ใครขับรถไปจนถึงเดินบนฟุตพาทแล้วอาจชำเลืองตาไปเห็นกับสภาพ ‘ถนนปูด’ ที่ปูดเก่งไม่ไหว จนพาให้รถหลายคัน ทั้งรถยนต์ ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์เหินเวหา ล้มระเนระนาดมานับไม่ถ้วน แล้วสภาพถนนปูดนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร คอลัมน์ Curiocity ชวนมาหาคำตอบกัน
ก่อนอื่นชวนทำความเข้าใจก่อนว่า ถนนในบ้านเรามีทั้ง ‘ถนนลาดยางมะตอย’ หรือ ถนนแบบผิวทางอ่อน (Flexible Pavement) ซึ่งจะใช้หลักการออกแบบตามมาตรฐานของสถาบันยางมะตอย (Asphalt Institute) โดยจะมีอายุการใช้งานราว 20 – 30 ปี กับอีกรูปแบบถนนคือ ‘ถนนคอนกรีต’ หรือ ถนนแบบผิวทางแข็ง (Rigid Pavement) ใช้หลักการออกแบบตามวิธีของสมาคมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement Association : PCA) โดยจะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 40 – 50 ปี
สาเหตุถนนปูดคืออะไร
สำหรับอาการถนนบวม (Upheaval) หรือเรียกง่ายๆ ว่าถนนปูดนั้น เป็นความเสียหายด้านการใช้งาน (Functional Failure) ประเภทการเปลี่ยนรูปร่าง (Distortion) และมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับถนนประเภทลาดยางมะตอยที่มีชั้นถนนเป็นดินเดิมของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสาเหตุของการเกิดมีดังนี้
1. การบวมตัวของชั้นดินถมคันทางหรือชั้นโครงสร้างทางอื่นๆ
2. ความแข็งตัวของน้ำในมวลดิน
3. วัสดุชั้นคันทางเป็นดินที่ขยายตัวได้
4. ความร้อนของยางมะตอยสะสมตามกาลเวลา ส่งผลให้ยางมะตอยเริ่มเหลวและแรงทนทานต่อการรับน้ำหนักน้อยลง
5. การใช้งานและการรับน้ำหนักที่มากเกินไป
เมื่อถนนปูดบวมแล้ว ความเสียหายหลักๆ ที่เกิดคือการเสื่อมของคุณภาพของรถที่ขับขี่ เพราะถนนไม่เรียบเนียน เมื่อขับขี่อาจเกิดแรงกระแทกต่างกัน และพื้นถนนอาจสูงจนกระทบบริเวณใต้ท้องรถได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้การขับรถช้าลง พาให้การจราจรติดขัด และที่หนักกว่านั้นคืออาการรถบินที่กลายเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งเห็นกันตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์นับไม่ถ้วน
แก้ไขยังไงดี
การแก้ไขสภาพถนนปูด แน่นอนว่าต้องมองลึกไปถึงชั้นโครงสร้าง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการขุดซ่อมผิวทาง (Deep Patching) การฉาบผิวใหม่ (Overlay) และการขุดรื้อวัสดุที่เกิดการบวมตัวออก แล้วแทนที่ด้วยวัสดุที่คุณภาพดีกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม
แต่ถนนปูดอีกรูปแบบซึ่งเห็นได้บ่อยไม่แพ้กัน คือปูดชนิดที่ว่าเอายางมะตอยมาถมโปะ โดยเกิดจากการที่ถนนยุบตัวตามสาเหตุเดียวกันของถนนบวม แต่เพราะการซ่อมแซมต้องใช้เวลานาน ทำให้บางครั้งเราแอบเห็นการซ่อมแบบขอไปที อย่างการโปะยางมะตอยถมลงไปบริเวณที่ยุบตัว ทำให้เกิดถนนงอกขึ้นมาเป็นเนินเล็กๆ ซึ่งก็สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนไม่แพ้กัน
ดังนั้นคงจะดีไม่น้อย ถ้าการทำถนนของบ้านเราได้มาตรฐานตั้งแต่ครั้งแรกที่ก่อสร้าง ใช้วัสดุคุณภาพ และดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นไปตามหลักที่ควรจะเป็น และเมื่อถึงเวลาซ่อมแซมก็ควรซ่อมอย่างถูกวิธี เพื่อให้พื้นถนนปลอดภัยกับผู้ใช้รถ
Source : อาจารย์วีระเกษตร สวนผกา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | bit.ly/3yK0ZK6