ไขความลับ “ดอกทานตะวัน” ของ ‘แวน โก๊ะ’ - Urban Creature

แวน โก๊ะ หรือ ฟินเซนต์ วิลเลิม ฟาน โคค (Vincent van Gogh) คือจิตรกรชาวดัชต์ ยุคอิมเพรสชันนิสต์ (Impressionist) ผู้ยิ่งใหญ่มากที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะสมัยใหม่ตะวันตก โด่งดังด้วยเทคนิก ‘สีน้ำมัน’ เขาเกิดที่เมืองบราบังท์, ซันเดิร์ต ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปีค.ศ. 1853

แวน โก๊ะเริ่มก้าวเท้าเข้าวงการศิลปะเมื่ออายุ 16 ด้วยการเป็นลูกจ้างในแกลเลอรีศิลปะ หลังจากนั้น เปลี่ยนเส้นทางไปศึกษาศาสนา เพราะฝันที่จะเป็นนักเทศน์ จึงย้ายไปอยู่เหมืองถ่านหินเพื่อเทศศาสนาสอนผู้คน และเป็นช่วงเวลานี้เอง ที่เขาเริ่มจับดินสอสเก็ตช์ภาพคน และเหมืองเอาไว้ แต่ความตั้งใจก็พังไม่เป็นท่า แวน โก๊ะเลยย้ายไปอยู่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส สถานที่ที่เขาค้นพบศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ และตัดสินใจทำงานศิลปะอย่างจริงจัง แล้วผันตัวเองสู่อาชีพ ‘จิตรกร’ ด้วยสไตล์การวาดภาพที่ไม่เน้นความสมจริง ใช้สีสันฉูดฉาด ปาดรอยแปรงหยาบๆ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์

“I dream my painting

and I paint my dream”

– ฉันฝันถึงงานศิลปะของตัวเอง และฉันก็วาดความฝันของฉัน –

อย่างไรก็ตาม เส้นทางอาชีพจิตรกรของเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขากลับมีชีวิตที่แร้นแค้น ขายงานแทบไม่ได้ ขายได้เพียงภาพเดียวคือ ‘The Red Vineyard at Arles’ และยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการ แต่ยังดีที่ได้น้องชายอย่าง ‘เตโอ’ ซึ่งเป็นคนขายงานศิลปะคอยสนับสนุนด้านเงินทุน อุปกรณ์ทำงาน อาหาร และที่อยู่อาศัย โดยทั้งชีวิตของแวน โก๊ะ สร้างสรรค์งานศิลป์มากกว่า 2,100 ชิ้น แบ่งเป็นภาพสีน้ำมัน 860 ชิ้น ส่วนที่เหลือเป็นภาพสีน้ำ ภาพสเก็ตช์ และภาพพิมพ์ ซึ่งมีทั้งภาพภูมิประเทศ (Landscapes) ภาพนิ่ง (Still Lifes) ภาพคนเหมือน (Portraits) และภาพเหมือนตนเอง (Self-Portraits) โดยส่วนมากเป็นผลงานในช่วง 2 ปีสุดท้าย ก่อนเขาจะลาลับโลกนี้ไปด้วยการยิงตัวตาย เพราะสภาวะความเครียด และอาการทางจิตในวัยเพียง 37 ปี

ถึงแม้ ‘วินเซนต์ แวน โก๊ะ’ จะลาลับโลกนี้ไปแล้ว แต่ชื่อเสียงของเขายังคงเป็นตำนาน และสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินมากมาย และเนื่องจากวันที่ 30 มีนาคมเป็นวันคล้ายวันเกิดของแวน โก๊ะ เราเลยหยิบยกเรื่องราวของภาพเซ็ท “Sunflowers” มาเล่าสู่กันฟัง

‘ดอกทานตะวัน’ | ช่วยบรรเทาสภาวะทางใจ

อย่างที่รู้กันว่าแวน โก๊ะ ต้องเผชิญกับอาการทางจิต และความเครียด แต่ท่ามกลางความมืดมนของชีวิต เขาค้นพบความสุข และความสดใสผ่าน ‘ดอกทานตะวัน’ ซึ่งเขาได้เขียนจดหมายไปหาน้องชายของเขาว่า

“ฉันกำลังตั้งใจเพนท์รูปหนึ่งอยู่ พร้อมฟังเพลงลามาร์แซแยซ (เพลงชาติฝรั่งเศส) และกินซุปบุยยาเบสร้อนๆ แต่คิดว่านายคงไม่แปลกใจเท่าไหร่ หากรู้ว่าฉันกำลังวาดรูปอะไรอยู่ ใช่แล้ว ฉันกำลังวาดรูปดอกทานตะวันอยู่ล่ะ”

ดอกทานตะวันวางบนพื้น | ก่อนมาอยู่ในแจกัน

จากความชอบดอกทานตะวัน กลายเป็นเซ็ทภาพสีน้ำมัน ‘ทานตะวัน’ (Sunflowers) ซึ่งแวน โก๊ะวาดขึ้น 2 ชุด ชุดแรก คือ ‘The Paris sunflowers’ ถูกวาดในปีค.ศ.1886-1888 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นภาพของดอกทานตะวันแซมกับดอกไม้ชนิดอื่นในกระถาง ชื่อว่า ‘Roses and Sunflowers’ ต่อมาในปีค.ศ. 1887 แวน โก๊ะเริ่มวาดรูปดอกทานตะวันที่แยกออกจากดอกไม้อื่น ซึ่งเป็นดอกทานตะวันที่ตัดช่อแล้ว และวางอยู่บนพื้น จำนวน 4 ภาพ และตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ‘Tournesols’

ภาพทานตะวันชุดที่ 2 คือ ‘Arles Sunflowers’ ถูกวาดในปีค.ศ. 1888-1889 ที่เมืองอาร์ล ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาพของดอกทานตะวันที่มีทั้งตูม บาน และเหี่ยวเฉา ถูกจัดใส่ในแจกัน โดยภาพชุดนี้มีทั้งหมด 7 ภาพ โดยในจำนวน 4 ภาพนั้นเป็นภาพต้นฉบับที่วาดในปีค.ศ. 1888  ส่วนอีก 3 ภาพที่เหลือเป็นภาพวาดในปีค.ศ. 1889 ถูกตั้งชื่อว่า ‘The Repetitions’ เลียนแบบผลงานชุดแรก เพื่อพัฒนาสกิล และปรับคอมโพซิชันของรูปให้ดีขึ้น และต่อมาภาพที่ 1 และ 2 ไม่ถูกค้นพบ หลงเหลือไว้เพียง 5 ภาพตามมิวเซียมต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดีจนทุกวันนี้

ทานตะวันในบ้านสีเหลือง | สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ

โดยภาพทานตะวันชุดที่ 2 ‘Arles Sunflowers’ เป็นส่วนหนึ่งของชุดภาพ ‘ของตกแต่งสำหรับบ้านสีเหลือง’ (Décoration for the Yellow House) โดยบ้านสีเหลืองหลังนี้ คือบ้านที่แวน โก๊ะ เช่าอาศัยในเมืองอาร์ล ทาสีเหลืองทั่วหลัง ตั้งใจสร้างให้เป็นสตูดิโอไว้รวบรวมเหล่าศิลปินที่มีใจรักศิลปะ

ความพิเศษของดอกทานตะวันชุดที่ 2 ยังมีมากกว่านั้น เพราะแวน โก๊ะยังตั้งใจวาดเป็นของขวัญให้ ‘พอล โกแกง’ (Paul Gauguin) เพื่อนรักศิลปินสายอิมเพรสชันนิสต์ โดยเขาเริ่มวาดภาพดอกทานตะวัน 15 ดอกในแจกันระหว่างรอให้โกแกงเดินทางมาถึงบ้าน หลังจากตอบรับคำเชิญ จำนวน 4 ภาพ ในชื่อ ‘Initial Versions’ เพื่อใช้ตกแต่งห้องพักของโกแกง หวังให้เพื่อนได้เห็นความงดงามที่แสนเรียบง่ายของช่อดอกทานตะวัน ซึ่งเมื่อโกแกงได้เห็น ก็ประทับใจ และบอกว่าเป็นผลงานชิ้นยอดเยี่ยมที่สุดของแวน โก๊ะภาพทานตะวันเซ็ทนี้ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพของสองเพื่อนรักสายอิมเพรสชันนิสต์

สีเหลืองที่ใช้ | คือเฉดสีใหม่แห่งวงการศิลป์

แน่นอนว่า การเพนท์ภาพ ดอกทานตะวัน ต้องใช้สีเหลืองเป็นสีหลักในการสร้างงานศิลป์ ซึ่งสีเหลืองที่แวน โก๊ะเลือกใช้ สื่อถึงความสุข และความสดใส และเมื่อเวลาผ่านไป นักวิจารณ์ศิลปะทั่วโลกต่างยกย่องให้ ‘เฉดสีเหลือง’ ที่แวน โก๊ะใช้ เป็นเฉดสีใหม่แห่งวงการศิลปะ โดย BBC รายงานว่า ชุดภาพดอกทานตะวันของแวน โก๊ะ เป็นการผลิตเม็ดสีเฉดเหลืองใหม่ของวงการศิลปะในช่วงศตวรรษที่ 19 เช่น สีเหลืองของ chrome yellow ซึ่งหากไม่มีแวน โก๊ะในวันนั้น วงการศิลปะอาจไม่มีเฉดสีเหลืองหลากหลายเช่นวันนี้

ผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซ | ใน 5 มิวเซียมทั่วโลก

ดอกทานตะวันชุดที่ 2 อย่าง ‘Arles Sunflowers’ คือชุดที่มีชื่อเสียง และได้รับความสนใจมากที่สุด ซึ่งภาพแรกถูกเก็บเป็นของสะสมส่วนบุคคล ภาพที่สองคือ ‘ทานตะวันแห่งอาชิยะ’ ซึ่งเคยถูกประมูลโดย ‘โคยาตะ ยามาโมโตะ’ มหาเศรษฐีแห่งเขตอาชิยะ จังหวัดเฮียวโกะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ. 1920 โดยหวังว่าจะอุทิศให้พิพิธภัณฑ์โอตสึกะ แต่ต่อมาก็เสียหายและสูญหายไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับ 5 ภาพที่เหลือกายเป็นภาพที่โด่งดังจนทุกวันนี้ ถูกยกย่องให้เป็นผลงานมาสเตอร์พีซ ซึ่งกระจายตัวอยู่ 5 มิวเซียมทั่วโลก ได้แก่

ดอกทานตะวันลำดับที่สามกับฉากเทอร์ควอยส์ : มิวนิก, เยอรมนี

ภาพของดอกทานตะวันในแจกัน ตั้งอยู่หน้าพื้นหลังสีเทอร์ควอยส์สว่าง ซึ่งเป็นรูปที่เห็นเมล็ดดอกทานตะวันชัดเจน และแวน โก๊ะเลือกใช้สีเหลืองและสีเทอร์ควอยส์ที่ค่อนข้างคอนทราสต์กัน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Neue Pinakothek เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

ดอกทานตะวันลำดับที่สี่กับการเปลี่ยนสู่ฉากสีเหลือง : ลอนดอน, อังกฤษ

ภาพดอกทานตะวัน 15 ดอกในแจกันรูปนี้ เปลี่ยนจากพื้นหลังสีเทอร์ควอยส์เป็นสีเหลือง พร้อมปรับรูปทรงของดอกทานตะวันให้มีความหลากหลายกว่าเดิม ซึ่งเป็นภาพที่หลายคนพูดว่า ดอกทานตะวันมีความโดดเด่น ราวกับกำลังเต้นรำบนแจกัน ปัจจุบันจัดแสดงที่ National Gallery กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ดอกทานตะวันลำดับที่ห้ากับฉากหลังเหลืองปนเขียว : โตเกียว, ญี่ปุ่น

ภาพนี้เป็นภาพที่แวะ โก๊ะวาดเลียนแบบภาพทานตะวันลำดับที่สี่ ซึ่งถูกซื้อโดยชาวญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ. 1887 ก็ถูกสงสัยว่าเป็นของปลอม โดยฝีมือของ ‘เอมิล ชัฟเฟนเนกเกอร์’ ศิลปินสายอิมเพรสชั่นนิสต์อีกคนหรือเปล่า แต่ภายหลังปีค.ศ. 2003 ก็มีข้อมูลออกมายืนยัน จากผู้เชี่ยวชาญพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะ กรุงอัมสเตอร์ดัมว่า ภาพทานตะวันลำดับที่ห้าเป็นผลงานแวน โก๊ะของแท้ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะซัมโป เจแปน ชั้น 42 อาคารซัมโป เจแปน ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทซัมโป เจแปน ประกันภัย อยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ดอกทานตะวันลำดับที่หกที่ได้รับขนานนามว่า 50 Shades of Yellow : อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์

ดอกทานตะวันภาพที่ 6 ของแวน โก๊ะ คือภาพที่ขึ้นชื่อว่ามีเฉดสีเหลืองหลากหลายที่สุด มากถึง 38 เฉดสี จนมีคนเรียกกันว่า 50 Shades of Yellow เลยทีเดียว ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้เห็นความหลากหลาย และลวดลายของการเล่นสีเหลืองของแวน โก๊ะมากที่สุด ปัจจุบันเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิแวน โก๊ะ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ดอกทานตะวันลำดับที่เจ็ดกับฉากเทอร์ควอยส์ที่เข้มกว่าเคย : ฟิลาเดเฟีย, สหรัฐอเมริกา

ภาพสุดท้ายของเซ็ท ‘Arles Sunflowers’ คือภาพที่แวน โก๊ะวาดขึ้นเพื่อเลียนแบบภาพทานตะวันลำดับที่สาม แต่เปลี่ยนสีพื้นหลังเป็นสีเทอร์ควอยส์ที่เข้มกว่าเคย พร้อมเปลี่ยนสีฐานแจกันเป็นสีม่วง และรอบขอบแจกันเป็นสีส้มสีเดียวกับขอบโต๊ะ นอกจากนี้ รูปร่างของดอกทานตะวัน ยังมีลักษณะเฉพาะในแต่ละดอก จนดูเหมือนกับคน ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา


Graphic Designer : Sasisha H.

Sources :

https://www.vangoghgallery.com 

http://mentalfloss.com/article/501953/15-facts-about-vincent-van-goghs-sunflowers

http://www.bbc.com/culture/story/20140120-van-goghs-flower-power

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.