ล้อรถหมุนไปท่ามกลางต้นหนาวเคล้าฝน เราเดินทางไปชุมชนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อไปพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯ ชุมชนทุ่งสง สถานที่ที่ทำให้เราเข้าใจในประโยคที่ว่า ‘สายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต’
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กินพื้นที่ไปถึง 2 ตำบลทั้งตำบลถ้ำใหญ่ และตำบลนาหลวงเสน ที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เชิงธรรมชาติห้อมล้อมไปด้วยป่าเขากว้างใหญ่ไพศาล ผู้คนในพิพิธภัณฑ์เป็นชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กับชุมชน มีห้องครัวเป็นป่าให้พวกเขาได้หาเลี้ยงปากท้องอย่างรู้คุณค่า มีองค์ความรู้ผ่านการรวมกลุ่มอย่างแข็งแกร่ง และมีความสุขรายล้อมอยู่ทุกอณูเพราะ ‘สายน้ำ’
แต่ก่อนที่จะมีทุกอย่างได้ดั่งทุกวันนี้ พวกเขาต้องฟันฝ่าสารพัดปัญหา ทั้งน้ำหลาก น้ำแล้ง ดินโคลนถล่มอยู่เป็นประจำ ป่าต้นน้ำถูกหลงลืม มีการลักลอบตัดไม้ ล้อรถหยุดลงอากาศบริสุทธิ์หอบตัวเราให้รีบลงจากรถ ไปพบเรื่องราวที่เป็นคำตอบว่าจากวันที่ทุกปัญหาถาโถม ทำอย่างไรชาวทุ่งสงจึงพึ่งพาป่าและน้ำในการใช้ชีวิตได้อย่างทุกวันนี้
น้ำใสไหลเย็น
จากตัวพิพิธภัณฑ์ ‘คุณนิวัฒน์ ยึดมั่น’ ประธานชุมชนบ้านวังไทรและประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสง ชาวบ้านที่เป็นผู้นำกลุ่มพาเราไปจุดที่หนึ่ง นั่นคือ ‘แหล่งฟื้นฟู-กักเก็บ-สำรอง’ ระหว่างทางเราเห็นสายน้ำเคียงคู่ถนนไปเป็นระยะ ฝนตกมาเป็นระลอก ท่ามกลางละอองฝนประธานพูดขึ้นมาว่า “นี่คือจุดที่ผมภูมิใจมาก” เราเกิดความสงสัย ก่อนที่ประธานจะบอกเราว่า “เพราะที่แห่งนี้กระจายน้ำไปได้ถึงสี่ตำบล หล่อเลี้ยงทุกคนและทำให้ชาวบ้านอยู่ได้ ผมอาจพูดไม่ค่อยเก่งนะ” คุณนิวัฒน์กล่าวอย่างเขินๆ
จากจุดจอดรถ เดินไปไม่ไกลเราจะเห็นฝายกั้นน้ำขนาดใหญ่ หนึ่งในฝายอีกหลายแห่งที่เข้ามาช่วยจัดการปัญหาเรื่องน้ำ จาก 8 สายน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ป่าแห่งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นป่าต้นน้ำที่ยังไหลรินไปหล่อเลี้ยงคนอีกหลายชุมชน หลายหลังคาเรือน หลายชีวิต
ฝายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติฯ นี้มีหน้าที่ทั้ง
- ‘ฟื้นฟู’ ผ่านการชะลอความชุ่มชื่น ช่วยชะลอน้ำ ดักจับตะกอน ป้องกันดินถล่ม
- ‘กักเก็บ’ เมื่อป่าต้นน้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์ ชุมชนสามารถจัดสรรปันส่วน กักเก็บน้ำเพื่อนำไปอุปโภค-บริโภค และส่งต่อน้ำผ่านแรงดันให้หมู่บ้านอื่นๆ ได้อีกด้วย
- ‘สำรอง’ ชาวบ้านช่วยกันทำแก้มลิงขึ้นมา มีสระประจำไร่นาและถังสำรองน้ำในแปลง เพิ่มความมั่นคงในการสำรองน้ำ อย่างฤดูแล้งปี 2562 ที่ผ่านมาก็ทำให้ชาวทุ่งสงรอดพ้นภัยแล้งทั้งอำเภอ
จากพื้นที่ที่มักมีน้ำท่วมสลับกับน้ำแล้งอยู่ตลอด เรามองไปที่สายน้ำตรงหน้าที่มีน้ำเต็มฝาย ทั้งยังไหลผ่านไปหล่อเลี้ยงอีกหลายชุมชน ไม่แปลกเลยที่ประธานจะบอกกับเราถึงความภูมิใจนี้ เพราะสายตาที่มองไปยังสายน้ำเบื้องหน้าไม่มีใครเป็นประกายเท่าสายตาของประธานอีกแล้ว เรายังกล่าวติดตลกกันว่า “ชาวบ้านลงแรงช่วยกันคิด ช่วยกันทำเก่งแบบนี้ ถึงพูดไม่เก่งก็รักหมดใจ”
ป่าต้นน้ำสุขใจ คนยิ้มได้มีน้ำกิน
จุดต่อไปเป็น ‘แหล่งผลิตน้ำดื่มน้ำใช้’ จากการจัดการน้ำในชุมชนทำให้ ‘ป่าต้นน้ำ’ อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เมื่อมีป่าต้นน้ำ ความมั่นคงก็กลับคืนมา ชุมชนผลิตน้ำดื่มสะอาดได้ถึง 53 ครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 36,000 บาท/ปี น้ำดื่มของที่นี่สดชื่นหัวใจ แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะความสะอาดเพียงเท่านั้น แต่น้ำที่เข้าไปร่างกายเรากำลังสะท้อนให้เห็นว่า คำที่ว่าน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตไม่ได้เป็นเพียงวลี ที่นี่ทำให้เห็นว่า เมื่อเราสนใจสายน้ำที่ให้ชีวิตเรา รู้จักใช้อย่างรู้คุณค่า ก็ทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งตัวเองและคนอื่นได้
รวมกันเราอยู่ รวมหมู่มั่นคง
คำตอบของคำถามที่ว่า “จากชุมชนที่เต็มไปด้วยปัญหา สิ่งใดกันทำให้ที่แห่งนี้คืนความอุดมสมบูรณ์ได้ขนาดนี้”
จุดที่ 3 คือแหล่งเตือนภัยหรือที่พิพิธภัณฑ์ฯ เรียกว่า “มั่นคงเครือข่าย รู้เท่าทันสถานการณ์” คำสำคัญที่ซ่อนอยู่ในนี้คือคำว่า ‘เครือข่าย’ คนที่นี่รวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหา เขาไม่ยอมจมอยู่กับความทุกข์และแสวงหาความสุขด้วยการลงมือทำ และสิ่งที่เราประทับใจที่สุดคือจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มมาจากเยาวชน
ย้อนกลับไปช่วงปี 2548 – 2549 เกิดภัยพิบัติขึ้นในหมู่บ้าน สร้างความเสียหายถึง 250 ล้านบาท จึงเกิดการรวมกลุ่มเทศบาลทุ่งสงที่จัดตั้ง ‘เครือข่ายมิสเตอร์เตือนภัย’ พยายามขุดลอกขยายทางน้ำ แต่ก็ยังมีปัญหาต่างๆ ตามมา คือการเกิดภัยแล้งเป็นพื้นที่กว้าง
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อชุมชนได้ร่วมงานกับ สสน. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันฟื้นฟูและแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือการกลับมาอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ รวมไปถึงการรวมกลุ่ม ‘เยาวชนพนาดร สืบสานพัฒนางานเครือข่ายทุ่งสง’ กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่เห็นครอบครัวได้รับผลกระทบโดยตรงจากสายน้ำ ไม่ยอมให้เรื่องนี้เป็นแค่เรื่องของผู้ใหญ่ ในเมื่อชีวิตเป็นของเรา เขาจึงทำเพื่อถิ่นกำเนิดรวมกลุ่มกันแก้ปัญหา
น้องณัฏฐธิดา มงคลชัย ปัจจุบันอายุ 17 ปี บอกเราว่า เริ่มทำตั้งแต่มัธยมต้นเพราะเห็นภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง เห็นความทุกข์ด้วยตาตัวเอง ไม่อยากให้ที่บ้านเป็นทุกข์แล้ว โดยกลุ่มมีหน้าที่เฝ้าระวังเตือนภัย สังเกตการณ์
การเข้ามาของ สสน. ทำให้เกิดการรวมพลัง เกิดองค์ความรู้ผ่านเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเหลือ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาไปอย่างมีทิศทาง เกิดเครือข่ายมากกว่าหนึ่งกลุ่ม เช่น เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมา บริหารน้ำอย่างรู้คุณค่า กลับมาลงมือทำให้ตัวเองอยู่กับสายน้ำอย่างเป็นสุขและไม่เอาเปรียบธรรมชาติ เมื่อทุกเครือข่ายต่างช่วยกัน หากเกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ความยั่งยืนจึงเกิดขึ้นได้อย่างแข็งแรง
สิ่งที่เราได้มาเห็นเป็นห้องปฏิบัติการที่ไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่ที่แห่งนี้คือหลักฐานว่า รวมกันเราถึงอยู่ รวมหมู่เราถึงมั่นคง และร่วมเรียนรู้พากันลงมือทำ เมื่อนั้นแหละที่ยั่งยืน
อิ่มท้องสบายใจ อยู่ได้ด้วยตัวเอง
รถขับลัดเลาะพาเรามาถึงจุดสุดท้าย จากพื้นป่าเริ่มเห็นบ้านคน เราฉงนสงสัยว่าบ้านคนจะมีอะไรน่าสนใจ คำตอบแสนธรรมดาแต่มีเรื่องราวคือ ในบ้านคนมีสวน เราแวะกันที่บ้านของพี่ธนิต อีกหนึ่งจุดที่เรียกว่าเป็น เกษตรครัวเรือน พอเพียง สุขใจ
เกริ่นกันก่อนว่า เดิมทีหนึ่งในปัญหาของที่นี่คือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และทำเกษตรในเชิงพาณิชย์ แต่ฟ้าหลังฝนพัดพาคนที่นี่ให้หันมาปลูกเพื่อมีอยู่มีกิน ด้วยการเปลี่ยนเม็ดเงินเป็นอาหารหลังบ้าน โดยเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่อยู่อาศัย
สวนพี่ธนิตแบ่งเป็น 6 ส่วนหลักๆ มี 2 โซนปลูกไม้ผล มีทั้งมะพร้าว มะละกอ กล้วย อีกหนึ่งโซนเป็นเกษตรผสมผสาน ปลูกแก้วมังกรกับพืชผักพื้นบ้าน มีโซนบ่อเลี้ยงปลา ทั้งปลาดุก ปลานิล ทั้งนี้น้ำในบ่อยังใช้รดดูแลพืชผักนานาพันธุ์ในสวน ส่วนโซนสุดท้ายคือที่อยู่อาศัย พี่ธนิตมีครบทุกอย่างลงตัวโดยมีสายน้ำหลังบ้านคอยหล่อเลี้ยงชีวิต
การเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นปลูกพืชผสมผสาน สามารถเพิ่มรายได้ให้ชุมชนถึง 343,403 บาท/ปี ลดรายจ่ายได้ถึง 67,367 บาท/ปี พี่ธนิตพาเราชมสวนด้วยรอยยิ้ม แม้ฝนจะตกมาไม่หยุด แต่สายฝนก็ไม่อาจหยุดความสุขและความภูมิใจของพี่ธนิตได้
ทริปจบลงสายฝนพาเราออกจากพื้นที่ สีเขียวในป่าเริ่มเบาบางลงเป็นสองข้างถนน แต่สิ่งที่จะคงอยู่คือความยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร การแก้ปัญหาที่เข้าใจคนในพื้นที่ และเรื่องราวดีๆ ที่จะเล่าสู่รุ่นสู่รุ่นผ่าน ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯ ชุมชนทุ่งสง’