จินตนาการครั้งเยาว์ของ เติ้ล ณัฐนนท์ Spaceth.co - Urban Creature

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยทิ้งวลีเด็ดที่กลายเป็นอมตะไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” แต่ทำไมคำตอบของคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” จึงถูกจำกัดแคบลงทุกทีจากมนุษย์ตัวโตที่เรียกตัวเองว่า ‘ผู้ใหญ่’ ซึ่งมองว่าความฝันในวัยเด็กนั้นเป็นเรื่องละเมอเพ้อพก และโลกความเป็นจริงในสังคมที่ทำให้ความเป็นเด็กซึ่งเต็มไปด้วยอิสระและจินตนาการค่อยๆ ระเหิดหายไปจนหมด

เราได้รับอนุญาตให้นั่งไทม์แมชชีน เข้าไปสำรวจจินตนาการครั้งเยาว์วัยของ เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารของ Spaceth.co ที่ใฝ่ฝันถึงอวกาศมาตั้งแต่เด็ก และเก็บความหลงใหลนั้นมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้อ่านอย่างสนุกสนานน่าตื่นเต้น จนมีผู้ติดตามทางเพจมากกว่า 3 แสนคน 

เมื่อถามว่าหนังและเพลงที่มีอิทธิพลกับเติ้ลมากที่สุดคืออะไร คำตอบของเติ้ลทำให้เราประหลาดใจ เพราะเรื่องราวเหนือจินตนาการที่หล่อหลอมให้เติ้ลเป็นเติ้ลในทุกวันนี้ ไม่ใช่หนังไซไฟอย่าง Star Wars หรือ Interstellar และไม่ใช่เพลง ความฝันกับจักรวาล ของ Bodyslam ที่ถูกถอดรหัสและบันทึกลงบน DNA เพื่อส่งออกไปยังอวกาศ แต่กลับเป็นความมหัศจรรย์ของโลก Disney เรื่องโปรดอย่าง ‘Winnie the Pooh’ ที่เติบโตและเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ไปพร้อมกับเติ้ล คอยย้ำเตือนเติ้ลให้รักษาความเป็นเด็กไว้ในหัวใจเสมอ

01 การ์ตูน : Winnie the Pooh
เขียนโดย เอ. เอ. มิลน์

“ตั้งแต่เด็กเราชอบเรื่อง Winnie the Pooh…งงมั้ย ทุกคนต้องไม่เชื่อแน่เลยว่า จริงๆ แล้วเราอินกับเรื่องนี้มาก เป็นการ์ตูนของ Disney ที่เราดูมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งตอนเด็กเราก็ดูไปไม่คิดอะไร สนุกดี ตอนนั้นพ่อแม่เราไปทำงาน เราก็จะอยู่กับยาย ถ้าไม่อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ก็นั่งดูทีวี แล้วก็ดูเรื่อง Winnie the Pooh ซ้ำวนไปวนมาได้ทั้งวัน

“แต่พอเริ่มโต เราเริ่มค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ เอ. เอ. มิลน์ ผู้สร้างตัวละครและผู้เขียนเรื่องราวต้องการจะสื่อ เนื้อเรื่องของ Winnie the Pooh นั้นแฝงความ Coming of Age ไว้แน่นมาก โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึงการผจญภัยในจินตนาการของเด็กผู้ชายชื่อ คริสโตเฟอร์ โรบิน ที่จินตนาการเรื่องราวมาจากตุ๊กตาสัตว์ในห้องนอนของเขาเอง โดยคริสโตเฟอร์ โรบิน จะเป็นฮีโร่คอยช่วยเหลือเพื่อนๆ สัตว์ในป่าร้อยเอเคอร์ ซึ่งเป็นโลกแห่งจินตนาการของเด็กคนหนึ่ง 

“จุดหักเหของเรื่องมันอยู่ตรงที่ว่า คริสโตเฟอร์ โรบิน ต้องเติบโต ต้องไปโรงเรียน ต้องไปเจอสังคมใหม่ๆ ซึ่งทั้ง คริสโตเฟอร์ โรบิน และเหล่าตุ๊กตาสัตว์ก็ต่างกังวลว่าการผจญภัยจะจบสิ้นแล้วหรือเปล่า หรือถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจะให้ใครช่วยถ้าไม่ใช่ คริสโตเฟอร์ โรบิน สิ่งนี้แสดงถึงความผูกพันและความรู้สึกปลอดภัยที่ทั้ง คริสโตเฟอร์ โรบิน และตุ๊กตาสัตว์มีให้กัน ซึ่งเนื้อเรื่องก็ดำเนินต่อไปว่า การที่ คริสโตเฟอร์ โรบิน หายไปจากโลกในจินตนาการ เพื่อไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือการต้องไปโรงเรียน จากที่ตุ๊กตาสัตว์กังวล แต่ละตัวก็เริ่มมีความมั่นใจ พูห์ เริ่มฉลาดขึ้น พิกเล็ต เริ่มกล้าหาญขึ้น ทิกเกอร์ มีความเป็นผู้นำขึ้น แรบบิท รักเพื่อนมากขึ้น อียอร์ ก็มีความสุขได้ด้วยตัวเอง

“เอาจริงก็เหมือนกับชีวิตจริงของเรา ตอนเด็กเราต่างเต็มไปด้วยความฝัน จินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุด จนเราอาจจะกังวลว่าเมื่อเราต้องเติบโต เราจะยังหลงเหลือความเป็นเด็กไว้อยู่หรือเปล่า”

02 เพลง : Somewhere Only We Know – Keane
Ost. Winnie the Pooh (2011)

“ในปี 2011 ตอนนั้น Disney เลือกที่จะนำเรื่อง Winnie the Pooh (2011) กลับมาทำอีกครั้ง โดยเนื้อหาเกี่ยวกับ คริสโตเฟอร์ โรบิน ที่เรียนจบชั้นประถมฯ แล้ว และกำลังจะต้องเข้าสู่ชั้นมัธยมฯ คือเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่คริสโตเฟอร์ โรบิน ก็ยังมีโอกาสได้กลับมาหาเพื่อนๆ ในจินตนาการเป็นครั้งคราว แถม Soundtrack ที่ใช้ในเรื่อง ยังใช้เพลง Somewhere Only We Know ของ Keane มาประกอบ 

“ถ้าเราไปดูเนื้อเพลงจะมีเนื้อหาประมาณว่า อยากกลับไปในสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเรารู้จักดี เป็นที่ที่เราสบายใจ และได้พักผ่อนจากโลกภายนอกที่เหน็ดเหนื่อย ตอนนั้นเรากรี๊ดมาก เราเองก็เพิ่งจบจากชั้นประถมฯ กำลังจะเข้าชั้นมัธยมฯ เรารู้สึกว่า Winnie the Pooh คือเรื่องราวที่เล่นควบคู่กับชีวิตเรา”

03 ภาพยนตร์ : Christopher Robin (2018)
กำกับโดย มาร์ก ฟอร์สเตอร์

“ในปี 2017 Disney ก็ได้เลือกเอา Winnie the Pooh กลับมาทำอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Christopher Robin (2018) โดยเน้นไปที่เรื่องราวของ คริสโตเฟอร์ โรบิน ที่โตเป็นผู้ใหญ่ มีลูก มีเมีย ต้องทำงาน และไม่สามารถกลับไปเล่นกับตุ๊กตาสัตว์เหมือนอดีตแล้ว สะท้อนความน่าเศร้าของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ชัดเจนมาก แต่สุดท้าย หนังก็จบด้วยการที่ตุ๊กตาสัตว์ นำโดย พูห์ ออกมาผจญภัยในโลกแห่งความเป็นจริงบ้าง เพื่อช่วยให้ คริสโตเฟอร์ โรบิน ได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของความเป็นเด็กอีกครั้ง

คริสโตเฟอร์ โรบิน และเพื่อนตุ๊กตาสัตว์ของเขา สามารถมีพื้นที่ให้กันแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ถ้าเรารักษาความเป็นเด็กในตัวเราไว้ได้ เราจะไม่จำเป็นต้องแก่เลย ตอนนั้นจำได้ดูในโรง เรานั่งร้องไห้ทั้งเรื่องเลย มันอินมากๆ

“การรักษาความเป็นเด็ก ไม่อยากแก่ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจเรามาตลอดจนถึงทุกวันนี้ เราพยายามทำตัวเป็นเด็ก เล่นอะไรบ้าๆ ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และพยายามสนุกกับการค้นหา เรียนรู้ และผจญภัยในแบบของเรา เรารู้สึกว่าแนวคิดการไม่อยากแก่นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเราเป็นเรา และเป็นเหมือนเวทมนตร์ที่ทำให้เรามีอิสระในการคิด การสร้าง และการมองโลกในแบบของเราได้

“กรณีของ Winnie the Pooh ชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับการเติบโตในสังคมปัจจุบัน เรารู้สึกว่ามันน่าเศร้าที่เราทำให้คนหนึ่งคนต้องโตขึ้นมาแบบไร้จินตนาการ กลายเป็นว่าเราต้องมีภาระ มีบ่วงอะไรมากมายเต็มไปหมด ซึ่งเราอาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตมันมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น แต่เรารู้สึกว่ามันใจร้ายเกินไปที่การเติบโตเป็นสิ่งที่พรากเอาจินตนาการ และความรู้สึกต่างๆ ไปจากเราโดยสิ้นเชิง 

“อย่างใน Christopher Robin (2018) แบ็กกราวนด์ของเรื่องวางไว้ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่ทุกอย่างเป็น Mass หมด Mass Media, Mass Production, Mass Transit ซึ่งหลักสำคัญของยุคนี้ก็คือทำให้คนคิดเหมือนๆ กัน ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ฟังเพลงเหมือนกัน ไปทำงานเวลาเดียวกัน เพื่อความง่ายในการใช้งานมนุษย์เป็นเหมือนเครื่องจักร 

“แต่ปัจจุบันเราควรจะอยู่ในยุคของความคิดสร้างสรรค์ ยุคที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ แต่น่าเสียดายที่เด็กไทยยังไร้ความฝัน และถูกสั่งสอนโดยระบบการศึกษาให้ไร้ซึ่งจินตนาการ กลายเป็นว่าต้องมาแข่งกันสอบเข้านู่นเข้านี่ ไม่ต่างอะไรจากใน Winnie the Pooh ที่ คริสโตเฟอร์ โรบิน ต้องลาจากตุ๊กตาสัตว์ในจินตนาการของเขา มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง และแย่กว่านั้นก็คือ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ย้อนกลับไปมีความฝันในวัยเด็กอีกเลย 

“สังคมที่สอนให้คนมีชีวิตอยู่ไปวันๆ จึงเป็นสังคมที่น่าหดหู่ คนต้องคิดวันต่อวันว่าพรุ่งนี้จะกินอะไรดี เงินเดือนจะพอเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ส่งให้พ่อแม่มั้ย เด็กๆ ต้องมาวิ่งแข่งกันในระบบการศึกษา เพื่อโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้จินตนาการ ต่อให้คุณประสบความสำเร็จ ไม่อดตาย เป็นชนชั้นกลางอยู่ในสังคม ไปต่างประเทศปีละครั้ง and then what??

“ถ้าวัยเด็กของเราตายไปแล้ว เราเอากลับมาไม่ได้เลยนะ เราไม่อยากให้วัยเด็กของพวกเรามันหายไป ตายไป จะเป็นไปได้มั้ยถ้าเราเอาความสงสัย เอาจินตนาการในวัยเด็ก มาใช้ร่วมกับตรรกะ ความคิด เหตุผลของวัยผู้ใหญ่ เราน่าจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นกว่านี้ได้มากๆ”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.