วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ออกแบบเข้าใจชาวพุทธยุคใหม่ - Urban Creature

ไม่เข้าวัด ห่างไกลวัดออกไปทุกที 
ถ้าไม่ไปทำบุญ หรืองานศพ ก็ไม่รู้จะพาตัวเองเข้าวัดไปทำอะไร 
เรารู้สึกแบบนั้นเสมอ

แต่เมื่อได้มาเยือน วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง ละแวกปากเกร็ด นนทบุรี ความคิดที่ขยับออกจากวัดกลับกลายเป็นความรู้สึกอยากชิดใกล้ ผ่านกิจกรรมทางพุทธศาสนารูปแบบใหม่ และงานดีไซน์ร่วมสมัยชวนเข้าหา สู่วัดบันดาลใจสำหรับพุทธศาสนิกชนยุคใหม่

หนึ่ง วัดชลประทานรังสฤษดิ์ คือวัดที่ออกแบบโดยยึดหลักสัปปายะ หรือการออกแบบให้สะดวกสบายกับพุทธบริษัท หรือพุทธศาสนิกชน

สอง วัดชลประทานรังสฤษดิ์ คือวัดที่เปิดให้จัดงานที่เป็นกุศล ปราศจากอบายมุข เช่น งานแต่งงานอย่างเรียบง่ายในรูปแบบธรรมสมรส

สาม วัดชลประทานรังสฤษดิ์ คือวัดที่มีนวัตกรรมการฌาปนกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่รับพวงหรีด เผาไร้ควัน และมีหอมนุษยชาติ ดิจิทัลอัฐิ

ทั้งสามข้อข้างต้นเป็นเพียงน้ำจิ้ม ที่จะชวนมารู้จักวัดชลประทานรังสฤษดิ์อย่างถึงแก่นผ่าน 3 บทต่อจากนี้ที่เราตั้งใจเขียน และเต็มใจนำเสนอเพื่อเชิญชวนชาวพุทธรุ่นใหม่ขยับเข้าใกล้ แล้วมองวัดในมุมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ผู้สร้าง

วัดชลประทานรังสฤษดิ์ สร้างขึ้นในปี 2502 โดย ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ก่อนปี 2503 ได้อาราธนา ท่านปัญญานันทภิกขุ มาเป็นเจ้าอาวาส ด้วยความศรัทธาในการสอนธรรมะแนวใหม่ที่เปลี่ยนจากการ ถือใบลาน นั่งเทศน์บนธรรมาสน์ มาเป็นการยืนพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมยกตัวอย่างที่ร่วมสมัยและใกล้ตัวชาวพุทธ

ทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานแนวคิดและวิถีปฏิบัติยุคใหม่ ให้ศาสนาห่างจากความงมงาย เหลือไว้เพียงแก่นธรรมที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างวัดที่มีวิถีพุทธร่วมสมัย ท่ามกลางธรรมชาติร่มรื่น พร้อมกับการเป็นแหล่งของความรู้ ปัญญา และการเผยแผ่หลักคำสอน ที่ชาวพุทธยุคใหม่จะเลิกมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ จนท่านได้รับการขนานนามว่า พระผู้ปฏิรูปพิธีกรรมชาวพุทธไทย

พระปัญญานันทมุนี (สง่า ณ ระนอง)

หลังหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุมรณภาพ พระปัญญานันทมุนี (สง่า ณ ระนอง) เข้ารับช่วงเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พร้อมสืบสานแนวคิดของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ที่อยากพาวัดและศาสนาเข้ามาชิดใกล้กับพุทธศาสนิกชนมากขึ้น ด้วยการปฏิรูป 4 เรื่อง คือเปลี่ยนพิธีกรรมสู่พิธีธรรม เปลี่ยนไสยศาสตร์สู่พุทธศาสตร์ เปลี่ยนธุรกิจเป็นบุญกิจ และเปลี่ยนพาณิชย์สู่วิถีพุทธ 

“วัดเป็นสมบัติของชาวพุทธ พระพุทธเจ้ามอบศาสนาไว้กับบริษัท 4 ซึ่งธรรมะของพระองค์ไม่ถูกกำหนดด้วยกาลเวลา จึงร่วมยุค ร่วมสมัยอยู่เสมอ และศาสนวัตถุทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เป็นองค์ประกอบของการรักษาศาสนา และทำให้การเป็นอยู่ของศาสนาเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

นั่นจึงนำมาสู่การปรับปรุงพื้นที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์กว่า 50 ไร่ ซึ่งทำงานกับสถาปนิกอย่าง อาจารย์ประชา แสงสายัณห์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยบวชเรียนที่วัดชลประทานฯ จนเลื่อมใส สถาปนิกอย่าง สมพล อุทัยรัตน์ ผู้ทำงานอยู่เทศบาลนครปากเกร็ด ซึ่งได้รับอาสาช่วยวัดชลประทานฯ มากว่า 5 ปี วิศวกรอย่าง ประวี พันธุ์นนท์ และภูมิสถาปนิกอาสาอย่าง อาจารย์กชกร วรอาคม จากบริษัท Landprocess จำกัด พร้อมด้วยสถาบันอาศรมศิลป์ กรมชลประทาน ตลอดจนคณะสงฆ์ และคณะกรรมการบริหารวัดชลประทานฯ ที่มาช่วยปรับภูมิทัศน์ในรั้ววัดให้ร่มรื่น รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ อีกมากมายที่ร่วมสร้างวัด สร้างพระ สร้างคน สร้างเยาวชน และสร้างศาสนทายาท

อาจารย์ประชา แสงสายัณห์

“หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเคยบอกไว้ว่า สร้างวัดเพื่อสร้างคน ให้อยู่ในโลกนี้ด้วยพระธรรมวินัยที่งดงาม และไม่ตกเป็นทาสของทุนนิยมจนเกินไป ผมฟังแล้วเข้าใจนะ แต่ไม่อินลงไปในใจ จนหลวงพ่อสร้างความกระจ่างให้จริงๆ ว่า ทุกครั้งที่ทำพิธีกรรมศาสนา คนไม่ค่อยรู้กันว่านัยที่ซ่อนอยู่คืออะไร ไม่เข้าใจว่าการมีวัด มีพระเป็นที่พึ่งให้กับชาวพุทธนั้นเป็นอย่างไร” อาจารย์ประชาเล่าให้ฟัง

สมพล อุทัยรัตน์

“ผมเข้ามาร่วมทำตั้งแต่โครงการวัดบันดาลใจ เป็นเรื่องหนักมากนะที่จะพัฒนาวัดให้คนรุ่นใหม่เห็น และนำไปสู่การรองรับคนรุ่นใหม่ในอีกห้าสิบปีข้างหน้า ซึ่งหลวงพ่อปัญญานันทมุนีก็ให้แนวคิดมากมายกับทีมงาน แม้จะหนักหน่วง เจออุปสรรคและความไม่เข้าใจจากพุทธศาสนิกชน ท้ายที่สุดด้วยความมุ่งมั่น เป้าหมายของพวกเราก็ประสบความสำเร็จ” สมพลกล่าวเสริม

ซึ่งการที่วัดชลประทานฯ เข้าร่วมโครงการวัดบันดาลใจ คือการเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวพุทธอย่างสมชื่อ ทั้งการต่อยอดกิจกรรมการแสดงธรรม การปรับปรุงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ การสร้างพื้นที่สีเขียวให้คนเข้ามานั่งหย่อนใจ นับเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวของเมืองนนท์ฯ ก็ว่าได้ ไปจนถึงการจัดสรรพื้นที่อย่างตอบโจทย์ความต้องการของพระ และพุทธศาสนิกชน 

สร้างวัด สร้างพระ สร้างคน

ด้วยความตั้งใจสร้างวัดเพื่อสร้างคน วัดชลประทานรังสฤษดิ์จึงมีแนวคิดการพัฒนาวัด 3 ข้อคือ หนึ่ง ทำวัดให้ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าและพุทธศาสนิกชน สร้างสถานที่ที่ร่มรื่นด้วยธรรมชาติ และสะดวกสบายต่อคนที่มาปฏิบัติธรรม หรือมีที่รองรับเยาวชน และคนรุ่นใหม่ สอง เดี่ยวแต่ไม่เปลี่ยว คือการมีสำนักส่วนกลาง มีเจ้าหน้าที่คอยเป็นคนประสานระหว่างพระกับคนเข้าวัดให้ไม่รู้สึกเก้กัง รวมถึงทำให้รอบบริเวณสงบแต่ไม่เปลี่ยว และมองเห็นง่ายจากทุกมุม เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างมุมอับลับตาคน สาม อิสระแต่ควบคุม แม้การออกแบบจะเปิดโล่ง แต่ก็ต้องเป็นสัดส่วน อย่างโซนของกุฏิพระจะจัดแยกเป็นส่วนตัว 

จากไอเดียการพัฒนา สู่การออกแบบโซนวัดที่ยึดหลัก 3 โซน หรือ 3 เขต
พุทธานุภาพ พื้นที่สาธารณะเพื่อศาสนสงเคราะห์ เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า หรือเป็นพุทธบูชา
ธรรมานุภาพ พื้นที่เรียนรู้การเผยแผ่พุทธธรรมผ่านพุทธวิถี
สังฆานุภาพ พื้นที่เพื่อการบ่มเพาะพุทธบริษัท 4 

อ่านดูแล้วอาจยังไม่เห็นภาพว่าจะสร้างวัดอย่างไรให้ร่วมสมัยอย่างคงไว้ซึ่งหลักธรรมและเข้าอกเข้าใจคนรุ่นใหม่ เราจึงขอพาทัวร์วัดผ่านตัวหนังสือไปยังจุดต่างๆ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ จนบางครั้งถึงกับต้องเอ่ยปากว่า “มีแบบนี้ในวัดด้วยเหรอ” 

ลานหินโค้ง ทำบุญ ฟังธรรม นั่งเล่น ไปจนถึงฝังอัฐิ – ปกติเข้าวัดทีคงได้ต่อแถวทำบุญที่ลานว่างๆ ฟังธรรมบนศาลา จะบรรจุอัฐิต้องสร้างเจดีย์ มุมนั่งเล่นคงไม่มีเท่าไหร่ แต่สำหรับลานหินโค้งในวัดชลประทานรังสฤษดิ์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุนั้นเป็นทุกอย่างให้เราได้ เดิมทีลานหินโค้งขนาดเล็กกว่านี้จนไม่พอกับพุทธศาสนิกชนที่เข้าใช้งาน จึงใช้วิธีถมสระขยายพื้นที่ แล้วปลูกพันธุ์ไม้ที่ได้รับจาก คุณพิษณุพงศ์ จันทโรภาส ดร.สฤษฎเกียรติ แจ่มสมบูรณ์ และสวนนงนุช พัทยา แทนต้นไม้เดิมที่พัฒนาต่อไม่ได้ โดยเน้นไม้ผลัดใบ แต่ไม่ทิ้งใบ

ลานหินโค้งจึงเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่แสนร่มรื่น มีไม้ยืนต้นสูงหยัดยืนให้ร่มเงาสำหรับพุทธศาสนิกชนที่มาทำกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ฟังธรรม และโดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะเปิดให้มาทำบุญบริเวณนี้ โดยมีพระมานั่งที่ลานหินโค้ง 70 – 80 รูป และคนเข้ามาใช้สอยกว่า 3,000 คนต่อสัปดาห์

ด้วยความร่มรื่นมีต้นไม้ทั่วพื้นที่ วันไหนหากไม่มีกิจกรรม เราชาวพุทธก็ยังมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ นั่งสมาธิ รวมไปถึงบริเวณโคนต้นไม้ก็สามารถนำเถ้าอัฐิมาฝัง เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้เติบโต ทั้งยังเชื่อมไปยังโรงเรียนพุทธธรรม ที่เป็นหัวใจสำคัญเพื่อเผยแผ่ธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ และใกล้กับลานหินโค้งยังมีโรงครัว และโรงทานวัดชลประทานรังสฤษดิ์สำหรับชาวพุทธได้อิ่มท้องฟรี

นอกจากนี้ยังมีหอสมุดอินเดียศึกษา สำหรับการศึกษาค้นคว้าธรรมะของพระสงฆ์และประชาชน ซึ่งดีไซน์ด้วยสถาปัตยกรรมอินเดีย โดย รศ. ดร.ไชยพจน์ หวลมานพ อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้สึกเหมือนไปเยือนชมพูทวีปอย่างไรอย่างนั้น

อาคารปัญญานันทานุสรณ์ หอพระไตรปิฎกนานาชาติหลากภาษา ดิจิทัลอัฐิ จัดงานแต่ง – แต่งงานในวัด ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด วัดทั่วไปจะมีภาพจำเกี่ยวกับกิจกรรมเชิงเศร้าโศก ทำให้คนไม่อยากเข้าหาหากไม่จำเป็นหรือหากไม่ใช่วัดดัง ที่นี่จึงส่งเสริมให้มีกิจกรรมแห่งความสุขอย่าง การแต่งงาน ที่สามารถจัดได้ที่โถงอเนกประสงค์ชั้น 1 ของอาคารปัญญานันทานุสรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่รักษาและเผยแผ่งานของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ภายในยังมีนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ ที่คอยสอนธรรม มีห้องประชุม

และชั้น 5 บนสุดยังเป็นที่รองรับพระบรมสารีริกธาตุ 4 แผ่นดิน คือ จากอินเดีย ศรีลังกา พม่า และไทย มีหอมนุษยชาติ ดิจิทัลอัฐิ ที่ให้เราร่วมระลึกถึงผู้ล่วงลับผ่านภาพถ่ายและบทสวดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องเสียเงินสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ ทั้งยังมีหอพระไตรปิฎกนานาชาติ คล้ายกับห้องสมุดที่รวบรวมพระไตรปิฎกในเวอร์ชันหลากภาษา ซึ่งเปิดให้หยิบยืมไปซึมซับคำสอนอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อออกไปยังบริเวณดาดฟ้า เราหลุดพูดออกมาเลยว่า “มินิมอลจัง” เพราะเป็นลานโล่งเห็นท้องฟ้าใส มีกระจกรอบด้านเชื่อมกับพื้นสีน้ำตาล ทั้งยังโดดเด่นด้วยยอดเจดีย์เพื่อคงความสำคัญของรูปทรงเจดีย์ที่มีความอิ่มตึง ยอดเรียวแหลมเห็นแล้วรู้สึกจับใจ กลมกลืนไปกับความมินิมอลได้แบบไม่เคอะเขิน เป็นมุมที่จะขึ้นมาถ่ายภาพเก็บบรรยากาศ หรือนั่งสมาธิรับสายลมก็แสนจะสงบ

วันอาทิตย์เป็นวัน (ชาว) พุทธ (เข้าวัด) – หากกำลังหาที่พักผ่อน เราอยากให้ลองมาหย่อนใจที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ เพราะทุกวันอาทิตย์จะมีการทำบุญตักบาตร และบรรยายธรรมที่ลานหินโค้ง ช่วงบ่ายจัดฝึกเจริญสติภาวนา ที่โรงเรียนพุทธธรรม แถมยังมีกิจกรรมโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่ชักชวนเด็กๆ ภายในเขตนนทบุรีมาร่วมกิจกรรมกับทางวัด ใครมองหา One Day Trip ชวนใจสงบก็น่ามาลองเลยล่ะ

งานศพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่รับพวงหรีด เตาไร้ควัน– เพื่อแสดงความเสียใจต่อผู้ล่วงลับ เรามักมอบพวงหรีดให้ในงานศพ แต่ทางวัดชลประทานรังสฤษดิ์มองหาวิธีการใหม่ โดยลดทอนเหลือเพียงบุญเว้นบาป ตามแนวทางการจัดงานศพที่เรียบง่าย ประหยัด และได้ประโยชน์ โดยจัดเทศน์ก่อนการสวดพระอภิธรรม

เหตุผลที่ไม่รับพวงหรีด เพราะพวงหรีดหรือดอกไม้ที่นำไปมอบในงานศพจะกลายเป็นขยะและสร้างมลภาวะเป็นพิษในภายหลัง เมื่อไม่มีพวงหรีด ก็ไม่มีการเผาสิ่งที่ทำมาจากโฟม จึงไร้ซึ่งการปล่อยควันจากเคมีภัณฑ์ขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ 

และปลายปีนี้ยังจะมี สุคติสถาน ซึ่งประกอบด้วยศาลาคู่เมรุ 4 ชั้น ศาลาบำเพ็ญกุศล 10 ศาลา ทั้งยังมีเมรุ-เตาเผาไร้มลพิษ ไร้ควัน จำนวน 2 เตา พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้พื้นที่ขนาด 1,500 ตารางเมตร เพื่อสร้างความสงบสุขให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตมนุษย์ ที่ผู้อยู่ก็อิ่มใจ ผู้จากไปก็ได้สุคติเป็นที่หมาย

อาคารจอดรถที่ร่มรื่นด้วยกำแพงต้นไม้ – เมื่อต้องการทำให้วัดเป็นที่สะดวกและสบายสำหรับทุกคน งานแวดล้อมอื่นนอกจากกุฏิพระหรือสุคติสถานก็สำคัญไม่แพ้กัน วัดชลประทานฯ จึงเปลี่ยนลานจอดรถที่อาจบดบังทัศนียภาพ เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แสนร่มรื่น แล้วสร้างอาคารจอดรถที่พรางตาด้วยกำแพงต้นไม้เขียวขจี รองรับรถยนต์กว่า 720 คัน เห็นภาพแล้วไม่บอกก็ไม่รู้ว่านี่คืออาคารจอดรถของวัด ที่เคียงด้วยสวนขนาดใหญ่

วัดไร้สายไฟ ระบบระบายน้ำไร้ปัญหา – นอกจากการแบ่งสัดส่วนและการออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว วัดชลประทานรังสฤษดิ์ยังไม่มีสายไฟห้อยระโยงระยางแม้แต่น้อย เพราะหลวงพ่อปัญญานันทมุนีคิดว่า เมื่อพัฒนาพื้นที่แล้ว จะทำอย่างไรให้ทัศนียภาพดีด้วย เลยนึกถึงการเอาสายไฟลงดิน ด้วยภูมิปัญญาแบบชาววัด ที่ชาวพุทธมีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีโอกาส

ทั้งยังปรับปรุงงานระบบระบายน้ำภายใน เนื่องจากพื้นที่วัดอยู่ต่ำกว่าถนนประมาณ 2 เมตร จึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งปั๊มน้ำเชื่อมไปยังสระด้านขวามือของอาคารปัญญานันทานุสรณ์ เพื่อสูบออกไปยังถนนติวานนท์ แล้วระบายลงคลองบางตลาด 

แต่ละอย่างที่ลิสต์มาเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว้าวเมื่อได้รับฟัง และเห็น ต้องยอมรับตรงๆ ว่านี่คือครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับวัดดีไซน์ร่วมสมัย ทั้งกิจกรรมต่างๆ ยังฉีกกรอบความเชื่อเดิมที่เคยรับรู้ แต่ยังคงเชิดชูคำสอนและหลักธรรมได้อย่างไม่บกพร่อง 

สร้างความชิดใกล้

ทำไมต้องสร้างวัดเพื่อสร้างพระ สร้างคน และปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยให้คนรุ่นใหม่อยากเข้าหา นี่อาจเป็นคำถามในใจใครหลายคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้

นั่นเพราะครั้งที่พระปัญญานันทมุนี (สง่า ณ ระนอง) ไปต่างประเทศกับหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านมีโอกาสได้เห็นโลกในต่างแดนว่าการดูแลบ้านเมืองเขาทำกันอย่างไร ทำอย่างไรให้ศาสนิกชนไม่ละทิ้งสมบัติอันล้ำค่าคือศาสนา และได้เข้าใจว่าเมื่อโลกคือการเปลี่ยนแปลง พุทธบริษัทต้องรักษาศาสนธรรม แต่อาจปรับเปลี่ยนศาสนสถานให้สอดรับกับความจริงที่ต้องใช้งาน ให้เหมาะสมตามการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

เพราะฉะนั้นวัดที่เกิดขึ้นใหม่ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวพุทธทั้งมวล หลวงพ่อปัญญานันทมุนี จึงพยายามสร้างให้วัดเป็นพื้นที่ทางปัญญา เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของวัดไปตามบริบทสังคม เพื่อรักษาพุทธศาสนิกชนไว้ เพราะหากยังยึดติดกับอดีตแล้วทิ้งคนในยุคปัจจุบัน คิดเพียงว่าประเพณีโบราณทำมาเช่นนี้ ก็จะสูญเสียพุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่ไป

ท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้ร่วมออกแบบ และพุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่อย่างเราได้เรียนรู้จากวัดชลประทานรังสฤษดิ์ คือการสร้างวัดเพื่อสร้างพระ สร้างคน สร้างเยาวชน และสร้างศาสนทายาทอย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยทั้งความศรัทธา ความเชื่อมั่น และการก้าวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย หากแต่ไม่ลืมทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ให้วัดและพระพุทธศาสนาได้เติบโตไปพร้อมพุทธศาสนิกชนทุกรุ่น

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.