‘Wayband’ GPS ที่ใช้ระบบสั่นนำทาง - Urban Creature

เรื่องราวของการกีฬาอยู่ในสปอตไลต์มาหลายสัปดาห์ตั้งแต่คบเพลิงโอลิมปิกถูกจุดขึ้น ณ กรุงโตเกียว และอีกไม่นาน ‘พาราลิมปิก’ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่สองของมวลมนุษยชาติจะเริ่มต้นขึ้น บรรดานักกีฬากว่า 4,000 ชีวิต จะหอบหุ้มความฝันและการฝึกฝนออกมาแสดงให้โลกเห็น 

แม้จะไม่ได้เป็นพาร์ตเนอร์อย่างเป็นทางการของพาราลิมปิก และเป็นเพียง สตาร์ทอัปเล็กๆ ในนิวยอร์กแต่เราคิดว่าเรื่องราวของ WearWorks เหมาะที่จะหยิบยกมาเล่าในช่วงนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่คือสายรัดข้อมือที่ชื่อว่า Wayband เป็น GPS นำทางที่ทำงานโดยระบบสั่น แจ้งเตือนด้วยการสั่นเมื่อผู้สวมใส่ออกนอกเส้นทางหรือถึงทางเลี้ยว

Simon Wheatcroft นักวิ่งผู้พิการทางสายตา บอกว่า เป็นเรื่องยากสำหรับคนตาบอดที่จะก้าวเท้าไปบนทางที่ไม่รู้จัก แต่สายรัดข้อมือเส้นนี้สามารถพาวิ่งจนจบมาราธอน หรือเดินเล่นในเมืองที่พลุกพล่านโดยไม่ต้องอาศัยคนช่วยบอกทาง แต่ใช้การนำทางโดยการสั่น ที่จะทำให้คุณไม่หลงทิศ หรือไม่เดินไปชนกับอะไรหรือใครแน่นอน

‘ก้าว’ ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด

ยังไม่ต้องพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันด้านกีฬา คนพิการทางสายตามีข้อจำกัดเยอะมากสำหรับการฝึกซ้อม นักกีฬาบางรายใช้ไม้เท้าในการนำทาง ใช้สุนัขในการนำทาง หรือมีบัดดี้เป็นคู่คอยผูกคู่มือวิ่งไปด้วยกัน หนึ่งในผู้พิการทางสายตาที่พิชิตมาราธอนมาแล้วบอกกับ BBC ว่า เขาเคยวิ่งคู่กับอาสาสมัครซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากแต่สิ่งที่หายไปคือความเป็นอิสระ 

แม้วิธีการข้างต้นจะช่วยให้จบการแข่งขันหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมนัก ไม้เท้าที่ใช้ในการนำทางสามารถตรวจจับรอยแตกหรือพื้นที่ไม่สม่ำเสมอบนทางเท้าได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อเสียคือเป็นเครื่องมือนำทางที่ไม่เหมาะสำหรับการเปิดเส้นทางใหม่ หรือการใช้สุนัขนำทางก็มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (คนพิการทางสายตาในบางประเทศสามารถยื่นขอได้ฟรี)

แม้จะมีหลายตัวช่วยที่ทำให้คนตาบอดสามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือ ความยุ่งยากหรือความไม่สบายตัวในการใช้งานจริง ทำให้ Freethink ยกให้ Wayband เป็นตัวเปลี่ยนเกมในวงการนี้ มีศักยภาพที่จะทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดอีกต่อไป ผ่านการส่งข้อมูลสภาพแวดล้อมรอบข้างแบบเรียลไทม์ จนการเดินเหินในเมืองที่ผู้คนพลุกพล่าน หรือการตัดสินใจก้าวขาออกไปในย่านใหม่ที่ไม่คุ้นเคยทำได้ง่ายขึ้น 

‘ก้าว’ ตามความรู้สึก

Keith Kirkland นักออกแบบผู้เหมาทั้งสาขาแฟชั่นและอุตสาหกรรม Co-founder ของ WearWorks บอกว่าความสนใจใน Haptics หรือเทคโนโลยีการสั่นสะเทือนของเขาคือก้าวแรกของ Wayband

ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย Haptics คือระบบสั่นที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีเช่นการสั่นเมื่อมีโทรศัพท์เรียกเข้า แต่เทคโนโลยีนี้สามารถก้าวขึ้นไปได้ไกลกว่าการสั่นเพื่อแจ้งเตือนเฉยๆ ลองนึกถึงจอย DualShock ของเครื่องเล่นเพลย์สเตชันที่ไม่ได้สั่นเป็นจังหวะเดิมๆ เมื่อเราโดนศัตรูโจมตีเหมือนในเกมต่อสู้ยุคก่อน แต่พัฒนามาสั่นถี่ๆ เมื่อเราเดินผ่านทราย สั่นแบบช้าๆ หนืดๆ เมื่อเราย่ำลงไปในโคลน หรือต้องใช้แรงในการกดปุ่มมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนไปใช้ปืนที่ใหญ่กว่าเดิมในเกมสงคราม เทคโนโลยีนี้จึงเป็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของ Haptics เหมือนกัน สำหรับ Wayband เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่แค่เกมแต่สามารถช่วยเปลี่ยนโลกของคนตาบอดได้ทั้งใบ

Wayband ใช้แมกนิโทมิเตอร์ หรือเครื่องวัดค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก ที่ใช้ในการสำรวจภาคพื้นดินและการสำรวจทางอากาศ มาใช้คู่กับ Compass Sensor ที่ใช้ในการจับมุมและทิศทาง ซึ่งสองเทคโนโลยีนี้มักจะพบในโทรศัพท์หรือใช้ในการสร้างหุ่นยนต์อยู่แล้ว โดยทำงานร่วมกับ GPS ที่ดึงข้อมูลจาก OpenStreetMap โปรเจกต์แผนที่โลกที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างอิสระ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้อุปกรณ์นำทางที่ตอบสนองแบบเรียลไทม์และแม่นยำ 

หลักการทำงานของ Wayband นั้นง่ายมากเพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ เมื่อคุณก้าวออกไปในทิศทางที่ถูกต้องสายรัดข้อมือจะไม่ทำงาน แต่เมื่อคุณเริ่มออกนอกเส้นทางจะมีการสั่นสะเทือนเบาๆ เพื่อเตือนให้กลับไปในทิศที่ถูกต้อง และจะสั่นแรงขึ้นเมื่อคุณเดินออกนอกเส้นทาง เมื่อถึงทางเลี้ยวเครื่องจะสั่นอย่างรวดเร็ว 4 ครั้งหมายถึงไปทางซ้าย แต่ถ้าสั่นยาว 2 ครั้งจะแปลว่าให้เลี้ยวขวา 

‘ก้าว’ แรกของการระดมทุน

ไอเดียและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับ GPS ระบบสัมผัสเกิดขึ้นมาในปี 2015 จากเพื่อนของ Kirkland ผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นคนพิการทางสายตา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้ WearWorks 

“การเริ่มต้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ในมุมมองของผมเส้นทางชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องที่ต้องฝ่าฟันเสมอ และนั่นคือเส้นทางที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ” Kirkland บอกว่าหลังจากที่ผุดไอเดียขึ้นมากว่าที่จะได้เริ่มต้นจริงจังก็อีก 2 ปีให้หลัง เมื่อได้รับเงินทุนก้อนใหญ่ถึง 250,000 เหรียญ จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ แต่ก็เหมือนกับสตาร์ทอัปโดยส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีแหล่งเงินแน่นอน เมื่อทุนดังกล่าวหมดลงพวกเขาจึงอยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยงด้านการเงินนานถึง 18 เดือน จนแทบจะล้มเลิกไอเดียนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ 

WearWorks ไม่มีเงิน ไม่มีความมั่นคง ไม่มีประกันสุขภาพเป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งที่ไม่มีอะไรรับประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันอันโหดร้าย 

“มันเหมือนกับโรลเลอร์โคสเตอร์ ความล้มเหลวถาโถมเข้ามาตรงหน้า คุณเดินไปในจุดที่การันตีความล้มเหลวเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งหมดที่ทำก็เพื่อวันหนึ่งสิ่งนี้จะสามารถกลายเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้” 

อันที่จริงแนวคิดของ Wayband ฟังดูยอดเยี่ยมมากแต่ก็อดคิดไม่ได้ถึงการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่วัตถุต่างๆ เคลื่อนไหวตลอดเวลา และไม่ได้มีเพียงสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่กับที่เหมือนใน GPS ผู้คนเคลื่อนที่กันตลอดเวลา และรถราก็อาจจะไม่ได้ระวังเราด้วยเช่นกัน โจทย์ของพวกเขาคือหาวิธีให้ Wayband เปลี่ยนการใช้ชีวิตของผู้คนได้จริงๆ 

‘ก้าว’ สำคัญในนิวยอร์ก มาราธอน

สิ่งที่ Kirkland หวังไว้กลายเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ในนิวยอร์ก มาราธอน สำหรับนักวิ่งทั่วไปการวิ่งมาราธอนไม่ใช่เรื่องที่คิดจะทำวันนี้แล้วไม่กี่วันก็จะสำเร็จได้เลย และยิ่งสำหรับคนพิการทางสายตา ระดับความยากในการวิ่งยิ่งน่าจะทวีคูณขึ้นไปอีกหลายเท่า เพราะนักวิ่งไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยตัวคนเดียวได้

ความฝันของ Kirkland เป็นจริงได้ในปี 2017 เมื่อ Simon Wheatcroft นักวิ่งผู้มีปัญหาด้านการมองเห็น สามารถจบนิวยอร์ก มาราธอนได้ด้วยตัวคนเดียว ด้วยการวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมกับ Wayband บนข้อมือ

แม้ว่า WearWorks จะไม่ใช่รายแรกที่สนใจเรื่องนี้ และมีการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือคนพิการทางสายตามาสักพักแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลก็มี Google Glass ที่สามารถทำงานร่วมกับ Aira ซึ่งจะมีตัวแทนมาบรรยายภาพที่อยู่ตรงหน้าแก่ผู้ใช้งานได้ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมมากแต่ติดอยู่ตรงที่ค่าบริการสูงถึง 329 เหรียญต่อเดือน หรือ Seeing AI ที่ใช้กล้องโทรศัพท์ช่วยนำทาง แต่ก็กินแบตเตอรี่และต้องอาศัยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรในระดับหนึ่ง ทำให้คนพิการทางสายตายังไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง 

“เมื่อถามคนที่ชอบวิ่งว่า ทำไมเขาถึงออกไปวิ่ง? มักจะได้ยินคำตอบเรื่องความเป็นอิสระ แต่ถ้าคุณเป็นคนตาบอด ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่อยากแสวงหาสิ่งใหม่ ไม่มีใครอยากขอความช่วยเหลือพร่ำเพรื่อ และใช้ชีวิตโดยที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยข้อจำกัด” Wheatcroft บอกกับ The Verge ว่าไม่มีอาสาสมัครที่ไหนชอบเมื่อคุณอยากออกไปซ้อมวิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่นิวยอร์กปกคลุมไปด้วยหิมะและความหนาว ถ้าเป็นไปได้ไม่ว่าจะตาดีหรือคนตาบอดก็อยากทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งนั้น

จนกระทั่งในปี 2016 Wheatcroft ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา Wayband ก่อนจะค้นพบว่ามันเวิร์กจริงๆ และทางออกไม่ใช่เทคโนโลยีที่ราวกับหลุดออกมาจากโลกอนาคต แต่เป็นการทำให้การนำทางเข้าใจง่ายขึ้นต่างหาก โจทย์ต่อไปคือแม้จะพาไปส่งถึงจุดหมายได้ แล้วอุปสรรคระหว่างทางทั้งถนนที่ไม่ราบเรียบ หรือการข้ามถนนล่ะจะทำอย่างไร 

พวกเขาแก้ปัญหานี้ด้วยการคิดค้นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญขึ้นมาและเรียกว่า Tortoise อุปกรณ์อัลตราโซนิกที่จะช่วยในการนำทางในระดับไมโครที่มีขนาดประมาณสองนิ้ว และนำมารัดไว้ที่หน้าอกของ Wheatcroft เมื่ออุปกรณ์ส่งสัญญาณออกไปและรับแรงสั่นสะเทือนกลับมา คลื่นความถี่จะแสดงให้เห็นว่ามีวัตถุอะไรที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้งานซึ่งจะทำงานคู่ขนานกันไปกับสายรัดข้อมือที่จะสั่นเตือนทันที ทำให้นักวิ่งมีความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในการแข่งขันมาราธอนที่ผู้คนมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

‘ก้าว’ ที่เห็นได้ชัด

“เรามีโอกาสที่ดีจริงๆ ในการมอบความเป็นอิสระให้กับผู้คน สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคือ วิธีที่จะได้สิ่งที่คุณต้องการคือการมอบสิ่งนั้นให้กับผู้อื่น” อนาคตของ Wayband สดใสขึ้นเมื่อ Kirkland และผู้ร่วมก่อตั้งเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรที่ทำงานกับคนพิการทางสายตา จนในที่สุดก็สามารถเอาชนะใจนักลงทุนรายใหญ่และสามารถเดินหน้าสานต่อความฝันได้โดยไม่ต้องกังวลจากเงินลงทุนที่ระดมมาได้กว่า 500,000 เหรียญ ซึ่งเพียงพอสำหรับการผลิตสายรัดข้อมือรุ่นแรกจำนวนถึง 5,000 ชิ้น และกำลังจะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีนี้ ด้วยราคาเพียง 249 เหรียญ ทำลายข้อจำกัดด้านราคาที่ทำให้คนพิการทางสายตาเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้น

ณ เวลาที่บทความเรื่องนี้เผยแพร่ โตเกียว โอลิมปิก 2020 ใกล้จะถึงเวลาปิดฉาก กีฬาไฮไลต์อย่างมาราธอนจะแข่งกันในวันที่ 8 สิงหาคม หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งเดือนพาราลิมปิกก็จะเริ่มขึ้น องค์กรสหประชาชาติเคยกล่าวถึง สปิริตของนักกีฬาคนพิการเอาไว้ว่า “นักกีฬาพาราลิมปิกคืออุดมคติอันสูงสุดของมนุษยชาติ พวกเขาท้าทายขอบเขตที่สังคมกำหนด และพิสูจน์ว่ากีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาซึ่งสันติภาพ” 

เช่นเดียวกันเราคิดว่ากีฬาไม่ควรเป็นข้อจำกัดและไม่ควรมีขอบเขตจึงหยิบเรื่องนี้มานำเสนอ ผมยังชอบที่ Wheatcroft พูดถึงการจบนิวยอร์ก มาราธอน ในฐานะนักกีฬาผู้พิการทางสายตาได้โดยไม่ต้องพึ่งอาสาสมัคร ว่าการแข่งขันในครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเวลา แต่เป็นการพิสูจน์ว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นเราหวังว่าในอนาคตจะเห็นการเติบโตของ Good Business แบบ WearWorks มากขึ้น และสัญญาว่าจะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังแน่นอน

Sources :
Freethink
The Verge
WearWorks

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.