เมื่อคิดจะพัก…เราก็มักคิดถึงฟูกที่นอนกับหมอนนุ่มๆ แต่เราคงนึกไม่ถึง “เปลญวน” สิ่งประดิษฐ์บ้านๆ ที่ใช้งานเวิร์คสุดๆ คนไทยสมัยก่อนจะผูกเปลตามเสาบ้าน พอกลับจากไร่นาก็หลบแดดแอบไปไกวเปล นอนเล่นชิลล์จนเผลอหลับกลางวันทุกที
น่าเสียดายที่คนเมืองสมัยนี้ ไม่นิยมใช้เปลญวนกันเหมือนแต่ก่อน อาจเพราะดีไซน์หรือสีสันที่ไม่ค่อยเข้ากับบ้านสไตล์โมเดิร์น แต่ตอนนี้เปลญวนกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านแสนเก๋ เมื่อแบรนด์ TIE & KNOT หยิบงานคราฟต์จากชุมชนในสุพรรณบุรีมาปรับลุคให้ทันสมัย
เมื่อเดือนก่อนเราได้ไปเยือนถิ่นสุพรรณกันถึงที่ จึงถือโอกาสแวะมาที่ “ชุมชนหัตถกรรมเปลญวน บ้านแม่พระประจักษ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี” ขุดค้นต้นกำเนิดเปลญวนที่ยังคงสืบทอดกันมาร่วมร้อยปี พร้อมกับ “พี่หมี-พิบูลย์ อมรจิรพร” ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ TIE & KNOT เจ้าของสตูดิโอ Plural Designs และ “พี่แก้ว-เรือนแก้ว สังขรัตน์” หัวหน้ากลุ่มเปลญวน บ้านแม่พระประจักษ์ ที่จะมาเล่าที่มาที่ไปและชวนไปดูขั้นตอนการถักเปลสุดประณีต
| “เปลญวน” แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากเวียดนาม
ก๋วยจั๊บญวน ขนมเบื้องญวน ข้าวเกรียบปากหม้อญวน ล้วนเป็นอาหารที่มาจากเวียดนาม แต่เปลญวนไม่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากไหน แต่มีที่มาจากชุมชนชาวญวนในจังหวัดสุพรรณบุรีนี่เอง พี่แก้วรับหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของเปลญวน ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษชาวไทยเชื้อสายญวน ที่นับถือศาสนาคริสต์ อพยพมาจากสามเสนทำอาชีพหาปลา ยามว่างก็จะหมักปลาหมำและถักเปลญวนควบคู่กันไป
พี่แก้ว : “เราเป็นรุ่นที่ 3 รุ่นแรกคือรุ่นคุณยายฉลวย สังขรัตน์ ที่ริเริ่มทำเปลญวนจากผักตบชวาซึ่งหาได้ในท้องถิ่น ทำใช้งานในครัวเรือน ไม่ได้ทำซื้อขาย แต่จะนำไปแลกของกินของใช้ แลกส้มโอบ้าง แลกปลาบ้าง แต่เส้นใยของพืชนี้ขึ้นราง่ายและไม่ทนทาน พอมารุ่นที่ 2 ก็คือรุ่นแม่ เห็นเชือกผูกหลักเรือแจวเป็นด้ายฝ้ายทอผ้าเหนียวทนทาน ก็เลยนำมาทำเปลญวน รุ่นเราเป็นรุ่นที่ 3 พัฒนาด้ายฝ้ายที่เป็นเกลียวและย้อมสีมาแล้วจากโรงงานทอผ้า มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เปลฮาวาย โคมไฟ ชิงช้า เตียงชายหาด”
| “ลายเตียว” เสน่ห์การถักเอกลักษณ์ดั้งเดิม
พี่แก้ว :“สเน่ห์ของเปลญวนที่บ้านแม่พระประจักษ์ก็คือ ลายเตียว ในภาษาญวน ลายสานที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมคล้ายการถักเปียไขว้ปมถี่ๆ ไม่เหมือนเปลญวนทั่วไป เพิ่มสเน่ห์ด้วยการเพิ่มลายดอกใหญ่ขึ้น ตั้งแต่ 1-5 ดอก ทำให้เปลญวนแข็งแรงและนอนสบายขึ้นด้วย”
| “TIE & KNOT” แบรนด์คนรุ่นใหม่ ใส่ใจท้องถิ่น
เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าจากผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นกันถึงต้นกำเนิดจริงๆ และได้สัมผัสงานฝีมืออันประณีต เราก็รู้สึกดีใจที่มีแบรนด์คนรุ่นใหม่อย่าง TIE & KNOT เข้ามาร่วมพัฒนากับชุมชน ต่อยอดเปลญวนให้เข้าถึงคนเมืองและคนรุ่นใหม่มากขึ้น
พี่หมี : “เปลญวนเป็นไอเท็มที่เราคุ้นเคย แต่โดยทั่วไปเราก็จะไม่ได้เห็นรูปแบบที่มีการพัฒนามากนัก ชุมชนนี้ก็มีความชำนาญอยู่แล้ว เพราะเป็นชุมชนหัตถกรรมเปลญวน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของเขาและสืบทอดกันมานาน แบรนด์ TIE & KNOT ก็เริ่มมาตั้งแต่ตอนทำโครงการกับ กระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราอยากให้มันร่วมสมัย เป็นตัวกลางที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนเมือง ซึ่งต่างจากกลุ่มลูกค้าเดิมของชุมชน พอจบโปรเจ็กต์ก็คุยกับพี่แก้วว่าอยากจะทำต่อ เพราะไม่อยากให้มันจบแค่นี้”
| เปลี่ยนลุคใหม่ แต่หัวใจยังเหมือนเดิม
แบรนด์คนรุ่นใหม่ ไม่ได้เข้ามาเพื่อเปลี่ยนตัวตนที่เหนียวแน่นของชุมชนบ้านแม่พระประจักษ์ แต่ยังคงเก็บลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ และจิตวิญญาณของเปลญวนให้ถักทออยู่ในด้ายทุกเส้น โดย TIE & KNOT เลือกใช้โทนสีที่เรียบง่ายดูโมเดิร์น อีกทั้งยังมีการไล่สี ส่วนวัสดุก็มีทั้งที่เป็นด้ายฝ้ายแบบดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งต้องใช้เวลาทำค่อนข้างนาน ให้สัมผัสของงานคราฟต์ ส่วนวัสดุใหม่ที่เป็นเชือกใยสังเคราะห์สำเร็จรูป กระบวนการก็จะน้อยลง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้ามาสานต่อภูมิปัญญานี้ได้
พี่หมี : “จริงๆ เราอยากจะทำให้งานฝีมือ มันเข้าใกล้วิถีชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น อาจจะเป็นคนในเมืองขึ้นมาหน่อย เพราะรู้สึกว่างานฝีมือถ้ายังทำรูปแบบเดิม แล้วคนดั้งเดิมที่ใช้ก็ค่อยๆ น้อยลง แล้วมันทำยาก คนที่ทำก็น้อยลง มันไม่ควรจะถูกแช่แข็ง สิ่งที่อนุรักษ์ไว้ก็ควรจะทำควบคู่กันไปด้วย แต่เราก็อยากให้มันมีอีกขาหนึ่งที่ทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไป เขาเห็นโปรดักต์ที่เป็นงานฝีมือแล้วเรารู้สึกอยากใช้ อยากเอาไปไว้ในบ้านเรา เราคิดว่ามันเป็นวิธีหนึ่งที่จะรักษาให้สิ่งนี้อยู่ต่อไป”
| ความประณีตที่สะท้อนบนลวดลาย
หากได้ลองศึกษาขั้นตอนการทำเปลญวน ก็จะเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ด้วยความประณีตที่ต้องใช้ฝีมือในการถัก ยและใช้ใจในการไล่เรียงสี ผสานกันเป็นลวดลายที่มีความยูนีคในแต่ละผืน ส่งต่อความรู้สึกอบอุ่นไปถึงคนนอนเสมือนอยู่ในอ้อมกอด
พี่แก้ว : “ขั้นแรกเราก็จะนำด้ายฝ้ายที่มาเป็นกระสอบ มาคัดแยกจัดโทนสีให้เข้ากันก่อน แล้วจึงนำมารูดเป็นกำเล็กๆ เส้นเท่าปลายตะเกียบ ด้ายหลายๆ เส้นเรียงร้อยกัน ประสานกันเป็นเกลียวที่เหนียวแน่น เปลผืนหนึ่งจึงอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี แต่ขั้นตอนการทำก็จะเยอะ เปลผืนหนึ่งใช้เวลาทำนานมาก ประมาณ 1 อาทิตย์”
พี่แก้ว : “เราต้องวางสี วางแพทเพิร์น เวลาทำก็จะดูว่าสีนี้ควรอยู่ตรงไหน อยากสร้างสรรค์อะไรได้ก็ใส่เข้าไปในลวดลาย เหมือนเราใส่ใจเข้าไป คนนอนก็มีความสุข คนทำก็มีความสุข มีตั้งแต่ลายแมลงวันที่มัดเป็นปม หรือพอใส่สีสลับไปสลับมาก็จะเป็นลายข้าวหลามตัด ลายน้ำไหล แต่หลักๆ ก็จะเป็นลายเตียวที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ลวดลายก็จะมีตั้งแต่ 2 ดอก ไปจนถึง 5 ดอก พอได้ทำงานกับ TIE & KNOT ก็จะมีการดูโทนสี และการไล่สีที่จะทำยากมาก ต้องค่อยๆ เก็บเข้าแซมออก”
| ผู้สืบสานภูมิปัญญา
นอกจากพี่แก้วจะเป็นหัวหน้ากลุ่มเปลญวน บ้านแม่พระประจักษ์ ยังเป็นวิทยากรสอนคนในชุมชน สู่ระดับตำบล ไปจนถึงต่างอำเภอ รวมถึงเป็นวิทยากรของ กศน. อีกด้วย
พี่แก้ว : “เราไม่อยากให้ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจบแค่ที่เรา เราอยากเผยแพร่ไปเรื่อยๆ พอไปสอนเราก็มีความสุข ได้เห็นผู้สูงอายุสามารถทำงานได้ มีรายได้เสริม และเขาก็มีความสุขกับการทำงาน เราสอนการทำเปลให้คนทั้ง 3 วัย เด็กเล็กๆ เราก็ให้เดินเส้นด้าย วัยทำงานเราก็ให้สานงานยากๆ ส่วนผู้สูงอายุก็จะเป็นงานตัวเล็กๆ หรืองานสานข้างใน ทุกช่วงอายุสามารถทำมารวมกันเป็นผืนเดียวกันได้”
พี่แก้ว : “เราก็ดีใจที่ได้สืบทอดเปลญวนที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เราพยายามถ่ายทอดไปเรื่อยๆ และสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้กัน ชักชวนให้คนรุ่นหลังเข้ามาทำงานกับเรา เค้าก็จะมีรายได้ ชาวบ้านก็ไม่ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ และตอนนี้ชุมชนของเราก็สนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย คนบ้านนอกก็ไม่ต้องเข้ากรุง สามารถอยู่และทำงานที่นี่ได้ เราก็ภูมิใจที่ได้สร้างงานสร้างอาชีพ”
| มรดกที่ถูกส่งต่อ
การที่จะรักษาภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ต่อไป เราจำเป็นต้องที่เห็นคุณค่าในสิ่งนั้น เช่นเดียวกับที่พี่หมี หลงสเน่ห์ในความประณีตของงานคราฟต์ท้องถิ่น ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน อย่างเปลญวนเท่านั้น หากยังเป็นความรักใคร่กลมเกลียวในชุมชนไทย-ญวน ที่ร่วมมือร่วมใจกันสืบทอดวัฒธรรมอันดีงาม ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นเมืองอย่าง “ปลาหมำ” ไปจนถึงประเพณีที่สวยงามและห่างหายไปนานกว่า 20 ปี อย่าง “แห่แม่พระทางสายน้ำ” ให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อส่งต่อวัฒนธรรมเหล่านี้ไปให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
เมื่อเรามองเห็นคุณค่า เราก็จะอยากรักษาเสน่ห์ดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด อย่าง TIE & KNOT พี่หมีเล่าเสริมว่า การทำงานกับชุมชนจะไม่ใช่การออกแบบมาสำเร็จ แล้วเอาแบบมาวางให้คนในชุมชนทำ แต่เป็นการช่วยกันคิดช่วยกันทำ แลกเปลี่ยนความรู้ และถ้อยทีถ้อยอาศัย งานที่ออกมาจึงจะมีความเป็นชุมชนมาก ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้
พี่หมี : “ผมคิดว่าต้องทำให้คนใช้ อย่างพวกงานจักสาน คนสมัยก่อนเขาใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมันมีความขาดตอน เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรมเข้ามา ผมคิดว่างานคราฟต์ท้องถิ่นต้องพยายามปรับตัว ต้องทำให้อยู่ในวิถีชีวิตการใช้งานของคน เราคงไม่ใช่คนที่ทำให้มันประสบความสำเร็จได้คนเดียว ผมคิดว่ามันเป็นมูฟเมนต์ ถ้าทำออกมาแล้วทุกคนใช้ของที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ปรับตัวอยู่ในวิถีชีวิตของคนปัจจุบันได้ มันก็จะค่อยๆ พัฒนาไปเอง”