ปลาตะเบียนใบลาน สานใบลานรวงข้าว - Urban Creature

เวลาเดินตามท้องถนนเจอคนขายงานฝีมืออยู่ริมฟุตบาท สายตาที่คุณมองเป็นอย่างไร ?

พนักงานออฟฟิศเดินสวนกันตอนพักเที่ยง นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาไม่ขาดสาย ยังไม่นับนักท่องราตรีและคนทำงานกลางคืน ‘สีลม’ คือย่านใจกลางเมืองที่มีผู้คนมากมายผ่านไปผ่านมา หากเราเดินช้าลงสักนิดจะเห็นคนค้าขายที่ปักหลักตั้งแผงขายริมทางเท้า

สิ่งที่สะดุดตาริมถนนสีลมคือ ‘แมลงใบลาน’ ถ้ามองไกลๆ คงไม่ต่างจากตั๊กแตนที่สานขายกันทั่วไป แต่เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นรายละเอียดที่ ‘ลุงไท’ ตั้งใจประดิดประดอยแมลงหลายชนิดด้วยเทคนิคหลากหลาย โดยใช้วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น ใบลาน เม็ดกระถิน ลูกปาล์ม ลูกหมาก แมลงแต่ละตัวมีเรื่องราวแตกต่างกันตามจินตนาการของลุงไท อย่างกิ้งก่าที่กำลังกินแมลงตัวเล็ก สื่อถึงวงจรชีวิตของธรรมชาติ

หากเปรียบลุงไทก็เหมือนแมลงตัวเล็กที่จากบ้านต่างจังหวัดมาหากินในกรุงเทพฯ

แววตามุ่งมั่นและรอยยิ้มของลุงไท หวังเพียงมีคนที่มองเห็นถึงรายละเอียด สรีระ และให้คุณค่ากับความยากกว่าจะมาเป็นงานหนึ่งชิ้น ไม่ได้ต้องการเป็น ‘ตั๊กแตนยาม’ ที่คนมักซื้อด้วยความสงสาร

ลุงไททำขายมานานหรือยัง ?

“ฝึกทำมาประมาณ 20 ปีแล้ว แต่ทำขายจริงๆ มา 4-5 ปี หลังจากที่ลูกโตหมดภาระแล้ว ตอนแรกแค่ทำเล่นๆ มานึกชอบตอนที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้วมานั่งขาย”

“เริ่มจากเราไปเห็นที่เขาถักตั๊กแตนขายตามงานวัด แต่เค้าโครงจะไม่ใช่ลักษณะนี้ มันจะเป็นตั๊กแตนตัวใหญ่ๆ น่ะ แต่คนเขาชอบซื้อเพราะความสงสาร เรามองแล้วรู้สึกว่าเสียดายคุณค่าของคนที่จักสาน ภูมิปัญญาของไทยแท้ๆ เราก็มานั่งคิดว่ามันไม่สวยหรือยังไง แล้วก็เอามาพัฒนาให้เขาไม่ซื้อด้วยความสงสาร แต่ซื้อเพราะชอบงานเราจริงๆ”

ลุงจะเรียกว่า ‘ตั๊กแตนยาม’ พอซื้อปุ๊บเขาก็เอาไปฝากยามที่หน้าป้อม แปลว่าเขายังไม่เห็นค่า

ความภูมิใจกับอาชีพนี้ คืออะไร ?

“รายได้มันไม่แน่นอน แต่ก็เลี้ยงตัวเองได้แล้วมีเก็บนิดหน่อย ถ้าเจอชาวต่างชาติที่เขาชอบงานแบบนี้ก็จะได้เยอะ ก็มีทุกชาตินะ ไม่รู้ทำไมเขาถึงมาสนใจพวกงานฝีมือ ร้อยละ 80 ต้องเข้ามาซื้อ เข้ามาถ่ายรูป มันก็ไม่ได้เป็นของแปลกสำหรับเขานะ บ้านเขาก็มีแต่มันวัดกันที่ฝีมือ ความละเอียด ความคล้าย เห็นต่างชาติเขาชอบงานของเรา เราก็ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่เขายอมรับ”

บ้านเรางานฝีมือก็เยอะ แต่ทำไมคนไทยไม่เห็นคุณค่า ?

“ทำงานแบบนี้ก็ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง เราไปขายทุกที่ในกรุงเทพฯ แต่ก่อนทำใหม่ๆ คนไทยก็จะช่วยซื้อดี เขาก็อุดหนุนด้วยความหวังดีแหละนะ หลังๆ คนไทยที่เข้ามาถามเขาก็กะว่าไม่เกิน 20-50 บาท เพราะเขาเคยเห็นคนที่ขายตั๊กแตนกันราคานี้ เขาไม่ได้มามองสรีระ หรือความยากกว่าจะมาเป็นอันนี้ได้ เราเองชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ชอบไม่เหมือนชาวบ้านเขา ปกติทาสีเขาให้ทาตรงๆ เราก็ทาเฉียงๆ”

คำว่าศิลปะจะไปบอกให้คนไม่มีศิลป์เข้าถึง มันสอนกันไม่ได้ มันจะเกิดขึ้นเองตั้งแต่เล็กจนโต

ตั้งแต่ลุงทำอาชีพนี้มายังไม่เห็นใครจะมาหัดหรือมาฝึก เห็นแต่เด็กต่างชาติประมาณ 10 ขวบ เขาตื่นเต้นที่ได้เจอ แต่เด็กมัธยมไทยเขาเฉยๆ เลย เขาไม่เข้าใจคำว่าของผลิตเอง ของทำเอง เดี๋ยวนี้คนเราอยากได้อะไร ก็สั่งซื้อเอาเนอะ เราก็ไม่ได้จะให้หันมาชอบนะ มันก็มองได้หลายมุม”

ทำตัวอะไรขายบ้าง ?

“ที่ทำเป็นก็หลายชนิด มีตัวต่อ ตั๊กแตนข้าว ตั๊กแตนป่า ตอนกลางคืนจะร้องเสียงดังๆ น่ากลัว แล้วก็มีด้วงกับผีเสื้อ ขายดีสุดก็กิ้งก่า เขาจะให้คุณค่ากับตะเข็บที่เราถัก มันมีความละเอียด พวกเล็บอย่างนี้แก้ไม่ได้นะ เราต้องตัดให้มันพอดีกันหมด”

ตัวหนึ่งใช้เวลาทำนานแค่ไหน ?

“กำหนดไม่ได้นะ มันขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่เราทำ สรีระต้องได้ อย่างขาตัวต่อก็ต้องติดข้างละเส้น แล้วหารสามเป็นหกขา ถ้าผิดก็คือจบเลย หรือพอทำเสร็จปุ๊บมาผิดที่สีก็จบ ทุกอย่างต้องใช้ความระวังและความชำนาญ แต่จะให้นั่งบรรจงทำอย่างเดียวก็คงไม่มีเงินกิน วันนึงทำได้สิบกว่าตัว ต้องหยุดทำสองวัน แล้วก็รีบออกมาขายเพราะเราต้องใช้จ่าย”

ใช้วัสดุอะไรบ้าง แล้วหามาจากไหน ?

“วัสดุใช้ใบลานทั้งหมดเลย ต้นมันจะลักษณะคล้ายต้นปาล์ม เราใช้ใบส่วนยอดเอามาตากแห้ง ต้นลานนี่มีความพิเศษคือ พอมันออกลูกปุ๊บแม่มันจะตาย เขาเลยกลัวว่าต้นลานจะสูญพันธ์จึงต้องอนุรักษ์ไว้ ต้นลานนี่จะเกิดที่นาดี อุทยานแห่งชาติทับลาน กระจัดกระจายอยู่เป็นหมื่นๆ ไร่ นอกนั้นก็มีตามวัด ส่วนอื่นๆ ก็มีเม็ดกระถินเอามาทำตา ลูกปาล์มก็มาทำตัวด้วง แถวบ้านลุงที่ต่างจังหวัดจะมีเยอะ ถ้าของใกล้หมดก็ต้องกลับไปเก็บมาใหม่”

ลุงเป็นคนบ้านนอกอยู่กับธรรมชาติ เวลาอยู่ในป่าหรือทุ่งนา ก็เจอแมลงเกาะยอดหญ้า ดูแล้วก็เพลิน เวลาเขาเดินมันดูมีชีวิต

ลุงไทเป็นคนที่ไหน ทำไมถึงมาอยู่กรุงเทพฯ

“ลุงเป็นคนร้อยเอ็ด ขึ้นกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนมัธยมจบแต่ก็ไปๆ มาๆ ถ้ามีเงินก็คงเลือกอยู่ต่างจังหวัด กรุงเทพฯ มันก็ดี ผู้คนไม่มีปัญหาหรอก แต่พูดถึงเราขายของ พอเจอคนเยอะ หลากหลายสาขาอาชีพ สักพันคนมาซื้องานเราสักสองคน เราก็พอขายได้ บางทีเจอคนที่เขาชอบจริงๆ เราก็พอมีรายได้เลี้ยงชีพ จะมีแค่รถติดที่น่าหงุดหงิดน่ะแหละ (หัวเราะ) แต่ต่างจังหวัดจะตายตัวเลย จังหวัดไหนไม่มีอุตสาหกรรม หรือไม่มีบริษัท ไม่มีโรงงาน ที่พอมีหน่อยก็ข้าราชการทำนองนั้น นอกนั้นก็ชาวไร่ชาวสวน เราก็จะขายได้น้อย”

ถ้าอยากซื้อจะตามหาลุงได้ที่ไหน ?

“ไม่มีช่องทางติดต่อหรอกครับ ถ้าเจอก็ค่อยอุดหนุนแล้วกัน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.