นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงตอนนี้ ครบ 2 เดือนแล้วที่รัสเซียเริ่มทำสงคราม ‘รุกราน’ ยูเครน ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพกว่า 11 ล้านคนในทวีปยุโรป ผู้คนบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต และเมืองต่างๆ ถูกทำลายอย่างราบคาบหลังเปลี่ยนเป็นสมรภูมิสงคราม
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2 วันก่อนรัสเซียปฏิบัติการทางการทหาร มีรายงานอย่างหนาหูว่า ทหารรัสเซียกว่าหนึ่งแสนคนตั้งกองกำลังประชิดเขตแดนของประเทศยูเครน และประธานาธิบดีรัสเซียอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ได้ประกาศรับรองเอกภาพของเขตการปกครองลูฮานส์ (Luhansk) และดอแนตสก์ (Donetsk) ทางตะวันออกของยูเครน แต่ปูตินก็ยังยืนยันหนักแน่นว่ารัสเซียไม่มีแผนบุกยูเครนแน่นอน
2 วันถัดมา เราจึงรู้ว่าคำกล่าวนั้นเป็นเพียงลมปาก รัสเซียเริ่มเปิดฉากบุกยูเครนจากทางเหนือ ตะวันออก และทางใต้ สื่อตะวันตกหลายแห่งรายงานตรงกันว่า การระดมกองกำลังทหารและสรรพาวุธของรัสเซียครั้งนี้มีจำนวนมากที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
มีการวิเคราะห์กันว่า ฝ่ายรัสเซียหวังลึกๆ ว่าการรุกรานยูเครนในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เริ่มไวจบไว เหมือนการบุกยึดดินแดน ‘ไครเมีย’ ภายใต้การปกครองของยูเครนเมื่อปี 2014 แต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นดังหวัง เพราะชาติตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือยูเครน หรือกองทหารอาสาจากหลายชาติ และที่สำคัญคือกองทัพยูเครนและประชาชนผู้ร่วมลุกขึ้นนั้นต่อต้านการบุกรุกร่วมต้านทานไว้ได้ไม่ให้สำเร็จง่ายๆ
หากจะถามคำถามสั้นๆ ว่า สงครามครั้งนี้เริ่มต้นได้อย่างไร สาเหตุลึกๆ คืออะไร ความพยายามหาคำตอบคงไม่ได้มาอย่างสั้นๆ ด่วนสรุปเพียงมุมใดมุมหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังของสงครามครั้งนี้มีตัวละครสำคัญที่มีบทบาทมากมาย และมีประวัติศาสตร์พื้นที่ซับซ้อน
Urban Creature จะชวนมาค่อยๆ แกะและต่อจิ๊กซอว์ทำความเข้าใจสงครามครั้งนี้ ผ่าน 5 สถานที่สำคัญที่พวกเราเห็นกันในหน้าข่าวรายวัน ค่อยๆ เชื่อมโยงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในสถานที่เหล่านี้ และที่สำคัญ เชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ที่รายล้อมความขัดแย้งครั้งนี้อย่างไร
01
ชนวนความขัดแย้งที่ ‘ยูเครน’
หลัง 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย
จะเริ่มต้นทำความเข้าใจสงครามครั้งนี้จากที่ไหน? เป็นคำถามที่เราอยากชวนไปดูที่ประเทศ ‘ยูเครน’ คู่กรณีสำคัญกับประเทศ ‘รัสเซีย’ ในสงครามครั้งนี้
‘ยูเครน’ เป็นประเทศที่มีเนื้อที่กว่า 603,700 ตารางกิโลเมตร กว้างเป็นอันดับสองและตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของยุโรป มีพรมแดนติดกับรัสเซียทางทิศตะวันออก เบลารุสทางทิศเหนือ โปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการีทางทิศตะวันตก ติดกับโรมาเนียและมอลโดวาทางใต้ รวมทั้งมีพื้นที่ติดทะเลอะซอฟ (Azov Sea) และทะเลดำ (Black Sea) ทางทิศใต้เช่นเดียวกัน
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศยูเครนเป็นทุ่งกว้าง เหมาะสำหรับเกษตรกรรม เพราะช่วงภาคกลางตอนบนของประเทศจรดทางใต้มีแม่น้ำดนีปรอ (Dnipro) ไหลผ่านก่อนไหลลงทะเลดำ มีเมืองหลวงคือกรุงเคียฟ (Kyiv) ตั้งอยู่ช่วงกลางของประเทศที่ลำน้ำไหลผ่าน ตลอดพื้นที่ลุ่มแม่น้ำดนีปรอมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูก และเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ และเคยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวง ส่วนทางตะวันออกของยูเครนเป็นแหล่งสินแร่สำคัญ เช่น เหล็กกล้าหรือถ่านหิน และทางตะวันตกยังเป็นแถบเทือกเขา และมีอารยธรรมด้านสถาปัตยกรรม นั่นทำให้ฝั่งนี้มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว
เมื่อมองด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติแล้ว อาจจะเห็นได้ว่ายูเครนเป็นเหมือน ‘ห้องเครื่อง’ ทางทรัพยากร อาหาร เศรษฐกิจ และพลังงานสำคัญของยุโรปได้เลยทีเดียว
ในส่วนการเมืองการปกครองนั้น ยูเครนเป็นประเทศสาธารณรัฐอิสระ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีสภาผู้แทนและนายกรัฐมนตรีที่ดูแลฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเช่นเดียวกัน
กุญแจสำคัญที่ชวนทำความเข้าใจความขัดแย้งเริ่มต้นจากตรงนี้นี่แหละ อย่างที่บอกว่ายูเครนเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง แต่ก่อนหน้านั้น ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งในเขตการปกครองภายใต้สหภาพโซเวียตในฐานะ ‘Ukrainian Soviet Socialist Republic (SSR) (สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต-ยูเครน)’
เมื่อช่วงปลายการปกครองของสหภาพโซเวียต ผู้นำของสหภาพโซเวียตในสมัยนั้นมีความพยายามสร้างความเป็นประชาธิปไตยและโอบรับเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม วิธีการคือการโอนอำนาจการปกครองและให้อิสระมากขึ้นกับเขตการปกครองภายใต้สหภาพโซเวียต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียในสมัยนั้นกลับอ่อนแอลง ประกอบกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปิดเผยความโปร่งใสของการปกครองในรัสเซียเองก็เป็นแรงบันดาลใจให้เขตปกครองอื่นลุกฮือขึ้นตามกัน
ในยูเครนก็เช่นเดียวกัน หมุดหมายสำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 1991 ที่มีประชามติทั่วประเทศตัดสินใจว่าจะประกาศอิสรภาพจากสหภาพโซเวียตหรือไม่ ผลคือประชากรทั่วประเทศ 92.3 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย นี่คือหนึ่งในการสั่นคลอนความมั่นคงของสหภาพโซเวียต และด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในตลอดปี 1991 ทำให้ในวันที่ 26 ธันวาคม 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลายลง
หลังจากนั้น ประเทศในเขตอิทธิพลเดิมแยกตัวออกจากรัสเซีย และเริ่มต้นกระบวนการเป็นสร้างประเทศที่เป็นอิสระ และวันที่ 26 ธันวาคม 1991 เองก็ถือเป็นวันสิ้นสุดสงครามเย็น (Cold War) ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1945 อย่างเป็นทางการ
ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นที่มีสองขั้วอำนาจใหญ่แข่งขันกันทางการเมืองคือ ค่ายทุนนิยมเสรีในฝั่งของสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคยุโรป กับ สหภาพโซเวียตและจีน (ในบางช่วงเวลา) ในปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตซึ่งถือเป็นมหาอำนาจทางการเมืองหนึ่งล่มสลายและสูญเสียเขตอิทธิพลเดิมไป ทำให้ขั้วอำนาจฝ่ายทุนนิยมประชาธิปไตยไร้คู่แข่ง และหากพูดถึงเฉพาะบริเวณยุโรปกลาง ประเทศที่แตกตัวออกจากสหภาพโซเวียตนั้นจึงกลายเป็นพื้นที่ให้ขั้วอำนาจใหญ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจได้
‘ยูเครน’ จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่การแย่งชิงอำนาจของสองขั้ว นั่นคือค่ายเสรี และรัสเซีย ที่กำลังเผชิญความยากลำบากหลังอำนาจอันยิ่งใหญ่เดิมล่มสลาย และความสำคัญในเชิงทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นั้น ยูเครนที่มีอาณาเขตติดกับรัสเซียและประเทศเกิดใหม่จึงกลายเป็นเหมือนพื้นที่ ‘กันชน’ ระหว่างขั้วอำนาจตะวันตก และอดีตมหาอำนาจเก่าอย่างรัสเซียที่ไม่ต้องการให้อีกขั้วอำนาจหนึ่งขยายอำนาจเข้ามาใกล้ตัวเองอีกแล้ว
ยูเครนหลังจากปี 1991 ล้มลุกคลุกคลานในการพัฒนาระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศมหาอำนาจอื่นก็เข้ามามีบทบาทในการเมืองภายในอยู่ตลอด แต่ประชาชนภายในยูเครนเองโดยส่วนใหญ่ก็มีแนวความคิดเอนเอียงไปทางโลกตะวันตกมากกว่ารัสเซีย
หมุดหมายสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี 2010 – 2014 หลังการได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) เมื่อปี 2010 ยานูโควิชมีนโยบายทางการเมืองแบบปิดกั้นเสรีภาพ และนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเอื้อให้เกิดกลุ่มก้อนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับตัวเอง มีการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานมากมายอย่างถนน สนามบิน รถไฟความเร็วสูง และสนามกีฬา ที่เกินกว่างบประมาณทางเศรษฐกิจจะรับได้ ผลที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและเศรษฐกิจภายใต้สมัยของยานูโควิช
และฟางเส้นสุดท้ายก่อนการชุมนุมใหญ่ของประชาชนในปี 2014 ที่จัตุรัสกลางเมือง กรุงเคียฟ คือการปฏิเสธเซ็นสัญญาทางการค้า ในเดือนพฤศจิกายน 2013 ของยานูโควิชกับสหภาพยุโรป (European Union) ที่จะก่อให้เกิดการค้าเสรีและการสนับสนุนเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจ นี่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของประชาชนที่มีต่อประธานาธิบดี หลังจากนั้น การประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศจึงเกิดขึ้น การประท้วงได้รับการตอบโต้จากตำรวจควบคุมฝูงชนและยกระดับถึงการใช้อาวุธปืน ทำให้มีผู้เสียชีวิตร้อยกว่าราย และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน
ผลที่เกิดขึ้นคือประธานาธิบดียานูโควิชลี้ภัยไปที่ประเทศรัสเซีย และผู้นำรัสเซียก็ตีความการประท้วงครั้งนี้ว่าเป็นภัยคุกคามที่โลกตะวันตกสนับสนุน รัสเซียโต้ตอบด้วยการบุกยึดแคว้นไครเมียทางตอนใต้ของยูเครน และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (Separatist) บริเวณตะวันออกของยูเครนที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส (Donbas Region) ที่ประกอบด้วยจังหวัดลูฮานส์ (Luhansk) และดอแนตสก์ (Donetsk)
นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นคร่าวๆ ที่ ‘ยูเครน’ ซึ่งประกอบด้วยตัวละครมากมายที่ปฏิสัมพันธ์กันและส่งผลถึงการทำความเข้าใจสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นในปี 2022 ที่เราจะชวนค้นหาผ่านสถานที่อีก 4 สถานที่ต่อไป
02
ยุทธศาสตร์สำคัญทางทหารและเศรษฐกิจ
ในเมือง ‘มาริอูโปล’
เมื่อเราไปสำรวจประวัติศาสตร์ของ ‘ยูเครน’ กันมาบ้างแล้ว เราชวนย้อนกลับมาที่สมรภูมิสงครามในปัจจุบันกันบ้าง เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามข่าว หรือเห็นภาพความเสียหายของเมืองต่างๆ ในยูเครน และคงจะได้ยินชื่อของเมือง ‘มาริอูโปล (Mariupol)’ มาไม่มากก็น้อย
เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียยื่นคำขาดให้ว่าจะต้องยอมแพ้และมอบการควบคุมเมืองมาริอูโปลให้กับรัสเซีย แต่ยูเครนก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ยอมและขอสู้สุดชีวิต คำถามสำคัญคือ ทำไมเมืองเมืองนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมสูญเสียเด็ดขาด
‘มาริอูโปล’ เป็นเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนที่ติดกับทะเลอะชอฟ พื้นที่และลักษณะทางภูมิศาสตร์ทำให้เมืองนี้เป็นเมืองท่าสำคัญที่ส่งออกสินแร่สำคัญอย่าง ‘เหล็ก’ และ ‘เหล็กกล้า’ และวัตถุดิบทางการเกษตรและอาหารอย่างข้าวโพด หรือแหล่งพลังงานอย่างถ่านหิน
ตั้งแต่ปี 2014 รัสเซียได้ตอบโต้การประท้วงที่มองว่าเป็นภัยคุกคามด้วยการบุกยึดแคว้นไครเมียทางตอนใต้ และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาสก์ทางตะวันออกของยูเครน เมื่อดูแผนที่แล้ว มาริอูโปลเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางของสองพื้นที่นี้ที่รัสเซียมีอิทธิพลอยู่ และถ้าหากยึดกุมเมืองทางตอนใต้นี้ไว้ได้จะอำนวยความสะดวกให้รัสเซียในการส่งอาวุธ เสบียง และกองกำลังสนับสนุนในการทำสงครามครั้งนี้ได้
ดังนั้น เมืองมาริอูโปลนี้จึงเป็นพื้นที่สำคัญของทั้งฝ่ายยูเครนและรัสเซีย ฝ่ายหนึ่งที่ต้องการตรึงกองกำลังไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจและทางออกสู่ทะเล อีกฝ่ายหนึ่งต้องการพื้นที่เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการทหารนั่นเอง
03
‘นาโต้ (NATO)’ คืออะไร?
‘กรุงบรัสเซลล์’ เกี่ยวอะไรกับสงครามครั้งนี้
ตลอดช่วงการถกเถียงต้นเหตุ และหาทางออกให้สงครามครั้งนี้ มีชื่อหนึ่งที่ถูกพูดถึงออกมาว่าเป็นตัวละครของโลกตะวันตกที่มีบทบาทสำคัญทางการทหาร นั่นคือ ‘นาโต้’ หรือ ‘องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO-North Atlantic Treaty Organization)’ ที่มีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม
ความขัดแย้งครั้งนี้อาจสืบที่มาอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่สงครามเย็น และนาโต้นี่เองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ตั้งขึ้นในปี 1949 ในฐานะประเทศพันธมิตรทางทหารที่ถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพโซเวียตซึ่งก็มีพันธมิตรทางทหารเหมือนกันในชื่อความร่วมมือวอร์ซอ (Warsaw Pact)
เงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้คือประเทศนั้นๆ ต้องเป็นประชาธิปไตย ยอมรับเงื่อนไขบังคับจากทางนาโต้ เช่น ซื้ออาวุธที่จำเป็น มีฐานทัพของนาโต้ในประเทศ แต่นั่นก็แลกมาด้วยคุณสมบัติที่ว่า หากมีชาติใดในนาโต้ถูกโจมตีทางการทหาร จะถือว่าทุกประเทศสมาชิกนาโต้เข้าร่วมปกป้องประเทศนั้นได้ทันที
แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ทำให้พันธมิตรทางการทหารของตัวเองได้ล่มสลายลงเช่นกัน นั่นทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและการทหารที่อำนวยให้นาโต้ขยายอิทธิพลและดึงประเทศอิสระใหม่เข้าเป็นสมาชิกหลังจากปี 1991
นั่นทำให้เราเห็นการขยายตัวของประเทศสมาชิกนาโต้เกิดขึ้น ทั้งในปี 1991 ที่โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็กเข้าร่วมเป็นสมาชิก และประเทศยุโรปกลางอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย บัลแกเรีย โรมาเนีย สโลวาเกีย และสโลเวเนียเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ในปี 2004 และปี 2009 โครเอเชียและแอลบาเนียก็ร่วมเป็นสมาชิกเช่นกัน
ดังนั้น หากมองดูในเชิงแผนที่แล้วอาจจะถือได้ว่า อิทธิพลของชาติตะวันตกในทางทหารรุกคืบเข้ามาใกล้รัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ และในปัจจุบันก็มีประเทศยุโรปอื่นอยู่ในกระบวนการขอเป็นสมาชิกนาโต้อยู่เช่นเดียวกัน
เมื่อมองในมุมนี้ รัสเซียจึงเหมือนเป็นประเทศหัวเดียวกระเทียมลีบในภูมิภาคยุโรป-เอเชียที่ค่อยๆ ถูกอิทธิพลประเทศตะวันตกรุกคืบเข้ามา สถานการณ์แบบนี้จึงกลับมาที่ยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ยูเครนจึงถูกมองว่าเป็น ‘กันชน’ สำคัญและเป็นพื้นที่อ่อนไหวสำหรับรัสเซียและชาติตะวันตก เช่น เมื่อไรที่ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต้หรือสหภาพยุโรปเท่ากับว่าอิทธิพลของชาติตะวันตกแทบจะประชิดชายแดนของรัสเซียแล้ว แต่ถ้าเมื่อไรยูเครนอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย ชาติตะวันตกอาจจะตีความได้ว่าเป็นความพยายามขยายอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง
การดึงยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ หรือสหภาพยุโรปเป็นที่ถกเถียงในอยู่ตลอดทั้งการเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ในปี 2008 ยูเครนเคยยื่นข้อเสนอให้ต่อนาโต้ให้ประเทศอยู่ในแผน Membership Action Plan (MAP) ที่จะวางแผนเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสมาชิกนาโต้ แต่ก็ถูกคัดค้านโดยเยอรมนีและฝรั่งเศสด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และรูปธรรมใกล้เคียงที่สุดคือความพยายามเซ็นสนธิสัญญาทางการค้ากับสหภาพยุโรปของยูเครนในปี 2013 แต่ก็ถูกปัดตกในโค้งสุดท้ายจากประธานาธิบดียานูโควิชที่เอนเอียงทางรัสเซีย
และช่วงสงครามตอนนี้ ก็มีเสียงสนับสนุนให้นาโต้หรือสหภาพยุโรปรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก แต่อีกมุมหนึ่ง นี่อาจเป็นตัวจุดสงครามขนาดใหญ่กับรัสเซียได้เช่นกัน ดังนั้น ข้อเสนอของประธานาธิบดียูเครนต่อรัสเซียในตอนนี้คือจะไม่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มก้อนการเมืองใด และเป็นประเทศคงสถานะเป็นกลาง (neutrality) แต่การเจรจาก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ
นี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายฝ่ายมองว่า ‘นาโต้’ องค์กรทางการทหารที่เป็นมรดกจากสงครามเย็นนี้มีบทบาทสำคัญทั้งในเชิงรากฐานของสงคราม ความตึงเครียดในพื้นที่ ไปจนถึงบทบาทในการยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือยุติสงครามครั้งนี้ได้เช่นเดียวกัน
อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับผู้ที่นั่งโต๊ะประชุมที่บรัสเซลล์กันเลย
04
ผลพวงการคว่ำบาตร ‘รัสเซีย’
ที่มาของแพง อาหารขาด น้ำมันขึ้น
การตอบโต้ต่อการรุกรานของรัสเซียนั้นนอกเหนือจากทำด้วยการทหาร กองทัพและอาวุธแล้ว อีกวิถีทางหนึ่งคือวิธีการกดดันทางเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือการ ‘คว่ำบาตร’ ทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตกและประเทศที่มีจุดยืนตรงข้ามกับรัสเซีย
ตัวอย่างที่เห็นตอนนี้ เช่น การตัดสัมพันธ์ทางการค้า-การเงิน ถอนการลงทุนของสินค้าและบริการ ย้ายฐานการผลิตออก หรือแช่แข็งสินทรัพย์ทางการเงินนักธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับผู้นำรัสเซีย
แต่ใช่ว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนี้จะเกิดผลกระทบแค่รัสเซียอย่างเดียว ในภาพรวมนั้นคือการตัด ‘รัสเซีย’ ออกจากวงจรสินค้าและบริการ แต่แง่มุมสำคัญคือเราปฏิเสธไม่ได้คือรัสเซียมีส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจและการผลิตของโลก
ตอนนี้ทั่วโลกต่างเผชิญสถานการณ์ที่สินค้าและบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันหลายอย่างมีราคาแพงขึ้น ทั้งราคาอาหาร น้ำมันรถยนต์ และสินค้าอื่นๆ ถามว่าการคว่ำบาตรในสงครามรัสเซียบุกยูเครนครั้งนี้มีส่วนในสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงนี้อย่างไร?
เมื่อเราไปดูที่ทรัพยากรอย่างหนึ่งที่โดดเด่นของรัสเซีย ทรัพยากรที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยทีเดียว นั่นคือ ‘น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ’ นั่นเอง ข้อมูลจากองค์กรพลังงานนานาชาติ (International Energy Agency-IEA) ระบุว่า รัสเซียเป็นหนึ่งในสามผู้ผลิตน้ำมันดิบใหญ่ของโลก ตัวเลขทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่ามีอัตราส่วนจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถึง 45 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดของประเทศ เพราะรัสเซียมีแหล่งน้ำมันดิบทางภูมิภาคไซบีเรียทางตะวันออกและตะวันตก รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาร์กติก
ประเทศจีนและประเทศในทวีปยุโรปเองเป็นคู่ค้าน้ำมันดิบสำคัญของรัสเซีย ข้อมูลในปี 2021 แสดงให้เห็นว่าจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และตัวเลขฝั่งยุโรปอยู่ที่ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากน้ำมันดิบแล้ว รัสเซียยังเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
หากนับรวมทรัพยากรธรรมชาติสองชนิดนี้แล้ว การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของรัสเซียหมายถึงปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่หายไปในตลาดโลก และส่งผลถึงความผันผวนและราคาน้ำมันที่เราต้องรับภาระจ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากน้ำมัน รัสเซียและเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซียนั้น ยังเป็นผู้ส่งออกแร่โปแตชที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการผลิตปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งผลให้ราคาพืชผลการเกษตรอาจขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Financial Times ได้แสดงความกังวลในประเด็นนี้ว่าวิกฤตข้าวของแพงจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดในประเทศยากจน และอาจนำไปสู่สภาวะอดอยาก (starvation) ได้เลยถ้าประเทศประชาธิปไตยที่มีฐานะไม่ยื่นความช่วยเหลือให้ประเทศยากจน
และอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ‘อุตสาหกรรมเหล็กกล้า’ ในส่วนของเมืองมาริอูโปลที่รัสเซียพยายามยึดครองเป็นแหล่งผลิตและส่งออกเหล็กสำคัญนั้น สงครามครั้งนี้จึงส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นอย่างรถยนต์ และการก่อสร้าง เป็นต้น
เหล่านี้จึงเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงกัน จากน้ำมันส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ที่พึ่งพาน้ำมันเช่นการขนส่งสินค้าก็พลอยได้รับผลกระทบ ต่อด้วยต้นทุนในธุรกิจต่างๆ ก็สูงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มราคาซื้อ-ขาย หรือด้านการผลิต แร่โปแตซที่จำเป็นต่อการผลิตปุ๋ยก็ขาดแคลน เหล่านี้จึงส่งผลต่อค่าครองชีพโดยตรง แม้จะบอกว่าสงครามเป็นเรื่องต่างแดน ไกลตัวเรา แต่ตอนนี้มันก็ฉายให้เราเห็นถึงผลกระทบจากสงครามในชีวิตประจำวันแล้ว
05
มหันตภัยนิวเคลียร์ที่ ‘เชอร์โนบิล’
จุดจบของโลก ถ้าห้ำหั่นด้วยอาวุธเคมี
หากใครยังจำเหตุการณ์แผ่นดินไหวและภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 2011 หรือ 11 ปีก่อนได้ การรั่วไหลของกัมมันตรังสีในครั้งนั้นทำให้ต้องสั่งอพยพประชาชนถึงแสนกว่าคนออกจากพื้นที่ และสารเคมีก็ได้รั่วไหลสู่บรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งติดกับที่ตั้งของโรงไฟฟ้า ทำให้เราต่างต้องระวังภัยจากสารเคมีและตื่นตัวเป็นพิเศษช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จนถึงตอนนี้ พื้นที่บริเวณโรงงานไฟฟ้าและหลายเมืองที่ได้รับผลกระทบยังเป็นพื้นที่หวงห้าม เพราะต้องหาวิธีทำความสะอาดกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมออก
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกต้องเผชิญกับสารกัมมันตภาพ มหันตภัยนิวเคลียร์นี้เคยเกิดขึ้นที่ยูเครน ทางตอนเหนือจากเมืองหลวงของประเทศไป 70 กิโลเมตรในโรงไฟฟ้าที่ชื่อ ‘เชอร์โนบิล (Chernobyl)’
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เป็นผลผลิตจากช่วงสงครามเย็นที่สองขั้วอำนาจมีการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้านั้นใกล้กับชายแดนประเทศเบลารุส เป็นพื้นที่ป่าที่มีประชากรเบาบาง การก่อสร้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1970 – 1983 ในช่วงที่ยูเครนยังอยู่ใต้สหภาพโซเวียต
การรั่วไหลของกัมมันตรังสีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1986 เพราะการออกแบบโรงไฟฟ้าที่มีดีไซน์แปลกประหลาด ไม่มีความปลอดภัย และการขาดประสบการณ์ของผู้ควบคุมโรงไฟฟ้า
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อผู้ควบคุมโรงไฟฟ้าจะทดสอบระบบภายใน แต่ทำในสภาพที่ข้างในมีอุณหภูมิสูงอยู่ ส่งผลให้เกิดความดันน้ำแรงสูงจนดันฝาปิดข้างบนหนัก 1,000 ตันหลุดออก และทำให้สารกัมมันตรังสีจำนวนมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำลายฮิโระชิมะในสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 50 เท่ากระจายสู่บริเวณโดยรอบและชั้นบรรยากาศ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนกว่าสองแสนคนรอบพื้นที่ต้องหนีภัย ย้ายถิ่นฐาน กว่า 31 คนต้องเสียชีวิตจากพิษไข้จากกัมมันตรังสี และปัจจุบันกว่า 40 ปี พื้นที่โรงไฟฟ้าและเชอร์โนบิลก็ยังเป็นพื้นที่หวงห้ามและไม่มีประชาชนอยู่อาศัย
แม้ยูเครนวันนี้ไม่ได้ครอบครองนิวเคลียร์ในประเทศ เพราะต้องโอนย้ายการถือครองให้กับรัสเซียในปี 1986 แลกกับการยอมรับสถานะเป็นประเทศเอกราชจากบันทึกข้อตกลงปูดาเบสต์ (Budapest Memorandum 1994) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย
และตอนนี้ผู้รุกรานในสงครามอย่างรัสเซียซึ่งถือเป็นผู้ถือครองเทคโนโลยีและอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์แล้ว และกลุ่มสมาชิกนาโต้อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสก็มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองเช่นเดียวกัน
มีคำศัพท์ในภาษาการทหารว่า ‘MAD-Mutual Assured Destruction’ หมายถึงหายนะอย่างเท่าเทียมกันหากแต่ละประเทศเปิดหน้าการรบด้วยอาวุธนิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ‘เชอร์โนบิล’ จึงเป็นหมุดหมายเตือนใจให้เห็นถึงความรุนแรงและหายนะของนิวเคลียร์ ที่ถ้าใช้ห้ำหั่นกันแล้ว คงไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะสงคราม แต่ถึงจะมีผู้ชนะจริงๆ นั่นอาจจะเป็นวันที่โลกมาถึงจุดจบแล้วก็ได้ ถ้าเราไม่แสวงหาหนทางยุติสงครามโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อไปมากกว่านี้
Sources
Serhy Yekelchyk, Ukraine: What Everyone Needs to Know (New York, US: Oxford University Press, 2020).
Ukraine and Russia: People, Politics, Propaganda and Perspective, eds. Agnieszka Pikulicka-Wilczewska and Richard Sakwa (Bristol, UK: E-International Relations Publishing, 2016).
BBC | https://bbc.in/36B9jTv, https://bbc.in/3EIXYxd, https://bbc.in/3Opbcnr
Financial Times | https://on.ft.com/3L8Epkb
International Energy Agency | https://bit.ly/3vxenkh
The Time | https://bit.ly/3xKYmcX
The Guardian | https://bit.ly/3v2mKFs, https://bit.ly/3jXcE2l
Washington Post | https://wapo.st/3MnGngV, https://wapo.st/3vD1Hbs
Project Syndicate | https://bit.ly/37uJ9SY