้โตมาแบบสายวิชาการจ๋า (หัวเราะ) จะไม่ค่อยเก็ทหลักการต่างๆ แต่เราจะทดลองจริงกันเองเสมอก่อนปล่อยงาน ทำ user reserch กับคนในทีม เล่นวนกันไปเป็นเดือน คอยสรุปผลมาคุยกับทีมหลังบ้าน แล้วก็พัฒนางานให้ดีที่สุด แล้วพอปล่อยงานออกไป เราจะดูเวลาคนมาเล่น มามีปฏิสัมพันธ์กับงานเพื่อเก็บข้อมูล มีการใช้ระบบหลังบ้าน เขียนโค้ดฝังไว้ในงานต่างๆ สำหรับเก็บสถิติคนเล่น เพื่อดูพฤติกรรมแล้วเอามาพัฒนาต่อครับ

ใส่ (แสง) ไฟให้ของในเมือง

เราถามพวกเขาเล่นๆ ดูว่า ถ้าให้เอาการทำงาน T-EXPERIENCE DESIGN ตามแบบฉบับยิ้มเสมอไปเล่นกับความเป็นเมือง พวกเขาคิดจะทำอะไรบ้าง ?

ยิ้มเสมอ : สไตล์ยิ้มเสมอหรอ ? จริงๆ พวกเรามองว่า สามารถเอาไปรวมกับอะไรที่มันดูเป็นแสงสีภายในเมืองครับ อย่างมี case study  ที่คนเรนเดอร์ทางม้าลาย หรือไฟแดงเป็นโฮโลแกรมขึ้นมา เราว่ามันเจ๋งดีนะถ้าได้เอางานเราไปใส่กับพื้นที่หรือสิ่งของที่บริบทมันมีแสง สี หรือเทคโนโลยีอยู่แล้ว ไอ้คำว่าเทคโนโลยีของพวกเราไม่ได้แปลว่ามันต้องล้ำ แต่คืออะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้ แล้วมันมาช่วยให้มนุษย์สะดวกสบายขึ้น นั่นหมายความว่ามนุษย์ไม่สามารถปล่อยแสงได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นไฟจราจร ทางม้าลาย หรืออะไรที่มันดูเป็นแคนวาสในเมือง เรามองว่ามันเอามาเล่นได้หมด เพราะเทคโนโลยีที่พวกเรากำลังทำ มันไม่ใช่เรื่องใหม่เลยครับ มันเกิดขึ้นที่อเมริกา หรือญี่ปุ่นมาเป็น 10-20 ปีแล้ว เลยเป็นอีกความตั้งใจของพวกเราที่อยากจะล่นระยะเวลาที่เรากำลังตามเขาให้สั้นลง

“เกยตื้น” นิทรรศการศิลปะมัลติมีเดียเพื่อ ‘ท้องทะเล’

“พวกเราทำงานได้จากลูกค้ามาเยอะแล้ว เลยคิดว่า มันก็คงจะดีนะ ถ้ามีโครงการประจำปีที่จัดขึ้นแบบไม่เอาอะไรเลย แต่เราจะให้ในสิ่งที่เราถนัด นั่นคือ โปรเจกต์เกยตื้น”

photo credit : YIMSAMER

ยิ้มเสมอ : โปรเจกต์ เกยตื้น เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วครับ ยิ้มเสมอร่วมกับโรงเรียนกวดวิชา Elonson Engineering School คิดกันว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราอยากจัดโครงการสอนเด็กสักอันหนึ่ง ชวนเด็กๆ มัธยมปลายมาทำเวิร์กชอปเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กเขายังมีความคิดเดิมๆ แบบเรียนสายวิทย์ต้องเข้าหมอ เข้าวิศวะ เราเลยเอาแนวความคิดสร้างสรรค์ไปเล่าให้เขาฟังว่า มันมีผลกระทบยังไงกับชีวิตคุณบ้าง ผ่านโจทย์ “สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลและมลพิษทางทะเล” ให้น้องทำเป็น sketch design จะเอาอะไรมารวมกันก็ได้ ซึ่งเราจะช่วยเลือก เคาะแบบ และช่วยผลิต เช่น ทำตู้เกม ครีเอทจอยเกมเป็นปะการังซึ่งลิงค์กับปะการังในเกมที่เอาไว้คอยหลบขยะที่หล่นลงมาใต้ท้องทะเล ถ้าคุณหลบขยะได้คุณก็จะชนะ แต่ทะเลก็จะสกปรก แต่ถ้าคุณหลบขยะไม่ได้ ปะการังก็จะพัง มันทำให้เด็กได้ฉุกคิด พวกเราตั้งใจเหลือเกินที่จะช่วยโชว์อัพให้เด็กๆ รู้ว่า ตัวเองมีทาเลนต์อีกเยอะ แค่ต้องมีคนที่ชวยประคองเขาได้

อีกอย่างคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ระหว่างทำโปรเจกต์เกยตื้นจะเห็นข่าวต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งพวกเราเสพข่าวพวกนี้พอสมคสร จะเห็นว่าในบ้าน (หมายถึงออฟฟิศ) จะมีป้ายที่ติดไว้เป็นปีๆ ตั้งแต่เปิดบริษัทว่า “หยุดซื้อน้ำขวด ที่นี่มีน้ำกรองกิน” เราเลยหยิบประเด็นนี้มาทำสิ่งที่เราถนัด นั่นคือ multimedia installation technology for environment ซึ่งเรานำผลงานทั้งหมดมาจัดแสดงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

photo credit : YIMSAMER

มีหลายเสียงพูดว่า ไหนว่ารักสิ่งแวดล้อมไงวะ มีแต่ยาง พลาสติก อันนี้ก็ไม่ได้รีไซเคิล เราขอบคุณนะครับ แต่ไม่เป็นไรครับ เราถนัดแบบนี้ คือพวกเราเชื่อว่า ถ้างานนี้จะผลิตขยะสัก 6 ชิ้น แต่มันทำให้คนหันมาพูดแบบนี้สักหมื่นคน มันก็น่าสนุกดีนะครับ เพราะคุณก็รู้กันว่าพลาสติกมันไม่ดี แล้วก็พูดออกมาแล้ว นั่นแหละ คือสิ่งที่เราทำให้คนได้ตระหนัก

เกยตื้นครั้งใหม่ New Wave New Waste

หลังจากโปรเจกต์เกยตื้นได้เริ่มต้นขึ้น เพื่อจุดไฟสร้างสรรค์ให้กับเด็กรุ่นใหม่ และจุดความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม พวกเขายังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ลุยจัดเกยตื้นครั้งใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ New Wave New Waste

ยิ้มเสมอ : เกยตื้นครั้งนี้ ยิ้มเสมอและ Elonson Engineering School ยังคงทำเพื่อ 4 วัตถุประสงค์เดิมครับ นั่นคือต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในท้องทะเล สร้างงานรูปแบบมัลติมีเดียให้เกิดขึ้นใน exhibition เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เกิดการแชร์และบอกต่อ ไปจนถึงนำเงินไปซัพพอร์ตองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งครั้งนี้เราจัดแสดงภายใต้คอนเซปต์ New Wave New Waste ในงานคอนเสิร์ต Melody of Life 2019 ในวันที่ 19-20 ตุลาคมนี้ ที่ลานบีคอน 2 Central World ครับ

ตัวอย่างงาน Installation Art ของคุณเอ๋ วิชชุลดา
ตัวอย่างงาน Installation Art ของคุณ Tum Ulit
ตัวอย่างงาน Installation Art ของคุณ Khopfa Chanpensri

ซึ่ง New Wave คือศิลปินหน้าใหม่ ที่เราคิดว่าปีหน้าเขาต้องมาแน่ๆ เราเลยชวนเพื่อนศิลปิน 3 คนมาทำเกยตื้นด้วยกัน มี ‘คุณเอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์’ ศิลปิน-นักเคลื่อนไหวสังคม ‘Tum Ulit’ นักวาดการ์ตูน และ ‘Khopfa Chanpensri’ Lighting & Installation Artist ส่วน New Waste คือ เราจะเห็น installation art เพื่อสิ่งแวดล้อมมาเยอะ แต่น้อยมากที่จะมีงานที่ใส่มัลติมีเดียและเทคโนโลยีเข้าไป เราเลยคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงบริบท installation art เพื่อสิ่งแวดล้อมให้มันมีมัลติมีเดียและเทคโนโลยีมากขึ้น

“ดังนั้นเกยตื้นคืองานของกลุ่มศิลปินที่อยากทำงานศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม พวกเราคือคลื่นลูกใหม่กับการเคลื่อนไหวที่ไม่สูญเปล่าครับ”

ขอปิดท้ายการพูดคุยครั้งนี้ ด้วยคำถามที่คลีเช่กันสักหน่อยว่าชื่อ ยิ้มเสมอ ได้มาจากไหน

ยิ้มเสมอ : เอาทางการหรือเอาจริงๆ ครับ (หัวเราะ) ถ้าเอาจริงคือหุ่นส่วนเราคนหนึ่งไปเมาที่ชายหาด (นี่ก็แอบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำงานเพื่อทะเลนะ) แล้วทีนี้เขาตื่นมาเจอเรือในทะเล ซึ่งเรือประมงจะชอบมีชื่อแปลกๆ แล้วลำที่เขาเห็นชื่อยิ้มเสมอ มากัน 5 ลำ มันเลยมองแล้วก็นั่งยิ้มเสมออยู่ตรงนั้นครับ (หัวเราะ) ตอนแรกกะเอาตั้งชื่อลูก แต่พอมาเปิดบริษัท เลยเอามาเป็นชื่อบริษัทแทนครับ

เรียกได้ว่า เป็นการพูดคุยกับชาว YIMSAMER ที่เริ่มต้นและปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ ชวนเรายิ้มเสมอได้ตลอดเลยทีเดียว 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.