เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของศิลปินระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น The Birth of Venus, Mona Lisa, Girl with a Pearl Earring, The Scream และ The Kiss แน่นอนว่าภาพวาดเหล่านี้มีมูลค่าที่คนธรรมดาอย่างเราไม่อาจเอื้อม จึงไม่วายที่บางภาพจะถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์จนต้องไปตามคืนอยู่บ่อยครั้ง
งานศิลปะที่ได้รับการกล่าวขานมานานนับร้อยๆ ปี และโด่งดังจนคนทั่วโลกต้องบินไปดูของจริงเพื่อเป็นบุญตานั้น ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน บทกวี และบทภาพยนตร์มากมาย ยิ่งทำให้ความนิยมแพร่หลายจนเกิดการทำซ้ำ ล้อเลียน กลายเป็นของประดับบ้าน หรือแม้แต่สกรีนลงแก้วน้ำ เสื้อยืด ลามไปถึงแผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็น
ว่าแต่ “ทำไมภาพเหล่านี้จึงเป็นที่หลงใหลของคนทั่วโลก ?” มาไขความลับที่ซ่อนอยู่ในภาพวาด ทั้งเบื้องลึก และเบื้องหลังของศิลปิน ไปจนถึงดีเทลเล็กๆ ที่เป็นกุญแจสำคัญและมักถูกมองข้าม
The Birth of Venus (1482) โดย Sandro Botticelli
เทพีแห่งความรักที่กำเนิดจากฟองคลื่น ‘The Birth of Venus’ ผลงานของศิลปินคนสำคัญสมัยเรอเนซองส์ชาวอิตาลี ที่เหล่ากราฟิกดีไซเนอร์น่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะถูกโปรแกรม Adobe Illustrator นำไปใช้ และเป็นแรงบันดาลใจให้มิวสิควิดีโอของ Beyoncé และ Lady Gaga
ในยุคกลางภาพผู้หญิงเปลือยเปล่าไม่ใช่สิ่งปกตินัก ศิลปินจึงวาดออกมาลักษณะคล้ายกับรูปปั้นอโฟรไดท์ ที่พยายามปกปิดตัวเองด้วยท่าทางเรียบร้อย แม้จะได้ชื่อว่าเป็นความงามในอุดมคติ แต่รูปร่างของวีนัสนั้นผิดสัดส่วนตามทฤษฎีสัจจะนิยมของ Leonardo da Vinci ที่เห็นได้ชัดเลยคือช่วงลำคอยาว แขนยาว และไหล่ลู่ไม่สมส่วน บางคนสันนิษฐานว่าเป็นงานศิลปะยุคก่อนจะพัฒนาไปเป็นแมนเนอริสม์
ถึงอย่างนั้น เส้นผมบนไหล่ขวาของเธอก็ม้วนเป็นเกลียวก้นหอยที่เป๊ะเกินกว่าจะเป็นความบังเอิญ ทำให้นักคณิตศาสตร์ชาวสวิส ‘Jacob Bernoulli’ ในศตวรรษที่ 17 รู้สึกหลงใหลในความสง่างามของธรรมชาติ และสังเกตทุกสิ่งรอบตัวตั้งแต่ดอกไม้ พายุไซโคลน ไปจนถึงกาแลคซี ว่ามีสัดส่วนเดียวกันนี้ จึงเรียกมันว่า ‘Spira Mirabilis’ (The Marvellous Spiral) หรือสัดส่วนทองคำ ‘Golden Ratio’ ที่นักออกแบบต้องรู้จัก
Mona Lisa (1503) โดย Leonardo da Vinci
ภาพวาดเลื่องชื่อขนาดแค่ 30 x 21 นิ้ว หุ้มกระจกกันกระสุนและระบบป้องกันโจรกรรมรอบทิศทาง ปัจจุบันมูลค่าน่าจะพุ่งถึง 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่คนทั่วโลกต้องบินไปชื่นชมเป็นบุญตาถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ประเทศฝรั่งเศส เรากำลังพูดถึง ‘Mona Lisa’ ผลงานของศิลปินชั้นครูชาวอิตาลี
หญิงสาวเจ้าของใบหน้าอันโด่งดังนี้เป็นสาวชนชั้นสูงชื่อ Lisa del Giocondo ภรรยาของเศรษฐีผู้ว่าจ้างลีโอนาโดให้วาดภาพเหมือนของเธอเพื่อฉลองลูกชายคนที่สอง สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือรอยยิ้มที่ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้างขวาง บางคนบอกว่าเป็นรอยยิ้มแห่งความสุข บ้างก็บอกว่ามันดูเสแสร้ง เฉยเมย หรือแม้แต่น่าเศร้า ไม่เพียงเท่านั้นดวงตาของเธอยังเหมือนจับจ้องเราไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ซึ่งเกิดจากเทคนิคภาพลวงตาที่เกิดจากแสงและสี ทำให้เราเห็นภาพแตกต่างไปจากเดิมหากมองจากมุมที่แตกต่างกัน
อีกประเด็นก็คือ “ทำไมโมนาลิซ่าไม่มีคิ้ว ?” ข้อสงสัยนี้ถูกไขโดย ‘Pascal Cotte’ วิศวกรชาวฝรั่งเศสที่ใช้กล้องความละเอียดสูงเผยความลับว่า จริงๆ แล้วเธอเคยมีคิ้วและขนตา แต่มันจางหายไปเพราะสีน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 500 ปีแล้ว นอกจากนี้ภาพต้นฉบับก็น่าจะเป็นโทนสีน้ำเงินและผิวขาวสุกใส ผิดจากที่เราเห็นออกเป็นสีเขียว เหลือง และน้ำตาล แต่ที่ไม่มีการบูรณะภาพนี้เพราะไม่มีใครกล้ารับความเสี่ยงหากภาพที่นับมูลค่าไม่ได้นี้เกิดความเสียหาย
ภาพวาดนี้ยังคงซุกซ่อนความลับอีกมากมายที่รอการไขปริศนา แต่ความจริงข้อหนึ่งที่ทำให้ภาพโมนาลิซ่าโด่งดังขึ้นอีกครั้ง คือเมื่อมันถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1911 กลายเป็นข่าวใหญ่ที่แม้แต่ศิลปินคนสำคัญของโลกอย่าง Pablo Picasso ก็เคยตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งบทสรุปผู้ร้ายตัวจริงนั้นเป็นชาวอิตาลีที่ทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ที่มีความคิดว่าผลงานของศิลปินชาวอิตาลีก็ควรต้องอยู่อิตาลีสิ ไม่ใช่ฝรั่งเศส ! หลังจากภาพโมนาลิซ่าหายไปนานกว่า 2 ปี สุดท้ายก็ไปตามกลับมาจนได้
Girl with a Pearl Earring (1665) โดย Johannes Vermeer
หากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ของฝรั่งเศสมีโมนาลิซ่ากับรอยยิ้มลึกลับ พิพิธภัณฑ์เมาริตส์เฮยส์ ในกรุงเฮก เนเธอแลนด์ ก็มีโมนาลิซ่าเป็นของตัวเองเช่นกัน นั่นคือผลงาน ‘Girl with a Pearl Earring’ หรือ หญิงสาวกับต่างหูมุก ภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบของศิลปินชาวดัตช์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘โมนาลิซ่าแห่งยุโรปเหนือ’
หญิงสาวผิวซีดเผือดบนพื้นหลังสีดำทึบขับให้เธอโดดเด่น ผนวกกับแสงเงาช่วยให้ใบหน้าดูมีมิติ ท่าทางที่เธอเอี้ยวคอมองพร้อมเผยอปากนั้นช่างสะกดสายตา ทว่าข้อเท็จจริงประการแรก ภาพนี้ไม่อาจเรียกว่าภาพพอร์ทเทรต เพราะหญิงสาวในภาพไม่ได้ระบุตัวตนแน่ชัดว่าเป็นใคร แต่เป็นภาพประเภท ‘โทรนี’ (Tronie) ที่นิยมในหมู่ศิลปินบาโร้กชาวดัตช์ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งจับเอากิริยาท่าทางและเน้นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าตัวบุคคล
อีกหนึ่งข้อเท็จจริงคือ ‘ต่างหูมุก’ ที่อาจไม่ใช่มุก แต่เป็นโลหะขัดเงา กระจก หรือดีบุก ด้วยความมันวาวของมันที่ต่างไปจากมุกจริงๆ ซึ่งมีความนุ่มนวลกว่า และขนาดที่ใหญ่เกินจริง แต่ส่วนเลอค่าที่สุดกลับเป็นผ้าโพกหัว ‘สีน้ำเงินอัลตรามารีน’ ที่ศิลปินยอมมีหนี้สินรัดตัว เนื่องจากสมัยก่อนวัตถุดิบที่นำมาสกัดสีเป็นของหายาก โดยเฉพาะสีน้ำเงินอัลตรามารีนที่ได้มาจาก ‘หินแลพิส’ จากประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งการได้มายากนั้นทำให้มันมีราคาแพงกว่าทองเสียอีก
The Scream (1893) โดย Edvard Munch
ภาพที่แสดงความหวาดกลัวราวกับส่งเสียงร้องโหยหวนออกมา ‘The Scream’ เป็นผลงานของศิลปินชาวนอร์เวย์ เขาวาดภาพนี้ไว้ 4 ภาพ โดยภาพที่รู้จักกันดีเป็นภาพวาดสีน้ำมัน สีฝุ่นเทมเพอรา และสีชอล์กบนกระดาษแข็ง วาดขึ้นในช่วงที่เขาไปเยี่ยมน้องสาวผู้ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งเขาเองก็เผชิญกับความผิดปกติทางจิตมาตลอดช่วงชีวิต
.
“ผมกำลังเดินไปตามถนนกับเพื่อนสองคน ตอนนั้นดวงอาทิตย์กำลังตกดิน ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงฉาน ผมหยุด รู้สึกหมดแรงและพิงตัวกับราวกั้น มันเหมือนมีเลือดและเปลวไฟลอยอยู่เหนือฟยอร์ดและเมืองที่ผมอยู่ เพื่อนผมเดินจากไปแล้ว แต่ผมยังอยู่ตรงนั้น ตัวสั่นเทาด้วยความวิตก และรู้สึกได้ถึงเสียงกรีดร้องที่ดังมาจากสภาพแวดล้อมนั้น”
.
ใบหน้าบูดเบี้ยวที่กลายเป็นไอคอนิกและถูกนำไปสร้างหนัง เชื่อว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘มัมมี่เปรู’ ที่ศิลปินได้เห็นในงานนิทรรศการที่กรุงปารีส แต่ก็มีอีกข้อสันนิษฐานว่า มันเกิดจากความวิตกกังวลของเขาเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วในยุคนั้น จึงวาดออกมาเป็น ‘หลอดไฟ’ รูปทรงหัวกะโหลกของ Thomas Edison ต่างหากเล่า !
.
ส่วนท้องฟ้าสีแดงวิปลาสนั้น คาดเดาว่าเป็นผลกระทบจาก ‘การปะทุของภูเขาไฟกรากาตัว’ หายนะครั้งใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่ทำให้ท้องฟ้ายามเย็นของซีกโลกตะวันตกกลายเป็นสีแดงจัดอยู่นานหลายเดือน ยังมีอีกทฤษฎีที่บอกว่า ท้องฟ้าที่ดูเป็นคลื่นหลากสีนั้นคือ ‘เมฆสีมุก’ (Nacreous cloud หรือ Polar stratospheric cloud) ซึ่งเกิดจากการเลี้ยวเบนของแสงจนปรากฏเป็นสีรุ้งนั่นเอง
The Kiss (1907) โดย Gustav Klimt
ภาพวาดจากยุคทองของ กุสตาฟ คลิมท์ ศิลปินชาวออสเตรีย ที่ต้องเรียกว่ายุคทอง เพราะนอกจากศิลปินจะได้รับการยกย่องเป็นผู้นำศิลปะยุคโมเดิร์นของเวียนนาแล้ว ตัวผลงานยังเป็นภาพวาดสีน้ำมันที่ใช้เทคนิค ‘ปิดทอง’ ลงไปบนผืนผ้าใบ เนื่องจากพ่อของเขาเป็นช่างทอง และได้แรงบันดาลใจจากศิลปะไบแซนไทน์
ภาพจุมพิตอย่างดูดดื่มท่ามกลางสวนดอกไม้ ‘The Kiss’ เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมาก ขณะเดียวกันในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล่อแหลมแม้ว่าทั้งชายหญิงจะมีผ้าคลุมมิดชิดก็ตาม หลายคนเชื่อว่าต้นแบบของผลงานชิ้นนี้คือตัวศิลปินและ Emilie Flöge ผู้เป็นที่รักของเขา
ความน่าสนใจนอกเหนือจากสีทองอร่ามและความอีโรติกคือ ผลงานของคริมท์ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาชีววิทยาของ Charles Darwin คริมท์หมกมุ่นอยู่กับการปฏิสนธิและพัฒนาเป็นตัวอ่อนในครรภ์ สัญลักษณ์ทางชีววิทยาต่างๆ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจสู่ลวดลายในภาพวาด โดยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแทนอสุจิ และรูปวงรีแทนเซลล์ไข่ ดังนั้นภาพวาดของเขาไม่เพียงเร้าอารมณ์เท่านั้น หากแต่แสดงถึงการสร้างชีวิตมนุษย์ที่น่าอัศจรรย์อีกด้วย
SOURCES: Italian Renaissance | https://bit.ly/32KTEMQ
BBC | https://bbc.in/3hqvPht
Science ABC | https://bit.ly/2CDRQuB
Medium : https://bit.ly/3fTnfrm
Encyclopaedia Britannica | https://bit.ly/2WMB5o1
TCDC | https://bit.ly/2CUG0fl
TED-Ed | https://bit.ly/2OM5HRZ
Wired | https://bit.ly/2CDs21G
BBC | https://bbc.in/39myPZB
Dairy Art Magazine | https://bit.ly/3jv0T1t