ยุคหนึ่ง ‘แผ่นเสียง’ เคยเป็นที่นิยมจากนักฟังเพลง ก่อนที่เทปคาสเซตและซีดีจะถูกพัฒนาและได้รับการนิยมแทนที่
แต่ถ้าพูดในมุมของสะสม การได้ดื่มด่ำคุณภาพเสียงที่ต่างออกไป รวมถึงเสน่ห์ที่วัสดุบันทึกเสียงแผ่นกลมบางเท่านั้นจะให้ได้ ในวันนี้แผ่นเสียงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในหมู่นักฟังเพลงและคนที่หลงใหลในอุปกรณ์ยุคแอนะล็อกอีกครั้ง ทำให้การผลิตแผ่นเสียงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แผ่นเสียงผลิตขึ้นในปี 1948 โดยใช้วัสดุจากพลาสติกชื่อว่า ‘พอลิไวนิลคลอไรด์’ หรือ ‘PVC’ จึงทำให้เราได้รู้จักและเรียกมันว่า ‘แผ่นไวนิล’ ที่มีน้ำหนักเบาและบาง แถมยังตกไม่แตก ลดเสียงนอยส์จากหัวเข็ม ให้เสียงที่นุ่มนวล และยังบันทึกเพลงได้มากกว่าอุปกรณ์ในอดีต แต่ข้อเสียที่หลายคนพูดถึงก็คือ พลาสติกไวนิลเป็นหนึ่งในวัสดุที่ส่งผลเสียต่อโลกในระยะยาวมากที่สุด
เพื่อทำให้การฟังเพลงไม่สร้างผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม บริษัท Evolution Music ในประเทศอังกฤษ จึงปิ๊งไอเดียพัฒนาการผลิตแผ่นเสียงให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการใช้วัสดุ ‘พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)’ ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด น้ำตาลอ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ทำให้แผ่นเสียงรุ่นใหม่จาก Evolution Music กลายเป็นแผ่นเสียงจากพลาสติกชีวภาพแผ่นแรกของโลก
ที่สำคัญ การผลิตแผ่นเสียงจากพลาสติกชีวภาพครั้งนี้ยังได้รับการรองรับจาก ‘Music Declares Emergency’ หรือองค์กรด้านการรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2019 โดยศิลปินและผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกันหาทางออกของปัญหามลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรมดนตรี
Evolution Music เปิดตัวแผ่นเสียงจากพลาสติกชีวภาพมาทั้งหมด 500 แผ่น เมื่อทดลองเทียบเคียงกับแผ่นเสียงแบบปกติ ผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงวัสดุผลิตคือ สุ้มเสียงที่มีเสน่ห์ยังคงชัดเจนดังเดิม แตกต่างเพียงสิ่งเดียวคือ แผ่นเสียงใหม่นี้ไม่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าแบบดั้งเดิม
ส่วนใครอยากเป็นเจ้าของแผ่นเสียงรักษ์โลกนี้อาจต้องรอไปก่อน เพราะทางบริษัทเปิดเผยว่าแผ่นเสียงจากพลาสติกชีวภาพขนาด 12 นิ้วนี้ขายหมดเกลี้ยงแล้ว โดยรายได้ทั้งหมดของการจำหน่ายจะถูกส่งต่อให้กับ ‘EarthPercent’ หรือองค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากอุตสาหกรรมดนตรีทุกแขนง ก่อนจะนำมาต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนต่อไป