เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ ‘โครงการโคกหนองนา’ และ ‘โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง’ โมเดลของภาครัฐที่มุ่งพัฒนาที่ดินให้เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมผ่านการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญา เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้และมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
แต่โครงการเหล่านี้อาจไม่ได้สวยงามอย่างที่ภาพวาดไว้ เพราะ ‘โคกหนองนา’ ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินงาน การใช้ พ.ร.บ.เงินกู้หลายพันล้านบาทเร่งทำโครงการในช่วงที่ประเทศเผชิญวิกฤตโรคระบาดอย่างหนัก ไปจนถึงปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนไม่น้อยต้องพบเจออย่างผู้รับเหมาขุดปรับพื้นที่ไม่ตรงแบบหรือทิ้งงาน
ความซับซ้อนของโมเดลเกษตรกรรมนี้ทำให้ ‘ส้มผัก-สุรสิทธิ์ มั่นคง’ ศิลปินจากอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จัดทำนิทรรศการศิลปะที่ชื่อว่า ‘UN-EARTH Provenience Unfold’ เพื่อถ่ายทอดมุมมองของเขาในฐานะคนท้องถิ่นที่ได้ใกล้ชิดกับโครงการเหล่านี้
“ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว เรามีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ทำให้ได้เห็นวิธีการจัดการดินของชาวบ้านและคนในพื้นที่ที่เปลี่ยนไป อย่างเช่นการขุดหน้าดินขาย เอาโฉนดที่ดินไปจำนำ หรือแม้แต่ปล่อยเช่าพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้และเอาตัวรอดในช่วงที่โรคระบาดรุนแรง เหล่านี้ล้วนแตกต่างจากการจัดการพื้นที่ในสมัยก่อนที่มักใช้เพื่อผลิตพืชผลทางการเกษตร และกักเก็บน้ำไว้ใช้เลี้ยงสัตว์เป็นหลัก
“ในช่วงเวลาเดียวกัน เราก็ได้เห็นรัฐนำโครงการต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ ทั้งโครงการโคกหนองนาและการจัดการปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเกิดจากการใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ประมาณ 4,800 ล้านบาท ทำให้เราตั้งคำถามว่าแทนที่จะเอาเงินมาให้ชาวบ้านขุดพื้นที่ทำโคกหนองนา รัฐควรนำงบประมาณเหล่านี้ไปแก้ปัญหาที่เร่งด่วนอย่างโรคระบาดให้เสร็จก่อนดีมั้ย นี่คือจุดเริ่มต้นของนิทรรศการศิลปะเชิงการเมืองครั้งนี้”
ส้มผักได้ลงพื้นที่ทั่วภาคอีสานด้วยตัวเองเพื่อรวบรวมดินและวัสดุจากโครงการโคกหนองนาและโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ก่อนจะนำมารังสรรค์ชิ้นงานศิลปะเชิงเปรียบเปรยทั้งหมด 12 ชุด โดยแต่ละชุดใช้วัสดุและมีรูปแบบที่ต่างกันไป เช่น ป้ายเหล็กของโคกหนองนา แผ่นดินสลักพิกัดโครงการต่างๆ แท่งยางมะตอย แปลนโคกหนองนาในมุมมองของศิลปิน รวมไปถึงศิลปะผ้าใบที่เขียนด้วยดิน
“ศิลปะชุดที่หลายคนน่าจะสนใจคงเป็นภาชนะเซรามิกจากสิบโครงการโคกหนองนาในภาคอีสาน ซึ่งเกิดจากคำถามที่ว่า ถ้าโคกหนองนามันใช้ไม่ได้หรือไม่มีประสิทธิภาพจริงๆ เราจะเอาดินส่วนที่เพาะปลูกหรือกักเก็บน้ำไม่ได้ไปทำอะไรต่อดี ก็เลยลองทำภาชนะใส่น้ำ เป็นการเปรียบเปรยเป้าหมายของโครงการที่ต้องการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำให้ชาวบ้าน”
นอกจากนี้ ตัวผลงานศิลปะของส้มผักยังมีดีเทลเล็กๆ ที่น่าสนใจอย่างการปั๊มคำว่า ‘อนุมัติ’ ‘รับทราบ’ ‘เร่งด่วน’ และ ‘ถูกต้อง’ เพื่อสะท้อนการทำงานขององค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจในการสั่งการ โดยศิลปินตั้งใจให้ผู้ชมฉุกคิดและกลับไปตรวจสอบว่าเกิดโครงการหรือการพัฒนาอะไรในพื้นที่ของตัวเองบ้าง รวมถึงการดำเนินการมีขั้นตอนอย่างไร คุ้มค่าจริงไหม เพื่อให้ภาคประชาชนเกิดการตรวจสอบไปพร้อมๆ กัน
นิทรรศการ UN-EARTH Provenience Unfold จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ – 15 ตุลาคม 2565 ที่ NOIR ROW ART SPACE จังหวัดอุดรธานี ผู้ที่สนใจเข้าชมผลงานได้ฟรี ใครมีโอกาสแวะเวียนไปอุดรฯ อย่าลืมไปร่วมสำรวจและวิพากษ์ศิลปะชุดนี้กัน
ติดตามผลงานศิลปะชุดถัดไปของส้มผักได้ที่ สุรสิทธิ์ มั่นคง
Sources :
Facebook : NOIR ROW ART SPACE | facebook.com/NOIRROW
Facebook : สุรสิทธิ์ มั่นคง | facebook.com/surasit.auy