เคยไหม เวลาเดินไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ บ้านบางหลังจะแขวนป้ายหรือไวนิลไว้หน้าบ้านทำนองว่า ‘ห้ามฉี่’ ถึงจะดูเป็นเรื่องตลก แต่ปัญหาเหล่านี้กลับสร้างความกวนใจให้เจ้าของบ้านมากๆ รวมถึงคนที่เดินผ่านไปผ่านมาก็ต้องคอยรับผลกระทบจากมลภาวะทางกลิ่นไปด้วย
การติดป้ายอาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นการแก้ปัญหาของประชาชนและเอกชน ส่วนพื้นที่สาธารณะกลับไม่ค่อยเห็นการห้ามในลักษณะนี้เท่าไหร่ ทั้งที่ก็เป็นพื้นที่คอยรองรับปริมาณฉี่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟ พื้นทางเท้า หรือต้นไม้ ยิ่งเฉพาะบริเวณใต้ทางด่วนที่อับสายตาผู้คน ส่งผลให้บรรยากาศโดยรอบไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลย
👃 กลิ่นฉี่ทำลายทั้งบรรยากาศและโครงสร้างต่างๆ
ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนพลุกพล่าน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้อยู่อาศัย แต่ในหลายๆ พื้นที่ที่เดินเท้าได้กลับมีกลิ่นไม่พึงประสงค์อย่างกลิ่นฉี่หมักหมม ส่งกลิ่นโชยออกมาให้ต้องรีบจ้ำอ้าวหนี และหากบริเวณไหนที่มีกลิ่นอยู่แล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งดึงดูดให้คนมาฉี่เพิ่ม กลายเป็นพื้นที่สำหรับรองรับของเสียไปโดยปริยาย ส่งผลให้หลายๆ เส้นทางไม่น่าใช้งาน


มากไปกว่าเรื่องของกลิ่นฉุน หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า ฉี่ยังสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่โดยรอบ และเป็นการทำลายทรัพย์สินทั้งของสาธารณะและส่วนตัว เพราะในฉี่ของมนุษย์มียูเรียซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดที่ทำลายทั้งคอนกรีต เหล็ก และโลหะ หากปล่อยให้เกิดการสะสมของฉี่เป็นเวลานานก็อาจส่งผลต่อโครงสร้าง ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นๆ เสียหาย
💦 เหตุผลของคนเลือกฉี่ข้างทาง
นอกเหนือจากความมักง่ายของคนแล้ว เป็นไปได้ว่าด้วยจำนวนห้องน้ำสาธารณะที่มีค่อนข้างน้อยและหายากในหลายๆ พื้นที่ จึงทำให้คนเลือกปลดปล่อยของเหลวส่งกลิ่นตามพื้นที่ข้างทางมากกว่า
หรือต่อให้เป็นห้องน้ำกึ่งสาธารณะที่เรามองว่ามีจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วไปในเมือง เช่น ในห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน หรือสวนสาธารณะ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาเปิด-ปิด ที่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะคนที่ทำงานเป็นกะ หรือทำงานทั้งวันทั้งคืนอย่างแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือไรเดอร์ เป็นต้น

ยังไม่นับรวมเรื่องความสะอาดของห้องน้ำส่วนรวมที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะอดทน ไม่ขอเข้าไปใช้บริการ ส่วนอีกหลายคนที่อดรนทนไม่ไหวก็ขอหาที่ปล่อยทิ้งข้างทางแทน เพราะคิดว่ายังไงตัวเองก็ไปที่อื่นต่อ ไม่ได้ตระหนักถึงคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ว่าจะรับความเดือดร้อนในระยะยาว
ส่วนกลุ่มคนเร่ร่อนและคนไร้บ้านที่ใช้พื้นที่รอบตัวเป็นที่อยู่อาศัย แล้วใช้พุ่มไม้ เกาะกลางถนน ใต้สะพาน กำแพง หรือกำแพงบ้านคนแทนห้องน้ำ แน่นอนว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่แค่รบกวนผู้อื่นทางสายตาและกลิ่นเท่านั้น แต่ย่อมมีความผิดทางกฎหมายด้วย
😡 เอาผิดคนฉี่ไม่เป็นที่ได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศของเรามี พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ที่ระบุไว้ว่า การฉี่ในพื้นที่สาธารณะนั้นผิดกฎหมายตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 54 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือหากเป็นการฉี่ในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น กำแพงบ้านที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน มีความผิด ป.อาญา มาตรา 397 ผู้ใดกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
แต่สุดท้ายหากไม่เจอตัวคนทำก็คงไม่สามารถดำเนินตามกฎหมายได้ ทำให้ยังคงทิ้งคำถามพร้อมกลิ่นฉี่ให้คนเมืองสงสัยกันต่อไปว่า แล้วจะมีหนทางไหนที่ช่วยให้เมืองไม่เหม็นได้อย่างถาวร

Sources :
Facebook : PPTV HD 36 | tinyurl.com/3r8sjhp7
Khaosod | tinyurl.com/yeeuwh8b
Matichon | tinyurl.com/3xbb6vm3
The pStyle | tinyurl.com/y8shpsnp
The Urbanis by UDDC | tinyurl.com/4jj5rwyb
สำนักงานเขตลาดกระบัง | tinyurl.com/y885nwbu