ค่ำวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน ปี 1997 หลังจากที่ออกไปเตร็ดเตร่ตามประสาวัยรุ่นทั่วไป แพคอีจิน (รับบทโดย นัมจูฮยอก) กลับบ้านมาพบกับภาพของครอบครัวของเขาที่กำลังจะแตกสลาย เปล่าเลย มันไม่ได้เป็นเพราะพ่อกับแม่เขาผิดใจกัน และมันก็ไม่ใช่เพราะสมาชิกคนใดคนหนึ่งได้ตายจากไป ครอบครัวของเด็กหนุ่มยังคงอบอุ่น พวกเขายังคงรักกันอย่างสุดหัวใจ แต่มันเป็นเพราะเหตุการณ์หนึ่งต่างหากที่สั่นสะเทือนความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวนี้อย่างรุนแรง รุนแรงถึงขนาดที่พ่อของอีจินถึงขั้นยื่นข้อเสนอขอหย่ากับแม่ บอกให้ลูกคนโตอย่างอีจินไปเป็นทหารเกณฑ์ ส่วนลูกคนเล็กก็ให้ย้ายไปอยู่กับญาติไปก่อน
“ครอบครัวของเราคงต้องแยกกันอยู่สักพัก” พ่อของอีจินกล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนล้า ท่ามกลางเสียงสะอื้นไห้ของมารดา อีจินได้แต่เพียงพยักหน้าอย่างจนปัญญาเพราะไม่รู้จะช่วยครอบครัวอย่างไร
เหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนครอบครัวอีจินไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือวิกฤต IMF ที่ได้กระชากเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งกำลังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ให้ลงมากองอยู่กับพื้นอีกครั้ง สีสันชีวิตวัยรุ่นของอีจินดับสนิทลงในทันทีเพราะเหตุการณ์ครั้งนั้น เช่นเดียวกับความฝันที่ระเหิดหายไปกับอนาคตที่ขมุกขมัว
เช้าวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคม ปี 1998 นาฮีโด (รับบทโดย คิมแทรี) เด็กสาว ม.ปลาย และนักฟันดาบประจำโรงเรียนรีบพุ่งตัวออกจากบ้านอย่างลิงโลด เธอตรงดิ่งไปนั่งหลับในห้องเรียน จากนั้นก็แวะไปย้ำเฮียร้านเช่าการ์ตูนว่าอย่าลืมเก็บเล่มใหม่ของ ‘ฟูลเฮาส์’ การ์ตูนเรื่องโปรดไว้ให้ด้วยนะ ก่อนจะแผล็วไปยังชมรมฟันดาบของโรงเรียนอีกแห่ง ไปเกาะขอบหน้าต่างแอบดู ‘โกยูริม’ (รับบทโดย โบนา) นักกีฬาฟันดาบทีมชาติเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกผู้เป็นเสมือนไอดอลของเธอ
ฮีโดมีฝัน และความฝันของเธอก็ไม่ใช่อะไรอื่นแต่คือการได้ประดาบเคียงข้างกับนักกีฬาฟันดาบที่เป็นดั่งแสงสว่างในชีวิต ท่ามกลางความเปราะบางของสภาพเศรษฐกิจ การเมืองที่เดือดพล่าน และความขัดแย้งของคนในชาติที่ปะทุอยู่เรื่อยๆ ฮีโดยังคงโอบกอดความฝันของตัวเองไว้อย่างแนบแน่น ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่า ฟูลเฮาส์ ยูริม และการฟันดาบ
“IMF ฉันคิดว่าไอ้เรื่องบ้านั่นไม่เกี่ยวอะไรกับฉันซะอีก” ฮีโดบอกกับตัวเองเช่นนั้น แต่ก็นั่นแหละ เพราะแม้ว่าครอบครัวของเด็กสาวจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากนัก แต่มันกลับเป็นชีวิตประจำวันของฮีโดต่างหาก ที่โดนวิกฤต IMF พุ่งชนเข้าอย่างจัง “ทางโรงเรียนลดงบประมาณลงเพราะวิกฤต IMF เลยตัดสินใจยุบชมรมฟันดาบของเรา” เด็กสาวถึงกับปากค้างหน้าชาเมื่ออยู่ๆ โค้ชประจำชมรมฟันดาบก็ประกาศข่าวร้ายนี้ต่อหน้าเธอและสมาชิกคนอื่นๆ
กระจัดกระจายจากความฝันจนได้มาพบกัน
อย่างชัดเจนที่สุด Twenty Five Twenty One บอกเล่าเรื่องราวของความฝัน ไม่ว่าจะเป็นฝันของฮีโดที่อยากจะเป็นนักกีฬาฟันดาบที่เก่งกาจเหมือนอย่างไอดอลของเธอ หรืออย่างอีจินที่แม้ว่าความฝันจริงๆ ของเขาจะเป็นการได้ทำงานในองค์กรระดับโลกอย่าง NASA แต่หลังจากที่ครอบครัวล้มละลายจนสมาชิกต้องกระจัดกระจายไปอยู่กันคนละทิศคนละทาง ความฝันของอีจินก็ได้เปลี่ยนรูปร่างไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะพาพ่อ แม่และน้องชาย กลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าอีกครั้งเหมือนอย่างในวันเก่า
แต่ขึ้นชื่อว่าความฝัน แน่นอนว่า เส้นทางที่จะทอดพาฮีโดและอีจินไปยังจุดนั้นย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ประดังซังซัดเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ในฝั่งของอีจิน นอกจากที่เขาจะต้องคอยหลบหน้าเจ้าหนี้และผู้เสียหายที่ได้รับบาดแผลจากการล้มละลายของพ่อเขาแล้ว อีจินที่ยังไม่ทันจะเรียนมหาวิทยาลัยได้จบดี ก็คล้ายจะตกอยู่ในสภาวะอิหลักอิเหลื่อ ร่อนใบสมัครงานไปที่ไหนก็ไม่มีใครรับสักที
ขณะที่ฮีโดเอง แม้ว่าจะหาทางย้ายโรงเรียนไปอยู่โรงเรียนเดียวกับยูริม และเข้าชมรมฟันดาบจนไปกระทบไหล่ไอดอลของเธอได้สำเร็จ ทว่าฮีโดเองกลับต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงที่น่าเจ็บปวดใจ เมื่อพบว่ายูริมไม่ค่อยจะชอบขี้หน้าเธอสักเท่าไหร่ ซ้ำร้าย ไม่ว่าฮีโดจะพยายามพิสูจน์ให้ยูริมเห็นฝีมือฟันดาบของเธอสักเท่าไหร่ มันกลับมีแต่จะยิ่งบ่มฟักให้ยูริมเกลียดชังฮีโดมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่มีอะไรง่ายเลยสำหรับหนุ่มสาวทั้งสอง ชีวิตไม่เคยง่ายเลยสำหรับอีจินและฮีโดที่ต่างก็ต้องดิ้นรนบนถนนคนละสาย แต่แล้ว – ท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อยของฉากชีวิตประจำวันที่เคลื่อนผ่านไป – ถนนสองสายที่ทอดพาไปคนละเส้นทางก็บังเอิญพาดผ่านถึงกันอย่างพอดิบพอดี ในวันที่ทั้งคู่กำลังจมดิ่งสู่จุดตกต่ำ ในวันที่ความฝันของพวกเขามืดดำพอๆ กับอนาคตของเกาหลี ในวันที่ชีวิตดูเหมือนจะไม่มีอะไรดี
เป็นวันเดียวกันนั้นเองที่อีจินกับฮีโดก็ได้บังเอิญพบหน้า สบตา และรู้จักกัน
เธอคือพื้นที่ปลอดภัยในช่วงเวลาที่มืดมิด
“เวลาที่เราอยู่กันสองคน เรามาแอบมีความสุขกัน แค่แป๊บเดียวก็ยังดี” ฮีโดบอกกับอีจินด้วยรอยยิ้มเต็มใบหน้าตรงหน้าอุโมงค์ที่ทั้งคู่เดินผ่านเป็นประจำ
หากย้อนเวลากลับไปสั้นๆ เหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ฮีโดจะกล่าวประโยคนี้ออกมาอาจฟังดูไม่มีอะไรสลักสำคัญ เพราะมันก็แค่ว่า อยู่ๆ ฮีโดก็ตัดสินใจชวนอีจินลอบเข้าไปในโรงเรียนตอนกลางดึก เดินนำเด็กหนุ่มไปยังก๊อกน้ำดื่มสาธารณะ ออกแรงกลับหัวให้ปลายก๊อกแหงนขึ้นฟ้าแล้วบิดก๊อกสุดแรงจนเกิดเป็นน้ำพุย่อมๆ เด็กสาวยิ้มกว้างขณะจ้องมองผลงานของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เป็นเหตุการณ์เล็กๆ และคำพูดที่แสนจะใสซื่อจากเด็กสาว ม.ปลายคนนี้เองที่ยืนยันกับอีจินว่า ในช่วงเวลาที่ชีวิตของเขามืดมิดที่สุด โชคดีที่ยังพอมีแสงสว่างเล็กๆ คอยมอบความอบอุ่นให้กับเขา
สำหรับเด็กหนุ่มแล้ว ฮีโดคือพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เล็กๆ ซึ่งเขาจะสามารถถอดวางชุดเกราะเทอะทะที่จำเป็นต้องสวมใส่เพื่อปกป้องตัวเองจากยุคสมัย และกลับไปเป็นเด็กหนุ่มที่ไม่เข้มแข็งเสมอไป ผิดพลาดได้ ร้องไห้เป็น ในขณะที่กับฮีโดเอง อีจินก็คล้ายกับลำแสงจากประภาคารที่คอยสาดส่องเส้นทางให้ฮีโดสามารถกลับคืนสู่ฝั่งได้อย่างปลอดภัย ยามใดที่ฮีโดรู้สึกพลัดหลงในท้องทะเลที่ปกคลุมไปด้วยหมอกหนา เป็นลำแสงของอีจินนั่นเองที่คอยย้ำเตือนเด็กสาวอยู่เสมอว่า เธอไม่ได้อยู่ลำพัง และเธอจะปลอดภัย แล้วก็เป็นลำแสงเดียวกันนี้เองที่คอยบอกฮีโดอยู่เสมอว่า ลองมุ่งไปข้างหน้าดูก่อนสิ ลองบุ่มบ่ามให้เต็มที่กับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพียงแต่หากสิ่งที่รออยู่มันโหดร้ายเกินไปนัก ก็จงอย่าลังเลที่จะหันหัวเรือกลับฝั่ง ฮีโดสามารถหวนกลับมาสู่พื้นที่อบอุ่นเล็กๆ ที่จะมีอีจินรออยู่เสมอ
ความสัมพันธ์ของฮีโดและอีจินเริ่มต้นจากการค่อยๆ ก่อร่างสร้างพื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากอยู่มาวันหนึ่ง ความใกล้ชิดของทั้งคู่จะพัฒนาไปสู่อะไรที่ลึกซึ้งขึ้นจนอาจเรียกได้ว่าความรัก อย่างไรก็ตาม Twenty Five Twenty One ดูจะเป็นซีรีส์ที่ไม่ได้สนใจจะนิยาม ‘ความรัก’ อย่างแน่นิ่งตายตัวนัก อย่างเช่นในหลายๆ ฉากที่ทั้งคู่พยายามจะนิยามความสัมพันธ์ของพวกเขาว่ามันควรจะเป็นอะไรกันแน่นะ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่อาจจะคาดคั้นคำตอบที่ชัดเจนขึ้นมาได้
บทสนทนาหนึ่งที่ดูจะอธิบายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นบทสนทนาสั้นๆ บนสะพานที่ปรากฏสายรุ้งขนาดใหญ่พาดผ่าน ฮีโดบอกอีจินว่า เธอนิยามชื่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่า ‘รุ้ง’ ขณะที่อีจินกลับบอกว่ามันคือ ‘ความรัก’ ความน่าสนใจของฉากนี้อยู่ตรงที่ว่า แม้ว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่ ‘คำว่ารัก’ ถูกกล่าวออกมาตรงๆ ในความสัมพันธ์ของทั้งสอง แต่ปฏิกิริยาของพวกเขากลับไม่ได้มองว่า คำสารภาพนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขาแต่อย่างใด
การบอกรักของอีจินอาจไม่ใช่การสารภาพรักอย่างที่เราคุ้นเคยกันด้วยซ้ำ แต่คือการพยายามนิยามความสัมพันธ์ของพวกเขาให้เป็นรูปธรรม โดยที่ ‘ความรัก’ ที่เขาหมายถึงนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการนิยามความสัมพันธ์ว่าเหมือนกับสายรุ้งหรือกรรไกร การสารภาพรักของอีจินไม่ได้เกิดขึ้นบนความคาดหวังที่จะผลักพาความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไปสู่การรับรู้ของบุคคลภายนอก แล้วเขาก็ไม่ได้คาดหวังว่า การบอกรักกับฮีโดไปอย่างตรงๆ จะหมายถึงการสร้างข้อตกลงใหม่ๆ ให้กับความสัมพันธ์แต่อย่างใด อีจินแค่รู้สึกว่า สิ่งนี้แหละคือความรัก คือนิยามที่เขาไม่รู้สึกอึดอัด และสามารถที่จะซื่อสัตย์กับอีกฝ่ายได้อย่างสุดใจ
นิยามที่ไม่สำคัญว่าสถานะของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด – จะเรียกว่าแฟน จะเรียกว่าที่รัก หรือจะเลิกรากันไป – ท้ายที่สุดแล้ว ‘ความรัก’ ที่อีจินมีต่อฮีโดก็จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับที่ตัวตนของอีจินจะยังคงเป็นสายรุ้งที่พาดผ่านท้องฟ้าของฮีโดเสมอ
ฉันจะไม่ยอมแพ้ต่อยุคสมัย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นหนึ่งที่ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษใน Twenty Five Twenty One คือ ‘เสียงของคนรุ่นใหม่’ ที่พยายามจะท้าทายระเบียบทางสังคมแบบเดิมๆ
ไม่ว่าจะเป็นการที่อีจินถูกรับเข้าทำงานในสำนักข่าวชื่อดังด้วยวุฒิ ม.ปลาย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพนักงานและผู้บริหารบางคน หรือการท้าทายอำนาจนิยมในโรงเรียนของ ‘จีซึงวาน’ (รับบทโดย อีจูมยอง) ในแง่นี้ พ้นไปจากตัวละครที่เป็นมนุษย์ในเรื่องแล้ว อีกตัวละครหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ เห็นจะเป็น ‘ยุคสมัย’ นั่นเอง
หลังจากที่รู้ว่าชมรมฟันดาบของตัวเองโดนยุบ ฮีโดพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะพาตัวเองไปสู่ชมรมฟันดาบแห่งใหม่ ด้วยความแค้นใจ ฮีโดถามอีจินว่า ยุคสมัยมีสิทธิ์อะไรมาพรากความฝันของเธอไปเหรอ “ยุคสมัยน่ะ พรากความฝันไปจากเธอได้ง่ายๆ เลย” อีจินตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง แน่นอนว่า คำพูดของอีจินนั้นเป็นความจริงอย่างที่สุด อย่างน้อยก็สำหรับเขา แต่ Twenty Five Twenty One ก็ไม่ใช่ซีรีส์ที่ดูจะจำยอมต่อความไม่ยุติธรรมและความโหดร้ายของยุคสมัยนัก
ในฉากหนึ่ง ฮีโดพูดกับอีจินว่า “ยุคสมัยบีบให้เรายอมทิ้งทุกอย่างแล้ว จะยอมทิ้งความสุขไปด้วยได้ไง” ประโยคสั้นๆ นี้สะท้อนให้เห็นจิตใจที่ไม่ยอมถูกกดทับของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะแม้ว่าฮีโดจะเป็นเพียงนักเรียนตัวเล็กๆ ที่ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤต IMF ไม่ต่างอะไรกับอีจิน แต่การดึงดันว่าจะไม่ยอมทิ้งความสุขไปนี่เอง คือคำป่าวประกาศที่ชัดเจนว่า ฮีโดจะไม่ยอมให้ยุคสมัยมากำหนดเส้นทางชีวิตของเธอ
ความมุ่งมั่นที่จะเป็น ‘ปากเสียง’ และ ‘รับผิดชอบ’ ชีวิตของตัวเองคือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นไม่เพียงแค่เฉพาะฮีโดหรืออีจิน แต่ยังรวมถึงยูริมที่ตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติของตัวเองไปเป็นรัสเซียเพื่อช่วยเหลือภาระการเงินของครอบครัว หรือซึงวานที่ยืนหยัดในความเชื่อของตัวเองอย่างถึงที่สุด จนตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน
แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่ตัวละครในเรื่องจะเอาชนะยุคสมัยได้สำเร็จ เพราะหลายครั้งที่พวกเขาหกล้มหน้าคะมำ ถูกโบยตีซ้ำๆ และจำต้องยอมรับว่าตัวเองพ่ายแพ้ แต่ประเด็นสำคัญคือการที่พวกเขายืนยันจะเปล่งเสียงใส่สังคมหัวโบราณซึ่งมีแต่จะผุพังล่มสลายไปเรื่อยๆ ต่างหาก คือการมีปากเสียงกับความอยุติธรรมที่พวกเขามองเห็นในบ้านเมืองที่เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นต่างหากคือคุณค่าที่แท้จริง
บทสรุปที่ชวนให้มองย้อนกลับไป
Twenty Five Twenty One เริ่มต้นด้วยความฝันของหนุ่มสาว ทว่ามันกลับจบเรื่องราวโดยชี้ชวนให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวระหว่างทาง มากกว่าปลายทางที่พวกเขาเดินทางไปถึง พูดแบบนี้อาจดูคลิเชอยู่บ้าง แต่หากลองใคร่ครวญดูสักเล็กน้อย ผู้เขียนกลับรู้สึกว่า การสรุปเรื่องราวของซีรีส์อย่างง่ายๆ เช่นนี้ก็ดูจะซื่อสัตย์ต่อหัวใจของมันอยู่ไม่น้อย
นั่นเพราะท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าอีจินและฮีโดจะก้าวไปถึงความฝันของตัวเองได้สำเร็จ แต่กลับเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ประกอบสร้างเป็นสะพานให้พวกเขาก้าวไปถึงจุดนั้นต่างหาก ที่อีจินและฮีโดเลือกจะจดจำ แน่นอนว่า อีจินย่อมจะรู้สึกดีใจที่ได้พาสมาชิกครอบครัวมาอยู่ร่วมกันได้สำเร็จอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่ฮีโดเองก็ย่อมจะภูมิใจในวันที่ได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาฟันดาบอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ถึงที่สุดแล้วผู้เขียนก็เชื่อว่า ในวันที่ทั้งคู่ต่างยืนอยู่บนจุดสูงสุดของชีวิต อาจไม่ใช่การหันมองไปยังอนาคตข้างหน้าที่พวกเขาจะกระทำในทันทีนั้น แต่เป็นการหันกลับไปมองเส้นทางที่เดินผ่านมาอยู่เรื่อยๆ ซ้ำๆ
เพราะสำหรับอีจิน จะมีฮีโดคอยส่งยิ้มมาให้จากตรงนั้น และสำหรับฮีโด จะมีอีจินคอยเป็นกำลังใจให้อยู่เสมอ