ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ใครติดตามการประชุมสภาฯ เป็นประจำคงคุ้นเคยกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อคนหนึ่ง ที่วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงการทำงานของประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อย่างมีอรรถรส ฟาดแบบดุเด็ดเผ็ดมัน ตรงไปตรงมา และอัดแน่นไปด้วยชุดข้อมูลและเหตุผลที่ถี่ถ้วน จนหลายคนต้องยอมรับเลยว่า เขาได้พูดแทนใจคนไทยจำนวนมากที่สิ้นหวังกับรัฐบาลชุดปัจจุบันได้อย่างหลากมิติ
ใช่ เรากำลังพูดถึง ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล
ที่ผ่านมา เขามีผลงานโดดเด่นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่หลายๆ ประเด็น เช่น การเปิดหลักฐานแฉปฏิบัติการ Information Operation (IO) แผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 จอมลวงโลก รวมไปถึงการที่รัฐคุกคามนักเรียนที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง
แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เขาประกาศตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. และขอพิสูจน์ตัวเองในบทบาทใหม่ ด้วยการเป็น ‘แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ พร้อมชูนโยบายล้มระบบส่วย ยกเลิกราชการรวมศูนย์ ท้าชนนายทุนที่เอาเปรียบประชาชน และมุ่งแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของชาวกรุงภายใต้สโลแกน ‘หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ’
วันนี้ เราจึงนัดพูดคุยกับวิโรจน์กับตำนานบทใหม่ของเขา เพื่อตอบข้อสงสัยว่า ทำไมเขาถึงยอมสละตำแหน่งดาวรุ่งในสภาฯ มาลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ เขามีความหวังอย่างไรกับการแก้ปัญหาของเมืองที่ ‘นายทุนต้องมาก่อนใคร’ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และทำให้ ‘ทุกคน’ ที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ได้ทำตามความฝัน และมีอนาคตอย่างที่พวกเขาอยากเห็นจริงๆ เสียที
พร้อมแล้วใช่ไหม ตอนนี้ดาวสภาฯ นั่งอยู่ตรงข้ามเราแล้ว ถ้าอย่างงั้น เริ่มเลออออ
ทำไมอดีต ‘ดาวสภาฯ’ ตัวจี๊ด ถึงยอมสละตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาลงสมัครตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพฯ
เราต้องการทำสิ่งที่เชื่อว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้จริง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีงบประมาณอยู่ในมือถึง 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 8 หมื่นล้านคือเงินของกรุงเทพมหานคร อีก 2 หมื่นล้านบาทเป็นเงินสมทบจากรัฐบาล
เราเชื่อว่าด้วยงบประมาณ 1 แสนล้านบาท ถ้าเรากระจายให้กับประชาชน โดยการเปลี่ยนจากงบราชการเป็นงบประชาชน แล้วถ้ามีการบริหารจัดการงบประมาณที่รีดประสิทธิภาพอย่างตรงไปตรงมา เราก็จะจัดการกับปัญหาส่วย คอร์รัปชัน และการเรียกรับผลประโยชน์ของภาครัฐได้ ถ้าทำได้ประชาชนจะเห็นประโยชน์และผลพวงของงบประมาณได้แบบทันที เราจะทำให้เมืองนี้มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
งานในสภาฯ ก็เป็นการอภิปรายการแนะนำ เพื่อนำทางให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย แต่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คืองานทางตรง ที่เราสามารถจัดการกับงบประมาณ เราสามารถรังสรรค์งบประมาณเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้โดยตรง ผมว่านี่คือความท้าทาย และจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า
นิยามของ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ในมุมมองของคุณคืออะไร
ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครคือ ลูกจ้างของคนกรุงเทพฯ ที่มาปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ไม่ให้คนกรุงเทพฯ ถูกเอารัดเอาเปรียบ และทำให้คนกรุงเทพฯ ทุกคน ซึ่งเราต้องนิยามตรงนี้ให้ดีๆ คนกรุงเทพฯ คือทุกคนที่มีลมหายใจและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะนิยามของประชากรทุกวันนี้ มันมีการเลื่อนไหล บางคนบ้านอยู่อีกที่หนึ่ง แต่มาทำงานในกรุงเทพมหานคร เราก็ต้องนับว่าเขาเป็นคนกรุงเทพฯ
ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ต้องทำให้คนกรุงเทพฯ ทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ทั้งคนตัวเล็ก ตัวกลาง และตัวใหญ่ ไม่มีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ต้องมีใครรู้สึกสงสารคนอีกกลุ่มหนึ่ง จนต้องใช้กลไกการบริจาค ซึ่งมันไม่ยั่งยืนต่อการแก้ไขปัญหา โจทย์คือทำอย่างไร เราจึงจะยกคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานให้ทุกคนสามารถพึ่งพิงได้ สิ่งนี้แหละจะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าอยู่ที่แท้จริง
ที่สำคัญที่สุดเลยคือ ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ ที่ไม่ว่าเจอปัญหาอะไร ก็ต้องเงี่ยหูฟังประชาชน ไม่ใช่รอคำสั่งจากผู้ใหญ่ ตกลงแล้วผู้ว่าฯ เป็นผู้ว่าฯ ของคนกรุงเทพฯ หรือเป็นผู้ว่าฯ ที่คอยเป็นสมุนรับใช้จากผู้ใหญ่บางคน ผมว่ามันไม่ใช่
ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ ที่ไม่เกรงใจใคร
ถ้าไม่เกรงใจใครแล้ว คุณคิดว่าปัญหาหลักของกรุงเทพมหานครมีต้นตอมาจากไหน
ผมคิดว่าปัญหากรุงเทพมหานคร 10 – 15 ปีก่อน กับปัจจุบัน มันไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ถ้าเราลองคิดดูก็จะเห็นปัญหาฝนตก รถติด มลพิษ ขยะ สวนสาธารณะ อุบัติเหตุจากการเดินทาง ไซต์ก่อสร้าง ค่าครองชีพ ลักขโมย วิ่งชิงปล้น ก็จะวนเวียนอยู่เท่านี้ แต่พอเจาะเข้าไปว่าทำไมปัญหานี้ถึงเกิดขึ้น สุดท้ายมันวนเข้ามาที่ หนึ่งเรื่องหลัก กับอีกหนึ่งเรื่องเสริม
เรื่องหลักคือ การจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับข้อกำหนดโครงการ (Terms of Reference) และงบประมาณที่สูงเกินไป ในกรณีที่โครงการตรวจรับมาแล้ว พอเจาะลงไปก็จะเจอว่าการตรวจรับโปรเจกต์เป็นมาอย่างไร และรู้ว่านายทุนผู้รับเหมาเป็นใคร พอรู้ชื่อนายทุนผู้รับเหมาและเจาะเครือข่ายต่อ ก็จะพบว่ามีโครงการลักษณะเดียวกันอื่นๆ อีก ส่วนไซต์ก่อสร้างหลายแห่งที่เลยกำหนดระยะเวลามาแล้ว กลับไม่ถูกปรับ และตรวจรับกันเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายมันวนมาที่ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการเกรงใจนายทุน ผู้รับเหมา เกือบแทบทั้งสิ้น ทุกโครงการมีคำถามเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และความโปร่งใสทั้งสิ้น
อีกหนึ่งเรื่องเสริมคือ ทำไมแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนและเห็นอยู่ทุกวันไม่ได้ ราชการกลับบอกว่าไม่มีงบประมาณ ทั้งๆ ที่ประชาชนได้ทำเรื่องร้องเรียนของบประมาณไปแล้ว ทำไมประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องอยู่ในฐานะผู้ถูกปกครอง ที่ต้องอ้อนวอนร้องขอกับส่วนราชการ ทั้งที่เงินนั้นเป็นเงินภาษีของพวกเขา ทำไม 7 – 8 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครทำตัวเป็นเจ้านายประชาชน ทำตัวเป็นผู้ปกครองประชาชนไปเสียแล้ว เราไม่เบื่อเหรอกับคำว่าจัดระเบียบกรุงเทพฯ คุณเป็นใครและเอาอำนาจอะไรมาจัดระเบียบประชาชน คนกรุงเทพฯ ต่างหากที่เป็นเจ้าของเมืองนี้
สุดท้ายก็เลยมีแต่โครงการที่กรุงเทพมหานครบอกว่าทำได้ และมักง่ายทำอยู่เรื่อยๆ แต่โครงการที่ประชาชนต้องการกลับไม่ทำ อ้างว่าราชการไม่มีงบประมาณให้ อ้างว่าต้องพัวพันการติดต่อหน่วยงานอื่น เลยไม่ได้ทำเสียที ปัญหานั้นๆ ก็เลยค้างคาและเรื้อรังอยู่ชั่วนาตาปี
เพราะฉะนั้น หนึ่งเรื่องหลักและหนึ่งเรื่องเสริมคือสิ่งที่เป็นคอขวดของทุกปัญหาในกรุงเทพฯ ตลอดมา ซึ่งต้องใช้ความกล้าในการถอนตอเหล่านั้นออกมา ไม่อย่างนั้นก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้
เมื่อคุณพบต้นตอปัญหาใหญ่แบบนี้แล้ว สิ่งแรกที่คุณจะลงมือแก้ไขในระบบ ถ้าได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คืออะไร
สิ่งแรกคือการกระจายงบประมาณ ถ้าเกิดเรากระจายงบประมาณที่เปลี่ยนจากงบราชการให้กลายเป็นงบที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งหมด 4 พันล้าน หลังจากนั้นปัญหาของทุกเขต ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน และของประชาชนทุกคนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครจะถูกเสนอขึ้นมา ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะถูกแก้ไขแบบดาวกระจายทันที และถูกแก้ไขพร้อมกันทันที
ปัญหาที่ประชาชนมองเห็นคือ ปัญหาคุณภาพชีวิตที่พวกเขาเจออยู่หน้าบ้าน หน้าปากซอย และเจออยู่ทุกวัน พวกเขาไม่ได้มองไกลถึงการสร้างอุโมงค์ยักษ์ ระบบอินเทอร์เน็ต Smart City หรือระบบดาวเทียมเลย
ถ้าเรามีงบประมาณสำหรับปัญหาเหล่านี้ และเราแก้ไขปัญหาได้พร้อมๆ กัน หรือมีจุดเริ่มต้นที่จะคลี่คลายปัญหาใน 50 เขตพร้อมๆ กัน ถ้าทำสำเร็จได้ เราไม่ได้แก้ไขแค่ตัวปัญหาอย่างเดียว แต่หัวใจของคนในเมืองนี้จะฟูขึ้นด้วย และประชาชนจะกลับมาเชื่อมั่นว่า เมืองนี้มันดีขึ้นได้ ปัญหาที่เราเห็นมา 7 – 8 ปีมันแก้ไขได้ นี่คือสิ่งที่เราจะเริ่มทำก่อน
แต่กรุงเทพฯ เป็นโจทย์ทางการเมืองที่แก้ยาก คุณคิดว่าเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหานี้ ยังมีความหวังในการแก้ไขและพัฒนาอย่างไร
ผมคิดว่ายังมีความหวังนะ สำหรับผมปัญหาของกรุงเทพฯ แก้ไขไม่ยาก เพราะไม่มีนายทุนอสังหาริมทรัพย์คนไหนมีบุญคุณกับผม ผมแทบจะไม่รู้จักใคร ผมแทบจะไม่เคยกินข้าว หรือถ้าเคยกินก็คือเคยกินแบบผ่านๆ แต่พวกเขาไม่มีบุญคุณกับผมแน่นอน ผมและเพื่อนๆ ส.ก. พรรคก้าวไกล ไม่เคยไปรับเงินหรือรับผลประโยชน์แบบที่ไม่ถูกต้องมาจากใครแน่นอน
ดังนั้น เราไม่ได้หมายความว่า เราจะไปรังแกนายทุนนะ แต่เราต้องการทำทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา เพราะถ้าเราทำแบบตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ต้องระแวงว่าจะไปเหยียบเงาใคร หรือไปเหยียบตออะไร เราจะแก้ปัญหาได้จริงๆ
ยกตัวอย่าง ไซต์ก่อสร้างทั้งหมดที่สร้างปัญหา กีดขวางถนนหนทาง และทางเท้า เราต้องเรียกมาเคลียร์ว่า โครงการของคุณเกินระยะเวลาก่อสร้างที่กำหนดไว้ในสัญญาเพราะอะไร มีอะไรที่กรุงเทพมหานครสามารถอำนวยความสะดวกภายใต้กฎหมายเพื่อให้คุณทำงานได้เร็วขึ้นได้บ้างไหม หากต้องเลื่อนระยะเวลาโครงการ คุณต้องมีเส้นตายชัดเจน และประกาศให้ประชาชนรับรู้ ไม่ใช่เอาสีขาวไปทาทับกำหนดการ ถ้ากรุงเทพมหานครช่วยเหลือแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปรับ ก็ต้องปรับ เพื่อเร่งรัดให้โครงการแล้วเสร็จ มันหมดเวลาเกรงใจผู้รับเหมาแล้ว
เมื่อเราพูดถึงเรื่องนี้ ก็ต้องพูดถึงเรื่องส่วย ทำไมเราถึงต้องแก้ปัญหาส่วย เพราะเวลาเราพูดถึงส่วย เราไม่ได้พูดถึงแค่ส่วยที่เกิดจากการรีดไถคนตัวเล็กตัวน้อย แต่เราพูดถึงส่วยที่ทำให้เมืองไร้ความหวัง ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะทำธุรกิจหรือบุกเบิกอะไรในเมืองนี้ การขอใบอนุญาตมันยากมาก ทำไมการทำในสิ่งที่มันสมเหตุสมผล กลับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ถ้าคุณจะทำให้มันถูกกฎหมายคุณกลับต้องทำในสิ่งที่มันไม่สมเหตุสมผล ต้องทำเอกสารนู่นนี่ จนบางครั้งคุณอาจรู้สึกว่า ต่อให้หน่วยงานราชการมาตรวจสอบกิจการของคุณ เขาก็จะหาความผิดยัดใส่มือคุณได้
ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่การขอใบอนุญาตต่างๆ ควรจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการยื่น เพื่อลดดุลยพินิจของข้าราชการลง แต่ถ้าอะไรที่เราต้องใช้ดุลยพินิจ เราก็จะใช้ Third Party หรือ Outsource มาช่วยตรวจตามหลักเกณฑ์ทั้งหมด ซึ่งจะได้ทั้งความสุจริตและบริการที่ดีด้วย จากนั้นเราก็มีแพลตฟอร์มในการรับเรื่องร้องเรียน ถ้าคุณเจอส่วยหรือความไม่ชอบมาพากลใด เราก็จะจัดการตามทำนองคลองธรรม สุดท้ายคือการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสที่สุด ทั้งหมดควรเกิดขึ้นกับมหานครใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร
ด้วยประสบการณ์ของคุณเอง ตัวคุณเชี่ยวชาญงานด้านการศึกษาและเยาวชนมาก ทักษะนี้จะทำให้คนกรุงเทพฯ รุ่นใหม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษาและเรียนรู้อะไรบ้างไหม
เป็นประโยชน์แน่ครับ เพราะว่าการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผมได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ทั้งหมด 4 คำถาม
คำถามที่หนึ่ง การศึกษาเด็กในกรุงเทพมหานครตอบโจทย์พ่อแม่ไหม คำตอบคือไม่เลย พ่อแม่ในเมืองนี้ต้องทำงานและเลิกงานดึก ดังนั้น เป็นไปได้ไหมที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และห้องสมุดชุมชน จะปรับตัวให้กลายเป็นสถานดูแลเด็กหลังเลิกเรียน ให้พ่อแม่ที่ต้องทำงานกลับบ้านดึกมารับลูกได้อย่างสบายใจ ส่วนลูกก็จะได้ทำการบ้านเพื่อรอพ่อแม่มารับได้ เมื่อกลับไปบ้าน เวลาอาจจะมีจำกัด แต่เป็นเวลาที่มีคุณภาพและอบอุ่น ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ทำงานอย่างหวาดหวั่น กังวลว่าลูกจะต้องอยู่บ้านตามลำพัง หรือเจอใครล่อลวง ถ้ากลับบ้านมาเจอว่าลูกยังทำการบ้านไม่เสร็จ เพียงเพราะพวกเขาไม่อยากทำการบ้านท่ามกลางความไม่รู้ตามลำพัง พ่อแม่ก็จะหงุดหงิด คิดว่าลูกขี้เกียจ สุดท้ายครอบครัวที่เคยอบอุ่น ก็จะไม่อบอุ่นอีกต่อไป
ผมว่าการศึกษาในกรุงเทพมหานครต้องเลิกโยนความผิดบาปให้พ่อแม่ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คุณไม่สามารถคืนครอบครัวในอุดมคติให้พ่อแม่ทุกคนได้ การศึกษากรุงเทพมหานครต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นโจทย์ในการบริหารการศึกษาต่างหาก เรากำลังพูดถึงสิ่งที่พ่อแม่จะมั่นใจในการศึกษาของลูก เช่น สุขอนามัย โภชนาการ ห้องน้ำ น้ำดื่มสะอาด ความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยทางใจ ผมคิดว่า ผู้ว่าฯ ต้องกล้าประกาศให้โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ปราศจากการบุลลี่ (Bully) และทำงานร่วมกันกับคุณครู พ่อแม่ นักเรียน เพราะบุลลี่ไม่ใช่การเล่นกัน การวิจารณ์ร่างกายของผู้อื่น (Body Shaming) ไม่ใช่การแซว ผมเชื่อว่าถ้าเราปรับปรุงทัศนคติระหว่างครูกับนักเรียนให้เห็นอกเห็นใจเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น การเรียนรู้จะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ทุกฝ่ายไม่ควรเพ่งโทษกัน คุณครูอย่ารู้สึกว่าลูกศิษย์ของตัวเองขี้เกียจ นักเรียนเองก็อย่าคิดว่าคุณครูโหดร้าย ถ้าเราปรับตรงนี้ได้ โรงเรียนก็จะตอบโจทย์พ่อแม่มากเลย
คำถามที่สอง หลักสูตรตอบโจทย์เด็กไหม คำตอบคือเรียนอะไรเยอะแยะ กรุงเทพมหานครมีสำนักงานการศึกษาจังหวัดเป็นของตัวเอง ดังนั้น ผมคิดว่ากรุงเทพมหานครต้องเลิกเอากรอบของกระทรวงศึกษาธิการมาครอบตัวเองได้แล้ว ผมว่ามันถึงเวลาที่จะทำให้เด็กเรียนให้น้อยลง และที่สำคัญคือสอบให้น้อยลง
กรุงเทพมหานครควรโฟกัสอยู่แค่สามเรื่องหลัก ได้แก่ การอ่านจับใจความ คณิตศาสตร์ การสื่อสารภาษาอังกฤษ อีกหนึ่งเรื่องเสริมคือวิทยาศาสตร์ สำหรับวิชาอื่นก็ต้องเรียนเหมือนกัน แต่อาจประเมินผลด้วยวิธีอื่น เช่น การมีส่วนร่วมในห้องเรียน โดยไม่ต้องผลักภาระในการสอบและการทำรายงานมากมายให้กับเด็ก
เมื่อโรงเรียนคืนเวลาให้กับเด็ก เด็กจะมีเวลาไปมีความคิดสร้างสรรค์ และโรงเรียนยังเติมทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นให้กับเด็กได้ด้วย เช่น ทักษะอาชีพ ทักษะการช่วยชีวิต ทักษะทางด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล ทักษะการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเล็กหรือ SME
คำถามที่สาม ระบบโรงเรียนตอบโจทย์ครูไหม คำตอบคือไม่เลย ทุกวันนี้ถ้าโรงเรียนของ กทม. จะสั่งซื้อหนังสือ ครูสั่งซื้อเองไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้อำนวยการก็สั่งซื้อเองไม่ได้ ต้องให้เขตสั่งซื้อเท่านั้น หรือถ้าหลังคาพังสามแผ่น ต้องให้เขตสั่งซื้อให้เหมือนกัน ผมว่าเรื่องนี้ต้องรื้อระเบียบทั้งหมดเพื่อให้โรงเรียนกับสำนักการศึกษาทำงานคู่กัน ลดบทบาทของเขตลง และคืนอธิปไตยในการตัดสินใจด้านการเรียนการสอนให้กับครูให้ได้มากที่สุด
คำถามสุดท้าย ตอบโจทย์เด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครแต่ไม่ได้เรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครไหม คำตอบคือไม่เช่นกัน ดังนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งกรุงเทพฯ อาจทำงานร่วมกันกับศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร
ที่สำคัญที่สุด หลังวิกฤติโควิด-19 ผมคิดว่า กทม. ต้องห้ามทุกโรงเรียนทำหลักสูตรออนไลน์แบบตามมีตามเกิด เพราะเราทำหลักสูตรออนไลน์ที่มีคุณภาพได้ มีเอกสารที่พร้อมดาวน์โหลด และทำให้เด็กทุกคน ทุกสังกัด หรืออาจจะทุกคนในประเทศไทย เข้ามาเรียนรู้หลักสูตรออนไลน์ที่มีคุณภาพ และนำเอกสารหรือแบบฝึกหัดไปพัฒนาตัวเองต่อได้ ผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำ
ขอถามเล่นๆ ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คุณจะยังเป็นคนที่มีจุดเด่นเรื่องการพูดแซ่บๆ เหมือนสมัยอยู่ในสภาฯ ไหม
ผมคิดอย่างนี้ สิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของประชาชนคือ สิทธิที่จะรู้ (Right to Know) และทุกวันนี้เรารู้สึกว่าคนกรุงเทพฯ ถูกมัดมือชก อย่างกรณีรถไฟฟ้า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงมาก จริงๆ อย่าเรียกว่าแพงเลย การที่ประชาชนรู้สึกว่าแพงเป็นเพราะว่า อยู่ดีๆ ก็ปรับราคา ไม่มีที่มาที่ไป อย่างร้านขายก๋วยเตี๋ยว ถ้าอยู่ดีๆ แม่ค้าขึ้นราคาชามละ 5 บาท เขายังเขียนเหตุผลว่าหมูแพง แต่ค่ารถโดยสารที่ขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนกลับไม่เคยรู้เลยว่าสาเหตุคืออะไรกันแน่
ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่านั้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร แต่สายอื่นๆ ก็กระทบกับกระเป๋าเงินของคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน
ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ ผมต้องขอเข้าร่วมการประชุมด้วย และต้องเปิดเผยทุกวาระการประชุมที่เกี่ยวพันกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่จะปรับขึ้นหรือคงเดิม พร้อมระบุเหตุผลในการปรับขึ้นและเหตุผลในการคงเดิม เพื่อให้คนกรุงเทพฯ รู้ตั้งแต่แรก และสิทธิในการรู้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดในการบริหารจัดการเมือง รวมถึงการดึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
เราพูดเสมอว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม และการมีส่วนร่วมต้องเริ่มต้นจาก ‘การรู้’ แต่ตอนนี้ประชาชนไม่รู้เลย อย่างเมื่อเช้าผมเพิ่งไปใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ขอให้กรุงเทพมหานคร เปิดเผยบันทึกการประชุมและมติการประชุมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเรื่องนี้คือเรื่องพื้นฐานที่สุด ไม่อย่างนั้นนโยบายต่างๆ หรือทางเลือกต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดจะเป็นเพียงจินตนาการทั้งหมด ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงอะไรเลย
ดังนั้น อย่าเรียกว่าการพูดเลย สิ่งที่ผู้ว่าฯ ต้องทำคือสื่อสารให้ประชาชนมีสิทธิในการรู้ เพื่อตัดสินใจในการพัฒนาและแก้ปัญหาเมืองร่วมกัน
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ Bangkok Hope จาก Urban Creature ที่จะชวนทุกคนมองหา ‘ความหวัง’ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ดังนั้นความหวังสู่การเปลี่ยนแปลงนี้จึงควรมีทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ ขีดเขียน และเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวไปพร้อมๆ กัน