เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นภาพการก่อการร้ายและได้ยินข่าวการใช้ความรุนแรงของกลุ่มต่างๆ ผ่านสื่อ เราอาจคุ้นเคยกับภาพเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมคนเหล่านั้นหลังก่อเหตุ แต่ถ้าหากเราย้อนเวลากลับไปได้ ก่อนที่ใครคนหนึ่งจะได้สถานะ ‘คนร้าย’ หรือ ‘ผู้ก่อการร้าย’ หากเราสำรวจหาเหตุผลเบื้องหลัง เราอาจพบสารตั้งต้นที่จะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล
การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง (Preventing Violent Extremism) อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก (UN Global Counter-Terrorism Strategy) ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ แนวทางนี้ไม่ได้มองบุคคลเป้าหมายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด แต่เน้นการจัดการและแก้ไขโครงสร้างสังคมที่ผลักผู้คนให้ลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรง
คำถามคือ ทำไมจู่ๆ คนเราถึงลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงล่ะ
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เสนอว่า เราต้องเข้าใจรากเหง้าของความรุนแรงที่ปรากฏออกมาเพื่อที่จะแก้ไขได้ตรงจุด ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง การถูกเลือกปฏิบัติเพราะศาสนาหรือชาติพันธุ์ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการขาดโอกาสจากรัฐ ปัญหาเหล่านี้กระตุ้นให้ผู้ที่มีความคับข้องใจเลือกวิถีแห่งความรุนแรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสภาวะปกติ
แม้ว่าเราจะพูดคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ กันจนติดปาก และพยายามจะ ‘สบายๆ’ กับทุกอย่าง แต่สังคมไทยกำลังเผชิญความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ เช่น ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ความขัดแย้งทางการเมืองจากมุมมองอันแตกต่าง และความขัดแย้งเรื่องปากท้องและการจัดสรรทรัพยากรที่ทำให้หลายชุมชนเกิดความคับแค้นใจเมื่อรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่ถูกรับฟัง และนำไปสู่การเรียกร้องและเดินขบวนอย่างสันติวิธี หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ออกมารับฟังอย่างจริงใจและพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในที่สุดพวกเขาก็อาจจะเลือกจับอาวุธและใช้ความรุนแรง
UNDP ทำงานโดยใช้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based) ผ่านการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังสถานการณ์จากภาคประชาสังคมและพันธมิตรทางวิชาการ พร้อมทั้งจับตาดูความเคลื่อนไหวในสังคมอย่างใกล้ชิด มาตรการป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่งจึงเน้นไปที่บรรดาปัญหาเชิงโครงสร้างและผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาสังคมเพื่อจัดการที่ต้นตอของปัญหา รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมในประเด็นนี้
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย หากคนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมของเราก็จะพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและร่วมกันแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน