ย่ำค่ำกลางเดือนเมษายน ร้านอาหารแน่นขนัดไปด้วยหนุ่มสาวออฟฟิศที่เพิ่งเลิกงาน พนักงานเสิร์ฟเดินกันขวักไขว่ให้บริการ แว่วเสียงหญิงสาวโต๊ะข้างๆ เธอคุยกันถึงเหตุการณ์ความรุนแรงจากข่าวทีวีเหนือศีรษะ
ข่าวแรก มีหนุ่มโรคจิตหลอกผู้หญิงมากักขังทรมานจนตาย ยังมีเหยื่อสาวรายใหม่ที่ถูกทุบตีจนจมูกพังและซี่โครงหักเก้าซี่ โชคดีที่ตำรวจเข้าช่วยได้ทัน ข่าวเล่าต่อไปว่า โดยปกติผู้ต้องหาเป็นคนร่าเริง เขามีรสนิยมแบบรักร่วมเพศ แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะชอบทำร้ายผู้หญิง
ข่าวต่อไปบอกเล่าเรื่องเด็กอายุสิบแปดปีโดนแฟนเก่าที่เลิกรากันไปแล้วตามราวีไม่หยุด ถูกบุกถึงบ้าน แถมใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ และทำร้ายร่างกายจนฟันหัก หน้าบวมปูด อีกหนึ่งข่าวเป็นหญิงสาววัยเบญจเพสซึ่งตั้งท้องได้หกเดือน ถูกแฟนเก่าไม่พอใจตามมาทำร้ายร่างกาย
ถัดมาอีกวัน หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งพาดหัวข่าว สาวนักฆ่าต่อเนื่องชวนเหยื่อไปกินข้าว จากนั้นวางยาฆ่าและปล้นชิงทรัพย์ หลังจากคนร้ายถูกจับกุมพบว่ามีเหยื่อที่เป็นผู้หญิงอีกกว่าสิบราย และช่วงที่ผ่านมาในหน้ากระดานออนไลน์ สื่อหลายสำนักลงข่าวใหญ่ พบร่างไร้ลมหายใจของหญิงสาวเน็ตไอดอลชื่อดัง ที่บริเวณศีรษะมีรอยกระสุน และข้างกันเป็นร่างของแฟนหนุ่มนักเรียนเตรียมทหารที่ยิงตัวตายตามหลังจากสังหารแฟนสาว ข่าวบอกว่า ที่ผ่านมาหญิงสาวเธอถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางกายและใจจากแฟนหนุ่มเป็นประจำ
สถานการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน เรามักได้เห็น ได้ฟัง หรือได้อ่านข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงมากมาย โดยเฉพาะความรุนแรงซึ่งมักมีเหยื่อเป็น ‘ผู้หญิง’
คอลัมน์ City by Numbers ขอพาไปสำรวจดูสถิติที่ผ่านมาว่า ในสังคมไทยมีผู้หญิงมากน้อยแค่ไหนที่ต้องตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรง
ความรุนแรงจากคนใกล้ตัว
ความรุนแรงจากคนใกล้ตัวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นสถิติในปี 2564 ที่มีรายงานการฆาตกรรมผู้หญิงจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) บอกว่า ทั่วโลกมีเด็กและผู้หญิงจำนวน 45,000 คนที่ล้วนถูกคนใกล้ชิด เช่น คนรัก แฟน คู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัวและญาติ ทำร้ายจนเสียชีวิต เฉลี่ยแล้วในทุกหนึ่งชั่วโมงจะมีเด็กหรือผู้หญิงมากกว่า 5 คน ถูกฆ่าโดยคนใกล้ชิด
ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวไทยในระดับประเทศ พบว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัวปี 2560 มีจำนวน 34.6% และตัวเลขได้ขยับเพิ่มเป็น 42.2% ในปี 2563 โดยประเภทความรุนแรงมีดังนี้
1) ความรุนแรงทางด้านจิตใจ 32.3%
2) ความรุนแรงทางร่างกาย 9.9%
3) ความรุนแรงทางเพศ 4.5%
ความรุนแรงมักมีเหตุอยู่ที่บ้าน
พาไปดูอีกหนึ่งสถิติที่นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้หญิงระหว่างปี 2562 – 2564 จากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance : IS) ในโรงพยาบาลทั้ง 51 แห่งทั่วประเทศ พบว่า มีผู้หญิงบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายปีละ 8,577 ราย โดยแบ่งสาเหตุต่างๆ เป็นตัวเลขไว้ดังนี้
1) กลุ่มอายุที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือ 20 – 24 ปี
– ถูกทำร้ายด้วยกำลัง 60%
– สถานที่ถูกทำร้ายคือบริเวณบ้าน 63.4% ซึ่งเป็นบ้านของผู้บาดเจ็บเองกว่า 79.7%
– สาเหตุการถูกทำร้ายเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 11.3%
2) ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 10 – 14 ปี
– ถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังมากถึง 31.4%
– สถานที่เกิดเหตุก็ยังเป็นบ้าน 62% ซึ่งเป็นบ้านตนเอง 45.8%
– มีเหตุที่บ้านคู่กรณี 23.7%
– ช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 18.00 – 20.59 น.
– สาเหตุการถูกทำร้ายเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกันที่ 8%
3) ในเด็กแรกเกิด – 4 ปี
– พบความรุนแรงทางเพศเฉลี่ยปีละ 19 ราย หรือคิดเป็น 34.8%
– ถูกทำร้ายด้วยกำลัง 32.9%
– ถูกทำร้ายด้วยวัตถุไม่มีคม 10.4%
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กจนโต
เราขอยกอีกหนึ่งข้อมูลในปี 2565 จากมูลนิธิปวีณาที่ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 6,745 ราย ซึ่งคัดมาเฉพาะจำนวนผู้หญิงที่โดนกระทำความรุนแรงเป็นดังนี้
การข่มขืนและอนาจาร 944 ราย (เพิ่มขึ้น 163 ราย เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2564) โดยช่วงอายุของเหยื่อที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ 10 – 15 ปี จำนวน 381 ราย และเหยื่อที่มีช่วงอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 0 – 5 ปี (ไม่ระบุจำนวน) ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นคนในครอบครัว
รวมถึงเกิดการทารุณกรรมและทำร้ายร่างกาย 961 ราย เหยื่อที่ถูกกระทำมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี ราว 183 ราย ตามด้วยช่วงอายุ 0 – 10 ปี จำนวน 114 ราย
และผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงซึ่งมีปัจจัยมาจากปัญหายาเสพติดมี 262 ราย และพบว่า ‘แม่’ คือผู้ถูกกระทำที่มีจำนวนถึง 90 ราย ตามด้วย ‘ภรรยา’ อีก 41 ราย และพบว่า ผู้กระทำส่วนใหญ่นั้นคือ ‘ลูก’ และ ‘สามี’
ความรุนแรงที่เกิดจากความสัมพันธ์
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังชี้ให้เห็นอีกว่า บ่อยครั้งมักมาจากความสัมพันธ์ของคนรักหรือแฟน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า มี ‘ผู้หญิง’ ที่แต่งงานแล้ว อายุระหว่าง 15 – 49 ปี ราว 3 คนจาก 100 คน มักถูกสามีทำร้าย
ไม่ต่างจากในปี 2564 ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ก็พบความรุนแรงที่มาจากความสัมพันธ์ อย่างเช่น
– ความสัมพันธ์แบบสามีฆ่าภรรยามีสูงถึง 57 ข่าว คิดเป็น 63.4%
– ความหวาดระแวงหึงหวงกลัวภรรยานอกใจนำไปสู่ความรุนแรง 45 ข่าว คิดเป็น 60%
– การง้อไม่สำเร็จนำไปสู่ความรุนแรง 11 ข่าว คิดเป็น 14.7%
มีวิธีการกระทำความรุนแรง ดังนี้
– ใช้ปืน 34 ข่าว คิดเป็น 43%
– ใช้มีดหรือของมีคม 27 ข่าว คิดเป็น 34.2%
– ตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 7 ข่าว คิดเป็น 8.8%
มากไปกว่านั้น ยังมีอีก 27 ข่าว หรือคิดเป็น 65.9% เกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบแฟนที่ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง ซึ่งพบว่าผู้ถูกกระทำจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นคู่รักนักศึกษาหรือวัยทำงานไม่สามารถก้าวออกจากความสัมพันธ์ได้
ความรุนแรงที่ต้องเร่งแก้ไข
จากข้อมูลต่างๆ ที่หยิบมานำเสนอทำให้เห็นว่า ผู้หญิงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มของประชากรที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมีสาเหตุมาจากอคติทางเพศที่ฝังในระบบความคิด มีจารีตและวัฒนธรรมต่างๆ ที่ยังคงทำให้ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่ต้องจำยอม หรือการที่ผู้หญิงสักคนต้องทนอยู่กับความสัมพันธ์แย่ๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ยากจะแก้ไข หรือผู้หญิงบางคนอาจต้องจมอยู่กับการถูกควบคุมภายใต้อำนาจชายเป็นใหญ่ที่กดทับชีวิตของคู่ครอง และอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้แก้ไขในสังคม
เพราะมีสถิติที่น่าหวั่นอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น ตัวเลขที่บอกว่าในหนึ่งวันจะมีหญิงไทยถูกละเมิดทางเพศหรือถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 7 คน หรือตัวเลขที่น่าวิตกกังวลที่สุดอย่างการที่ผู้ได้รับความรุนแรงกว่า 87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือหรือเข้ารับการปรึกษาจากหน่วยงานใดๆ เพราะมีเหตุให้ต้องเก็บเป็นความลับ รวมถึงไม่รู้วิธีขอความช่วยเหลือ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ หลายคนคิดว่าต่อให้ติดต่อไปก็ไม่มีใครสามารถมาช่วยแก้ปัญหาได้
เพื่อสร้างสังคมที่สงบสุขและปราศจากความรุนแรง คนทุกเพศทุกวัยควรใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันในฐานะมนุษย์ รวมถึงควบคุมและเข้าใจในอารมณ์ต่างๆ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และร่วมสร้างการรับรู้และส่งต่อข้อมูล เพื่อปรับเปลี่ยนความเข้าใจให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องของความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เพราะความรุนแรงที่ผู้หญิงไทยต้องเจอในข่าวทีวี จากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในสื่อออนไลน์นั้นมีจำนวนมาก แต่จากสถิติทั้งหมดที่เราหยิบมาเล่าให้ฟังนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวบนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะยังมีผู้หญิงอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในสังคมไทยที่แสงแห่งการรับรู้ยังส่องไปไม่ถึงพวกเขาเหล่านั้น เพราะไม่ว่าผู้หญิงหรือเพศไหนๆ ก็ไม่ควรต้องมีใครตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอย่างเช่นที่ผ่านมา
Source :
Komchadluek | bit.ly/3LPaf8v
News.ch7 | bit.ly/3Ntc6kF
Pavenafoundation | bit.ly/3Hxoxbg
Thaihealth | bit.ly/3AQuZqi
Thecoverage | bit.ly/41Xv7Ad
Workpointtoday | bit.ly/3HAHbPI