ศิริวัฒน์ มังคลรังษี Renovate บ้านร้าง - Urban Creature

นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ผมเสนออย่างเต็มใจ ด้วยรสนิยมชอบเห็นตึกเก่ามันถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง เวลาที่เห็นคนนึกคึกอยากจะรีโนเวตตึกรามหรือบ้านสักหลัง มันทำให้ผมเอาใจช่วยอยู่ไม่น้อย

ย้อนกลับไปราว 6 ปี ณ เว็บไซต์ Pantip หลายกระทู้จาก เตอร์-ศิริวัฒน์ มังคลรังษี นั้นทำเอาคนรักบ้านร่วมลุ้นไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการไปสะดุดตากับบ้านร้างที่เชียงใหม่ แล้วบุกป่าฝ่าดงเข้าไปรีโนเวตจนน่าอยู่ขึ้นมา หรือตาดีไปเจอซากบ้านริมน้ำแควที่กาญจนบุรีแล้วรีโนเวตจนทำเราทึ่ง

ซึ่งวันเวลาพ้นผ่าน เตอร์ก็ยังคงสนุกกับการซื้อบ้านเก่าๆ แล้วเอามารีโนเวตอย่างไม่เปลี่ยนแปลง หลายคนเข้ามาติดตามเตอร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว และรอดูว่าในแต่ละวันผู้ชายคนนี้จะมีของเล่นอะไรมาให้ทุกคนได้สนุกไปกับเขา

จากการเป็นที่รู้จักเรื่องบ้านร้าง ทุกวันนี้เตอร์ก็พัฒนาตัวเองมาเป็นเพื่อนที่พร้อมพูดคุยเรื่องบ้านๆ กับทุกคน โดยเฉพาะเรื่องซ่อมแซมอาคารโบราณ เขาก็ยอมรับกับผมตรงๆ ว่า เขาเป็นคนฟุ้งซ่าน บวกกับความชอบเรื่องบ้าน เลยสนุกกับการสร้างและรีโนเวตบ้านหลังนู้นหลังนี้แบบไม่เคยได้พัก

ผมนัดพูดคุยกับนักหลงใหลในบ้างร้างที่ Villa Mungkala สถานที่ซึ่งเป็นทั้งบ้าน และเกสต์เฮาส์อีกหนึ่งหลังที่เตอร์บังเอิญเดินไปเจอบ้านขุนนางเก่าอายุร้อยกว่าปีในตรอกศิลป์ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ แล้วเอามารีโนเวตจนออกมาอย่างน่าทึ่ง ถึงขั้นรายการทีวีหลากหลายช่องต้องมาขอถ่ายทำ

นักเศรษฐศาสตร์ผู้สร้างบ้าน

ถ้าไม่บอกผมคงคิดว่าเตอร์น่าจะเรียนจบสถาปัตย์ ตกแต่งภายใน ไม่ก็คณะอาร์ตๆ แต่สิ่งที่เดานั้นไม่ถูกเลยสักอย่าง “พี่จบเศรษฐศาสตร์” เขาบอกกับผม ก่อนจะเริ่มเล่าถึงเส้นทางการตกหลุมรักบ้านร้างด้วยสีหน้าและแววตาเป็นประกาย

“พี่ชอบสองอย่างเลย คือเรื่องเงินๆ ทองๆ มันก็น่าพิสมัย แต่เศรษฐศาสตร์มันไม่ใช่แค่นั้น มันเป็นเรื่องของสังคมศาสตร์ ครอบคลุมหมดทั้งพฤติกรรมมนุษย์ แนวความคิด ปรัชญา การเมือง ซึ่งมันเป็นวิชาพื้นฐานที่ดีสำหรับการต่อยอดไม่ว่าจะเป็นสายอาชีพไหน

“สมัยที่อยู่เมืองไทยพี่ก็เหมือนเด็กทั่วไป อาจจะชอบสิ่งของหรืออะไรที่ใหม่ๆ สภาพแวดล้อมบ้านเมืองก็เน้นไปทางของใหม่ แต่พอได้ไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่มัธยมฯ ที่นั่นมีสถาปัตยกรรมให้ดูหลากหลายแนวตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา ทิวดอร์ เรเนซองส์ และได้เห็นการอนุรักษ์อาคารเก่า พี่ก็รู้สึกว่า เออ มันน่าสนใจเนาะ อาคารเก่ามันก็มีเสน่ห์ ไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้มีผีสิงอย่างที่เขาชอบพูดกัน

“งานสถาปัตย์แต่ละตัวมันก็สะท้อนความคิดของยุคๆ นั้น ซึ่งมันก็ไม่ได้ฉีกแนวไปจากเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่นะ เพราะเศรษฐศาสตร์คือตัวสะท้อนความคิด ค่านิยม สังคม และปรัชญาของยุคนั้นเหมือนกัน เพียงแต่สถาปัตย์จะสร้างหรือทำความคิดพวกนี้ออกมาให้เสพได้ด้วยตา”

นักลงทุนผู้ตกหลุมรักเรื่องบ้าน เล่าว่าสมัยเรียนที่อังกฤษ ห้องของเขาจะเป็นห้องที่เพื่อนชอบมามากที่สุด นั่นทำให้ผมนึกคิดต่อไปว่า กว่าที่เตอร์จะมาช่ำชองเรื่องการรีโนเวตบ้าน และเพลิดเพลินกับการจับของเล่นชิ้นใหญ่อย่างบ้านร้าง จุดเริ่มต้นความหลงใหลนี้คงมาจากแพสชันเล็กๆ อย่างการตกแต่งห้องพักของตัวเอง

หลังเรียนจบและกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยความเป็นวัยรุ่นวัยยี่สิบกว่าๆ ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เตอร์เห็นว่าบ้านเก่าหลังหนึ่งอายุกว่า 60 ปีของอากง ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไม่มีคนดูแล เขาจึงนึกคึกและขอเข้าไปรีโนเวตแบบไร้ประสบการณ์ ซึ่งนั่นถือเป็นบ้านหลังแรกที่เปรียบเสมือนสนามทดลองให้เขาได้ค้นพบว่า ‘โลกของการรีโนเวตนั้นสนุกแค่ไหน’

ไร้ประสบการณ์ไม่ใช่ปัญหา

ไม่เคยมีประสบการณ์แล้วรีโนเวตบ้านออกมาอย่างไร ผมถามเตอร์ในเวลานี้ที่มีประสบการณ์เต็มเปี่ยม และมีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือหลายชิ้น แต่รู้อะไรไหม เตอร์ผู้ไร้ประสบการณ์ในวันนั้น เขาใช้กลวิธีการรีโนเวตบ้านไม่ต่างจากเตอร์ในวันนี้ นั่นคือ ‘ให้ตัวบ้านเป็นคำตอบ’

“มันไม่ใช่แค่ตัวบ้านนะ แต่วัตถุ เฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของทุกอย่าง เวลาเราเห็นมันครั้งแรก ของทุกชิ้นมันจะส่งต่อแรงบันดาลใจให้เราได้ว่า เราควรจะออกแบบบ้านให้ออกมาแบบไหนหรือหน้าตายังไง”

สิ่งที่เตอร์จะสื่อก็คือ บ้านแต่ละหลังจะมีท่ีมาที่ไปของมัน ซึ่งเขาก็อาศัยครูพักลักจําจากการอ่านหนังสือ และท่องโลกอินเทอร์เน็ต จนรู้ว่าไม้ชนิดนี้มาจากยุคไหน ทรงบ้านอย่างนี้เรียกว่าอะไร และศึกษาจนรู้จัดเจนถึงเรื่องราวของตัวบ้าน พร้อมใส่เฟอร์นิเจอร์เก่าซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวจนดูเข้ากันดีกับตัวบ้านไม่จ้างอินทีเรีย เรียกได้ว่าเป็นการคงเอกลักษณ์ของบ้านหลังนั้นๆ ไว้แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์

เริ่มต้นแล้วไม่มีวันจบ

เคยได้ยินไหมว่า พอเราเริ่มต้นอย่างแรก อย่างที่สอง สาม สี่จะตามมา ประโยคนี้ใช้ได้กับเตอร์อย่างจริงแท้แน่นอน เมื่ออากาศร้อนเมืองไทยเป็นเหตุให้เขาต้องมองหาบ้านหลังใหม่ จากบ้านรีโนเวตหลังแรกที่อำเภอบ้านโป่ง นั่นจะไม่ใช่บ้านรีโนเวตเพียงหลังเดียวของเขาอีกต่อไป เพราะบ้านร้างหลังอื่นๆ กำลังดึงดูดเตอร์ให้ไปเยี่ยมเยือนอยู่

“ตอนอยู่บ้านโป่งไปก็รู้สึกว่าเมืองไทยนี่มันร้อนเนาะ เราก็ขวนขวายไปดูอสังหาฯ ที่ชายทะเล ตอนแรกคิดว่าชายทะเลมันคงเย็น เพราะเขาชอบพูดกันว่าหน้าร้อนต้องไปทะเล ซึ่งพอทำบ้านที่ทะเลเสร็จก็รู้ว่าทะเลมันก็ไม่ได้เย็นหนิ (หัวเราะ) ก็เลยไปหาที่ทางแถวภูเขา เลยกลายเป็นกระทู้แรกที่ตั้งในพันทิป

“ตอนนั้นพี่ก็อยากให้คนรู้ว่า บ้านเย็นๆ มันไม่ได้อยู่ที่ทะเล แต่มันอยู่ที่ภูเขา เราก็เลยไปตั้งกระทู้เล่นๆ ดู ก็มีคนที่สนใจเรื่องบ้านเข้ามาตอบคอมเมนต์ แต่ตัวบ้านที่คนเข้ามาสนใจเยอะจริงๆ คือที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ พี่ไปเจอหลังนี้แล้วมันถูกชะตา ก็เลยเอามารีโนเวต” เตอร์เล่า

ป.ล. หากคุณอยากตามไปดูตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงการพลิกโฉมบ้านร้างหนึ่งหลัง ลองตามไปดูได้ที่กระทู้ “บ้านผีสิงที่เชียงใหม่… ถ้าคุณเจอบ้านผีสิงแบบนี้คุณจะทำอย่างไร” บอกก่อนว่าไม่ต้องกลัว ทำใจให้สบาย แล้วเข้าไปอ่านเพลินๆ ได้ที่เว็บไซต์ Pantip

จากบ้านร้างกลางป่า เตอร์ออกแบบเอง หาแรงบันดาลใจจากตัวโครงสร้าง สภาพแวดล้อม และรีโนเวตจนออกมาเป็นบ้านอันแสนอบอุ่นที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

แพสชันอย่างเดียวไม่พอ

ว่ากันว่า “รีโนเวตยากกว่าสร้างบ้าน” แต่ทำไมเตอร์ถึงยอมเสียทั้งแรงกาย เงิน และเวลา กว่าจะรีโนเวตออกมาเป็นบ้านที่ให้คนเข้าไปอยู่อาศัย ซึ่งคำตอบของเขาทำให้ผมฉุกคิดว่า ทำในสิ่งที่ชอบอย่างเดียวมันคงไม่ใช่ เพราะชีวิตคนเราต้องมีปัจจัยอื่นๆ มาประกอบด้วย

“คนเราจะใช้แพสชันอย่างเดียวไม่ได้หรอก มันต้องมีสติด้วย ตัวไหนที่ดูแล้วคุ้มค่าที่จะสรรหามาเป็นของเรา เราก็ไปดู สมมุติจาก 7 ที่ เราอาจจะได้มา 2 – 3 ที่ พอไปถึงแล้วถ้าถูกชะตามันก็โอเค แต่ถ้าไปถึงแล้วต่อให้ตัวเลขมันดียังไง แต่เรารู้สึกว่าไม่ใช่ มันก็ไม่ได้มา”

นอกจากรสนิยมส่วนตัวที่ชอบเห็นบ้านสักหลังมันสะท้อนตัวตนของเจ้าของ การรีโนเวตสำหรับเตอร์มันก็คือการลงทุน เขาต้องวางแผนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประเมินราคาและหน้าตาทรัพย์สิน ไปจนถึงการลงพื้นที่เพื่อดูบ้านร้างหลังนั้นด้วยตัวเอง สุดท้ายคือการเก็บเข้ามาในพอร์ตคล้ายการซื้อหุ้น ซึ่งนั่นก็ทำให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วเตอร์ก็ไม่ได้ทิ้งตัวตนความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เขาร่ำเรียนมา

เห็นบ้านร้างแล้วใจสั่น

การรีโนเวตบ้านสักหลังมีหลากขั้นตอนมาก “ถ้าเป็นคุณ คุณจะชอบการรีโนเวตขั้นตอนไหนที่มากสุด” เป็นผมคงชอบตอนเห็นบ้านมันเสร็จแล้ว คงเป็นความรู้สึกที่ฟินเกินบรรยายหากเราได้เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านจากน้ำพักน้ำแรงของเรา ทว่าคำตอบของเตอร์นั้นตรงกันข้าม

“ถ้าตอบกลางๆ จะตอบว่าชอบทุกกระบวนการ แต่เอาเข้าจริงความลำเอียงมันมาอยู่ที่ ‘ตอนเจอ’ อย่างบ้านริมแม่น้ำแควน้อยที่เมืองกาญจน์ ตอนเจอคือเป็นโมเมนต์พิเศษเลย หนึ่งคือเสน่ห์ของความเก่า สองคือมีช่องว่างให้เราจินตนาการ ตอนที่คุณเปิดประตูแต่ละบานเพื่อดูแต่ละห้อง นอกจากจะลุ้นว่ามันมีตุ๊กแกอยู่ข้างหลังไหม (หัวเราะ) มันยังเป็นโมเมนต์ที่มีความสุขมาก มันเหมือนเราไปเจอหนังสือดีๆ สักเล่ม ได้เปิดอ่าน ได้เข้าไปอยู่ในโลกของมัน ได้จินตนาการตามไปกับสิ่งที่สถาปนิกและเจ้าของเดิมถ่ายทอดเอาไว้

“ตอนกำลังทำมันก็สนุกบ้าง เหนื่อยบ้างสลับกัน ตอนเสร็จเนี่ยมันก็ให้ Feeling of Relief คือมันจบ หลังจากนั้นก็จะเอ็นจอยกับมันแล้ว แต่มันก็จะไม่เท่ากับตอนที่เราได้จินตนาการตอนแรกที่ได้เจอ ซึ่งมันคุ้มค่ามากกว่าสร้างใหม่” โดยหลังจากการรีโนเวตบ้านร้างที่เชียงใหม่ ก็ตามมาด้วยบ้านร้างที่กาญจนบุรี เรื่อยมาจนที่ Villa Mungkala ในตรอกเล็กๆ ของย่านพระนคร

จากรัก…สู่อนุรักษ์

มากไปกว่าการรีโนเวตเพื่อสนองแพสชันตัวเอง คำว่า ‘อนุรักษ์’ คือสิ่งที่ตามมาโดยปริยาย อย่างบ้าน Villa Mungkala เตอร์ก็ตั้งใจทำให้กลับสู่สิ่งที่มันเป็นให้มากที่สุด เพราะด้วยทำเลของบ้านซึ่งตั้งอยู่ในย่านเก่า เตอร์บอกว่าสำหรับเขามันคือ “จิตวิญญาณของกรุงเทพฯ” พร้อมแชร์มุมมองเรื่องการอนุรักษ์ให้ฟัง

“จริงๆ งานอนุรักษ์มันก็มีหลายแบบ มีตั้งแต่คืนสู่สภาพเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ เหลือช่องว่างปล่อยให้คนจินตนาการตามบ้าง หรืออนุรักษ์แค่ตัวฟาซาดหรือดีเทลที่สำคัญ อีกอย่างคืองานอนุรักษ์ก็จะมีหลายสาย ไม่อยากให้ใครมองว่าใครด้อยกว่าใคร แต่จะมีคนที่เชิดชูงานช่างโบราณจนกระทั่งมองว่าอะไรที่ใหม่มันเป็นของด้อยค่า

“จุดประสงค์หลักที่เราควรจะรักษาอาคาร พี่คิดว่ามันเป็นในแง่ของศิลปะจิตวิญญาณมากกว่า เอาจริงๆ กี่เปอร์เซ็นต์ของงานบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นออริจินัล มันก็ไม่ออริจินัลใช่ไหมนอกจากอิฐที่มันอยู่ข้างใน หรือบางอย่างพอทำออกมาแบบออริจินัลแล้วมันกลับขาดชีวิต บางตึกรีโนเวตออกมาทื่อๆ ไม่มีจิตวิญญาณ มันทำให้คนไม่รู้สึกร่วมว่าเขาจะใช้ชีวิตที่นี่ได้ยังไง”

อย่างตึกรามบ้านช่องที่มีหน่วยงานดูแล บางสถานที่มีคุณค่าทางจิตใจ บางสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะ แต่วันดีคืนดีกลับถูกทุบทิ้งไปซะดื้อๆ ผมจึงอดตั้งคำถามกับเตอร์ไม่ได้ว่า คิดอย่างไรกับเรื่องพวกนี้

“จะยากจะง่ายอย่างไร โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นหน่วยงานราชการพี่ก็อยากให้อนุรักษ์ แนวความคิดของการคืนทุนหรือความคุ้มค่าของการใช้เงินมันก็จะลดน้อยลง เพราะถือว่าคุณเป็นองค์กรสาธารณะ การอนุรักษ์ของพวกนี้มันเป็นการรักษาองค์ความรู้ของยุคที่ผ่านมาไว้ ซึ่งเกิดประโยชน์ด้านบวกกับชุมชน เพราะฉะนั้น คุณอาจจะยอมทำกำไรได้น้อยลงหน่อย เพราะอย่างไรซะ เงินที่คุณใช้มันก็เป็นของส่วนรวม เป็นภาษีของประชาชนอยู่แล้ว มันควรต้องคืนกลับมายังสังคมโดยรอบ พี่ก็เลยอยากให้อนุรักษ์

“มันไม่ควรจะถูกเก็บเป็นอาคารที่เป็นอิฐ ปูน หรือไม้เฉยๆ มันควรจะมีจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดอะไรให้กับชุมชนรอบๆ บ้าง ซึ่งคำว่าถ่ายทอด ก็ไม่ควรถูกกำหนดโดยส่วนกลางมากมายอะไรนัก ชุมชนโดยรอบหรือประชาชนท้องถิ่นควรจะเป็นคนที่ได้กำหนดมัน เขาควรจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอาคารนั้น”

เมื่อ ‘บ้าน’ ต้องอยู่คู่กับชุมชน การรีโนเวตบ้านหนึ่งหลังจึงมีผลต่อผู้คนโดยรอบอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นแปลว่าการรีโนเวตบ้านสักหลัง การที่เข้ามาของนักลงทุนคนนี้ อย่างน้อยต้องเกิดการจ้างงานให้คนในชุมชน และความมีชีวิตชีวาคือผลพลอยได้จากการรีโนเวต

“มีหลายงานที่พี่ให้คนบริเวณโดยรอบเขาทำ ที่สำคัญไปกว่านั้น พี่คิดว่าอย่างน้อยก็เป็นการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้บางอย่างและวิธีการช่าง อย่างพวกตึกที่มีลายฉลุ พี่แอบไม่ชอบให้คนเรียกว่าลายไทย (หัวเราะ) คือมันอยู่ในยุค ร.5 ก็จริงแต่มันไม่ใช่ของไทย มันเป็นอะไรที่เราเจอได้ทั่วโลก คือถ้าในเขตหนาวหน่อยเขาก็ตัดลายฉลุออก มันก็จะเป็นสไตล์คาร์เพนเทอร์ในอเมริกา พองานช่างตรงนั้นมายังที่ที่ต้องระบายอากาศหน่อย ลงมาทางใต้ของอเมริกา มันก็เริ่มมีลายฉลุ มีช่องขึ้นมา พอลงมาทางแคริบเบียนปุ๊บก็ไม่ต่างจากเราหรอก อาจจะต่างนิดหน่อยแค่ตรงการใช้สี

“คือมันไม่ใช่ว่ามีตังค์แล้วจะทำอะไรก็ได้ คงไม่มีใครเอาเงินมาผลาญสร้างบ้านเล่นๆ เรื่องตัวเลขมันก็คือตัวเลข เรื่องแพสชันมันก็คือแพสชัน อย่างน้อยคนที่ติดตามเราอาจจะเก็บไปเป็นอินสไปร์ก็ได้ เวลาพี่ตั้งกระทู้หรือโพสต์พี่จะพยายามใส่เทคนิคช่างเข้าไปเยอะๆ อย่างน้อยคนที่อ่านเขาก็ได้ความรู้หรือเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น”

อยากตื่นมารีโนเวตบ้านทุกวัน

ณ เวลานี้ การรีโนเวตบ้านแต่ละหลังของเตอร์นั้นถูกขับเคลื่อนไปด้วยกำลังใจมากมาย แรงซัปพอร์ตที่เขาได้รับไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์ คำชื่นชม หรือการอุดหนุนเกสต์เฮาส์ล้วนส่งมวลความรู้สึกดีๆ ไปถึงเขาได้อย่างเต็บสูบ แต่อีกมุมหนึ่งที่เตอร์บอกกับผม คือเมื่อมีแรงซัปพอร์ต ก็อาจจะมีแรงต้านตามมาเสมอ

“เป็นเรื่องปกติของงานทุกชนิด แรงซัปพอร์ตเราก็จินตนาการกันได้ บางคนก็มาช่วย มาให้กำลังใจ ส่วนแรงต้านก็มี อย่างเช่นในชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น บางคนอาจกลัวว่าเราจะมาคุกคามใครหรือเปล่า หรือมีทุนเข้ามาในซอยแล้วเขาจะสูญเสียบ้านเช่าไหม พี่ก็จะทำออกมาให้เป็นได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พยายามจ้างงานคนในชุมชน มันก็จะมีคนที่ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน”

เตอร์ ศิริวัฒน์ ในวันนี้คือผู้ที่มีคนเข้าคุยเฟื่องเรื่องบ้าน และขอคำแนะนำเรื่องการรีโนเวตมากมาย ซึ่งจากวันแรกที่รีโนเวตมาจนวันนี้ มองตัวเองเปลี่ยนไปไหม ผมถามทิ้งทาย

“แพสชันยังอยู่เหมือนเดิม ยังมีความสุขทุกวันที่ได้ตื่นมาแล้วเตรียมตัวไปดูงาน เพื่อที่จะได้เห็นอะไรงอกเงยขึ้นมา ส่วนอายุ…แก่ลง (หัวเราะ) เมื่อก่อนอาจจะยอมกางเต็นท์ในที่ทุรกันดารเพื่อสร้างบ้านสักหลัง สมัยนี้อาจจะเอาตู้คอนเทนเนอร์ไปลงพร้อมห้องน้ำเรียบร้อยเลย ส่วนคำว่านักรีโนเวต ใครจะเรียกก็ยินดี มันก็คืองานอดิเรกที่พี่ทำอยู่ทุกวัน และยังตื่นเต้นเสมอที่ได้เจอบ้านร้าง”

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.