‘รถราง-รถไฟคาร์ลส์รูห์’ ต้นแบบเชื่อมระบบการเดินทางอย่างใส่ใจผู้ใช้ - Urban Creature

  • คาร์ลส์รูห์ คือเมืองในประเทศเยอรมนีที่สถานีรถไฟหลักไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง  ทำให้คนใช้งานน้อยจนเกือบเจ๊ง
  • เกือบเจ๊ง แต่ไม่เจ๊งจริง เพราะคาร์ลส์รูห์คิดแผนพัฒนากู้รถไฟให้ใช้รางร่วมกับรถรางในเมืองได้ในชื่อ ‘คาร์ลส์รูห์โมเดล’ (Karlsruhe Model)
  • นอกจากเชื่อมการเดินทางอย่างใส่ใจผู้ใช้ การเกิดขึ้นของ ‘คาร์ลส์รูห์โมเดล’ ยังลดภาวะรถติด เพิ่มมูลค่าที่ดิน และเพิ่มการจ้างงาน

คาร์ลส์รูห์ เป็นเมืองขนาดกลางทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี ไม่ไกลจากชายแดนประเทศฝรั่งเศสมากนัก เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม เพราะเป็นที่ตั้งของหนึ่งในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ และยังมีบริษัทมากมายตั้งอยู่ในเมืองนี้ แต่ที่เราจะเล่าให้ฟังคือ รถราง-รถไฟคาร์ลส์รูห์ (Tram-train Karlsuhe) ที่เป็นความสำเร็จของเมืองในการแก้ไขปัญหาขนส่งสาธารณะ จนกลายเป็นต้นแบบให้อีกหลายเมืองในยุโรปในชื่อ คาร์ลส์รูห์โมเดล (Karlsruhe Model)

ปรับให้รถไฟวิ่งบนทางรถราง

เรื่องราวเริ่มต้นราวๆ ปี ค.ศ. 1950 ผู้ให้บริการรถไฟรายหนึ่งในเมืองประสบปัญหาขาดทุนย่อยยับ โดยสาเหตุหนึ่งคือสถานีรถไฟหลักของเมืองไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง แต่อยู่ห่างออกไปถึง 2 กิโลเมตร ทำให้มีผู้โดยสารน้อย เพราะผู้คนที่เดินทางมาจากนอกเมืองต้องไปเปลี่ยนเป็นรถรางและบัสที่วิ่งในเมืองเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง บริษัทเห็นว่าการวิ่งต่อตามทางรถรางเข้าเมืองเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น จึงปรับทั้งระบบไฟฟ้าและความกว้างของรางรถไฟตามทางรถรางเพื่อให้สามารถใช้ร่วมกันได้

รวมรถรางและรถไฟ

หลังจากนั้นไม่นานบริษัทที่ดูแลรถรางและรถไฟก็ทำงานร่วมกันภายใต้ชื่อ ‘KVV’ (Karlsruhe Transport Association) เพื่อความสะดวกในการต่อรถของประชาชน แต่ก็ยังขยายเส้นทางของทั้งรถไฟและรถรางแยกกันเรื่อยมา จนในปี ค.ศ. 1992 มีแผนจะขยายเส้นทางรถไฟไปยังเมือง Bretten ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออก เนื่องจากในตอนนั้นการเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ไม่สะดวกเท่าไหร่ ต้องเปลี่ยนรถ 2-3 ต่อ

บริษัทจึงเห็นว่า ถ้าผู้คนสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถเลย จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอีกแน่ๆ และวิธีที่จะทำได้โดยคุ้มค่าการลงทุนที่สุดคือใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้วของรถไฟและรถราง ถึงสองอย่างนี้จะดูหน้าตาคล้ายกันมากแต่มีระบบไฟฟ้าต่างกัน นั่นทำให้ รถราง-รถไฟคาร์ลส์รูห์ ถือกำเนิดขึ้นมา ในฐานะรถที่สามารถทำงานได้ทั้งกับไฟฟ้ากระแสตรงแบบรถรางและกระแสสลับแบบรถไฟ

ผลลัพธ์ที่ดีอย่างใส่ใจผู้ใช้ 

หลังจากการให้บริการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1992 มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 400% ในปีแรกที่เปิดให้บริการ โดย 40% ของผู้โดยสารเปลี่ยนมาจากการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และเวลาที่ใช้ในการเดินทางโดยเฉลี่ยก็ลดลงไป 15 นาที นับตั้งแต่วันนั้นก็ขยายเส้นทางออกไปเรื่อยๆ โดยยึดคติที่ว่า

“ถ้าผู้คนไม่มาหารถไฟ รถไฟจะเข้าไปหาเอง”

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ในความสำเร็จนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้รถราง-รถไฟไปก่อนเสมอตามทางแยก ระบบตั๋วร่วมของเมืองและอาณาบริเวณ การลงทุนที่น้อยลงเพราะในหลายๆ เส้นทางสามารถใช้รางรถไฟที่มีอยู่แล้วได้ การทำงานร่วมกันของทั้งสองบริษัทภายใต้ KVV และการพัฒนาของรถราง-รถไฟยังทำให้การจราจรติดขัดน้อยลง และเมืองมีมูลค่าที่มากขึ้น ทั้งมูลค่าที่ดินเพิ่มมากขึ้น มีผู้อยู่อาศัยมากขึ้น และมีการจ้างงานที่มากขึ้นด้วย

เราได้ไปฝึกงานอยู่ที่เมืองนี้ราวๆ 4 เดือน ได้เห็นรถราง- รถไฟจนจุใจ แต่ก็ได้เห็นความอันตรายของระบบนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะในคาร์ลส์รูห์มีเส้นทางที่ผ่าน shopping street เป็น trunk line ของระบบแทบจะทุก 2-4 นาที ถึงแม้ว่าถนนเส้นนั้นจะมีแค่รถราง-รถไฟที่วิ่งผ่านได้ แต่เพราะเป็นถนนชอปปิงจึงมีผู้คนขวั่กไขว่ข้ามไปมาตลอดเวลา เมืองจึงมีโครงการจะนำเส้นทางตรงนี้ลงใต้ดิน คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะสำเร็จ ยังไงก็ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้เมืองคาร์ลส์รูห์นะ

เอกลักษณ์อีกอย่างของเมืองคือปราสาทประจาเมืองคาร์ลส์รูห์ (Schloss Karlsruhe) ที่ตั้งอยู่กลางเมือง มีสวนกว้างใหญ่อยู่ด้านหลังแต่คับคั่งไปด้วยผู้คนที่มาออกกำลังกายและนั่งปิกนิกรับอากาศบริสุทธิ์

และถนนหลายๆ เส้นในเมืองก็มุ่งเข้าสู่ปราสาท ทำให้เราสามารถมองเห็นปราสาทได้จากหลายมุมมอง

สุดท้ายแล้ว วิธีแก้ปัญหาแบบคาร์ลส์รูห์อาจจะไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกที่ในโลกใบนี้ แต่การแก้ปัญหาแบบองค์รวมโดยนึกถึงประชาชนทุกคนเป็นหลัก คือหัวใจของขนส่งสาธารณะในประเทศเยอรมนี ที่ทำให้เมืองขนาดไม่ใหญ่ และไม่ได้เป็นที่รู้จักมากมาย กลายเป็นเมืองซึ่งน่าอยู่และสะดวกสบายสำหรับผู้อยู่อาศัยได้ไม่ยากเลย


Source : https://www.tramtrain.org/en/index.html
https://www.napier.ac.uk/~/media/worktribe/output-206785/icd41ch8karlsruhemodelpdf.pdf

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.