ฟังเรื่องราว ‘ชาวสุพรรณ’ จากถ้อยคำเหน่อเสน่ห์ - Urban Creature

“สำเนียงมันเหน่อยังงั้น แต่หัวใจฉัน มันเหน่อเมื่อไร”

สำเนียงน้ำเสียงติดเหน่อคอยเอ่ยทักทายอย่างสม่ำเสมอยามมีผู้มาเยือน “เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” ในภาคกลางของไทย บรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยผืนนาเขียวขจี แม่น้ำลำคลองทอดตัวเลี้ยวลดคดเคี้ยว เรือลำน้อยใหญ่แล่นล้อเกลียวคลื่น เจ้าทุยเดินทอดน่องตามท้องทุ่ง วิถีเกษตรกรรมเฟื่องฟุ้งไปทั่วเมือง เหล่านั้นหล่อหลอม และสร้างโลกใบหนึ่งที่อบอวลไปด้วย “คนสุพรรณบุรี”

คนสุพรรณบุรี ที่มีความหลากหลายซุกซ่อนอยู่ ความแตกต่างของเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประเพณีที่มาจากคนละถิ่น หากแต่เมื่อมารวมตัวกันแล้ว กลับผสานเป็น “คนเมืองสุพรรณ” ได้อย่างกลมกลืน เราเลยจะพาไปเรียนรู้ รับฟังเรื่องราวต่างถิ่นที่มาของ “คนสุพรรณ” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านถ้อยคำ “เหน่อเสน่ห์” แสนน่ารักและเป็นกันเอง

“เสียงเหน่อของพี่น้องสุพรรณเป็นสำเนียงในราชสำนัก อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานที่นำมายืนยัน ก็คือเสียงพากย์โขน เพราะโขนเกิดในสมัยกรุงศรีอธุยา และต้องใช้เสียงเหน่อตามแบบฉบับสุพรรณ เท่านั้นถึงจะพากย์ได้ลงตัว สำเนียงอื่นไม่อาจพากย์โขนได้ไพเราะอย่างเด็ดขาด” – ‘คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ’ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา

| ความหลากหลายของชาติพันธ์ ที่ร้อยเรียงกันเป็นชาวสุพรรณบุรี

สุพรรณบุรี เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำท่าจีน ทั้งยังเป็นเมืองที่ทำการค้ากับต่างประเทศทั้งทางฝั่งตะวันออกอย่าง จีน ฝั่งตะวันตกอย่าง อินเดีย-เปอร์เซีย และประเทศอื่นๆ รวมถึงการอพยพ และเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนจากที่ต่างๆ จึงทำให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองที่มีหลากเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรมผสมปนเปกันอย่างกลมกลืน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง, กลุ่มชาติพันธุ์มอญ, กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง, กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน, กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง, กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง, กลุ่มชาติพันธุ์ละว้า หรือ คนไทยเชื้อสายจีน เป็นต้น

ซึ่งการไปสุพรรณบุรีครั้งนี้ เรามีโอกาสได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนสุพรรณดั้งเดิม, คนสุพรรณไทยเชื้อสายจีน และคนสุพรรณไทยเชื้อสายญวน เราเก็บเกี่ยวเรื่องราวที่ได้นั่งพูดคุยกับคุณตา คุณยาย รวมถึงพี่ ป้า น้า อามาเล่าสู่ให้กันฟัง

คนสุพรรณบุรีดั้งเดิม

“สมัยก่อนคนจะพึ่งคลองมากกว่ารถ จะเห็นเรือลำใหญ่มากจอดอยู่ที่ตลาดบางลี่ ใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในนั้น ชาวบ้านก็จะใช้เรือไปตลาด เรือจะจอดเยอะมาก เหมือนเวนิสเลย”

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ คนสุพรรณบุรีจึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พร้อมมีแม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งเป็นแหล่งทำมาหากิน ใช้สัญจรเดินทางไปที่ต่างๆ และเป็นจุดรวมของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม

‘พี่ใจ-ชยานันท์ ล้อมมหาดไทย’ เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนสุพรรณให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเหน่อเสน่ห์อย่างใจดีว่า

“เราทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นถ้ามาสุพรรณ เราจะเห็นนาข้าวผืนกว้างใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ ตอนเด็กๆ พ่อกับแม่ก็ทำนา เราก็ไปช่วยเขาทำนะ ไปขี่คอพ่ออยู่กลางทุ่งนา หาปลา เราโตมากับโคลนกับดิน

แล้วด้วยความที่เป็นคนอำเภอสองพี่น้อง ใช้ชีวิตผูกพันกับคลองสองพี่น้องตั้งแต่เกิด บ้านเดิมเราจะอยู่ติดคลอง ซึ่งสัก 40 ปีที่แล้ว ปู่ย่าตายายขับเรือหางยาวรับจ้าง ตอนเด็กๆ เราเป็นคนเก็บตังในเรือหางยาวนะ (หัวเราะ) พ่อก็ขับเรือหางยาว เราเรียนหนังสือแถวๆ บ้าน พอถึงหน้านาก็มาทำนา หยุดวิ่งเรือ แต่พอเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว หรือรอหว่าน ก็จะขับเรือหางยาวรับจ้าง มันเป็นเหมือนอีกหนึ่งอาชีพของคนที่นี่ เพราะว่าตอนนั้นไม่มีถนนหนทาง

สมัยก่อนไปไหนก็ไปเรือ ขายของกันในเรือ ก็จะขายพวกผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ห้อยมากับเรือเลย แล้วก็มาเทียบท่าตามจุดต่างๆ แล้วพวกชาวบ้านก็ลงไปซื้อ ซึ่งตอนนี้ ยังมีขายอยู่ แต่เขาจะไปขายในอำเภอที่ยังไม่ค่อยพัฒนา”

นอกจากพี่ใจจะเป็นคนสุพรรณดั้งเดิมที่พันผูกกับสายน้ำ และผืนนาแล้ว เขายังมีเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน ผ่านการทำรีสอร์ทริมท้องนา ที่อนุรักษ์ความเป็นคนเมืองเหน่อไว้ได้อย่างมีเสน่ห์

“พอเรามาทำรีสอร์ท เราพยายามรับพนักงานที่อยู่แถวนี้ ที่ไม่มีงานทำแล้วอยากจะทำงาน มันเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากจะทำอะไรตอบแทนชนบท ตอบแทนกับบ้านเกิดเรา อย่างลูกค้าบางคนอยู่เป็นเดือน ต้องการจะซักรีด เราก็จะส่งไปร้านซักรีดข้างนอก เป็นชาวบ้านเลย เป็นชาวบ้านที่อยู่บ้านเฉยๆ หรือค้าขาย เพื่อให้เข้ามีรายได้เพิ่ม กระจายรายได้ออกไป อย่างอาหารเช้า ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ก็จะสั่งจากชาวบ้าน ให้มาส่งร้อนๆ ตอนเช้า ให้เขามีอาชีพแล้วอยู่ที่บ้านเรา”

| ชุมชนคนไทย-จีนในตลาดร้อยปี

“คนจีนที่อยู่เขาไม่โกงกันหรอก มีอะไรเราก็มาแบ่งกัน ให้หยิบให้ยืม เราไว้ใจกัน”

ชุมชนคน “ไทย-จีน” แทรกตัวอยู่ตามตลาดเก่าแก่ในเมืองสุพรรณบุรีมานับร้อยปี ตึกแถวไม้ที่เรียงรายตามริมแม่น้ำท่าจีนอบอวลไปด้วยชาวจีน ที่บ้างอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ บ้างก็มาเพื่อการค้าขาย ลำเลียงสินค้ามาทางเรือลำใหญ่ ที่มีชื่อเรียกในภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ซงฮ่วยจุ๊น” เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนาไปขายต่อให้โรงสี หรือรับน้ำตาลและมะพร้าวจากสวนที่อัมพวามาขายที่ตลาดบางลี่ อยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พี่น้องไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในย่านธุรกิจการค้า เช่น ตลาดสุพรรณบุรี ตลาดสามชุก หรือตลาดเก้าห้อง เป็นต้น

เราไปเยือนถิ่นชาวสุพรรณเชื้อสายจีนที่ ตลาดเก้าห้อง สถานที่ที่เมื่อสักเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อน เป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวบ้าน เพื่อซึมซับเรื่องราว และความเป็นมาอันแสนยาวนานจากอาม่า และอากงผู้ใจดี

อาม่า : “ตามที่คนจีนเค้าเล่ากัน คือหอบกันมาเสื่อผืนหมอนใบ มาเจอตรงไหนเหมาะก็อยู่กันตรงนั้น มีลูกมีหลานกัน เหมือนสมัยพระเจ้าตาก เจอมุมไหนสร้างเจดีย์ สร้างศาลาตรงไหนก็จับจอง เท่าที่รู้คือเถ้าแก่รอด (นายบุญรอด เหลียงพานิช ) มาจากราชบุรี เป็นคนแรกที่มาเปิดตลาด เรารู้แค่ว่าเราเกิดในตลาดเก้าห้อง”

อากง : “สมัยก่อนมีร้านทองตั้ง 5-6 ร้าน ร้านจำนำก็มี 3-4 ร้านเลย เคยมีเล้าหมูที่เขาส่งหมูขายเข้ากรุงเทพฯ กัน บ้านไม้ที่หนูเห็น ก็ใครมาก็จับจองที่เอาตรงนั้นตรงนี้ ใครเชื้อสายจีนก็ปลูกบ้านแบบจีน ใครเชื้อสายไทยก็ปลูกบ้านแบบไทย มีเงินก็มาปลูกบ้าน มีแรงมากก็ถางได้มากหน่อย”

ชุมชนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดสุพรรณบุรี ยังมีประเพณีสำคัญที่ทำร่วมกันอย่าง “งานทิ้งกระจาด” ที่จะทำทุกๆ ปีหลังจากสารทจีน (ชิกง่วยบั่ว) ชาวจีนจะรวมตัวกันไปให้ทานที่สมาคมจีน เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค ไปแจกหมู่ผู้รับทาน ซึ่งคุณยายอนงค์ เจ้าของร้านขนมไทยเจ้เซียมวัย 80 ปี เล่าบรรยากาศของงานทิ้งกระจาดให้ฟังว่า

“ที่งานทิ้งกระจาด จะมีของมาแจกกัน พวกข้าวสาร ขนม ของใช้เต็มไปหมด แล้วก็จะมี ‘การเปียของกัน’ หมายถึง ผู้ใหญ่เอาเงินไปซื้อของ ซื้อข้าวสาร แล้วก็ให้ลูกหลานเปียไปใช้ แล้วก็ค่อยเก็บเงินปีหน้า อีกอย่างคือ จะมีงานประจำปีหนึ่งครั้ง มีงิ้วมาเล่น จะมีคนดูหรือไม่มีคนดูเขาไม่สนใจ แล้วก็มีกินเลี้ยง โต๊ะจีนกินฟรีไม่เสียเงินเลย จะเป็นงานช่วงเดือนพฤษภา หรือมิถุนา ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่”

| พี่น้องไทย-ญวน ชุมชนนวัตวิถีแม่พระประจักษ์

“เราอยู่อย่างรักกัน สามัคคีกัน พอเราทำงาน เราก็รวมตัวกันได้ บางครั้งเงินซื้อใจกันไม่ได้นะ มันเป็นน้ำใจที่มาร่วมแรงกัน”

อีกวิถีชุมชนที่อบอวลอยู่ในเมืองสุพรรณบุรีคือ “ชาวไทย-ญวน” ชุมชนเก่าแก่ที่สืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิมมาถึงคนรุ่นหลัง เราเดินทางไปหาคนบ้านญวนที่ชุมชนบ้านแม่พระประจักษ์, อำเภอสองพี่น้อง ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม อพยพจากสามเสนมาทำมาหากินเป็นชาวประมง ชาวนา และมีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเสน่ห์น่าประทับใจอย่าง ‘เปลญวน’

เราไปพบพี่แก้ว – เรือนแก้ว สังขรัตน์ หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้บ้านแม่พระประจักษ์ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวของคนบ้านญวน

“ชุมชนไทยญวนของเราเริ่มตั้งแต่ขุนวิเศษ อพยพมาอยู่ที่ญวนสามเสน  บ้านแพน เกาะใหญ่ เจ้าเจ็ด และสองพี่น้อง ซึ่งมีกว่า 70 หลังคาเรือน โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เราอยู่อย่างรักกัน สามัคคีกัน ถ้าเราสามัคคีกัน พอเราทำงานหรือคิดจะทำอะไรเราก็ทำได้ เพราะเราอยู่กันมาในชุมชน เวลามีงานอะไร เราก็รวมตัวกันได้ บางครั้งเงินซื้อใจกันไม่ได้นะ มาร่วมแรงกัน หรือเอาของมากันเต็มไปหมดเลย คนเป็นพันคน สามารถมาทานโดยที่ไม่ต้องซื้อ”

สมัยก่อนคนญวนชอบหาปลา แล้วเอามาการถนอมอาหารเป็น ‘ปลาหมำ’ ซึ่งเป็นภาษาญวนแล้วก็อยู่ในคำขวัญของอำเภอสองพี่น้องด้วย (ชื่อมีคนน้อย อร่อยปลาหมำ เลิศล้ำพระสงฆ์ หลวงพ่อโหน่งพระเครื่อง รุ่งเรืองนาไร่ พระใหญ่โลกรู้ เสภาชั้นครู อู่น้ำอู่ปลา ราชินีนักร้อง สองพี่น้องบ้านเรา) หลังจากหมักปลาหมำ เรามีเวลาเยอะก็จึงถักเปลญวนควบคู่กันไป

ซึ่งสำหรับเปลญวน ที่เราทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เราก็พยายามถ่ายทอดไปเรื่อยๆ และสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้กัน พยายามชักชวนให้คนรุ่นหลังเข้ามาทำงานกับเรา เขาก็จะมีรายได้ ชาวบ้านก็ไม่ต้องเข้าไปในกรุงเทพฯ แต่มาทำงานในชุมชนได้ บ้านนอกไม่ต้องเข้ากรุง ก็คือสามารถอยู่และทำงานที่นี่ได้ ก็ภูมิใจที่เราได้สร้างงานสร้างอาชีพ”

และเพราะบ้านญวนนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ชุมชนไทยญวนในสุพรรณบุรี จึงมีประเพณีท้องถิ่นแสนเสน่ห์ ซึ่งพี่แก้วกำลังจะรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งอย่าง “ประเพณีแห่แม่พระทางสายน้ำ” ที่วัดแม่พระประจักษ์

“ประเพณีแห่พระทางสายน้ำ สมัยก่อนจะจัดขึ้นในอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม โดยงานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จะเป็นการเปิดเดือนแม่พระ มีการสวดสายประคำภาวนาขอพรจากแม่พระ ส่วนพิธีปิดก็จะเป็นเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม โดยจะมีการแห่พระทางสายน้ำโดยเรือ ชาวบ้านที่นับถือคริสต์ก็จะเอารูปแม่พระมาตั้งหน้าบ้าน ถึงแม้จะเป็นชาวพุทธ แต่ด้วยความศรัทธา เขาก็นั่งพนมมือขอพรจากแม่พระเหมือนกัน ในเรือก็จะมีพ่อบาทหลวงมาประทานพรเสกน้ำเสก ในเรือเราจะสงบเสงี่ยม ไม่ร้องรำทำเพลงแต่มีการสวดภาวนา ควบคู่กับการร้องเพลงพระ

นอกจากนั้น จะมีการฉลองโบสถ์ หนึ่งปีมีครั้งที่จัดในช่วงอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม ชุมชนก็จะรวมตัวกันจัดงาน จัดสถานที่ ชุมชนญวน จากเขตอื่นๆ ทั่วประเทศ หลายๆ จังหวัดในโซนนี้ก็จะมาร่วมตัวกันปีละครั้ง แล้วก็จะเชิญท่านสังฆราชมาเป็นประธานในพิธี เสร็จแล้วมีการเลี้ยงทานอาหารกัน โดยไม่ต้องซื้อ ชาวบ้านก็จะหันหมูบ้าง ซึ่งเป็นของอร่อยของชุมชนอยู่แล้ว หรือแกงอะไรก็นำมาเลี้ยงกันในหมู่บ้าน”

พูดถึงของอร่อยในชุมชน ชาวญวนยังมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งพี่แก้วบอกว่า สิ่งนั้นเรียกว่า “สำรับญวณ”

“ในสำรับญวน จะมีเมนูเด็ดๆ คือ ‘ปลาหมำ’ ซึ่งจะเอามายำ หลน หรือทอดสมุนไพร ตามด้วย ‘หมูหัน’ ซึ่งจะเป็นเนื้อหมูนุ่ม หนังกรอบ คู่กับน้ำจิ้มรสเด็ดด้วยน้ำส้มมะขาม กับน้ำตาลปี๊บเคี่ยว แล้วก็จะมี ‘ขนมบัวลอยญวน’ อยู่ในหนึ่งโตก จะไม่เหมือนบัวลอยทั่วไปนะ ของเราจะเป็นน้ำเค็ม ไส้หวาน แล้วก็จะหอมน้ำกะทิ โรยต้นหอมนิดนึง อร่อยมากเลย”

จากการที่เราไดีมีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องสุพรรณบุรี สิ่งที่เราสัมผัสได้ และประทับลงไปในหัวใจ คือความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หยิบยื่นน้ำจิตน้ำใจให้กันและกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนสุพรรณเชื้อชาติไหนก็ตาม


source : http://province.m-culture.go.th/suphanburi/soundsuphan.html

http: //www.artbangkok.com/?p=34647

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.