แนวคิด Fast Fashion หรือการผลิตสินค้าแฟชั่นด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุด ผลิตให้ได้ปริมาณมากที่สุด และเร่งขายให้รวดเร็วที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนี้ มีกระแสต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษและทำลายโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว
หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การช่วยกันสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่วงการออกแบบและแฟชั่น โดยเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติให้กลับมาสมดุลอีกครั้ง ด้วยแนวคิด Reuse หรือ การนำสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด จนกว่าจะเสื่อมประสิทธิภาพหรือหมดอายุการใช้งาน
“เมื่อธุรกิจของครอบครัวสร้างขยะ แบรนด์ Vinna เครื่องประดับจากขยะต้นองุ่นจึงเกิดขึ้น”
Silvie Hruskova ดีไซเนอร์สาวชาวเช็กจากแคว้นโมราเวียได้เห็นประโยชน์จากทรัพยากรณ์ใกล้ตัว จึงริเริ่มสร้างแบรนด์เครื่องประดับไม้แฮนด์เมดที่มีชื่อว่า VINNA ขึ้นมา โดยการนำต้นองุ่นจากไร่ไวน์ของครอบครัว ที่หมดอายุและกำลังจะถูกตัดทิ้งเมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว มา Reuse และเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบจนเกิดเป็นผลงานเครื่องประดับสุดยูนีคไม่ซ้ำใคร
การเก็บเกี่ยวองุ่นหรือการปลูกไวน์ในสาธารณรัฐเช็ก เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นโมราเวียใต้ ที่ถือว่าเป็นธุรกิจหลักของการเกษตรในท้องถิ่น โดยมีการปลูกไวน์และทำธุรกิจจากไร่องุ่นถึงประมาณร้อยละ 94 ของไร่องุ่นในสาธารณรัฐเช็กทั้งหมด แต่เนื่องจากช่วงเวลาเก็บเกี่ยวองุ่นจะเป็นช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง หรือระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมของทุกปี ทำให้เมื่อหมดช่วงเวลาเก็บเกี่ยวหรือเข้าช่วงฤดูหนาว จะมีต้นองุ่นจำนวนมากถูกตัดทิ้งและกลายเป็นขยะ เพื่อเตรียมพื้นที่ในการปลูกใหม่ในฤดูต่อไป
“แรงบันดาลใจอันมีค่า..เกิดจากความผูกพันธ์สมัยเด็ก”
Silvie Hruskova เป็นนักออกแบบสาวที่เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจไร่องุ่นและผลิตไวน์ในแคว้นโมราเวีย ซึ่งเป็นเขตที่โด่งดังในการผลิตไวน์และมีไร่องุ่นมากที่สุดในสาธารณรัฐเช็ก เกิดไอเดียสร้างสรรค์ หยิบต้นองุ่นที่หมดอายุและไม่สามารถผลิตองุ่นเพื่อใช้ทำไวน์ได้แล้ว มาเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบและความชำนาญด้านงานฝีมือจนกลายเป็นแบรนด์ Vinna เครื่องประดับไม้สุดยูนีคที่สามารถส่งต่อเสน่ห์ของไม้องุ่น และเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้แก่ผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี
เธอเล่าว่า ที่มาของไอเดียเกิดจากความไร้เดียงสาสมัยเด็ก ที่เธอมักวิ่งเล่นในไร่องุ่นหลังบ้าน และนำเศษไม้จากต้นองุ่นมาสวมใส่เป็นแหวนและเครื่องประดับเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น เมื่อเธอเริ่มโตขึ้น จึงมีโอกาสในการทำตามความฝันเล็กๆ ในวัยเด็กนี้ ด้วยการพัฒนาทักษะงานฝีมือและการออกแบบของตนเอง และสร้างแบรนด์ Vinna แบรนด์เครื่องประดับแฮนด์เมดจากขยะต้นองุ่นได้สำเร็จ โดยวัสดุทั้งหมดที่เธอนำมาใช้ในการออกแบบและผลิตเครื่องประดับ ต่างนำมาจากเศษไม้เหลือใช้จากสวนบ้านเธอทั้งสิ้น นอกจากนี้ทุกขั้นตอนในการผลิตเครื่องประดับทุกชิ้นจากแบรนด์ Vinna ยังหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถถ่ายทอดความเป็นธรรมชาติจากการขัดผิวไม้อย่างประณีต จนแทบไม่มีใครดูออกเลยว่าวัสดุและความสวยงามที่เราเห็นเหล่านี้ ล้วนทำมาจากขยะที่เคยไร้ค่าทั้งสิ้น
นอกจากนี้ Silvie ยังเล่าต่อว่า เธอยังเป็นคนหนึ่งที่หลงไหลในเสน่ห์ของไวน์ และมีความผูกพันธ์กับไร่องุ่นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเธอ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความผูกพันธ์ระหว่างธุรกิจการทำไวน์ของครอบครัวของเธอได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าเรื่องราวการสร้างแบรนด์และไอเดียในการออกแบบครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะรอบตัว ซึ่งเป็นวิธีการ Reuse หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณค่าเป็นอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของนักออกแบบ ที่มองเห็นโอกาสจากสิ่งใกล้ตัวและนำมาต่อยอดด้วยไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างน่าชื่นชม