ศาสตราจารย์วิริยะ ชายตาบอดสู้เพื่อสิทธิคนพิการ - Urban Creature

เมื่อพูดถึง ความเท่าเทียม สมการที่เรียงรายต่อคำนี้คงเป็นเรื่องสีผิว เพศ การศึกษา ไปจนถึงชนชั้น แต่สำหรับเรา ความเท่าเทียมจะเท่าเทียมอย่างแท้จริงหากในสมการนั้นมีคำว่า คนพิการ รวมอยู่ด้วย

ทว่าในความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ ความเท่าเทียมในสังคมยังส่งไปไม่ถึงคนพิการที่มี 3.7 ล้านคนทั่วประเทศ (อ้างอิงจากผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ-องค์การยูนิเซฟปี พ.ศ. 2560) ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวนทั้งหมดมีคนพิการประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้นที่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อออกบัตรประจำตัว

ภายใต้ความเท่า (ไม่) เทียม ยังมีบุคคลท่านหนึ่งที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้พิการมาเกือบทั้งชีวิต ตั้งแต่ร่วมเรียกร้องขอแก้ข้อกฎหมาย ร่างกฎหมายขึ้นใหม่ เปิดมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จัดอบรมฝึกทักษะและอาชีพให้คนพิการไทย ด้วยความพยายามที่ทุ่มกำลังทั้งกายและใจแม้ เขาจะมองไม่เห็นก็ตาม

เขาคือ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ชายตาบอดผู้ไม่เคยง้อโชคชะตา เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเราคือคนกำหนดเส้นทางชีวิต จึงลุกขึ้นยิ้มสู้เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการไทย

.

พิการเพียงตัวแต่ใจไม่

ยิ้มสู้คาเฟ่ ใน มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซอยอรุณอัมรินทร์ 39 คือสถานที่นัดพบเพื่อพูดคุยถึงเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของคนพิการกับศาสตราจารย์วิริยะ ขณะนั่งรอสัมภาษณ์ เราเดินไปสั่งเครื่องดื่มทาน แต่การสั่งครั้งนี้ต่างออกไปจากครั้งไหนๆ เพราะสั่งผ่านการชี้เมนู พร้อมกับขยับปากพูดช้าๆ ให้กับพนักงานในคาเฟ่ที่เป็น ผู้พิการทางการได้ยิน หรือ คนหูหนวก ได้จดรายการ ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะที่ยิ้มสู้คาเฟ่ คือศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนแห่งแรกที่ศาสตราจารย์วิริยะจัดตั้ง เพื่อสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคให้คนพิการ

“สวัสดีครับ ขอบคุณมากๆ นะครับที่มาพูดคุยกัน” คำกล่าวทักทายพร้อมรอยยิ้มจาก ศาสตราจารย์วิริยะ เขามาพร้อมกับไม้เท้าเคียงกาย และบทสัมภาษณ์ซึ่งปะปนด้วยเสียงหัวเราะก็เริ่มต้นขึ้น 

เพราะอุบัติเหตุที่ประสบเมื่อช่วงวัยรุ่น ทำให้อนาคตอันสดใสที่วาดฝันไว้กลับมืดลงพร้อมสายตาสองข้างที่บอดสนิท และนิ้วมือบางส่วนที่สูญเสีย แม้เสียใจแต่ศาสตราจารย์วิริยะไม่ปล่อยให้ชีวิตตัวเองต้องหยุด เขาลุกขึ้นสู้และใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีเป้าหมายจนประสบความสำเร็จ และเมื่อเขาได้เข้าศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดเริ่มของการตามหาสิทธิและความเท่าเทียมของคนพิการก็เกิดขึ้น

“เมืองไทยเราในอดีต มีข้อจำกัดสิทธิ์คนพิการในด้านการประกอบอาชีพ และการเข้าไปเป็นผู้มีตำแหน่งต่างๆ เป็นคุณสมบัติต้องห้ามหมดเลยครับ ช่วงแรกคนตาบอดเลยไปเรียนเป็นครูเพื่อกลับมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนคนตาบอด พอเข้าปี พ.ศ.2518 พวกเราคนตาบอดเลยรวมกลุ่มกันเป็นสมาคม แล้วก็พยายามเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการเป็นข้าราชการพลเรือนได้ครับ”

ศาสตราจารย์เล่าต่อว่า ในจังหวะที่กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้พิการเป็นข้าราชการได้นั้น อยู่ในช่วงที่ศาสตราจารย์วิริยะกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เขาและสมาคมคนตาบอดจึงเรียกร้องให้แก้คุณสมบัติการเป็นข้าราชการพลเรือนเดิม ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามคือ พิการทุพพลภาพ ซึ่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ในสมัยนั้นก็ยินดีรับฟังและตอบกลับมาว่าไม่ใช่เรื่องยาก แค่เติมวลีต่อท้ายไปว่า จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ลงไปเท่านั้น ดังนั้นถ้าคนพิการคนไหนยังสามารถทำงานได้ ก็สามารถเป็นข้าราชการได้ เลยทำให้คุณครูที่โรงเรียนสอนคนตาบอดหลายคนได้เข้ารับข้าราชการหลังจากการยกเลิกกฎหมายจำกัดสิทธิคนพิการ 

เมื่อเวลาผ่านเข้าสู่ปี พ.ศ.2519 จากนักศึกษาก็เลื่อนฐานะสู่บันฑิตเกียรตินิยม ศาสตราจารย์วิริยะจึงสอบเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสอบติดได้สำเร็จ และกลายเป็นข้าราชการพิการคนแรกของประเทศไทย 

“ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ และ ศาสตราจารย์ พันตรี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยินดีรับผม เพราะสมัยเรียนผมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตั้งใจจริง ผมสอบได้ที่ 1 ของคณะมาโดยตลอด ท่านก็เลยเชื่อว่าผมสามารถเป็นอาจารย์ได้”

“ผมตั้งใจเป็นอาจารย์ที่ดี เพื่อพยายามพิสูจน์ว่าการเป็นอาจารย์ตาบอดของเราไม่ได้มีปัญหา” 

เมื่อทำงานเป็นอาจารย์ไปได้สักระยะ เขาเดินหน้าเรียนต่อเพื่อทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายให้มากขึ้น จนจบนิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายแพ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2524) ตามด้วยจบปริญญาโท สาขากฎหมายภาษีอากร (LLM. in Taxation) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา 

.

กว่าจะมีพรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

แม้เนื้อหาพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนจะระบุว่า ให้คนพิการสามารถเข้ารับราชการได้ แต่หน่วยงานอื่นยังคงตีความว่า คนพิการยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ การรณรงค์ของคนพิการจึงยังคงดำเนินต่ออย่างเข้มข้น จนเข้าปี พ.ศ. 2524 มีคนพิการสาขาอื่นเข้ามาร่วมรณรงค์กับคนตาบอด และสุดท้ายได้จัดตั้งเป็นสภาคนพิการ

เมื่อได้จัดตั้งแล้ว จึงใช้เครือข่ายสภาคนพิการในการขับเคลื่อนเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย และตัดวลีต้องห้ามผู้พิการทุพพลภาพเหล่านี้ทิ้งในสารพัดกฎหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการพ.ศ. 2534 ที่มีระบบการจ้างงาน และระบบโควต้าสำหรับคนพิการที่ศาสตราจารย์วิริยะบอกกับเราว่า ต่อสู้กันจนวินาทีสุดท้าย

“ในสมัยนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน พวกเราสภาคนพิการเสนอให้มีระบบการจ้างงาน ระบบโควต้า ซึ่งตอนนั้นท่านนายกอานันท์ไม่เห็นด้วย เพราะนั่นจะเป็นการบังคับเอกชน ท่านเลยเสนอว่า ให้ใช้มาตรการส่งเสริมทางภาษีแทน หมายถึงถ้าเขาจ้างคนพิการทำงาน ก็ให้เขาได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เอาไปหักลดหย่อนได้ แต่ทางคนพิการมองว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษี จากการศึกษางานต่างประเทศไม่ค่อยสร้างงานให้คนพิการได้เท่ากับระบบโควต้า เพราะฉะนั้นพวกเราก็ยังขอให้คุณวิชัย โถสุวรรณจินดา ที่ตอนนั้นท่านเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติช่วยแปลญัตติ เอาระบบการจ้างงาน และโควต้าใส่เข้าไปในพรบ. ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งหากบริษัทไหนไม่ได้จ้างจะต้องจ่ายเบี้ยปรับเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

“แต่ขณะนั้นกรรมาธิการไม่ยอม เพราะเขายึดถือตามนโยบายของรัฐบาล เราเลยขอคุณวิชัยว่า ขอสงวนแล้วไปต่อสู้กันในสภาใหญ่ แล้วพวกเราจะเป็นกองเชียร์ (ยิ้ม) ซึ่งวันที่ประชุมสภาใหญ่ เราก็ระดมคนพิการประมาณ 200 คนเข้าไปให้กำลังใจ และขออนุญาตเข้าไปฟังอภิปรายด้วย พอท่านอภิปรายแล้วมีผู้ร่วมอภิปรายเห็นชอบมากขึ้น ท่านรองนายกมีชัย ฤชุพันธุ์ที่ดูแลด้านกฎหมายตอนนั้น ก็เลยบอกว่ารัฐบาลยินดีรับเรื่อง ตอนนั้นพวกเราไชโยเลยครับ (หัวเราะ) เลยเสียมารยาทขึ้นมา เพราะไปฟังแล้วเขาห้ามส่งเสียง แต่มันอดดีใจไม่ได้ที่รัฐบาลรับไปแก้ไข และก็ผ่านสภา เราก็เลยได้ระบบโควต้าการจ้างงานมาในพรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ”

ศาสตราจารย์เล่าไปพร้อมรอยยิ้มกว้างเมื่อนึกถึงเรื่องวันวาน ทำให้คนฟังอย่างเรายิ้มตาม และรู้สึกดีใจกับการได้มาของพรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการไปกับเขาด้วย

การศึกษาเข้าถึง ฝึกอาชีพถ้วนหน้า

การศึกษาพร้อมอาชีพอย่างทั่วถึง และสิทธิเท่ากัน คือข้อเรียกร้องถัดมาจากสภาคนพิการ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2541 ศาสตราจารย์วิริยะมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เขาจึงชูนโยบายคนพิการเรื่องการฝึกอาชีพ ให้มีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้คนพิการมีอาชีพถ้วนหน้า และมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่น และเมื่อเข้าสู่ยุคนายกทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ.2544) ศาสตราจารย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา จึงยกร่างพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการครั้งใหม่ แต่เนื่องจากเหตุปฏิวัติทางการเมืองจึงถูกปัดตกไปเสียก่อน 

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปฏิวัติ ในปีพ.ศ. 2549 ศาสตราจารย์วิริยะได้รับการแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงยื่นเสนอพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอีกครั้ง พร้อมเสนอกฎหมายของคนพิการเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ

“ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลยังไม่มีกฎหมายอะไรเข้าไป ก็เลยใช้โอกาสครั้งนี้แก้ไขกฎหมายจำนวนมากครับ ทั้งเขียนใหม่ ยกออก และแก้ไขเพิ่มเติม เช่น พรบ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการพ.. 2550  ที่ตั้งกองทุนช่วยเหลือคนพิการอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.. 2528 (แก้ไขเพิ่มเติมพ.. 2550) พรบ.ข้าราชการพลเมืองพ.. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติมพ.. 2550) พรบ.ประกอบโรคศิลปะพ.. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติมพ.. 2550) หรือทางด้านการศึกษาเราก็มีพรบ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนพิการได้รับโอกาสทางการศึกษาถึงปริญญาตรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้พิการครับ”

“ถ้าคนพิการจะมีคุณภาพชีวิตเหมือนคนอื่นเราต้องได้รับการศึกษาเหมือนคนอื่น” 

สำหรับโอกาสเข้าถึงงานของคนพิการไทย ศาสตราจารย์วิริยะมองว่าสิ่งนี้มีมากขึ้นในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เท่าเทียมเท่าที่ควรจะเป็น

“คนทั่วไปรวมทั้งนายจ้างบางคนไม่เชื่อในความสามารถของคนพิการ คือจะมีคาถาไว้เลยว่า จ้างคนปกติดีกว่าจ้างคนพิการ แม้แต่กฎหมายบังคับเขายังไม่จ้างเลยครับ บางคนยินดีจ่ายเงินเข้ากองทุนเลยฯ แต่นายจ้างหลายคนก็บ่นเหมือนกันว่า อยากจ้าง แต่ไม่มีคนพิการที่เหมาะกับตำแหน่งที่ต้องการจ้าง เราก็ยอมรับนะครับ เพราะเรายังมีปัญหาเรื่องการศึกษา

“หมายความว่าการศึกษาสำหรับผู้พิการเพิ่งเริ่มถ้วนหน้าในทางกฎหมาย แต่ในทางปฎิบัติยังไม่ถ้วนหน้า ดังนั้นเมื่อการศึกษาไม่ได้ดี จะมาต่อเรื่องอาชีพมันก็ลำบากครับ หรือแม้หลายคนที่จบปริญญาตรี แต่มันก็ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง เลยขยักขย่อนกันอยู่แบบนี้ เช่น จบกฎหมายแบบผม แต่นายจ้างเขาไม่ต้องการคนพิการมาทำงานด้านกฎหมาย เราก็พยายามจะแก้กันต่อไปครับ”

แล้วมีวิธีการแก้เรื่องการศึกษาที่ผู้พิการเรียนมาแล้วจบไม่ตรงไหมคะ ? เราถามกลับไป ซึ่งศาสตราจารย์วิริยะตอบกลับมาว่า สภาคนพิการกำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อแจ้งให้ผู้พิการทราบว่า ตอนนี้ตลาดแรงงานต้องการอาชีพอะไรบ้าง และหากคนพิการคนไหนเรียนจบ ก็จะพยายามหาบริษัทและหางานที่เหมาะสมให้ได้มากที่สุด รวมทั้งใช้วิธีการยื่นข้อเสนอให้นายจ้างว่า หากบริษัทไม่ได้จ้างคนพิการทำงานด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ให้จ้างงานมาทำงานกับองค์กรเอกชนอื่นๆ ได้ เช่น ที่ยิ้มสู้คาเฟ่ และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการก็มีนายจ้างยินดีจ่ายให้คนพิการมาทำงาน เพื่อใช้โควต้าและเพื่อคนพิการได้ฝึกอาชีพนั่นเอง

“อาชีพอิสระ คืออาชีพที่เหมาะกับคนพิการ
ในเมือง คือการรับจ้าง
ชนบท คือการทำเกษตร” 

เมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องอาชีพ ศาสตราจารย์เล่าต่อว่าจะเน้นไปที่ อาชีพอิสระ โดยคนพิการในชนบทจะทำภาคเกษตรยืนพื้น ที่จะส่งบ้างและกินบ้าง ส่วนคนพิการในเมืองเน้นทำงานรับจ้าง เช่น ขายล็อตเตอร์รี่ และค้าขายของอื่นๆ 

“เรากำลังเร่งฝึกอาชีพครับ ยิ่งช่วงนี้คนพิการตกงานเยอะมาก เราก็อยากเอาทุนมาเร่งฝึกอาชีพให้ผู้พิการเยอะๆ เพื่อให้เขาไปทำอาชีพอิสระได้ เพราะจะไปฝึกอาชีพเพื่อป้อนโรงงาน ผมว่าลำบาก เนื่องจากต้องจบการศึกษาตามระบบ พวกเราเลยต้องมาเน้นเรื่องอาชีพอิสระที่เป็นทักษะ เพื่อให้ไปประกอบอาชีพเอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหมือนกันทั่วโลกครับ

“อย่างขายอาหารผมดูแบบอย่างมาจากสหรัฐอเมริกา ที่นั่นอาชีพหลักของคนตาบอดคือเปิดร้านอาหารนะครับ ผมก็เลยพยายามเอาคนตาบอดมาฝึก อย่างที่ยิ้มสู้คาเฟ่จะมีก๋วยเตี๋ยวเรือ และการทำเครื่องดื่ม ซึ่งหลายคนก็สำเร็จนะ ไปเปิดร้านอาหารกันแล้ว ตอนนี้เลยเริ่มเอาคนหูหนวกมาฝึกครับ เพื่อให้เขาไปเปิดธุรกิจของตัวเองเช่นกัน ส่วนชนบทก็จะเพิ่มการฝึกงานด้านเกษตรแปรรูปมากขึ้น”

.

กฎหมายเท่าเทียม แต่ภาคปฏิบัติยังเว้าแหว่ง

ศาสตราจารย์วิริยะยังคงเน้นย้ำเหมือนเดิมว่า ตอนนี้ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับคนพิการเกิดจากภาคปฏิบัติ เพราะทางกฎหมายนั้นเท่าเทียมแล้ว และค่อนข้างมีแต้มต่อ เช่น การกำหนดในรัฐธรรมนูญให้การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องคำนึงถึงกลุ่มด้อยโอกาส และไม่ให้เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ พร้อมเขียนกำกับไว้ว่าให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวก และเตรียมสื่อคนพิการเพื่อให้ได้เข้าถึงสิทธิเหมือนคนอื่นอย่างถ้วนหน้า

“ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคปฏิบัติเลยครับ เช่น โควต้าการจ้างงานร้อยต่อหนึ่ง เอกชนเขาปฏิบัติครบถ้วน แต่รัฐบาลยังขาด 8,000 อัตรา (หัวเราะ) รู้หรือเปล่าครับว่าในต่างประเทศ ไม่ว่าจะญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ รัฐบาลจะจ้างคนพิการมากกว่าเอกชนเกือบสองเท่า แต่เมืองไทย เราขอให้รัฐบาลจ้างงานคนพิการให้นำหน้าเอกชนหน่อย ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังรณรงค์อยู่ครับ คือถ้าไม่จ้างก็ต้องจัดสรรเงินเข้ากองทุนนะ เหมือนที่เอกชนทำ เพราะทุกวันนี้รัฐบาลไม่ได้จ่ายแม้แต่บาทเดียวให้กองทุนที่ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการ

“แต่ถ้าคนพิการไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้ทำงาน หรือสภาพไม่พร้อมทำงาน ก็ต้องมีสวัสดิการ เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่อยู่ได้ ซึ่งนั่นคือสวัสดิการเดือนละ 800 บาทครับ ซึ่งตอนนี้กำลังจะเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท แต่รัฐบาลยังคงจะให้เฉพาะกลุ่มที่มีบัตรสวัสดิการคนพิการ เราก็เรียกร้องต่อรัฐบาล พร้อมยื่นหนังสือให้ท่านนายกรัฐมนตรีว่า ควรจะให้ทุกคนที่ขึ้นทะเบียนคนพิการ ซึ่งมีทั้งหมด 2 ล้านคนทั่วประเทศ เพราะบัตรสวัสดิการมีแค่ล้านเศษๆ ซึ่งรัฐบาลก็ให้เพิ่มมาเป็นกลุ่มเด็กประมาณ 2-3 แสนคน”

“คนพิการเรารณรงค์กันตลอดว่า ใครช่วยตัวเองได้ก็อย่าไปเอาสวัสดิการแล้วให้คนอื่นเขาเอามาแฉให้อาย”

ถึงจะเรียกร้องต่อรัฐบาลและสังคม แต่คนพิการเองไม่ได้นิ่งเฉยและเอาแต่รอ ภายในกลุ่มคนพิการจะมีประมาณ 50,000 คนที่ตัดสินใจเสียสละไม่รับเงินสวัสดิการรายเดือน เพื่อให้คนที่ต้องการเงินจริงๆ ได้รับไปอย่างทั่วถึง

.

ยังคงยิ้มสู้

ในวันข้างหน้าศาสตราจารย์วิริยะยังยืนยันจะต่อสู้ให้หนักหน่วงมากขึ้น สร้างเครือข่ายคนพิการให้มั่นคง เร่งขยายการฝึกอาชีพให้มีทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และรวมกันให้เป็นปึกแผ่น เพื่อทำให้คนไทยเชื่อและศรัทธาในความสามารถของคนพิการ 

“ผมอยากให้คนในสังคมเชื่อเถอะว่าคนพิการเองมีความสามารถที่จะทำอะไรได้อย่างไร้ขอบเขตโดยเฉพาะงานที่มีความท้าทายเพราะจะดึงศักยภาพของคนพิการออกมาได้ดีและถ้าเราส่งเสริมให้คนพิการทำงานท้าทายต่อไปเรื่อยๆคนพิการก็จะมีงานทำมากขึ้นเรื่อยๆ”

หลังจากคุยกับศาสตราจารย์วิริยะ เราแวะไปพูดคุยกับ น้องบี บาริสต้าผู้พิการทางการได้ยินวัย 23 ปีที่ยิ้มสู้คาเฟ่ ถึงความรู้สึกที่ได้มาฝึกอาชีพ ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ล่ามภาษามือในมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

“ตอนแรกที่มาทำงานที่นี่ ถึงตัวหนูเองจะไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านนี้เลย แต่ที่นี่ก็ให้โอกาสหนูได้มาเรียนรู้การทำกาแฟ และสอนวิธีชงเครื่องดื่มต่างๆ ก็รู้สึกดีใจมากๆ เลยค่ะ มันทำให้หนูได้รับประสบการณ์ และสามารถชงกาแฟได้จริงๆ ซึ่งถึงแม้ตอนทำกาแฟจะมีเหนื่อยบ้าง แต่มันสนุกมากๆ เลยค่ะ สนุกที่ได้ทำทุกวัน จนทำให้เราอยากเป็นบาริสต้าจริงจังเลยค่ะ” 

น้องบีสื่อสารด้วยภาษามือไปพร้อมรอยยิ้มและสายตาที่เต็มไปด้วยประกายแห่งความสุขที่ส่งมาถึงเราจนพาปลื้มใจกับน้องไปด้วย

เรายังมีโอกาสได้คุยกับ หนึ่งในทีมงานของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่เป็นคนปกติ ถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานกับคนพิการ ซึ่งเขาบอกว่า การได้ทำงานกับคนพิการทำให้เป็นคนใจกว้างกว่าเดิม และยังทำให้การใช้ชีวิตที่มีแต่ความเร่งรีบนั้นช้าลงจนทำให้ใจสงบขึ้น 

“ตอนแรกเราต้องค่อยๆ คุยกับคนพิการ ซึ่งเมื่อสื่อสารได้ เราจะได้ฝึกความอดทน จากที่เคยรีบๆ คุยกับใครก็รีบไปหมด แต่พอต้องค่อยๆ ขยับปากช้าๆ เพื่อให้เขาอ่านปากได้ เราเหมือนได้เบรกตัวเอง

เมื่อได้ทำอะไรช้าลง เรากลายเป็นคนที่เย็นลง มันเหมือนเราได้โอกาสในการพัฒนาตัวเองกลับมาอีกครั้ง 

“เพราะสังคมเดี๋ยวนี้รีบไปหมด ดังนั้นเราอยากให้ทุกคนลองเข้ามาทานกาแฟ และก๋วยเตี๋ยวในยิ้มสู้คาเฟ่ เพราะจากที่คุณรีบมาตลอด เหนื่อยมาตลอด พอมาอยู่ที่นี่ มันจะทำให้คุณช้าลง และพอคุณช้าลง ใจคุณจะเย็นลงไปด้วย นอกจากนี้เพียงกาแฟหนึ่งแก้วที่คุณมาสั่ง น้องๆ บาริสต้าหรือพนักงานที่พิการจะได้พัฒนาเยอะมากเลย ทั้งการสื่อสารกับคนอื่น ได้รู้จักเมล็ดกาแฟ การชง ได้รู้จักงานบริการ มันเป็นการพัฒนาทักษะรอบด้าน เราเลยแค่อยากให้สังคมเปิดใจและให้โอกาสเขา คำๆ เดียวเลย โอกาส ซึ่งมันจะต่อยอดไปได้อีกหลายเรื่องมากเลย”

ก่อนกล่าวลา ศาสตราจารย์ปิดท้ายบทสทนากับเราด้วยการทำภาษามือคำว่า ยิ้มสู้ นั่นคือการกำมือแล้วกางนิ้วโป้งและนิ้วชี้ออกที่สื่อถึงคำว่า ยิ้ม และกำมือยกขึ้นที่สื่อถึงคำว่า สู้ เพื่อยืนยันว่า นับต่อจากนี้เขาจะยังคงสู้ต่ออย่างไม่ท้อถอย

การได้มาสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ และทีมงานในยิ้มสู้คาเฟ่ ทำให้เราได้รับความอิ่มใจเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ เราอิ่มที่ได้ฟังเรื่องราวอันเข้มข้นซึ่งน่าประทับใจ และอิ่มไปกับการสู้ไม่ถอยพร้อมรอยยิ้มของศาสตราจารย์ที่แม้จะตาบอด แต่ทางข้างหน้าของเขานั้นส่องสว่างเสมอ มันส่องสว่างพร้อมกับความหวังเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีและความเสมอภาคสำหรับคนพิการทั่วประเทศไทย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.