ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์ที่ส่งต่อวัฒนธรรมภูเก็ต - Urban Creature

ในฐานะคนที่รักเสื้อผ้าแนวมินิมอลเป็นชีวิตจิตใจ มีไม่กี่ครั้งหรอกที่เราจะเห็นเสื้อผ้าสีสันสดใส เต็มไปด้วยลวดลาย แล้วจะรู้สึกใจเต้น

ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee คือหนึ่งในนั้น

เหมือนกับใครหลายคน-ครั้งแรกที่เราเห็นชุดผ้าสีสดใสแบรนด์ยาหยีคือในการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ปีล่าสุด ที่โบกี้-เณอริสา ธนะ มิสแกรนด์จังหวัดปัตตานีใส่เข้ากอง และนั่นเปลี่ยนภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับชุดผ้าปาเต๊ะของเราไปทันที

ไม่ใช่แค่การแมตช์สีที่ถูกใจทั้งคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นใหม่ หรือการดีไซน์ลวดลายที่ทั้งละเอียดลออและสอดแทรกเรื่องราวชาวภูเก็ตลงไปพร้อมกัน แต่เรื่องราวเบื้องหลังการสร้างแบรนด์ยาหยีจากรุ่นแม่มาสู่รุ่นลูกก็น่าสนใจมาก

พวกเขาทำให้ผ้าปาเต๊ะที่เคยเป็นของเก่าป็อปปูลาร์ได้อย่างไร ภูมิ-พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ ทายาทรุ่นสองของยาหยีรอเราอยู่พร้อมคำตอบ


ปาเต๊ะ 101

ปาเต๊ะอาจเป็นคำที่คนไทยคุ้นหูมานาน และภาพที่หลายคนชินตาคือผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด รังสรรค์จากการปิดเทียน แต้ม ระบาย และย้อมสีให้สดใส แต่หากย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ อาจเห็นได้ว่าหลายประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นหรืออินเดีย มีศิลปะประเภทที่ใช้ปากกาเขียนเทียนทองเหลืองหรือเปลือกไม้ต่างๆ มาสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าเช่นกัน โดยอาจมีคำเรียกและแพตเทิร์นที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับศักดิ์และสิทธิ์ของผ้าที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย 

ปาเต๊ะเคยเป็นผ้าที่คนทั่วไปสวมใส่ และครั้งหนึ่งมันเคยเป็นผ้าพิเศษของสุลต่าน มีช่วงใหญ่ที่ห้ามวาดรูปสัตว์บนผ้าเพราะผูกโยงกับความเชื่อทางศาสนา กระทั่งยุคที่มาเลเซียและอินโดนีเซียทำการค้าขายร่วมกัน วัฒนธรรมผ้าปาเต๊ะได้เผยแพร่ไปยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเต็มไปด้วยคนจีนโพ้นทะเลที่ย้ายเข้ามาตั้งรกราก ทำให้เกิดวัฒนธรรม ‘เปอรานากัน’ ที่เปลี่ยนให้ปาเต๊ะกลายเป็นผ้าสีสันสดใสและเต็มไปด้วยลวดลายสัตว์มงคลอย่างหงส์ฟ้า ไก่ฟ้า มังกร หรือนกฟีนิกซ์ 

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ เพื่อนบ้านของเราเรียกปาเต๊ะว่า บาติก (บา แปลว่า ศิลปะ ส่วนติกแปลว่า จุด รวมกันเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดซึ่งคล้องกับเสียงน้ำเทียนหยดดังติกๆ ตอนวาดลาย) และคงมีแต่บ้านเราเท่านั้นที่เรียกมันว่าปาเต๊ะ นั่นเพราะก่อนหน้าที่วัฒนธรรมเปอรานากันจะเข้ามาแผ่อิทธิพล เรามีผ้าบาติกอีกแบบที่เป็นลายการ์ตูนอยู่ ผ้าบาติก (จริงๆ) ที่เข้ามาทีหลังจึงถูกชาวบ้านผู้ติดต่อค้าขายกับชาวอินโดฯ และมาเลฯ เรียกว่า ‘ปาเต๊ะ’ เพื่อให้แตกต่าง 

ในขณะที่เพื่อนบ้านนิยมใส่ผ้าปาเต๊ะเป็นผ้าถุงคู่กับเสื้อย่าหยา (หรือยอนย่าในภาษาดั้งเดิม) คนไทยซึ่งหาเสื้อย่าหยาได้ยากจึงนำมาประยุกต์ใส่กับผ้าลูกไม้ จนเกิดเป็นชุด ‘บ้าบ๋าย่าหยา’ กลายเป็นภาพจำของปาเต๊ะแบบไทยๆ โดยปริยาย

หนึ่งในคนที่หลงเสน่ห์ผ้าปาเต๊ะมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน คือคุณแม่วาสิตา น้อยประดิษฐ์ แม่ของภูมิและผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าปาเต๊ะ Yayee นั่นเอง

ของดีภูเก็ตเพื่อนักท่องเที่ยว

นับตั้งแต่ตกหลุมรักคุณพ่อของภูมิและตัดสินใจย้ายจากนครศรีธรรมราชบ้านเกิดมาอยู่ภูเก็ต สิ่งที่คุณแม่วาสิตาเอนจอยเป็นพิเศษคือการออกงานสังคม 

“วันหนึ่งคุณแม่ได้ไปออกงานต่างจังหวัด ท่านเห็นว่าจังหวัดต่างๆ มีการนำผ้าในท้องถิ่นมาใช้ในรูปแบบที่โมเดิร์นมากขึ้น แต่ ณ สมัยนั้นภูเก็ตยังใช้ผ้าปาเต๊ะเป็นผ้าถุงอยู่เลย ท่านเลยอยากนำผ้าปาเต๊ะมาตัดเป็นชุด เริ่มจากเดรส สูท พอใส่ไปงานก็มีคนสนใจ คุณแม่เลยเปิดร้านขึ้นมาขายในตลาดแคบๆ แค่ตัดให้ตัวเองกับเพื่อนใส่ พร้อมกับขายของฝากอื่นๆ ให้ชาวต่างชาติด้วย” ภูมิย้อนความให้ฟัง 

ยาหยี คือชื่อแบรนด์ผ้าปาเต๊ะที่คุณแม่วาสิตาตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลอันเรียบง่าย “ยาหยีแปลว่า  ยอดรัก ยอดดวงใจ คุณแม่อยากให้เสื้อผ้าของแบรนด์นี้เป็นที่รัก และอยากให้คนที่ใส่ชุดร้านนี้เป็นยอดดวงใจของใครคนอื่น”

แม้ธุรกิจผ้าปาเต๊ะยาหยีจะเป็น ‘ตลาดแคบๆ’ อย่างที่เขาว่า แต่ธุรกิจขายของฝากของบริษัท สิภัทรตรา จำกัด ที่ทำควบคู่กันนั้นกลับประสบความสำเร็จมากจนขยายร้านได้หลายสาขา โดยสาขาหลักปักหมุดอยู่ที่หาดป่าตอง จำหน่ายตั้งแต่ของจุกจิกอย่างกรรไกรตัดเล็บ เครื่องสำอาง ตุ๊กตา จนไปถึงเครื่องประดับ เสื้อผ้า และแน่นอนว่ามีผ้าปาเต๊ะขายด้วย

“ความเก่งของคุณแม่คือ แกมองเห็นว่านักท่องเที่ยวต้องการอะไรแล้วหาสินค้ามาลง”

จนกระทั่งวันที่โควิด-19 มาเยือน ร้านที่เคยมีหลายสาขาจำต้องปิดตัว รายได้หลักของครอบครัวที่เดือนหนึ่งแตะหลายล้านบาทกลับหดหาย เหลือไว้เพียงสินค้ากองเท่าภูเขาให้ดูต่างหน้า ภูมิที่มาเรียนและทำงานกรุงเทพฯ อยู่หลายปีจึงถูกเรียกตัวให้กลับไปช่วยงานที่บ้าน 

ประจวบกับช่วงเวลานั้น จังหวัดภูเก็ตประกาศล็อกดาวน์พอดี “ผมอยู่ยาวเลยต้องจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาทำ วันนั้นมองว่าขายสินค้าให้ต่างชาติยากแล้ว เราต้องขายให้คนไทย และผ้าปาเต๊ะก็คือสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด”

ถึงอย่างนั้น ภูมิก็ยังออกปากว่าเขาไม่มีความมั่นใจว่าจะทำสำเร็จเลย “มันเป็นความรู้สึกของคนที่หลังชนฝา วันนั้นคิดได้อย่างเดียวคือไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ทำอะไรเลยเท่ากับตาย แต่ผมว่าลึกๆ แล้วมันก็เห็นศักยภาพของผ้าปาเต๊ะ เพราะวันที่เปิดขายของฝากให้นักท่องเที่ยว ชุดผ้าปาเต๊ะของแม่ก็ยังมีคนไทยซื้อ เพื่อนแม่ซื้อ ทำไมมันจะขายคนอื่นไม่ได้ พอมองอย่างนี้ก็รู้สึกว่าเป็นไปได้”

ของดีภูเก็ตในมือของลูกหลานภูเก็ต

เหตุผลอีกข้อที่ทำให้ภูมิไม่มั่นใจ เพราะถึงจะเคยชิดใกล้และเห็นคุณแม่ทำงานกับผ้าปาเต๊ะมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ถ้าถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับผ้าปาเต๊ะ ชายหนุ่มยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งไกลตัว

“ส่วนตัวผมชอบใส่เสื้อผ้าแนวมินิมอล สีเรียบๆ เลยไม่เคยสนใจผ้าปาเต๊ะเลย แต่พอได้มาทำจริงๆ เราก็เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในผ้าที่สามารถต่อยอดได้อีกเยอะ”

แม้จะเติบโตมาในครอบครัวคนค้าขาย และตัวเขาเองก็มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ANYFRIDAY น้ำหวานเรนโบว์หลากสีที่ทำร่วมกับเพื่อนจนขายกิจการให้คนอินโดนีเซียสำเร็จ รวมถึงเคยเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจให้หลายแบรนด์ในไทย ภูมิก็มองว่าบทบาททายาทรุ่นสองของชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee นั้นไม่ง่าย

“มันไม่ได้เป็นการนับหนึ่งใหม่และไม่ใช่การสานต่อ แต่คือการเกิดใหม่หรือ Reborn ถ้าเปรียบเทียบเป็นลายผ้าก็คงเป็นลายนกฟีนิกซ์ วันหนึ่งผ้าปาเต๊ะเคยเฉิดฉายในแบบของมัน เคยขายนักท่องเที่ยวได้ดี แล้วพอวันหนึ่งมันสูญไป มันเหมือนนกฟีนิกซ์ที่ตายเป็นเถ้าแล้วกลับมาเกิดอีกครั้งในรูปแบบใหม่”

รูปแบบใหม่ที่ภูมิพูดถึง เริ่มจากการทำเป็นหน้ากากผ้าป้องกันเชื้อโรค “ช่วงแรกๆ ยาหยีตัดแมสก์จากผ้าปาเต๊ะ ขายดีหลายพันชิ้น แต่ก็มีกระแสจากคนในท้องถิ่นว่าเธอเอาผ้าถุงที่ใส่ท่อนล่างมาทำได้ยังไง ซึ่งผมมองว่านี่คือ Generation Gap นะ คนเจนฯ ดั้งเดิมเขาไม่ได้มองว่านี่คือคุณค่าของวัฒนธรรม 

“สมัยที่เรียนสถาปัตย์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผมโดนสอนมาตลอดว่าวัฒนธรรมทุกอย่างมันคือการ Evaluate เป็นการต่อยอดไปเรื่อยๆ ทุกอย่างจะก้าวผ่าน Generation Gap เสมอ เรามองว่าวันนี้มันถึงทางตันของการเป็นผ้าปาเต๊ะแบบโบราณแล้ว รุ่นเราไม่มีใครใส่ชุดบ้าบ๋าไปออกงานอีกแล้ว มันถึงเวลาที่เราต้อง Evaluate วัฒนธรรมไปสู่ยุคใหม่”

แนวคิดนี้เองทำให้ภูมิหันมาจับทางการขายออนไลน์ เน้นขายชุดผ้าปาเต๊ะกึ่ง Custom-made ที่ลูกค้าสามารถสั่งได้ตามใจ หรือหากใครอยากลองก็มาลองที่ช็อปในกรุงเทพฯ และภูเก็ตได้ นอกจากนี้ ผ้าปาเต๊ะยาหยียังมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์จากเดิมที่เป็นชุดคลุมตัวใหญ่ ใส่ง่าย ดีเทลน้อย ให้ดูทันสมัย มีสีสันและลวดลายที่โดนใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างเอกลักษณ์ด้วยการสื่อสารความเป็นภูเก็ตลงไปบนผืนผ้า เช่น ลายกุ้งมังกร หรือลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตึกทรงชิโนโปรตุกีส

อย่างไรก็ดี ภูมิก็ไม่ได้ทิ้งคนรุ่นใหญ่ที่เคยเป็นกลุ่มลูกค้าเดิม (และยังถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าหลักอยู่) ทว่านอกจากชุดที่ต้องตัดเพื่อออกงานสังคม เขาก็ตั้งใจให้ชุดผ้าปาเต๊ะยาหยีเป็นชุดที่สามารถใส่ในชีวิตประจำวัน และนำไปมิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าอื่นๆ ได้อย่างสนุกสนาน

ของดีภูเก็ตเพื่อช่วยเหลือคนภูเก็ต

ว่ากันว่าใครมาภูเก็ตต้องห้ามพลาด 3 อา คือ อาหาร อาคาร และอาภรณ์

แน่นอนว่าอย่างหลังคือผ้าปาเต๊ะ

“มีคนชอบถามว่าปาเต๊ะไม่ใช่ของภูเก็ต เป็นของอิมพอร์ตไม่ใช่เหรอ แต่จริงๆ ผมอยากให้มองในเชิงวัฒนธรรมองค์รวม แม้กระทั่งอาหาร อาคาร ก็เป็นวัฒนธรรมร่วมเหมือนหลายๆ จังหวัด ไม่มีอะไรที่ภูเก็ตสร้างเอง มันเป็นวัฒนธรรมที่รับมาแปรเปลี่ยนจนกลายเป็นแบบที่เราเห็น”

ภูมิเอ่ย แล้วชี้ให้เราเห็นเอกลักษณ์พิเศษของผ้าปาเต๊ะที่เขามองเห็นว่าเป็นผ้าที่มีลำดับขั้นหรือ Hierarchy เพราะมีทั้งแบบพิมพ์ลาย พิมพ์ด้วยไม้ และใช้เทียนเขียนลาย ซึ่งแต่ละแบบจะใช้เวลาในการทำแตกต่างกัน

สำหรับเขา การบอกว่าผ้าปาเต๊ะเป็นผ้าประจำจังหวัดก็ไม่ได้เป็นคำพูดเล่นๆ เท่านั้น หนึ่งในแท็กไลน์สำคัญของยาหยีคือ Made in Phuket ซึ่งภูมิกับคุณแม่ก็ทำให้มันเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะระหว่างทางตั้งแต่ผลิตผ้าจนถึงตัดเป็นชุดสวยให้ลูกค้า พวกเขาอาศัยแรงกายและภูมิปัญญาของคนในชุมชนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

“สิ่งที่คนในชุมชนเหล่านี้มีมากกว่าฝีมือ คือความอินในการทำงานและองค์ความรู้ในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ลายผ้า วันแรกๆ ที่เข้ามาทำ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีความเชื่อเรื่องเชิงผ้า (ส่วนล่างสุดของผ้าหรือตีนผ้า) ชาวบ้านเชื่อว่าคนโบราณเขาจะไม่ตัดตีนผ้าทิ้ง นี่คือสิ่งที่เราจะไม่มีวันรู้ถ้าไปทำงานกับโรงงานอื่นๆ แบรนด์ของเราอาจไม่ได้หวือหวาแบบแฟชั่นโอตกูตูร์ ดูสวยหรู คนหยิบอาจไม่รู้หรอกว่าเป็นยังไง มีเรื่องราวแบบไหน แค่ใส่มาแล้วสวยก็โอเค แต่วันหนึ่งผมรู้สึกว่าผมได้ส่งต่อวัฒนธรรมเหล่านี้ไปกับทุกชุด

“การส่งต่อวัฒนธรรมสำคัญสำหรับเรานะ เพราะเราอยากรักษารากเหง้าสำคัญของจังหวัด สิ่งที่เราเคยเห็นแต่เด็กให้ต่อยอดต่อไป หากรุ่นผมไม่มีการแปรรูปอะไรเลย วัฒนธรรมผ้าปาเต๊ะอาจจะอยู่แค่ในมิวเซียม เข้าไปอยู่กับเชี่ยนหมากที่ไม่มีคนใช้แล้ว ผมมองว่าถ้าอยากให้สิ่งนี้คงอยู่ เราทำแบบเดิมไม่ได้ เราต้องปรับเปลี่ยนมันให้เข้ากับยุคสมัย ทำให้มันมีชีวิตกลับขึ้นมาอีกครั้ง” ภูมิย้ำ

ของดีภูเก็ตเพื่อวัฒนธรรมภูเก็ต

นับตั้งแต่ภูมิได้เข้าไปช่วยบริหารแบรนด์ ชุดผ้าปาเต๊ะยาหยีมีสินค้าออกมาสู่ตลาดมากกว่า 50 แบบ ทั้งเสื้อ กางเกง ชุดเดรส สูท ไปจนถึงผ้าทอและกระเป๋า เราอดแปลกใจไม่ได้เมื่อภูมิบอกว่า สินค้าของชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee ไม่ได้ออกเป็นคอลเลกชันเหมือนแบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์อื่นๆ แต่จะเน้นออกเดือนละแบบสองแบบ 

“ข้อดีของไลน์สินค้าแบบนี้คือ มันสามารถขายได้เรื่อยๆ ลูกค้าที่ซื้อเมื่อสองปีที่แล้วจะกลับมาซื้อแบบเดิมก็ได้ เพียงแต่อาจจะได้ลายไม่ซ้ำกัน เพราะผ้าผืนหนึ่งใช้แล้วใช้ตัดเลย แต่รูปแบบยังคงอยู่เสมอ” ภูมิบอกยิ้มๆ

จนถึงวันนี้ ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee ได้พาภูมิและครอบครัวไปไกลกว่าที่คิด ถ้าไม่นับเรื่องที่มันสร้างรายได้ได้มากพอให้ครอบครัวผ่านวิกฤตใหญ่ทางธุรกิจมาได้ แบรนด์ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee ยังพาภูมิออกไปเจอกับผู้คน เขากลายเป็นวิทยากรที่ไปบรรยายให้ความรู้ในฐานะเจ้าของแบรนด์ตัวอย่างเรื่องการนำผ้าพื้นถิ่นมาต่อยอด สลัดความคิดของผู้คนที่เคยมองว่าผ้าปาเต๊ะเป็นผ้าโบราณ ให้กลายเป็นชุดที่ใส่เมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ ล่าสุดก็ในกองประกวด Miss Grand Thailand ที่โบกี้-เณอริสา ธนะ มิสแกรนด์ปัตตานีใส่ไปอวดโฉม

“ตอนโบกี้ใส่เข้ากองมิสแกรนด์ แล้วสไปร์ทไงที่ไหล่กว้าง (พัชร์ธีรัตน์ แหลมหลวง กูรูนางงามชื่อดัง) ชมชุดว่าผ้าปาเต๊ะชุดนี้เป็นการหยิบผ้าพื้นถิ่นมาทำได้สวย ผมรู้สึกว่านั่น Successful แล้วนะ เพราะสมัยที่เราทำแรกๆ ไม่มีใครรู้จักว่าผ้าปาเต๊ะคืออะไร มันไม่ได้ป็อปเหมือนผ้าซิ่น ผ้าไหม คนยังไม่ค่อยรู้จัก

“ผมไม่ใช่ดีไซเนอร์ และไม่ได้เป็น Businessman ขนาดนั้น ผมมาทำเพราะมันเป็นสิ่งเดียวกับที่ผมชอบเวลาเรียนสถาปัตย์ เราชอบดูบ้านเก่า ตึกเก่า อยากให้วัฒนธรรมนั้นยังอยู่ วันนี้มีรัฐสนับสนุน มีกระแสการใส่ปาเต๊ะมากขึ้น มีแบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มเอาผ้าปาเต๊ะมาเล่น ผมมองว่านี่คือสิ่งสำคัญ

“แน่นอนว่าการมาทำตรงนี้เราภูมิใจที่พาบริษัทที่เกือบเจ๊งรอดกลับมาได้ แต่มันไม่ได้เติมเต็มแค่ระดับตัวเองหรือครอบครัว มันเติมเต็มความสำเร็จในระดับจังหวัดและบ้านเกิด” ภูมิทิ้งท้าย

ติดตามแบรนด์ชุดผ้าปาเต๊ะยาหยีได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee

ขอบคุณภาพ : ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.