ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นภาพความเคลื่อนไหวทั้งในประเทศไทยและรอบโลก การกลับมาของฝ่ายขวาจัดและแนวคิดนิยมเผด็จการ และที่อีกด้าน ผู้คนออกไปเรียกร้องความเท่าเทียมและความยุติธรรม บางครั้งพวกเขาได้รับการรับฟังและบรรลุเป้าหมายได้ด้วยสันติวิธี แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่เกิดความรุนแรงเพราะรัฐเมินเฉยจนทำให้สถานการณ์ยิ่งปะทุ หรือรัฐลงมือปราบอย่างรุนแรง หลายกลุ่มเลือกลงมือก่อการร้ายเพราะความคับแค้นใจที่เผชิญมาเป็นเวลานานและเชื่อว่าความรุนแรงจะเป็นคำตอบ เสียงของอาวุธปืนและระเบิดอาจทำให้ได้รับความสนใจจากสังคม แต่นั่นคือทางออกจริงหรือ
ในสังคมประชาธิปไตยที่มีรากฐานมาจากการเคารพความหลากหลาย ไม่ผิดหากจะมีแนวคิดสุดโต่ง (Extremism) ที่หมายถึงยึดถือในอุดมการณ์/ความเชื่อ/ความศรัทธาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สิ่งนั้นอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่ดีขึ้นได้ เช่น การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาติพันธุ์หรือสิทธิสตรี แต่ถ้าหากแนวคิดสุดโต่งนั้นกลายเป็นแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (Violent Extremism) เมื่อใด กลุ่มบุคคลนั้นจะมองว่าการใช้ความรุนแรงไม่ผิดและยอมทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และเมื่อนั้น การสูญเสียก็จะเกิดขึ้น
ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะเกิดความสูญเสียขึ้น สาเหตุที่แท้จริงของมันคืออะไร
คนเราไม่ได้มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงขึ้นมาได้ง่ายๆ ที่ด้านหนึ่ง มันถูกฟูมฟักขึ้นมาจากความขัดแย้งทางศาสนา ชาติพันธุ์ หรือเพศ และความเดือดร้อนต่างๆ ที่มาจากการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมเพราะไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองและไม่ถูกมองเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกีดกันทางกฎหมายในเรื่องสัญชาติและโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือบุคคลที่มีศาสนาและวัฒนธรรมแตกต่างจากส่วนกลางทำให้รู้สึกเป็นอื่น ส่วนที่อีกด้าน ความรุนแรงอาจมาจากกลุ่มที่ไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายและไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย (Minority) ในสังคมก็ได้ เช่น กลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด (Right-Wing Extremists) ในหลายประเทศ และผู้ที่สมาทานแนวคิดที่ว่าคนขาวเหนือกว่าคนกลุ่มอื่น (White Supremacy) ที่สหรัฐอเมริกา พวกเขาเชื่อว่าคนกลุ่มอื่นจะทำให้สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาสั่นคลอน จึงลงมือใช้ความรุนแรงเพราะต้องการปกป้องสถานภาพและผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้
หากอยากตัดไฟความรุนแรงแต่ต้นลม เราจะทำอย่างไรได้บ้าง
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP มองว่า การป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (Prevent Violent Extremism- PVE) ที่ยั่งยืนนั้นต้องจัดการกับ ‘ปัจจัยผลักและปัจจัยดึงดูด’ (Push & Pull Factors) โดยปัจจัยผลัก (Push Factors) หมายถึง ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ผลักให้ผู้คนเลือกใช้ความรุนแรง เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม การขาดโอกาส และการเลือกปฏิบัติ เป็นต้น ส่วนปัจจัยดึงดูด (Pull Factors) หมายถึง เงื่อนไขที่ส่งผลต่อบุคคลโดยตรง เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เลือกเข้าร่วมกับกลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง เช่น สำนึกทางอัตลักษณ์ร่วมกัน แรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ หรือสถานะที่ได้หลังเข้ากลุ่ม เป็นต้น
UNDP ทำงานโดยวางอยู่บนฐานของข้อมูลหลักฐาน (Evidence-Based) ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมและพันธมิตรทางวิชาการ พร้อมทั้งจับตาดูความเคลื่อนไหวในสังคมอย่างใกล้ชิด นำมาสู่คำตอบประการหนึ่งว่า กระบวนการรับฟังของรัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยคลี่คลายความตึงเครียด รัฐควรฟังเสียงประชาชน ให้พวกเขาได้แสดงความคับข้องใจ บอกเล่าถึงปัญหา และจริงใจที่จะร่วมมือกันพัฒนาค้นหาทางแก้ไขนำไปสู่ทางออกที่ไม่มีความรุนแรงมาเกี่ยวข้อง ประชาชนเองก็เป็นกำลังสำคัญเช่นกัน หากเรามีความเข้าใจและตระหนักในเรื่องนี้ เราจะช่วยกันรับมือและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
ประกายไฟแห่งความรุนแรงที่เริ่มปะทุอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ หรือแม้แต่ที่ลุกโชนแล้วก็ตาม หากเราร่วมกันดับที่ต้นตอของกองเพลิงเสียตั้งแต่ตอนนี้ แม้จะไม่อาจดับทั้งหมดได้ทันที แต่ย่อมทำให้มันไม่ลุกลามต่อไปในสังคมของเราจนเกิดโศกนาฏกรรมในอนาคต