ปัจจุบันชาวโลกส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาขวดพลาสติกกันอยู่ในปริมาณที่มากพอสมควร แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลก็ตาม การเรียกร้องให้ผู้คนหันมารีไซเคิลอย่างจริงจังอาจเป็นเรื่องยากเกินไป เพราะในทุกหนึ่งนาทีขวดพลาสติกประมาณ 1 ล้านขวดจะถูกขายออกไป และมีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล
แต่หนทางของการเอาตัวรอดของมนุษย์ยังคงหมุนไป เพราะในอนาคตไอศกรีมวานิลลาสุดโปรดของคุณอาจทำมาจากขวดพลาสติกก็ได้ เมื่อ Stephen Wallace นักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ค้นพบวิธีการแปลงขยะพลาสติกให้เป็น ‘วานิลลิน’ สารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น โดยมีกลิ่นและรสชาติใกล้เคียงกับวานิลลาที่สกัดจากธรรมชาติ ด้วยวิธีการสลายสาร ‘PET’ (Polyethylene Terephthalate) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในขวดพลาสติกให้เป็น ‘TA’ (Terephthalic Acid)
หลังจากนั้นก็นำมาผสมสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ อย่าง ‘แบคทีเรีย’ และเขย่าอย่างต่อเนื่องในห้องทดลองที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหนึ่งวัน ก็จะเปลี่ยน TA ให้กลายเป็นวานิลลินได้ถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่เห็นแสงสว่างแห่งความเป็นไปได้ โดยเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังปรับปรุงกระบวนการให้ดีกว่าเดิม เพื่อแปลงขยะพลาสติกในจำนวนที่มากขึ้นด้วย
นอกจากวานิลลินจะนำมาใช้ในอาหารเพื่อให้มีรสชาติคล้ายคลึงกับวานิลลาแล้ว ยังใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แม้ทั้ง ‘วานิลลิน’ และ ‘วานิลลา’ จะสามารถสกัดจากธรรมชาติได้ แต่ปัจจุบันความต้องการในแวดวงอุตสาหกรรมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าจะจัดหาได้ตามธรรมชาติ วิธีนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแห่งอนาคตที่ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอีกต่อไป
Sources :
BBC UK | https://bbc.in/35ZfEUW
Global News | https://bit.ly/3doiYwL